*** 9 เรื่องแปลกของ SPACE FORCE ***

เมื่อพูดถึง Space Force ทุกคนจะนึกถึงอะไรครับ? ภาพยนตร์? เกม? หรือกองทัพจริงๆ ของสหรัฐฯ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ ในปี 2019?

กองทัพนี้กลายเป็นกระแสดังนับแต่เริ่มตั้งดูเหมือนจะเป็นสาเหตุให้มีเรื่องแปลกเกี่ยวกับสเปซฟอร์ซเกิดขึ้นมากมายในระยะเวลาที่ผ่านมา

บทความนี้จะเล่าเรื่องที่คุณอาจไม่เชื่อว่าเกิดขึ้นกับสเปซฟอร์ซจำนวน 9 ข้อ มีทั้งเรื่องที่ย้อนแย้งที่สุด (ข้อ 2) เรื่องที่โดนล้อหนักที่สุด (ข้อ 4 และ 5) และเรื่องแปลกที่น่าภูมิใจที่สุด (ข้อ 9)


“ทัพอวกาศ” แค่ชื่อก็แปลกแล้ว แต่ความจริงอาจเหลือเชื่อกว่าที่คุณผู้อ่านคิดไว้อีก
เราจะไปติดตามดูพวกมันด้วยกันนะครับ...


 เรื่องแปลกที่ 1: สหรัฐฯ มีหน่วยอวกาศอยู่แล้ว

จริงๆ กองทัพอวกาศไม่ใช่ความคิดใหม่ เพราะสหรัฐฯ เคยมีหน่วยงานอวกาศทางทหาร นาม Air Force Space Command (AFSPC) เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอากาศมาตั้งแต่ปี 1982

หน่วยนี้ทำหน้าที่คอยตรวจตราภารกิจที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ เช่น การปล่อยจรวด, ควบคุมดาวเทียม, เฝ้าระวังมิสไซล์จากชาติศัตรูที่อาจปล่อยขึ้นไปอวกาศก่อนตกสู่โลก ฯลฯ


ภารกิจสำคัญที่หน่วยอวกาศฯ เคยทำก็คือ “ปฏิบัติการพายุทราย” ในสงครามอ่าวปี 1991 ที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรรบกับอิรักเพื่อปลดปล่อยคูเวต

ตอนนั้นฝ่ายพันธมิตรต้องเคลื่อนพลผ่านดินแดนทะเลทรายโดยไม่มีแผนที่ ทำให้ระบบ GPS จากเครือข่ายดาวเทียมนำร่องในการควบคุมของหน่วยอวกาศเข้ามามีบทบาทอย่างมาก เพราะมันช่วยกำหนดตำแหน่งบนโลก ทำให้การเคลื่อนทัพเป็นไปอย่างสะดวกเรียบร้อย

...จากความสำเร็จของปฏิบัติการนี้ ทำให้หน่วยอวกาศได้รับการขนานนามว่าเป็น “หมัดน็อก” ที่ช่วยจัดการอิรักลงได้สำเร็จ…


 เรื่องแปลกที่ 2: ผบ. กองทัพอวกาศ เคยไม่อยากให้มีทัพนี้

แนวคิดที่จะแยกหน่วยอวกาศจากกองทัพอากาศเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันเรื่องข้อดีข้อเสียกันมาหลายสิบปี

หนึ่งในคนที่คัดค้านการจัดตั้งสเปซฟอร์ซคือ พลอากาศเอก เจย์ เรย์มอนด์ ผู้บัญชาการกองทัพอวกาศคนแรกและคนปัจจุบันของกองทัพอวกาศ

เขาเคยเขียนแสดงความเห็นผ่าน Defense One สื่อเกี่ยวกับข่าวสาร, การวิเคราะห์, แนวคิด และอนาคตของความมั่นคงสหรัฐฯ ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผบ. ของหน่วยอวกาศในปี 2017 ว่า...


ส่วนเขาตัวดีใจที่สภาคองเกรสให้ความสนใจกับความปลอดภัยของชาติในอวกาศ แต่ในเมื่อหน่วยอวกาศทุกวันนี้ก็ทำงานร่วมกับทัพอื่นๆ อยู่แล้ว และกองทัพอากาศก็ฝึกฝนทหารสำหรับภารกิจเกี่ยวกับอวกาศได้ดี ไม่เห็นจำเป็นต้องแยกหน่วยงานออกไปเป็นเหล่าทัพให้มีระเบียบการวุ่นวายเพิ่มเติม

สิ่งที่หน่วยงานต้องการคืองบสำหรับพัฒนาความปลอดภัยในอวกาศตอนนี้เลยมากกว่า


ภาพแนบ: ประธานาธิบดีทรัมป์กับพลอากาศเอกเรย์มอนด์

 แม้จะมีท่าทีไม่เห็นด้วย แต่เมื่อกองทัพอวกาศจัดตั้งขึ้นในปี 2019 พลเอกฯ เรย์มอนด์ก็ได้รับเลือกให้ดำรงหน้าที่เป็นผู้บัญชาการการปฏิบัติการอวกาศ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของหน่วย

ก่อนหน้านั้นไม่นาน เขาเพิ่งได้รับตำแหน่งผบ. กองบัญชาการอวกาศ (United States Space Command) ที่ตั้งขึ้นมาใหม่หลังถูกยุบไปในปี 2002 โดยขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ


ภาพแนบ: ตราของกองบัญชาการอวกาศ

...ความแตกต่างของสองหน่วยงานคือ ทัพอวกาศเป็นฝ่ายคอยฝึกกำลังให้กับทางกองบัญชาการฯ

ฉะนั้นการที่นายพลเรย์มอนด์ได้ตำแหน่งสูงของทั้งคู่จึงแสดงถึงความเก่งกาจ ที่แม้จะมีความเห็นแย้งกับสภา ก็ไม่อาจขวางความสามารถได้


เรื่องแปลกที่ 3: (ยัง) ไม่ได้มีไว้ก่อสงครามอวกาศ

เวลาพูดถึงกองทัพอวกาศ หลายๆ คนมักจะนึกถึงภาพจากหนังไซไฟ ไม่ว่าจะเป็น Star Wars, Starship Trooper หรือแม้แต่กันดั้ม ที่มียานล้ำๆ หุ่นยนต์เท่ๆ ใช้เลเซอร์สู้รบกัน

...แต่ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพอวกาศมีหน้าที่แตกต่างจากจินตนาการมาก


งานของกองทัพอวกาศก็ไม่ได้แตกต่างจากตอนเป็นเพียงหน่วยอวกาศมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลดาวเทียม, ป้องกันการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นทางอวกาศ, คอยคุมการปล่อยจรวดและตอนมันตกลงมา

แต่นอกเหนือจากนั้น ยังมีการร่วมมือกับเหล่าทัพอื่นๆ เพื่อคอยดูแลความสงบ, ปฏิบัติการช่วงชิงข้อมูลไซเบอร์, สู้รบด้วยข้อมูลข่าวสาร และอื่นๆ


ภาพแนบ: ยาน X-37B ที่กองทัพส่งขึ้นไปอวกาศ

ที่ดูไซไฟที่สุดในตอนนี้ก็คือ การทดสอบยานอวกาศเพื่อเก็บข้อมูล ดังนั้นใครอยากเห็นยานรบบินสู้กันคงต้องรออีกสักพัก เพราะตอนนี้ยังไม่ไปถึงขั้นนั้น

แต่จากความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี อาจจะไม่นานก็ได้ ใครจะรู้?


เรื่องแปลกที่ 4: โลโก้ละม้าย Starfleet จาก Star Trek

เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เปิดตัวสัญลักษณ์ประจำเหล่าทัพของสเปซฟอร์ซเป็นหัวธนูสีเงิน ผู้คนจากหลายสาขา รวมทั้งแฟนหนังไซไฟก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เฮ้ย! นี่มันสัญลักษณ์ของหน่วยสำรวจและดูแลความปลอดภัยสตาร์ฟลีตในสตาร์เทคชัดๆ!”


ภาพแนบ: ทวิตของทาเคอิ

ขณะที่จอร์จ ทาเคอิ หนึ่งในนักแสดงดั้งเดิมของซีรีส์สตาร์เทคยุค 1960 ถึงกับรีทวิตข้อความจากทรัมป์โดยตรงแล้วกล่าวว่า “อะแฮ่ม เราอยากได้ค่าลิขสิทธิ์จากไอ้นี่สักหน่อยนะ…”


ภาพแนบ: โลโก้ทัพอวกาศ (ซ้าย) และโลโก้สตาร์ฟลีต (ขวา)


ความจริงแล้ว หัวลูกศรสีเงินนี้ มีการใช้เป็นสัญลักษณ์แทนปฏิบัติการณ์ทางอวกาศของทัพอากาศตั้งแต่ปี 1961 ก่อนที่จะมีหน่วยอวกาศด้วยซ้ำ ดังนั้นหน่วยสตาร์ฟลีตต่างหาก ที่น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมา

...อย่างไรก็ตาม ความเหมือนที่แตกต่างในครั้งนี้ ทำให้กองทัพกลายเป็นที่ล้อเลียนของสื่ออย่างกว้างขวาง


เรื่องแปลกที่ 5: Guardians of the Galaxy

อีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้กองทัพอวกาศโดนล้อหนักคือคำเรียกเจ้าหน้าที่ของทัพว่า “การ์เดี้ยน” (Guardian) ซึ่งดันไปเหมือนชื่อทีมฮีโร่ปกป้องอวกาศชื่อดังของมาร์เวล Guardians of the Galaxy


ทั้งผู้กำกับ, แฟนหนัง และคนอีกมากมายเลยต่างนำทวิตที่ประกาศชื่อเรียกดังกล่าวมาเล่นมุข ไม่ว่าจะเป็น “ดิสนีย์เตรียมฟ้องร้องแล้วนะ” หรือ “ยศสูงสุดเรียกว่าสตาร์ลอร์ดใช่ไหมเนี่ย?”

และในภาพคือมุขหนึ่งจากทหารสเปซฟอร์ซตัวจริงนาม เจฟฟ์ มาร์ติน...


ภาพแนบ: การ์เดี้ยนในเกม Destiny

 นอกจากนี้ ชื่อ “การ์เดี้ยน” ยังไปคล้ายกับคำเรียกกลุ่มผู้พิทักษ์โลกและระบบสุริยะจากเหล่าเอเลี่ยนในเกมออนไลน์ดัง Destiny (ผู้สร้างเดียวกับ Halo ซึ่งเป็นเกมออนไลน์หน่วยรบอวกาศชื่อดังอีกเกม)

เหตุนี้ไม่พ้นโดนผู้พัฒนาเกมรวมทั้งแฟนๆ ล้อกันยกใหญ่ไม่ต่างกับแฟนหนัง พูดได้เลยว่าเรียกเสียงหัวเราะได้จากทุกวงการป๊อปคัลเจอร์จริงๆ


เรื่องแปลกที่ 6: จะสู้ครั้งแรกก็พลาดเลย

ในปี 2020 เน็ตฟลิกซ์ได้ปล่อยซีรีส์นาม Space Force ซึ่งเป็นแนวตลกล้อเลียนอิงทัพอวกาศออกมา โดยในการนี้ เน็ตฟลิกซ์ได้จดลิขสิทธิ์ชื่อ Space Force ใช้ทั่วโลก

...จริงๆ แล้วกองทัพก็ไม่น่าจะเดือดร้อนอะไร เพราะยังไงคนก็รู้ว่าซีรีส์เป็นเรื่องแต่ง ไม่ได้เกิดความเสียหายต่อใครจริงๆ แต่มันจะมีปัญหาก็ตอนที่ทัพอวกาศอยากจะขายสินค้าของที่ระลึกขึ้นมา พวกเขาอาจจะใช้ชื่อ Space Force ไม่ได้


ภาพแนบ: Mark R. Naird ตัวนำเรื่อง แสดงโดย Steve Carell ในฉากขึ้นศาล

ตอนนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ใต้การนำของทรัมป์ซึ่งเป็นนักธุรกิจมีแนวโน้มว่าอาจจะฟ้องร้องการนำชื่อทางทหารไปใช้ ดังที่เคยฟ้องเกม Call of Duty มาก่อน

แต่สำรวจไปสำรวจมา ปรากฏว่า เน็ตฟลิกซ์ไปจดทะเบียนชื่อ Space Force แบบครอบคลุมทั่วโลกตั้งแต่ช่วงมกราคม 2019 ที่เริ่มวางแผนซีรีส์นี้ ก่อนทัพอวกาศของจริงจะตกลงปลงใจใช้ชื่อสเปซฟอร์ซซะอีก

...เรียกว่าเหล่าทัพเองนี่แหละช้า ตายน้ำตื้นง่ายๆ แบบนั้น...


จนถึงปี 2021 ยังไม่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้นแต่อย่างใด ทั้งกองทัพและซีรีส์ยังใช้ชื่อ Space Force โดยไม่มีฝ่ายไหนเปลี่ยน

อาจต้องรอดูกันต่อไปว่า ทัพอวกาศตัวจริงจะแก้เกมได้ไหม อย่างไร?


เรื่องแปลกที่ 7: ใช้ SpaceX แทนที่จะเป็น NASA

สหรัฐฯ มีหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับการบินและสำรวจอวกาศอยู่แล้วคือ “นาซา” ที่เรารู้จักกันดี



 อย่างไรก็ตาม นาซาได้ยุติโครงการส่งมนุษย์ไปอวกาศไปตั้งแต่ปี 2011 และไม่เคยสร้างกระสวยอวกาศหรือส่งคนไปนอกโลกอีกเลย

กระทั่งปี 2020 นาซาจึงได้ร่วมมือกับ SpaceX บริษัทอวกาศเอกชนของนาย อีลอน มัสก์ พาคนไปอวกาศอีกครั้ง


เหตุนี้ทำให้แทนที่กองทัพอวกาศจะใช้กระสวยอวกาศของนาซาปฏิบัติภารกิจได้โดยตรง ก็ต้องไปจ้าง SpaceX มาทำหน้าที่แทน

ในเดือนมิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา SpaceX เพิ่งส่งดาวเทียม GPS สุดล้ำตัวใหม่ของกองทัพขึ้นไปนอกโลกถึง 2 ดวง และยังมีการตกลงทำสัญญาปล่อยดาวเทียมเพิ่มในปีหน้ารออยู่ด้วย


เรื่องแปลกที่ 8: NASA ยังมีบทบาทอยู่

อย่างไรก็ตาม ถึงบางเรื่องจะต้องไปจ้างคนนอก กองทัพอวกาศและนาซาก็ยังมีสัมพันธ์อันดีต่อกัน และร่วมมือกันในการทำงานหลายภาคส่วน


พลอากาศเอกเรย์มอนด์ให้สัมภาษณ์ว่า ทั้งคู่มีเป้าหมายเดียวกันเพื่อผลักดันให้การทำงานอวกาศมีความปลอดภัยและความเป็นมืออาชีพ

นอกจากนี้ การทำงานของกองทัพยังต้องทำความเข้าใจขอบเขตอวกาศอันกว้างใหญ่ โดยความสัมพันธ์กับนาซาทำให้มันเป็นไปได้


สำหรับโครงการของนาซาในปลายปีนี้ พวกเขามีแผนจะขึ้นไปอวกาศอีกครั้งโดยใช้ระบบยานอวกาศของตัวเอง และให้ SpaceX พัฒนายานสำหรับลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ (Moon lander)


นี่เป็นการส่งคนไปยังดวงจันทร์เป็นครั้งแรกนับจากโครงการอพอลโลจบลงในปี 1972 ในชื่อโครงการใหม่ว่า “อาร์ธีมิส” ซึ่งตั้งชื่อตามเทพีแห่งดวงจันทร์ของกรีก

มีแผนระยะสั้นคือ การส่งผู้หญิงไปดวงจันทร์เป็นครั้งแรก และมีแผนระยะยาวคือ การตั้งนิคมบนดวงจันทร์


เรื่องแปลกที่ 9: มีคนหลากหลายเชื้อชาติ รวมทั้งคนไทย

ผมเชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยได้ยินประโยค “คนไทยทำอะไรไม่แพ้ชาติใดในโลก” กันมาบ่อยๆ

แม้หลังๆ มานี้จะถูกนำไปใช้ในแง่ลบซะมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนไทยเก่งๆ ที่ประสบความสำเร็จระดับนานาชาติก็มีมากมายจริงๆ ...ไม่เว้นแม้แต่การเข้าเป็นทหารประจำทัพอวกาศ!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่