กินแล้วไม่ขยับ เสี่ยง 4 ปัญหาโรคทางเดินอาหาร

กินแล้วไม่ขยับ เสี่ยง 4 ปัญหาโรคทางเดินอาหาร  
 
     ช่วงนี้พี่หมอได้ยินแต่คนบ่นว่าอ้วนขึ้น เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทำให้มนุษย์ออฟฟิศส่วนใหญ่ต้องกลับมา work from home 🏠 กันอีกครั้ง กิจกรรมนอกบ้านก็ออกไปทำไม่ค่อยได้ หลายคนจึงได้นั่งแต่นั่งๆ นอนๆ ไม่ค่อยขยับตัวไปไหน นอกจากโต๊ะทำงานกับโต๊ะกินข้าว แถมบางคนยิ่งเครียดก็ยิ่งกินอีกต่างหาก 
     แต่ถ้าเรายังขืนกินแล้วไม่ขยับอยู่แบบนี้ ไม่ใช่แค่โรคอ้วนเท่านั้นนะครับที่จะถามหา แต่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ก็อาจตามมาได้เช่นกัน ☹️ โดยเฉพาะโรคในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการย่อยอาหาร การดูดซึม และการขับถ่ายของร่างกาย 
     แต่มีจะโรคอะไรบ้างนั้น เดี๋ยววันนี้พี่หมอจะมาเล่าให้ฟัง รวมถึงวิธีดูแลและป้องกัน เพื่อไม่ให้ทุกคนป่วยด้วยโรคเหล่านี้ซะก่อนที่โควิดจะหายไปด้วย 
โรคในระบบทางเดินอาหารที่อาจเกิดขึ้นจากการกินแล้วไม่ขยับ 
              
☹️ 1.อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) 
     อาหารไม่ย่อย คือ ภาวะความไม่สบายที่เกิดขึ้นที่บริเวณหน้าอก ใต้ลิ้นปี่ หรือความรู้สึกอิ่มแน่นเกินไป ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการรับประทานอาหาร อาจมีเพียงอาการเดียวหรือหลายอาการร่วมกันก็ได้ เช่น ท้องอืด แน่นท้อง หรือมีลมในท้อง โดยสามารถเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว หรือเกิดได้ทุกวัน 
     สาเหตุของอาหารไม่ย่อย ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป โดยเฉพาะอาหารรสจัดและอาหารที่มีไขมันสูง การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ช็อคโกแลต ชา กาแฟ หรือน้ำอัดลมมากเกินไป การสูบบุหรี่ รวมไปถึงความวิตกกังวลหรือความเครียดด้วยเช่นกัน 
     การรักษาอาการอาหารไม่ย่อย เบื้องต้นสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและอาหารที่มีไขมันสูง แบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ 5-6 มื้อต่อวัน ลดการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน หลีกเลี่ยงปัญหาที่ทำให้วิตกกังวลหรือเครียดจัด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าปรับพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น พี่หมอแนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย โดยคุณหมออาจจะให้ยามารับประทาน เช่น ยาลดกรด และอาจจะมีการตรวจเลือดหรืออุจจาระเพิ่มเติม และถ้าสงสัยว่าอาการอาหารไม่ย่อยที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากโรคอื่น เช่น แผลในกระเพาะอาหาร แพทย์อาจทำการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน รวมถึงตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของโรค 
 
☹️ 2.โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome : IBS) 
     โรคลำไส้แปรปรวน เป็นอีกโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อย โดยเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้ ส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด มีแก๊ส และปวดท้อง ร่วมกับการขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับกับท้องเสีย 
     ในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคลำไส้แปรปรวนได้ แต่พบว่าผู้หญิงมีแนวโมที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า รวมถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคลำไส้แปรปรวน รวมถึงผู้ที่มีความเครียดสะสมและมีความวิตกกังวลสูง 
     โรคลำไส้แปรปรวนจะแสดงอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถหายเองได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเพิ่มปริมาณกากใยอาหาร 🥗 เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงลดความวิตกกังวลและความเครียดให้น้อยลง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงอาจจะต้องใช้ยารักษา
     แต่ถ้าปฏิบัติตามวิธีที่พี่หมอแนะนำแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือพบว่ามีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในตอนกลางคืน ร่วมกับมีเลือดออกทางทวารหนัก รวมถึงน้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทางทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด 
 
☹️ 3.ท้องผูก (Constipation)
     ท้องผูกเป็นภาวะที่พบได้บ่อยถึงประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั่วไป ซึ่งอาการท้องผูกนั้นมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนอาจหมายถึงการต้องใช้แรงและเวลานานเพื่อเบ่งถ่ายอุจจาระ หรือความถี่ของการถ่ายอุจจาระหรือการถ่ายอุจจาระนานๆ ครั้ง รวมถึงความรู้สึกเหมือนยังถ่ายไม่สุดเมื่อถ่ายสุดแล้ว หรืออาจหมายถึงการมีอาการปวดท้องหรือท้องอืด ร่วมกับอาการท้องผูกด้วย 
     สาเหตุของอาการท้องผูกแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ แบบปฐมภูมิ คือเกิดจากสรีระของการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป และแบบทุติยภูมิ คือมีสาเหตุมาจากปัจจัยบางอย่าง เช่น การรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิด โรคที่เกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ และโรคในระบบทางเดินอาหาร  
     การรักษาอาการท้องผูก สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร รวมถึงการดื่มน้ำมากๆ การออกกำลังกาย และการใช้ยาระบาย แต่หากผู้ป่วยละเลยการรักษาจนเกิดเป็นภาวะท้องผูกเรื้อรัง หรือร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษา เพราะอาจมีสาเหตุมาจากการเบ่งถ่ายที่ผิดวิธี ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยด้วยการใช้เครื่องมือเพื่อตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนปลายของลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนัก การรักษาที่ได้ผลต่อภาวะนี้คือ การฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งถ่ายให้ทำงานอย่างถูกวิธีด้วยเครื่องมือที่แสดงการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย ซึ่งให้ผลดีในระยะยาว 
     แต่หากผู้ป่วยยังมีอาการท้องผูกร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือเริ่มมีอาการท้องผูกตอนอายุมากกว่า 50 ปี พี่หมอแนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด 👨‍⚕️ เพื่อตรวจวินิจฉัย เนื่องจากภาวะท้องผูกที่เกิดขึ้นอาจเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น 
 
😱 4.มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer)
     มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนจนควบคุมไม่ได้ จนเกิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นส่วนปลายของระบบทางเดินอาหาร ในประเทศไทยพบมากเป็นอันดับ 3 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ยังพบมากในผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปด้วย
     อาการทั่วไปของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ ท้องอืด ท้องเสียสลับท้องผูก มีเลือดปนในอุจจาระ ซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดเบ่งบริเวณทวารหนักคล้ายปวดอุจจาระตลอดเวลา และอาจคลำเจอก้อนในช่องท้อง
     สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังไม่ปรากฏแน่ชัดเช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็คือ ผู้ป่วยที่มีประวัติพบเนื้องอกในลำไส้ มีภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะเนื้อแดงที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนสูง การรับประทานอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำๆ รวมถึงอาหารประเภทปิ้งย่างและอาหารหมักดองเป็นประจำ รวมถึงสารเคมีจากผักที่ล้างไม่สะอาด ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษและมีการตกค้างที่บริเวณลำไส้ รวมไปถึงอาจมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมด้วย 
     การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรก สามารถทำได้โดยการตรวจหาเลือดในอุจจาระและตรวจเลือดเพื่อดูระดับ สารบ่งชี้โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Carcinoembryonic Antigen : CEA) และการตรวจด้วยการส่องกล้อง Colonoscopy ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึง การนำเทคนิค Narrow Band Image (NBI) ที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยขึ้นถึง 2 เท่า มาใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จากญี่ปุ่น ทำให้การวินิจฉัยโรครวดเร็วและมีความแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถตัดติ่งเนื้อได้ทันทีขณะตรวจส่องกล้อง ช่วยให้คนไข้ไม่ต้องมาโรงพยาบาล และผ่าตัดเกินความจำเป็น
    ✅ มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 45 ปีสำหรับคนทั่วไป และ 40 ปีขึ้นไปสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการกินเนื้อแดง ดื่มน้ำมากๆ ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน 
 
     อ่านจบแล้ว ก็อย่าลืมลุกขึ้นมาขยับแข้งขยับขา หรือหากิจกรรมอื่นๆ ทำ นอกจากการทำงานและการรับประทานอาหารบ้างนะครับ โรคภัยจะได้ไม่ถามหา หรือถ้าใครมีเคล็ดลับดีๆ ในการรักษาสุขภาพในช่วงที่ต้องทำงานที่บ้านมากกว่าไปทำงานที่ออฟฟิศ  ก็เอามาแนะนำกันได้ เผื่อพี่หมอจะเอาไปทำตามบ้าง 😁😁😁
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่