JJNY : 4in1 ประมงปัตตานีสุดทน│CIMBชี้เงินเฟ้อสูงกดGDP65เหลือ2%│ค้าปลีกโอดกำลังซื้อฟื้นไม่เต็มที่│ปภ.เตือน37จว.ระวัง

ประมงปัตตานีสุดทน รบ.ไม่อลุ่มอล่วยปล่อยแบกรับปัญหาทุกอย่าง
https://www.matichon.co.th/region/news_3011472
 
ประมงปัตตานีสุดทน รบ.ไม่อลุ่มอล่วยปล่อยแบกรับปัญหาทุกอย่าง
 
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวยังคงติดตามสถานการณ์ความเดือดร้อนของของกลุ่มชาวอุตสาหกรรมประมง ที่บริเวณท่าเรือแพใหม่ อยู่ฝั่งตรงข้ามตลาดสะพานปลา อ.เมืองปัตตานี ซึ่งบริเวณนี้จะเห็นว่ามีเรือประมงหลายสิบลำ จอดกันอยู่เรียงราย
 
นางจุไรรัตน์ ตั้งใจ อายุ 49 เจ้าของเรือเพชรวราภรณ์ เรือเข้าจอด บริเวณ ที่ท่าเรือ แพใหม่ กล่าวว่า ชาวประมงทุกวันนี้ยินยอมทำ ยอมรับได้ ทำตามทุกอย่าง กฎหมายออกมามันบังคับแรงไป อย่างเรื่องการเสียค่าปรับนี้ โดนเสียค่าปรับมาก แต่ละครั้งถึง 2 แสน เวลาเรือเสีย หัวเรือดับ มีปัญหาขาดการติดต่อ 5 นาที ก็ต้องแจ้งทันที และต้องเข้าเรือทันที ต้องเสียค่าน้ำมัน มีค่าใช้จ่าย จ่ายค่าลูกน้องอีก โดยไม่ดูความเป็นจริงว่า มันต้องใช้เวลา กว่าจะกลับเข้ามาถึงฝั่งเสียเวลาต้องเริ่มออกเรือรอบใหม่อีก เมื่อแจ้งเข้าแจ้งออก ผิด เอกสารผิด จะโดนล็อคเรือ ไม่ให้ออกทันที อย่างนี้มันแรงไปไหมสำหรับชาวประมงปัญหาแรงงาน
 
อยากให้รัฐบาลอลุ่มอล่วยให้บ้าง ไม่ใช่น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่ง ป่า ไม่ใช่ออกกฎหมายข่มเราอย่างเดียว อยากให้มาลงดูรายละเอียดชาวประมงบ้าง เขาไม่เคยดูแล อย่าคิดแบบระบบราชการให้ทำตามอย่างเดียว อย่างเรื่องค่าปรับ ค่าไอเอฟ เอาลงบ้างก้ได้ กฎหมายแก้ตามกฎหมาย เอาตามความเป็นจริงบ้าง ฐานะประชาชนยอมรับตามทุกอย่าง อีกเรื่องคือเรื่องราคาปลา ก็ถูกลง เอามาขายก็โดนคัดเป็นเบอร 2 ,3 ,4 เบอรหนึ่ง น้อยมาก ราคาน้ำมันก็ขึ้นเอาขึ้นเอา เรือขนาดกลางและเล็ก อย่างเรานี้ ออกแต่ละเที่ยว ทั้งค่าใช้จ่ายลูกน้อง น้ำมันต้องเตรียมๆไว้ราวๆ 1 แสน ออกไป ถ้าได้แสนกว่า ถึงแสนห้า ก็ถือว่าดีไป เดี่ยวนี้เรือใหญ่ เงิน 1ล้าน บางทีออก 2 รอบ เดือนเดียวก็จบแล้ว อีกทั้งเอาเรือเข้ามาจอด ก็เสียค่าจอดเรืออีก เห็นไฟมว่าจอดเต็มกันไปหมด รอรัฐบาลว่าจะเข้ามาซื้อ รอมเป็น 10 ปีแล้ว ยังไม่เห็นใครเลยจะเข้ามาซื้อสักที ไม่รู้จะรออีกยาวนานแค่ไหน
 

 
ซีไอเอ็มบีไทย ชี้เงินเฟ้อสูงขึ้น กดจีดีพีปี 65 เหลือ 2% แนะแบงก์ชาติไม่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย
https://www.matichon.co.th/economy/news_3011068

ซีไอเอ็มบีไทย ชี้เงินเฟ้อสูงขึ้น กดจีดีพีปี 65 เหลือ 2% แนะแบงก์ชาติไม่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่ดี
 
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า จากกระแสความกังวลถึงความเสี่ยงสำคัญปี 2565 ว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่สภาวะ Stagflation หรือ เศรษฐกิจชะลอตัวแรง ที่มักตามมาด้วยปัญหาคนว่างงาน พร้อมกับเผชิญปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว มองว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการน้ำมันเร่งตัวเร็ว สวนทางกับกำลังการผลิตน้ำมันเติบโตช้า คาดว่าสถานการณ์จะลากยาวถึงไตรมาสแรกปีหน้า หลังจากนั้น ราคาน้ำมันจะเริ่มลดลงและกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง กรณีฐานเช่นนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยในไตรมาสสี่ปี 2564 น่าจะอยู่ที่ราว 1.5% จากปีก่อน และน่าจะขยับขึ้นไปที่เฉลี่ยราว 1.7% ในปี 2565 ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยที่ 83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาสสี่ปีนี้ และ 66 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปีหน้า
 
อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่า 2% ในไตรมาสสามปี 2565 จากฐานที่ต่ำปี 2564 แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นชั่วคราวตามราคาน้ำมัน ไม่น่าเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสสี่ปี 2564 น่าจะฟื้นตัวจากไตรมาสสามได้ราว 1.4% แม้จะหดตัวเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนราว 0.9% แต่ในภาวะเช่นนี้ เศรษฐกิจไทยยังห่างไกลจากภาวะ stagflation โดยเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ราว 3.2% ในปีหน้า ยกเว้นมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่ทำเงินเฟ้อเร่งขึ้น
 
โดยเชื่อว่าปัญหาราคาน้ำมันและปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจอื่นๆ จะคลี่คลายในไตรมาสแรกของปีหน้า เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวช่วงสั้น และยังไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสกัดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี เพื่อเตรียมพร้อมหากปัญหาราคาน้ำมันและด้านอุปทานอื่นยืดเยื้อยาวนานกว่าคาด เงินเฟ้อที่เร่งขึ้นแรงปีหน้ามีผลลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในแทบทุกประเทศ และอาจดึงจีดีพีของไทยขยายตัวต่ำกว่าคาดอยู่ที่ 2.0% แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นบวกก็นับว่าปัญหาด้านเงินเฟ้อไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤติ และน่าจะเป็นภาวะชั่วคราว
 
ในทางปฏิบัติเศรษฐกิจไทยอาจไม่ชะลอตัวอย่างในแบบจำลองก็ได้ หากภาครัฐมีมาตรการรับมือที่เหมาะสม เช่น การไม่จำเป็นต้องเร่งขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่มาจากด้านอุปทาน เพราะจะยิ่งทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนของเอกชนทรุดตัวลงไปอีก อาจเสริมสภาพคล่องธุรกิจขนาดเล็กที่ขาดรายได้ให้สามารถรักษาระดับการจ้างงาน และมีเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจให้อยู่ได้ในปีหน้า นอกจากนี้ นโยบายการคลังยังจำเป็นในการดูแลผู้มีรายได้น้อยด้วยมาตรการเงินโอนและลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและค่าขนส่งมวลชน
 
แต่ไม่ควรบิดเบือนกลไกตลาดด้วยการลดราคาน้ำมัน เพราะจะเป็นภาระทางการคลังที่มาก และจะไม่สนับสนุนนโยบายการประหยัดพลังงานในระยะยาว ดังนั้นเงินเฟ้อไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ให้ระวังมาตรการที่มารับมือกับเงินเฟ้อ เช่นการรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเศรษฐกิจชะลอ หรือการลังเลที่จะใช้นโยบายการคลังในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวในปีหน้าได้
 

 
ค้าปลีกโอดคลายล็อก กำลังซื้อฟื้นไม่เต็มที่แต่ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เหตุหวังของขวัญปีใหม่รัฐเติมมาตรการ
https://www.matichon.co.th/economy/news_3010216

ค้าปลีกโอดคลายล็อก กำลังซื้อฟื้นไม่เต็มที่ แต่ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เหตุหวัง ‘ของขวัญปีใหม่’ รัฐเติมมาตรการ
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจผู้ประกอบการ Modern Trade ไตรมาส 3ปี 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade (MTSI) ในไตรมาส 3/2564 ปรับสูงขึ้นอีกครั้งในรอบ 2 ไตรมาส โดยดัชนีรวมอยู่ที่ 47.9 ดัชนีฯในปัจจุบันอยู่ที่ 47.1 และดัชนีฯในอนาคตอยู่ที่ 48.7 เนื่องจากปลายไตรมาส 3 รัฐทยอยคลายล็อกมาตรการต่างๆ และผู้ประกอบการมองว่าค้าปลีกน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนียังต่ำกว่า 50% ทั้งจากองค์ประกอบการในการคำนวณดัชนี จากรายรับ กำไร ราคาขาย จ้างงาน ต้นทุน ยังอยู่ในระดับทรงตัวหรือดีเล็กน้อย ยกเว้นจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นหลังคลายล็อก แต่มีมุมมองต่อไตรมาส4/2564 ดีขึ้น เพราะมองผลดีรัฐบาลจะคลายล็อกที่เหลือ เปิดประเทศ และแรงกระตุ้นใช้จ่ายของภาครัฐส่งท้ายปี
 
“แนวโน้มดัชนีค้าปลีกน่าจะฟื้นสู่ระดับมาตรฐานที่ดีที่ 50 ได้ในไตรมาสแรกปีหน้า โดยผู้ประกอบการขอให้รัฐเร่ง 4 เรื่องเป็นแรงผลักดัน คือ ฉีดวัคซีนให้เกิน 70-80% ก่อนปีไหม่ ออกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายโดยนำลดภาษีจากค่าใช้จ่ายป้องกันโควิดทุกแบบไม่แค่ชุดตรวจ บริหารจัดการเรื่องน้ำท่วมไม่กระทบวงกว้าง และสร้างความมั่นใจรวมถึงมีแผนรับมือหลังเปิดประเทศเพื่อไปกลับไปล็อกดาวน์” นายธนวรรธน์ กล่าว
 
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จีดีพีค้าปลีกเป็นสัดส่วน 15% ของจีดีพีรวมของประเทศไทย หรือมีมูลค่าในอุตสาหกรรมค้าปลีกและธุรกิจที่เกี่ยวข้องประมาณ 2.5-3.0 ล้านล้านบาท และปกติจะขยายตัวปีละ 2% หากจีดีพีประเทศโต1-1.5% ในส่วนนี้เป็นจีดีพีที่เกิดจากโมเดิร์นเทรด 65% ของจีดีพค้าปลีกรวม หรือประมาณ 1.2-1.5 ล้านล้านบาท ดังนั้น ถือเป็นกลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ หากรัฐเร่งกระตุ้นใช้จ่ายและฟื้นฟูค้าปลีกโดยเฉพาะรายย่อย รวมกับมาตรการกระตุ้นผ่านโครงการหรือมาตรการต่างไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท ในปี 2565 บวกกับเปิดประเทศ ที่คาดมียอดนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลดีต่อการขยายของจีดีพีปีหน้าได้ 5% จากปีนี้คาดว่า 1.3-1.5%
 
นางสาวชนิดา จันทร์สิริพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ กลุ่มค้าปลีกและบริการ สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้มีการคลายล็อกกิจการ แต่พบว่ากำลังซื้อยังไม่ฟื้นเท่าที่ควร ประชาชนยังคาดหวังรัฐจะออกมาตรการรัฐมาอีกก่อนปลายปีนี้ ที่คาดหวังคือโครงการช้อปดีมีคืน ที่ธุรกิจเสนอให้ถึง 2 แสนบาท/คน และร้านค้าส่วนใหญ่โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ยังเข้าไปถึงเงินทุนเพื่อเป็นเงินหมุนเวียนการเปิดธุรกิจอีกครั้ง หลังจากปิดตัวมานาน 2 ปี จึงพบว่าแม้ค้าปลีกเปิดแต่ร้านค้ากลับมาเปิดไม่เท่าเดิม ลดลงจำนวนมาก จึงอยากให้รัฐเร่งแก้ไขเกณฑ์ปล่อยซอฟต์โลนเพื่อให้เข้าถึงเงินทุนได้จริง ลดการติดขัดที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐก็เหลืออีก 2.5 แสนล้านบาท น่าจะเร่งปล่อยฟื้นฟู ให้ธุรกิจกลับมาอีกครั้ง รวมถึงลดต้นทุนบริการ เช่น ลดค่าน้ำค่าไฟ หรือ เพิ่มลดหย่อยภาษีต้นทุนป้องกันโควิดให้ผู้ประกอบการ เพราะรายย่อยไม่อาจแบกรับส่วนนี้ได้ทั้งหมด
 
“แม้ค้าปลีกมองว่าดีขึ้น แต่ยังไม่เต็มที่ ประชาชนลังเลใช้จ่าย และยังไม่เชื่อมั่นในหลายเรื่อง ทำให้เงินเข้าระบบไม่ได้มาก ซึ่งอย่างไรปีนี้ตลาดค้าปลีกน่าจะไม่ดีเท่าปีก่อน โดยปกติค้าปลีกสมัยใหม่จะมีเงินสะพัดประมาณ 4 แสนล้านบาท ก็อยู่ระหว่างติดตามตัวเลข” นางสาวชนิดา กล่าว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่