"ปลอด"ตั้งวอร์รูมรับสถานการณ์น้ำ24ชม. - ฟังจากรายงาน ผมว่าครั้งนี้ ทำงานเป็นระบบดีและ ข้อมูลพร้อม น่าจะรับมือไหว

กระทู้สนทนา
http://www.dailynews.co.th/politics/235143
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำทั้งในระดับกระทรวงและระดับกรม ตั้งศูนย์เฉพาะกิจขึ้นในหน่วยงานของตัวเองและส่งตัวแทนมาที่ศูนย์บัญชาการ(ซิงเกิ้ล คอมมานด์ เซ็นเตอร์) ของสำนักงานงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.) ภายในทำเนียบรัฐบาล เพื่อตั้งเป็นวอร์รูมติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 2 เดือน

เนื่องจาก ขณะนี้สถานการณ์อยู่ในระดับกึ่งวิกฤต ขณะเดียวกันในบ่ายวันนี้(23 ก.ย.) ตนจะนั่งเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ไปตรวจดูสถานการณ์น้ำท่วมที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เพราะมีฝนตกลงมาในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำไหลลงแม่น้ำปราจีน ขณะเดียวกันช่วงนี้มีน้ำทะเลสูง ส่งผลให้การระบายน้ำจากแม่น้ำปราจีนฯ ไปยังแม่น้ำบางปะกงเพื่อออกสู่ทะเลไม่ทัน ทั้งนี้เราพยายามหาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การขยายท่อ และช่องทางระบายน้ำ รวมถึงการขุดคลองลัดแม่น้ำปราจีนให้ไหลลงแม่น้ำบางปะกงเร็วขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน แม่น้ำปราจีนฯเลี้ยวหักศอกบริเวณ อ.กบินทร์บุรี เมื่อมีน้ำมากก็ล้นเข้าท่วมพื้นที่ของอำเภอดังกล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุถึงสถานการณ์น้ำในภาคกลาง พบว่าน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นน้ำฝนที่เกิดจากอิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำต่อเนื่องมาจากปลายสัปดาห์ที่แล้ว ไม่ใช้น้ำจากเขื่อนหรือน้ำเหนือ โดยตัวเลขปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่แค่ร้อยละ 42 ระบายออกมาวันละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)  ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีน้ำอยู่แค่ร้อยละ 57 ระบายออกมาวันละ 4 ล้านลบ.ม. ส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ที่จ.นครสวรรค์ขณะนี้อยู่ที่ 1,572 ลบ.ม.ต่อวินาที ไหลลงมาผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,996 ลบ.ม.ต่อวินาที  ที่สิงห์บุรีอยู่ที่ 2,052 ลบ.ม.ต่อวินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 72 ซม. ที่จ.อ่างทอง 2,028 ลบ.ม.ต่อวินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 1.50 เมตร  ที่อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ 1,019 ลบ.ม.ต่อวินาที  ที่อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ 1,920 ลบ.ม.ต่อวินาที

ดังนั้นสถานการณ์น้ำท่วมในภาคกลางตอนกลาง เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี จึงเป็นแค่เพียงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ล้นเข้าท่วมพื้นที่ตลิ่งต่ำนอกคันกั้นน้ำ และระบายไม่ทัน


ส่วนพื้นที่ชั้นในหลังคันกั้นน้ำ ยังไม่ถูกน้ำท่วม แต่ถือว่าอยู่ในระดับเฝ้าระวัง โดยยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ เพราะจะวิกฤติต่อเมื่อมีน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท สูงขึ้นไปถึง 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที และผ่านอ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา สูงถึง 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานประเมินว่าในวันที่ 24 ก.ย.นี้ จะมีปริมาณน้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจ.นครสวรรค์ เพิ่มขึ้นไปเป็น 1,600 ลบ.ม.ต่อวินาที และจะทรงตัวต่อไปอีก 2-3 วัน เมื่อรวมกับแม่น้ำสะแกกรังที่จะไหลเข้ามาท่วม 295 ลบ.ม.ต่อวินาที และน้ำที่ไหลเข้ามาจากด้านข้างประมาณ 200 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นไปเป็น 2,100 ลบ.ม.ต่อวินาที กรมชลประทานจึงเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำ โดยจะเน้นการระบายลงเจ้าพระยาเป็นหลัก เพราะแม่น้ำเจ้าพระยายังรับน้ำได้อยู่ และเป็นทางออกทะเลที่เร็วที่สุด ซึ่งได้มีการส่งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำไปติดตั้งตามจังหวัดรอบนอก และปริมณฑล เช่น จ.นนทบุรี และในคลองพระยาบันลือ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงที่จ.ปทุมธานี เพื่อเร่งดันน้ำออกทะเลให้ได้มากที่สุดก่อนเข้าสู่เดือน ต.ค.นี้ที่น้ำทะเลจะหนุนขึ้นสูง และจะทำให้ดันน้ำไม่ออก

นอกจากนี้จะผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบางส่วนลงคลองชัยนาท-ป่าสัก แม่น้ำสุพรรณบุรี และแม่น้ำน้อย เพื่อแบ่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาออกมา แต่จะเป็นแค่ส่วนน้อย เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหลังจากสัปดาห์นี้ไป ถ้าไม่มีฝนตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องเหมือนสัปดาห์ก่อน สถานการณ์น่าจะค่อยๆดีขึ้น.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่