JJNY : หลายพื้นที่ AQI เกินร้อย│"หมอธีระ"ยกเคสภูทับเบิกสะท้อนสถานการณ์│“แอร์ไลน์”แห่คืนสลอตบิน │โคราชอ่วม ท่วมระลอก2

ค่าฝุ่นวันนี้ หลายพื้นที่ ค่า AQI เกินร้อย ด้าน คพ. เผย คุณภาพอากาศ
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_6688484
 
 
ค่าฝุ่นวันนี้ เว็บไซต์รายงานสภาพอากาศ หลายพื้นที่ ค่า AQI เกินร้อย หลังจากช่วงเช้าวันนี้อากาศขมุกขมัว ด้าน กรมควบคุมมลพิษ เผย คุณภาพอากาศ
 
วันที่ 21 ต.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบเว็บไซต์ IQAir รายงานสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ในช่วงเวลา 06.00 น. พบว่า 10 สถานที่ในประเทศไทยมีฝุ่นมากที่สุด ประกอบด้วย
 
• 1. เชียงดาว, จ.เชียงใหม่ 216 AQI
• 2. บางบัวทอง, จ.นนทบุรี 171 AQI
• 3. บางละมุง, จ.ชลบุรี 159 AQI
• 4. พระสมุทรเจดีย์, จ.สมุทรปราการ 157 AQI
• 5. สามพราน, จ.นครปฐม 156 AQI
• 6. พัทยา, จ.ชลบุรี 155 AQI
• 7. บางใหญ่, จ.นนทบุรี 153 AQI
• 8. นครปฐม, จ.นครปฐม 152 AQI
• 9. สมุทรสงคราม, จ.สมุทรสงคราม 152 AQI
• 10. สายไหม, กรุงเทพฯ 150 AQI
 
ขณะที่ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศเมื่อเวลา 06.00 น. พบว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่ทั่วประเทศ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพดีมากถึงปานกลาง
 

 
"หมอธีระ" ยกเคสภูทับเบิกสะท้อนสถานการณ์โควิดไทย ชี้ยังน่าเป็นห่วง
https://www.nationtv.tv/news/378847625

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ยกคลัสเตอร์ทับเบิกที่พบผู้ป่วยยืนยันทะลุ 300 รายแล้ว ยัน สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง

21 ตุลาคม 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Thira Woratanarat" ห่วงสถานการณ์คลัสเตอร์ภูทับเบิก ที่ยังมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากทำให้เห็นว่าสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ยังคงน่าเป็นห่วงอยู่ ทั้งนี้ รศ.นพ.ธีระ ได้ระบุข้อความว่า ...
 
"จากบทเรียนจากภูทับเบิก สะท้อนว่าการใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้นล้วนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะไปงานศพ งานเลี้ยง พบปะญาติพี่น้อง หรือท่องเที่ยว การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ"
 
ประเทศไทยนั้นยังมีการระบาดที่รุนแรงติดลำดับต้นๆ ของโลกมาตลอด กระจายไปทั่ว และยังไม่สามารถควบคุมได้ การใส่หน้ากาก เจอคนน้อยๆ สั้นๆ ห่างๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก

ขณะที่สถิติจาก WHO Weekly Epidemiological Report รายงานออกมาวันที่ 19 ตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีจำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ลดลง 4% และจำนวนเสียชีวิตเพิ่มรายสัปดาห์ลดลง 2% ถ้าดูในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 13% จำนวนเสียชีวิตลดลด 19%
  
แต่ไทยเรานั้น จำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ (ยังไม่รวม ATK) ลดลงเพียง 2.6% และจำนวนเสียชีวิตลดลงเพียง 7% จะเห็นได้ว่า สถิติของไทยเรามีจำนวนติดเชื้อรายสัปดาห์ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตนั้นก็ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน นี่คือข้อมูลที่ย้ำเตือนเราว่า สถานการณ์ระบาดนั้นไม่โอเค
  
นอกจากนี้ รศ.นพ.ธีระ ได้อัพเดตเกี่ยวกับเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ที่เป็นที่กังวล (Variants of Concern: VOC)  โดยองค์การอนามัยโลกได้ทบทวนข้อมูลวิชาการ และอัพเดตเกี่ยวกับเรื่องนี้ พบว่า  ข้อมูลปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าเดลต้านั้นทำให้แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่โอกาสป่วยรุนแรง น่าจะไม่ต่างจากอัลฟ่า  และเดลต้านั้นชัดเจนว่ามีผลทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟ่า  ประชาชนควรติดตามความรู้เกี่ยวกับไวรัสนี้ไป เพื่อให้รู้เท่าทัน และตัดสินใจประพฤติปฏิบัติในเรื่องต่างๆ อย่างเหมาะสม
 
https://www.facebook.com/thiraw/posts/10223290472962576
 

 
“แอร์ไลน์” แห่คืนสลอตบิน ชี้ 5 เดือนจากนี้ธุรกิจยังไม่เชื่อมั่น
https://www.prachachat.net/tourism/news-785125

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า 1 พฤศจิกายนนี้ ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสและเดินทางจากประเทศความเสี่ยงต่ำ (ตามที่รัฐบาลกำหนด) โดยไม่กักตัวแล้ว และทำ RT-PCR test ในวันแรกที่มาถึง จากเดิมที่กำหนดให้ต้องอยู่ในพื้นที่ 7 วัน และทำ RT-PCR test 3 ครั้ง
 
การผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับคาดการณ์ใหม่อีกครั้ง โดยประเมินว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ประเทศไทยน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 1 ล้านคน พร้อมตั้งเป้าว่าในปี 2565 จะมีรายได้ประมาณ 50% ของปี 2562 และเพิ่มเป็น 80% ของปี 2562 ในปี 2566 และมีรายได้ใกล้เคียงกับปี 2562 ได้ในปี 2567
 
ธุรกิจการบินผ่านจุด “ต่ำสุด”
 
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือผู้บริหารท่าอากาศยาน (สนามบิน) หลักของประเทศจำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง (เชียงราย), ภูเก็ต และหาดใหญ่ (สงขลา) ถึงการประเมินภาพรวม และแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินของไทยหลังจากที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้ รวมถึงคาดการณ์ผลประกอบการของ ทอท.ไว้ดังนี้

“นิตินัย” บอกว่า ในช่วงที่รัฐบาลประกาศหยุดทำการบินตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจนถึงกันยายน 2564 น่าจะเป็นจุด “ต่ำสุด” ของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยแล้ว
 
โดยในช่วงนั้นมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้ง 6 สนามบินเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40-50 คนต่อวัน พอเริ่มเข้าเดือนตุลาคมรัฐบาลประกาศให้สายการบินกลับมาทำการบินได้อีกครั้ง พบว่าปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ในระดับประมาณ 30,000 คนต่อวัน
 
“ในส่วนของสนามบินภูเก็ตที่ทำโมเดลแซนด์บอกซ์นั้น ในช่วงเดือนที่ผ่านมาจำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินยังคงอยู่ในระดับทรง ๆ คือประมาณ 10 เที่ยวบินต่อวัน หรือประมาณ 300 เที่ยวบินต่อเดือน ส่วนผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 500-600 คนต่อวัน”
 
พร้อมรับเปิดประเทศ 1 พ.ย. 64
 
สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นั้น “นิตินัย” บอกว่า ที่ผ่านมาสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางมาตลอด ตั้งแต่รัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉพาะกลุ่มเมื่อปลายปี 2563 แล้ว โดยเฉพาะในส่วนของเที่ยวบินขาเข้ามาจากต่างประเทศ
 
รวมถึงการอุ่นเครื่องรอบใหญ่ที่โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ซึ่งหลัก ๆ ยังคงใช้ระบบเดิม เพียงแต่เพิ่มเติมบางเงื่อนไขเข้ามาเท่านั้น โดยประเด็นที่ชาเลนจ์ของระยะนี้คือ การที่สนามบินแต่ละแห่งใช้เงื่อนไขการเดินทางเข้าที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้โดยสารเกิดความสับสน
 
“ตอนนี้รัฐบาลแบ่งพื้นที่ออกเป็นสี จัดโซนนิ่งกันใหม่ หากเมืองใหญ่เป็นสีเดียวกันก็จะทำให้เราบริหารจัดการง่าย แต่ถ้าเมืองใหญ่คนละสี ทอท.ก็ต้องบริหารจัดการอีกอย่างหนึ่ง แต่หากรัฐบาลประกาศใช้มาตรฐานเดียวก็จะบริหารจัดการง่ายขึ้นเช่นกัน”
 
อย่างไรก็ตาม 1 พฤศจิกายนนี้ ทอท.ก็เตรียมความพร้อมรองรับระดับหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่ ฯลฯ โดยส่วนใหญ่ยังคงใช้ระบบเดิม แต่ก็คงมีปรับบ้างบางส่วนเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ เพราะจำนวนผู้โดยสารต่อวันน่าจะมีประมาณที่เพิ่มมากขึ้น
เรียกว่า เป็นการเตรียมความพร้อมบนความไม่ชัดเจนในอีกบางเรื่องที่ต้องรอสรุป
 
แอร์ไลน์แห่คืนสลอตฤดูหนาว
 
ต่อคำถามว่า ตามสลอตการบินฤดูหนาว หรือ winter schedule ปีนี้ สายการบินต่าง ๆ แจ้งความประสงค์กลับมาทำการบินแล้วมากน้อยแค่ไหน “นิตินัย” บอกว่า ที่ผ่านมาสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ยังยกเว้นไม่ลงโทษสายการบินที่ทำผิดเงื่อนไขการบิน ในเกณฑ์ 80 : 20 (สายการบินไหนผิดเงื่อนไขเกิน 20% สิทธิ์สลอตการบินเวลาเดิมในปีหน้าจะหลุด) ทำให้ ทอท.บริหารงานยาก เพราะไม่สามารถรู้ดีมานด์ที่แท้จริง สลอตการบินยังคงถูกจองไว้เต็ม (สีแดง) เหมือนช่วงก่อนวิกฤต
 
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ล่าสุดสถาบันการบินพลเรือนได้ผ่อนผันเกณฑ์ 80 : 20 ของ IATA โดยใช้เกณฑ์ใหม่เรียกว่า 50 : 50 โดยเปิดทางให้สายการบินที่รู้ตัวว่า 1 เดือนล่วงหน้าจะไม่ทำการบินทำการยกเลิกสลอตการบินไปก่อน โดยจะไม่นับเป็น 50% ที่ขาดหรือผิดเงื่อนไข หากสายการบินไหนพร้อมก็แจ้งความประสงค์จองสลอตเวลาที่ว่าง (สีเขียว) เพื่อกลับมาทำการบิน
 
เมื่อมีเกณฑ์ใหม่นี้ออกมา ทำให้สายการบินส่วนใหญ่ยอมคืนสลอตการบินไว้ก่อน ส่งผลให้สลอตการบินที่เคยเต็มเป็นสีแดงทั้งตารางเปลี่ยนเป็นสีเขียวชัดเจนขึ้น
 
“นิตินัย” บอกว่า จากเกณฑ์ใหม่ของสถาบันการบินพลเรือนนี้ทำให้สายการบินทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยคืนสลอตเวลาออกมาเป็นจำนวนมาก โดยภาพรวม 6 สนามบินในความดูแล พบว่าสายการบินต่างประเทศยกเลิกสลอตเวลาไป 82% ส่วนสายการบินในประเทศ (สัญชาติไทย) ยกเลิกสลอตเวลาไป 34%
 
หากประเมินเฉพาะในส่วนกลางคือ สนามบินสุวรรรภูมิและดอนเมือง พบว่าสายการบินต่างประเทศคืนสลอตรวมกันเฉลี่ยประมาณ 70% ขณะที่สนามบินดอนเมืองนั้น พบว่า สายการบินต่างประเทศยกเลิกสลอตการบินไปทั้งหมด 100% ส่วนสายการบินภายในประเทศยกเลิกสลอต 33%
 
“ตอนนี้โดยรวมสายการบินคืนสลอตกันไปประมาณ 70-80% นั่นแสดงว่าสลอตการบินในภาพรวมของเราก็จะว่างเป็นสีเขียว 70-80% เช่นกัน สายการบินไหนพร้อมจะกลับมาก็มาเลือกสลอตเวลาเอาว่าจะบินเวลาไหน เกณฑ์นี้ถือว่าช่วยให้เราบริหารจัดการและเห็นทิศทางของอุตสาหกรรมการบินที่ชัดเจนขึ้น” 
  
สะท้อนสายการบินยังไม่เชื่อมั่น
 
“นิตินัย” อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า กรณีที่สายการบินต่าง ๆ คืนสลอตการบินฤดูหนาว หรือ winter schedule 2564-2565 (ระหว่าง 31 ตุลาคม 2564-26 มีนาคม 2565) จำนวนมากนั้น สะท้อนว่า ธุรกิจการบินในช่วง 5 เดือนนี้ สายการบินยังมองถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ทั้งเรื่องการเปิดน่านฟ้าระหว่างประเทศ เรื่องของโรคระบาด รวมถึงเรื่องการเปิดประเทศของพวกเขาด้วย เป็นต้น
 
พูดง่าย ๆ คือ สายการบินต่างประเทศยังมองว่าในช่วง 5 เดือนนี้ ยังมีความไม่แน่นอนสูง
 
“ในส่วนของสายการบินต่างชาตินั้น ส่วนใหญ่ที่คืนสลอตเวลามาเป็นสายการบินในฝั่งภูมิภาคเอเชียเป็นเส้นทางบินระยะใกล้เป็นหลัก ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเขาอาจมองว่าการบินใกล้นั้น กลับมาง่ายกว่าการบินระยะไกล”
 
ขณะที่สายการบินภายในประเทศคืนสลอตเวลาเฉลี่ยประมาณ 40% นั้น น่าจะเป็นเพราะว่าสามารถปรับสลอตการบินที่มีอยู่มาให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศแทนได้
 
กระทบผลประกอบการปี’65-66
 
“นิตินัย” จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนชัดเจนถึงผลประกอบการโดยรวมของ ทอท. สำหรับปีงบประมาณ 2565-2566 ว่า ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากในไตรมาส 1 ของงบประมาณปี 2565 (1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2564) นั้นยังคงไม่ฟื้นตัวนัก
 
เช่นเดียวกับปีงบประมาณ 2566 (1 ตุลาคม 2565-30กันยายน 2566) ที่คาดว่าอุตสาหกรรมการบินจะยังอยู่ในภาวะซ่อมแซม เนื่องจากคาดว่าจะมีซัพพลายเชนบางส่วนที่หายไป และบางส่วนต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาแข็งแรงได้เหมือนกัน
 
ส่วนผลประกอบการสำหรับปีงบประมาณ 2564 (1 ตุลาคม 2563-30 กันยายน 2564) นี้จะเป็นปีที่ขาดทุนเกิน 10,000 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบตลอดทั้งปี โดยตัวเลข 9 เดือนแรกที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯไปแล้วมีตัวเลขขาดทุนอยู่ที่ราว 11,000 ล้านบาท
  
พร้อมย้ำว่า การคาดการณ์ดังกล่าวจะใกล้เคียงความเป็นจริงแค่ไหน ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง หลังจากเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ไปแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่