ทำกินกันเอง by laser : ถั่วหรั่ง

กระทู้สนทนา
ใกล้เทศกาลกินเจคิดถึงความอร่อยของถั่วหรั่ง (Bambara groundnut)
หลังจากเคยกินที่จังหวัดตรังตอนไปร่วมงานกินเจ ที่ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย
"เที่ยวไปกินผักไป @ ตรัง : 3 กิวอ่องเอี่ยออกเยี่ยมและโปรดสาธุชน"
http://topicstock.ppantip.com/food/topicstock/2012/11/D12982414/D12982414.html





เป็นถั่วที่มีเฉพาะทางใต้
-“ถั่วหรั่ง” มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา บริเวณหมู่เกาะมาดากัสการ์ 
ต่อมาได้มีการแพร่กระจายไปยังทวีปอเมริกาใต้และเอเชีย  ในบ้านเรานั้น
เข้ามาครั้งแรกบริเวณชายแดนทางภาคใต้ ในปี พ.ศ. 2474 จึงทำให้มีการปลูกมากที่สุด
คือ จังหวัดสงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี พัทลุง กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี
ในแต่ละพื้นที่มีชื่อเรียกกันแตกต่างกันไป อาทิ ถั่วหรั่ง ถั่วเมล็ดเดียว ถั่วโบ 
ชาวมุสลิมเรียกภาษายาวีว่า กาแปโจ นิยมปลูกเพื่อนำมาบริโภคทั้งอาหารคาว
คือใส่ในแกงมัสมัน ทำขนมหวาน อาหารว่าง หรือขนมขบเคี้ยว หรือบดทำแป้งก็ได้ 
มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อาทิ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต น้ำมัน และมีสารเมทไธโอนีน 
ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่สูงกว่าถั่วชนิดอื่น และมีสรรพคุณ ลดโรคเบาหวาน  
ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันมะเร็งลำไส้ด้วย  เปลือกฝักมี 3 ชั้น 
ชั้นนอกและชั้นกลางเชื่อมติดกัน ด้านในมี 1-2 เมล็ด   
https://kasettumkin.com/agriculture-news/article_12179
ชื่อสามัญ Bambara groundnut เป็นชื่อที่ตั้งมาจากชนเผ่า Bambara 
ที่พบอาศัยในประเทศมาลี แต่ไม่พบรายงานถั่วชนิดนี้ที่เป็นพันธุ์ป่าดั้งเดิมในประเทศมาลี 
ต่อมา Dalziel พบการกระจายของถั่วหรั่งพันธุ์ป่าดั้งเดิมบริเวณจังหวัด North Yola ของประเทศไนจีเรีย 
และเช่นเดียวกับ Ledermann พบการกระจายของถั่วหรั่งพันธุ์ป่าดั้งเดิมบริเวณตอนเหนือของประเทศคาเมรูน 
และการพบทั้ง 2 แห่ง ถูกยืนยันโดย Hepper ในปี 1957 ดังนั้น สรุปได้ว่า แหล่งกำเนิดของถั่วหรั่ง 
น่าจะอยู่บริเวณ Jos Plateau ในประเทศไนจีเรีย กับ Garoua ของทางตอนเหนือประเทศคาเมรูน 
https://puechkaset.com/ถั่วหรั่ง/
แต่ทำไมถึงเรียกว่าถั่วหรั่งล่ะ จะมาจากฝรั่งก็ไม่น่าใช่ เพราะถิ่นกำเนิดมาจากแอฟริกา
จากการสอบถามโกตินแห่งร้านขายยายิ่นจี้ถ่อง ร้านขายผงปรุงทำหมูย่างเมืองตรัง
ที่หน้าตลาดเทศบาล ฝั่งถนนราชดำเนิน จังหวัดตรัง ได้ความว่า
ถั่วหรั่ง ออกเสียงตามสำเนียงคนตรังว่า "ทั่วพั้ง" แปลตามตัวว่า..ถั่วฝรั่ง
ในงานเทศกาลกินเจมีคนขายถั่วหรั่งต้มหลายร้าน ราคาถ้วยละ 20 บาท



เปลือกของถั่งหรั่งต้มจะนิ่มและมีรอยแยกแกะง่าย
ต่างจากถั่วลิสงที่ต้มสุกเปลือกไม่แตก





ปกติจะมีฝักละหนึ่งเม็ด จึงชอบเรียกว่า "ถั่วโทน" แบบกระเทียมโทน



น้อยมากที่จะมีลูกแฝดฝักละสองเม็ด
เม็ดสีม่วงอ่อน เนื้อนุ่มหอมอร่อยกว่าถั่วลิสง



ลองหาออนไลน์ปรากฏว่ามีขาย เลือกร้านจากจังหวัดพัทลุง
ราคากิโลฯ ละ 50 บาท ค่าส่ง 46 บาท ในขณะที่ถ้าสั่งจากปัตตานี ค่าส่งเกินร้อยแพงกว่าค่าถั่ว
สั่งมาลองต้มหนึ่งกิโลฯ กดสั่งวันเสาร์ได้วันอังคาร



แม้จะล้างเอาเศษดินออกมาแล้ว แต่ยังต้องล้างอีก



เอาไปแช่น้ำให้เศษดินนิ่ม



จากนั้นล้างน้ำอีกสองรอบ



จนได้ถั่วหรั่งดิบที่สะอาดพร้อมนำไปต้ม



ถั่วหรั่งดิบแช่น้ำสามารถใช้เล็บฉีกเปลือกออกได้
แต่เม็ดในแข็งไม่สามารถกินได้ เม็ดถั่วสีแดงทับทิม ต่างจากกินที่ตรังที่เป็นสีม่วงอ่อน





เอาถั่วหรั่งใส่หม้อชาบูเติมน้ำให้พอท่วมถั่วหรั่ง ต้มด้วยไฟอ่อน



พอเปลือกถั่วหรั่งเริ่มนิ่ม ตักส่วนหนึ่งแยกออกมาแกะเปลือกสำหรับทำบวดถั่วหรั่ง



ถั่วหรั่งมีเปลือกสามชั้น 
ปกติขั้นแรกด้านนอกจะติดกับเปลือกชั้นกลางที่กินไม่ได้ต้องลอกออก
ส่วนเปลือกชั้นที่สามสีแดงทับทิมติดกับเนื้อในกินได้



ปกติเจอถั่วหรั่งแฝดแค่หนึ่งถึงสองฝัก
แต่วันนี้หนึ่งกิโลฯ เจอมากกว่าสี่ฝัก



ต้มถั่วหรั่งส่วนที่เหลือในหม้อจนเปลือกถั่วเริ่มแตก
แสดงว่าถั่วเริ่มสุกแล้ว โรยเกลือหนึ่งช้อนชาลงไปต้มด้วย ถ้าชอบเค็มเพิ่มเกลือ



ปิดฝาต้มต่ออีกสักครู่ คอยตักชิมว่าถั่วหรั่งนิ่มตามที่ต้องการหรือยัง
เมื่อถั่วได้ความนิ่มตามที่ต้องการเทน้ำที่เหลือออกจนหมด
ปิดเตา ยกหม้อวนไปมา ให้ความร้อนจากเตาทำให้ถั่งหรั่งแห้งเหมือนการดงข้าว
https://thaihitz.com/ถั่วหรั่งต้มเกลือ



เมื่อถั่วหรั่งแห้งและเย็นลงแกะเปลือกถั่ว เนื้อในถั่วเป็นสีขาวนวล



เปลือกชั้นที่สามสีแดงทับทิมกรอบนิ่ม เนื้อถั่วหรั่งนิ่มหอมเหมือนไส้ถั่วเขียว
เปลือกชั้นสามที่กรอบนิ่มกับเนื้อในที่เหมือนไส้ถั่วเขียว ให้ความรู้สึกเหมือนกินลูกชุบ



นอกจากกินเปล่า ๆ แล้ว ถั่วหรั่งยังสามารถนำไปใส่ในแกงไตปลาเหมือนมันขี้หนู
ใส่ในแกงมัสมั่นแทนถั่วลิสงก็ได้ หรือจะนำไปกวนและเพิ่มความหวานด้วยน้ำตาลมะหร้าว
เพื่อนำไปทำเป็นไส้ขนมแทนถั่วเขียว หรือถั่วเหลืองกวนก็ได้
หรือทำแกงบวดถั่วหรั่ง (Bubur kacang ) ของหวานแบบมาเลย์ก็ได้
โดยแกะเปลือกเอาเม็ดไปต้มกับใบเตยหอม ใส่กะทิ น้ำตาลมะพร้าวและเกลือ
พอดีแฟนซื้อฟักทองมาเพื่อทำแกงบวดฟักทอง และจะต้มถั่วหรั่งพร้อมเปลือกมากินเหมือนถั่วลิสง
จึงนำมาทำแกงบวดพร้อมกัน โดยกันถั่วหรั่งต้มส่วนหนึ่งที่กึ่งสุก มาใส่ในแกงบวดฟักทอง
จัดการปอกเปลือกฟักทองออกบางส่วน หั่นเป็นชิ้นพอดีคำแช่ในน้ำปูนใสให้ผิวนอกกรอบไม่ปื่อยยุ่ย
แช่ประมาณหนึ่งชั่วโมงแล้วเทน้ำปูนใสทิ้ง ล้างน้ำสะอาดสองรอบให้ปลอดปูนใสกันเป็นนิ่ว



ต้มกะทิให้เดือด ใส่น้ำตาลมะพร้าว ใส่เกลือประมาณหนึ่งช้อนชาตัดหวานให้รสกลมกล่อม
ใส่ฟักทองและถั่วหรั่ง ฟักทองสุกง่ายสุกพร้อมถั่วหรั่งที่ต้มกึ่งสุกมาแล้ว



ตักใส่ถ้วยพร้อมกิน



การเพิ่มถั่วหรั่งในแกงบวดฟักทอง สีแดงทับทิมของถั่วหรั่งช่วยเพิ่มสีสันให้ดูน่ากินยิ่งขึ้น



ได้สองเนื้อสัมผัส ทั้งจากถั่วหรั่งที่นิ่มน้อยกว่า แต่กรอบเปลือกชั้นที่สามสีแดงทับทิม
กับความหอมและความกรอบของผิวเนื้อจากการแช่น้ำปูนใสของฟักทอง



จะกินตอนกำลังร้อน ๆ หรือใส่ตู้เย็นเพื่อกินเย็น ๆ ก็อุมัยโออิชิหอเจี๊ยะอร่อยนะ!



ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ได้ที่เพจ "เที่ยวไปกินไป by laser"
https://th-th.facebook.com/เที่ยวไปกินไป-by-laser-458383970993701
ที่เอาไว้รวบรวมเรื่องเที่ยวเรื่องกิน ที่สั้นเกินกว่าจะนำมาลงเป็นบทความ
หรือ อยู่ระหว่างรวบรวมเป็นบทความที่สมบูรณ์ ที่อาจใช้เวลาหลายปี
#กินตามอาสาม #อร่อยตามอาสาม #ตามรอยอาสาม #เที่ยวกับอาสาม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่