JJNY : ‘ธนาธร’เมินทักษิณทวงแชมป์│"ชัชชาติ"ไม่กังวลน้ำเหนือแต่ห้ามประมาท│เตือน11จว.ลุ่มเจ้าพระยา│แคนาดาจะเก็บภาษีอีวีจีน

‘ธนาธร’ เมิน ‘ทักษิณ’ ทวงแชมป์ สมัยหน้า ลั่น ‘พรรคประชาชน’ ที่หนึ่งแน่ ชี้ปชป.ร่วมรบ.ไม่กระทบเสถียรภาพฝ่ายค้าน.
https://www.matichon.co.th/politics/news_4757839
 
‘ธนาธร’ เมิน ‘ทักษิณ’ ทวงแชมป์ สมัยหน้า ลั่น ‘พรรคประชาชน’ อันดับหนึ่งแน่ ชี้ปชป.ร่วมรบ.ไม่กระทบเสถียรภาพฝ่ายค้าน ยันไม่เห็นด้วยนักร้องนิรนาม ยื่น กกต. ยุบเพื่อไทย 

เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 27 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศทวงแชมป์การเลือกตั้งสมัยหน้าว่า เป็นเรื่องของนายทักษิณ ตนคงไม่ไปก้าวก่ายอะไร แต่ตนมั่นใจว่า พรรคประชาชน จะได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่พี่น้อง ให้เป็นพรรคอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งปี 2570 และครองเสียงข้างมาก เพื่อจะให้พรรคประชาชน พาประเทศไทยไปสู่อนาคตข้างหน้า ที่ประเทศจะเป็นประชาธิปไตย

เมื่อถามว่ามีนักร้องนิรนาม ไปร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เพื่อยุบพรรคเพื่อไทย มองเรื่องนี้อย่างไร นายธนาธร กล่าวว่า เราไม่เห็นด้วยกับการขยายขอบเขตอำนาจที่เกินไปของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งสำคัญ ควรทำให้พรรคการเมืองเกิดง่ายตายยาก และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินอนาคต ว่าเขาต้องการหรือไม่ต้องการพรรคไหนบริหารประเทศ

เมื่อถามถึงกระแสข่าวการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ นายธนาธร ส่ายหน้าร้อง “โอ๊ย! ผมไม่มีความเห็น ” พร้อมกล่าวต่อว่า คงเป็นอำนาจของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะเลือกร่วมกับพรรคใด และไม่เลือกร่วมกับพรรคใด เราไม่มีความเห็น

เมื่อถามย้ำว่า จะไม่ทำให้เสถียรภาพของฝ่ายค้านลดลงใช่หรือไม่ นายธนาธร กล่าวทันทีว่า “ ไม่ครับ”.


 
"ชัชชาติ" ไม่กังวลน้ำเหนือ แต่ห้ามประมาท ห่วงฝนหนัก
https://www.innnews.co.th/news/criminal/news_766879/

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ไม่กังวลน้ำเหนือแต่ห้ามประมาท ห่วงฝนตกหนักในพื้นที่
 
วานนี้ (26 ส.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือหลาก น้ำทะเลหนุนบริเวณท่าน้ำวังหลัง เขตบางกอกน้อย และบริเวณท่าราชวรดิฐ เขตพระนคร โดยกล่าวถึงในภาพรวมว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในจุดฟันหลอ บริเวณท่าน้ำวังหลังเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ในส่วนของน้ำเหนือไม่ได้กังวลเท่าไรเป็นห่วงเรื่องฝนตกหนักในพื้นที่ กทม. มากกว่า แต่ก็ไม่ประมาท โดยได้เตรียมกระสอบทรายไว้ 1,500,000 ลูก สำนักการระบายน้ำนำไปเรียงแล้ว 250,000 ลูก ตามจุดฟันหลอที่ยังไม่สามารถก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ ทั้งนี้ กทม. เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เตรียมตัวให้พร้อมไม่ต้องกังวลแต่ห้ามประมาทโดยเด็ดขาด


 
เตือน 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา กรมชลจ่อระบายน้ำ 1,400 ลบ.ม. ชาวบ้านหวั่นซ้ำรอยปี 54
https://www.thairath.co.th/news/local/central/2810814

กรมชลประทาน เตรียมปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที รองรับน้ำเหนือไหลหลากส่งผลให้พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล อ.เสนา และ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำเพิ่มสูงอีก 0.50 -1.50 เมตร ขณะที่ชาวบ้านเริ่มทยอยเก็บของขึ้นที่สูงแล้ว หวั่นน้ำท่วมซ้ำรอยปี 54
 
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาฉบับที่ 5 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบ

 ด้วย จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานครฯ ในช่วงวันที่ 24-30 ส.ค. 2567 และจากการคาดการณ์โดยกรมชลประทาน ใน 1-7 วันข้างหน้า วันที่ 30 ส.ค. 2567 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,400 ลบ.ม./วินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขามีปริมาณประมาณ 300 ลบ.ม./วินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำ 1,700 ลบ.ม./วินาที  และรับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในอัตรา 300 ลบ.ม./วินาที จึงต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อน ในอัตรา 900-1,400 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 0.50 -1.50 เมตร ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป
 
ปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,169 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.51 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 10.96 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่ง อยู่ที่ 5.38 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 935 ลบ.ม./วินาที จึงส่งผลทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C.3 บ้านบางพุทรา อ.เมือง จ.สิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 864 ลบ.ม./วินาที ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำ ทั้ง 11 จังหวัด เฝ้าติดตาม และเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
 
ขณะที่ทางด้านชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำทางด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะ พื้นที่ ต.หาดอาษา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ซึ่งพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และติดกับลำน้ำเจ้าพระยาน้ำมาก็ท่วมทุกปี แต่ยังกังวลว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะซ้ำรอย ปี 2554 เนื่องจากยังเห็นว่าทางด้านตอนบนของลุ่มน้ำยังมีฝนตกเยอะ และน้ำยังท่วมในหลายพื้นที่
 
นายขจรเดช  จีนหลวง ชาวบ้านในพื้นที่ ม.2 ต.หาดอาษา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า ในปีนี้รู้สึกเป็นกังวลมากหลังจากดูข่าวเห็นว่าทางภาคเหนือมีน้ำป่าท่วมเยอะ เลยกลัวน้ำจะท่วม สำหรับตอนนี้ตนได้ทำการซ่อมเรือและเริ่มทยอยเก็บสิ่งของบางอย่างขึ้นสู่ที่สูงเอาไว้แล้ว ซึ่งในปีนี้ตนเองกลัวเหตุการณ์น้ำท่วมจะซ้ำรอยปี 2554 เนื่องจากน้ำทางด้านตอนบนเยอะมาก และตนเองไม่รู้ว่าการระบายน้ำจะเป็นอย่างไร โดยตนเองอย่างจะให้ทางกรมชลประทานช่วยระบายน้ำไปตามคลองสาขาต่างๆ เพื่อลดผลกระทบให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้านท้ายน้ำ หากว่าทางเขื่อนเจ้าพระยามีการเพิ่มการระบายน้ำเป็นระบบเชื่อว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาคงเอาอยู่ โดยจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านๆ มา บริเวณ ต.หาดอาษา หากเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำ ประมาณ 1,700-1,800 ลบ.ม./วินาที และมีปริมาณน้ำมากกว่านั้นน้ำก็จะไหลเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน
 
ด้าน นางศรีสุดา พงศ์เสรีวัฒน์ รองปลัดเทศบาลตำบลหาดอาษา เปิดเผยว่า จากสถิติน้ำท่วมเมื่อปี 2565 ในส่วนของ ต.หาดอาษา หากเขื่อนเจ้าพระยา มีการระบายน้ำอยู่ที่ 1,800 ลบ.ม./วินาที มวลน้ำจะเริ่มไหลเอ่อเข้าตามท่อระบายน้ำ ทางเทศบาลก็จะจัดกำลังเจ้าหน้าที่กรอกกระสอบทรายออกอุดท่อตามจุดต่างๆ ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม และหากว่าเขื่อนเจ้าพระยามีการปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 2,100-2,500 ลบ.ม./วินาที เมื่อไรน้ำก็จะเริ่มล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน 

สำหรับขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่บางราย ต่างก็รู้สึกกังวลเนื่องจากทางด้านภาคเหนือ ยังมีปริมาณน้ำที่เยอะอยู่ โดยทางเทศบาลก็ได้มีการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำ และเฝ้าระวัง หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินทางเทศบาลก็จะให้ประชาชนเตรียมยกสิ่งของขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันความเสียหายของทรัพย์สิน แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ทางเทศบาลก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่