เล่าเรื่องลอนดอน (ต่อ)

ส่วนนี้เป็นตอนต่อจากการเที่ยวลอนดอนวันที่ 1 ตามลิงก์นี้ฮะ
https://ppantip.com/topic/41019380
ประชาสัมพันธ์ว่า ตอนนี้กำลังทยอยเขียนเรื่องราว บันทึกการเดินทาง อังกฤษ สก๊อตแลนด์อยู่ หลายบทความ
เชิญไปชมกันที่  https://ppantip.com/topic/41018924 ได้นะครับ มีเรื่องพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์จะกำลังนำลงอยู่เยอะ

วันนี้ขอทำตัวเป็นไกด์แนะนำกรุงลอนดอนฉบับย่อสุดขีดให้ท่านทั้งหลายได้สดับกันหน่อย แต่ว่าไปแล้วขอท้าวความไปถึงเกาะอังกฤษในยุคโบราณก่อน 
อังกฤษในสมัยก่อนนั้นเป็นดินแดนที่เขตชานเมืองของยุโรปเพราะอยู่ทางทิศตะวันตกสุดของทวีป ซึ่งถูกเชื่อกันว่าเป็นขอบโลก (นั่นหมายความว่าถ้าเดินเรือต่อจากนี้ไปก็จะไม่มีทางได้เห็นแผ่นดินอีก) 
เคยมีคนคิดว่าเกาะแห่งนี้ห่างไกลจากศูนย์กลางความเจริญของกรีกหรือโรมันมากจึงไม่น่าจะมีอารยธรรมเก่าแก่ แต่อันที่จริงมีคนอาศัยนานมาแล้วตั้งแต่ 5000 ปีก่อน และต่อมาก็จะมีผู้รุกรานภายนอกจากส่วนต่างๆเข้ามาเป็นระลอก ทับถมกันไปมาจนทำให้ที่นี้เป็นแหล่งรวมอารยธรรมหลากหลายแห่งหนึ่ง โดยในช่วงปีค.ศ.43กองทัพโรมันโดยจักรพรรดิ์คลอดิอุส (Claudius) ได้บุกพลขึ้นมาที่เกาะบริแทเนีย (Britania) แห่งนี้ สร้างบ้านแปงเมืองขึ้นที่ริมแม่น้ำเทมส์และตั้งชื่อเมืองมีว่าลอนดิเนียม (Londinium)

โมเดลลอนดิเนียม (Londinium) หรือกรุงลอนดอนสมัย  คศ. 85-90  โดย Steven G. Johnson - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=11327092

      ต่อมาปี 600 มีเผ่าแองโกลแซกซอน (Anglo-Saxon) จากเยอรมันและเดนมาร์ก ได้เข้ามาอยู่ตั้งถิ่นฐานเรียกว่าแองเกิลแลนด์ (Angieland) หลังจากนั้นกองทัพไวกิ้งก็ได้มาโจมตีปล้นสะดมภ์และครอบครองเมืองอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่พวกแซกซอนจะสามารถยึดเมืองคืนโดยพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช  หลังจากนั้นในยุคของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ (Edwardian the Confessor) ได้ครองราชย์และสร้างพระราชวังพระราชวังเวสต์มินสเตอร์กับวิหารเวสต์มินสเตอร์ (West Minster) ที่ริมแม่น้ำเทมส์ ซึ่งได้เป็นวิหารสำคัญอยู่คู่บ้านคู่เมือง 

วิหารเวสต์มินสเตอร์ในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 3 (ภาพจาก By H. W. Brewer (1836–1903) - The Builder, Vol. 47, No. 2180 (November 15, 1884)., Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=98329223) 

นอกจากนี้พระองค์ก็ได้ทำการสร้างปราสาทเพิ่มเติมในกรุงลอนดอนเพื่อใช้เป็นที่พำนักและเป็นป้อมปราการ โดยส่วนหนึ่งของปราสาทนั้นคือหอคอยแห่งลอนดอนที่มีประวัติยาวนานและมีสิ่งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์มาก 

Tower of London

   หลังจากนั้นกรุงลอนดอนได้เป็นศูนย์กลางของการเมืองการปกครองและการค้าจนมั่งคั่งร่ำรวย แต่ก็ประสพกับภัยต่างๆ เช่นโรคระบาดในศตวรรษที่17 สันนิษฐานว่าอาจเป็นกาฬโรคหรือไข้เลือดออกซึ่งคร่าชีวิตคนไปราวแสนคน 
   หลังจากนั้นก็ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ปี1666 โดยเริ่มต้นจากร้านขนมปังแห่งหนึ่งจนลุกลามไปใหญ่โตเป็นพายุเพลิงจนลามไปตัวอาคารสำคัญเก่าแก่ทำให้ต้องสร้างเมืองกันใหม่เกือบทั้งหมด


ไฟไหม้ครั้งใหญ่กรุงลอนดอน (By Unknown artist - museumoflondonprints.com, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1303944)

ดังนั้น สถาปัตยกรรมที่เห็นอยู่แม้ว่าจะเป็นสภาพที่เก่าแก่มากแต่หลายแห่งได้มีการสร้างใหม่และออกแบบใหม่ทำให้มีรูปแบบแตกต่างไปจากดั้งเดิม มีการฟื้นฟูสถาปัตยกรรมรุ่นก่อนขึ้นมาใช้ใหม่โดยเฉพาะศิลปะยุคโกธิค (Gothic)  ซึ่งเราจะได้ยินคำนี้อีกหลายครั้ง 

สถาปัตยกรรมแบบโกธิค สร้างขั้นใหม่หลังจากไฟไหม้ครั้งใหญ่กรุงลอนดอน (By DaniKauf - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=64126)

นอกจากนี้แล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กรุงลอนดอนได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการทิ้งระเบิดของเยอรมัน ทำให้อาคารเก่าบางส่วนต้องบูรณะกันใหม่ 
      ปัจจุบันลอนดอนเป็นเมืองเก่าแก่ที่ยังคงมีสถานที่ประวัติศาสตร์สำคัญและมีโบราณวัตถุสำคัญอย่างมากรวมทั้งเรื่องราวต่างๆที่น่าพิศวง อัศจรรย์ น่าทึ่ง น่าเศร้า เร้าอารมณ์อยู่มากมายซึ่งเราจะได้รับรู้จากการชมเมืองในวันนี้และวันต่อๆไป


วิหารเซนต์พอล คู่บ้านคู่เมืองกรุงลอนดอน ขณะที่กรุงลอนดอนถูกระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 
By Herbert Mason - http://media.iwm.org.uk/iwm/mediaLib//12/media-12983/large.jpgThis is photograph HU 36220 from the collections of the Imperial War Museums., Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=30835239

ท่านผู้ใดสนใจติดตามการท่องเที่ยวอังกฤษ ขอประชาสัมพันธ์ว่า ตอนนี้กำลังทยอยเขียนเรื่องราว บันทึกการเดินทาง อังกฤษ สก๊อตแลนด์อยู่ หลายบทความ
เชิญไปชมกันที่  https://ppantip.com/topic/41018924 ได้นะครับ มีเรื่องพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์จะกำลังนำลงอยู่เยอะ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่