JJNY : 4in1 "อนุสรณ์"ห่วงน้ำท่วมฉุดศก.│แม่ค้าขายไม่ค่อยได้ โดนแบงก์ปลอมซ้ำ│เตือน 6จว.อีสาน│โชว์ภาพถ่ายดาวเทียม5จว.อีสาน

"อนุสรณ์ ธรรมใจ"ห่วงน้ำท่วมฉุดศก.ไตรมาส 4 ที่เริ่มฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ
https://www.bangkokbiznews.com/business/963633

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" มองผลกระทบจากน้ำท่วม ฉุดเศรษฐกิจช่วงปลายปีที่คาดจะเริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ ชี้รัฐต้องเร่งช่วยเหลือประชาชนฐานรากและภาคการเกษตรที่เสียหายหนัก คาดงบประมาณปี 65 ขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท หลังรายได้ภาษีพลาดเป้าไปมาก
 
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึง ผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 29-30 จังหวัด คิดเป็น 28-32% ของจีดีพีประเทศ จะฉุดการกระเตื้องขึ้นทางเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศที่คาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์น้ำท่วมสามารถบริหารจัดการได้ไม่ให้ท่วมในส่วนที่เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม หรือ ย่านศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล คาดว่าผลกระทบจากน้ำท่วมยังอยู่ในวงจำกัดไม่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากนัก

ส่วนประชาชนฐานรากและภาคเกษตรกรรมที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักนั้น รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อชดเชยความเสียหายในทรัพย์สินและอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งชดเชยรายได้บางส่วน คาดว่า งบประมาณปี 65 จะมีการขาดดุลงบประมาณสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยจะมีการขาดดุลไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มจากที่ประมาณการเดิมไว้ที่ 7 แสนล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการเก็บภาษีจะพลาดเป้าค่อนข้างมากและโอกาสในการเก็บภาษีได้สูงกว่า 2.563 ล้านบาท ในระดับเดียวกับปี 2562 นั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย ส่วนการใช้จ่ายเพื่อชดเชยรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจปีหน้าอาจจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 4% ผลประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและรายได้จะตกอยู่กับกลุ่มคนที่ร่ำรวยและชนชั้นกลางมากกว่ากลุ่มคนยากจนหรือมีรายได้น้อย โดยที่คนกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบมากกว่าในช่วงวิกฤติโควิดและยังถูกซ้ำเติมโดยอุทกภัย  
 
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องการขยับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจากระดับ 60% ไปเป็น 70% นั้นมีความจำเป็น เพราะหากไม่ขยับโดยฐานะทางการคลังในปัจจุบันและอนาคตอีก 1 ปีข้างหน้า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่งเกิน 60% อยู่แล้ว รัฐบาลต้องพยายามควบคุมการก่อหนี้ในแต่ละปีและต้องทำให้การขาดดุลงบประมาณลดลง และรัฐบาลในอนาคตต้องทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างเต็มศักยภาพในระดับ 5-6% จึงจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับ 60% ของจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้า ในกรณีที่เศรษฐกิจเติบโตได้น้อยกว่า 1% หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะทะลุ 80% และรัฐบาลในอนาคตในช่วงปี พ.ศ. 2570 อาจจะขยายเพดานหนี้อีกครั้งหนึ่ง
 
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีหนี้ระยะยาวเพื่อชดเชยความเสียหายทางการเงินของกองทุนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ยังมีภาระค้างอยู่อีกไม่ต่ำกว่า 700,000 ล้านบาท หนี้ระยะยาวพุ่งขึ้นอย่างมากหลังจากประเทศไทยเจอวิกฤติเศรษฐกิจโควิดมาเป็นเวลาร่วมสองปี จะเห็นว่าหนี้ระยะยาวส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจมากกว่าการกู้เงินมาเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การลงทุนทางด้านวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การก่อหนี้สาธารณะเพื่อการลงทุนเป็นสัดส่วนไม่มากจึงทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพในการเติบโตในระยะปานกลางและระยะยาวของไทยจะมีขีดจำกัด  
 
หากตั้งสมมติฐานจากข้อมูลในอดีต การตั้งงบประมาณรายจ่ายประเทศอยู่ที่ 20-22% และรายได้รัฐบาลสามารถจัดเก็บได้ 17-18% ของจีดีพี ทำให้เราต้องทำงบประมาณขาดดุลมาตลอดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548-2549 และรัฐบาลต้องกันเงินงบประมาณอย่างน้อย 3.5-4% ของงบประมาณเพื่อชำระคืนเงินกู้และต้องพยายามทำให้งบประมาณสมดุลให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573-2574 การใช้จ่ายจากงบประมาณต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส นอกจากนี้ ควรต้องปฏิรูประบบภาษีให้ประเทศสามารถหารายได้จากภาษีทรัพย์สิน ภาษีบาป ได้เพิ่มขึ้นอีก และทยอยลดการค้ำประกันให้กับรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นภาระต่องบประมาณน้อยลง กิจการใดที่เอกชนสามารถทำได้ดีกว่ารัฐวิสาหกิจให้เพิ่มบทบาทภาคเอกชน
 

 
แม่ค้าปวดใจ ช่วงนี้ยิ่งขายไม่ค่อยได้ ยังมาโดนแบงก์ปลอมซ้ำเติม
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_6655605

ตำรวจสภ.เมืองอุดรธานี เข้าตรวจสอบ คนร้ายใช้ธนบัตรปลอม ใบละ 1,000 บาท ซื้อของ ด้านแม่ค้าตัดพ้อ ยิ่งขายไม่ดีอยู่ กลับมาถูกซ้ำเติม
   
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2564 ตำรวจสายตรวจ 191 สภ.เมืองอุดรธานี รับแจ้งเหตุ มีคนร้ายใช้ธนบัตรปลอม ซื้อของที่ร้านขายของชำ บริเวณถนนโพนพิสัย เขตเทศบาลนครอุดรธานี จึงรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพบนางบัวพันธ์ สมสุด อายุ 59 ปี เจ้าของร้านขายของชำ จากการตรวจสอบที่ธนบัตรฉบับ 1,000 บาท บริเวณแถบสีทอง มีร่องรอยหลุดร่อนออก และผิวกระดาษมีความหยาบ
 
นางบัวพันธ์ ให้การว่า ขณะที่ตนกำลังนั่งนับเงินเพื่อเตรียมจ่ายเงินค่าสินค้าที่ได้สั่งไป เมื่อตนจับธนบัตรใบละ1,000 ฉบับนี้ก็พบว่ากระดาษมีความหยาบและแถบเรืองแสงสีทองลอกออก จึงให้ลูกชายดูซึ่งก็ได้นำฉบับจริงมาเทียบก็พบความแตกต่างของระยะแถบเรืองแสง และเนื้อกระดาษ จึงรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม
 
ตนรู้สึกเสียใจมากเพราะกว่าจะขายของได้ก็ยากลำบากยังมาเจอธนบัตรปลอมอีก คาดว่าจะเป็นช่วงเย็นของเมื่อวานนี้ มีลูกค้าเข้ามาซื้อของที่ร้านเยอะมากจนไม่มีเวลาสังเกต อยากฝากเตือนไปยังพ่อค้าแม่ค้าที่มีอายุมากแล้วควรหลีกเลี่ยงรับเงินฉบับละ1,000 บาท เพื่อป้องกันเพราะดูยากว่าเป็นของจริงหรือของปลอม
 
เบื้องต้นตำรวจสายตรวจ 191 ได้แนะนำให้เจ้าของร้านไปแจ้งความ ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สภ.เมืองอุดรธานี เพื่อตรวจสอบยืนยันว่าเป็นธนบัตรปลอมตามขั้นตอนอีกครั้ง เมื่อผลยืนยันแล้วจึงจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 


กอนช. แจ้งเตือน 6 จังหวัดอีสาน ลำน้ำชีล้นตลิ่งสูงถึง 2 เมตร เข้าท่วม แจ้งประชาชนเตรียมอพยพ
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_6655727

กอนช. แจ้งเตือน 6 จังหวัดอีสาน ลำน้ำชีล้นตลิ่งสูงถึง 2 เมตร เข้าท่วม 4-15 ต.ค.นี้ กางแผนรับมือ แจ้งประชาชนเตรียมอพยพขนของขึ้นที่สูง
   
วันที่ 3 ต.ค.64 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศ ฉบับที่ 17/2564 เรื่อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในลำน้ำชีล้นตลิ่ง จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่” และแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 24–25 ก.ย.64 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำชี โดยเฉพาะในลุ่มน้ำชีตอนบน บริเวณ จ.ชัยภูมิ ซึ่งปริมาณน้ำสูงสุดได้เดินทางมาถึงเขื่อนชนบท อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
 
ส่งผลให้ระดับน้ำที่เขื่อนชนบทสูงกว่าตลิ่งในช่วงพื้นที่ลุ่มต่ำประมาณ 3.50 เมตร และล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชี ในเขตอำเภอโคกโพธิ์ชัย อำเภอแวงใหญ่ อำเภอชนบท อำเภอมัญจาคีรี อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด และอำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ประกอบกับระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น สูงเกินเกณฑ์ระดับน้ำควบคุมสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำลงลำน้ำพองและไหลไปรวมกับแม่น้ำชี ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงมากขึ้น
 
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีตอนกลาง บริเวณอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม พบว่าเขื่อนมหาสารคาม อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีระดับน้ำ +147.58 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) สูงกว่าระดับเก็บกัก 0.78 เมตร (ระดับเก็บกัก +146.8 ม.รทก.) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนมหาสารคาม 580 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 5 เซนติเมตรต่อชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.50 – 2 เมตร ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชีในช่วงวันที่ 4 – 15 ตุลาคม 2564 ดังนี้
 
1.จังหวัดขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอโคกโพธิ์ชัย อำเภอมัญจาคีรี อำเภอแวงใหญ่ อำเภอแวงน้อย อำเภอชนบท อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด และอำเภอพระยืน
2.จังหวัดมหาสารคาม อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม
3.จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอฆ้องชัย อำเภอกมลาไสย และอำเภอร่องคำ
4.จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอธวัชบุรี อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอเสลภูมิ อำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภอพนมไพร และอำเภออาจสามารถ
5.จังหวัดยโสธร อำเภอเมืองยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอค้อวัง
6.จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอกันทรารมย์
 
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้ 1.ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมในการอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
 
2.ปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ โดยพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ จัดจราจรน้ำในการสับหลีกการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน เพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
 
3.เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่