เก็บตกจากลำดับการเดินพาเหรดนักกีฬาในโตเกียวโอลิมปิก--- มารู้จักลำดับตัวอักษรญี่ปุ่นที่เรียกว่า Gojuuon กันเถอะ

กระทู้นี้ถือเป็นเกล็ดความรู้สำหรับคนที่กำลังศึกษาภาษาญี่ปุ่นอยู่นะครับ รวมทั้งผู้สนใจในภาษา/วัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วยครับ

จากพิธีเปิดโตเกียวโอลิมปิก ที่ก็ผ่านมาหลายวันแล้ว ประเด็นหนึ่งที่อาจจะมีคนสนใจนั่นก็คือ ลำดับการเดินพาเหรดของนักกีฬาชาติต่าง ๆ ที่ในครั้งนี้ ไม่ได้เรียงตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ แต่เรียงตามลำดับตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นของชื่อประเทศนั้น ๆ ที่เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น ทำให้รู้สึกเกิดความแปลกใหม่ขึ้นต่างจากครั้งอื่น ๆ หรือ มหกรรมกีฬาอื่น ๆ ได้เห็นชาติบางชาติที่เดิมจะไม่ได้เดินใกล้ ๆ กัน ก็ได้มาเดินในลำดับใกล้ ๆ กัน อย่างนี้ เป็นต้น

การเรียงลำดับของคำต่าง ๆ ตามลำดับตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นนั้น เรียกว่า การเรียงแบบโกะจูอน (Gojuuonjun 五十音順- โกะจู แปลว่า ห้าสิบ อน คือเสียง จุน คือ ลำดับ) ซึ่งเราจะพบได้ในพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น และพบได้ในดัชนีคำสำคัญในหนังสือหรือเอกสารต่าง ๆ รวมทั้ง ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เช่น รายชื่อศิษย์เก่าแต่ละรุ่นของสถานศึกษาหนึ่ง ๆ รายชื่อพนักงานทั้งหมดในบริษัท (เรียงตามชื่อไม่เรียงตามตำแหน่ง) เป็นต้น

(ทั้งนี้ พจนานุกรมญี่ปุ่น-อังกฤษ (หรือ ญี่ปุ่น-ภาษาอื่น ๆ) ที่ทำขึ้นเพื่อคนต่างชาติ อาจจะมีวิธีเรียงลำดับคำอีกอย่างหนึ่งเพื่อความสะดวกในการใช้งานโดยคนต่างชาติ นั่นคือ เรียงตามตัวโรมัน เมื่อเขียนคำศัพท์เหล่านั้นเป็นโรมันจิ แต่ประเด็นนี้คงไม่ยกมาพูดในที่นี้)

ลำดับที่ว่านี้ เรียงยังไงล่ะ ? 
ก่อนอื่น เชื่อว่า ทุกท่านที่สนใจภาษาญี่ปุ่น รู้จักตารางตัวอักษร ฮิรางานะอยู่แล้วใช่ไหมครับ ลองดูว่า ตารางข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นฮิรางานะ มีอะไรแปลก ๆ ไปเอ่ย

あいうえお
かきくけこ
さしすせそ
たちつてと
なにぬねの
はひふへほ
まみむめも
や ゆ よ
らりるれろ
わゐ ゑを

ตารางข้างบนนี้ คือ ตารางห้าสิบเสียง หรือ 五十音 นั่นเองครับ

แล้วมันต่างกับตารางฮิรางานะปัจจุบันตรงไหน?

สังเกตว่า ตัวอักษร ん ไม่อยู่ในห้าสิบเสียง

มีเสียงที่ปัจจุบันไม่ใช้แล้ว เพิ่มมาสองเสียง คือ เสียง ゐ กับ ゑ ซึ่งคือ เสียง สระอิ กับสระเอะ ในแถว わ นั่นเอง (แต่มันก็อ่านว่า อิ เอะ อยู่ดี ไม่อ่าน วิ เวะ เช่นเดียวกับที่ を ออกเสียง โอะ ไม่ใช่ โวะ-- ผมจำกัดเฉพาะการออกเสียง ณ ปัจจุบันเท่านั้นนะครับ ไม่นับภาษาญี่ปุ่นโบราณที่มีเสียงโวะจริง ๆ)

ซึ่งจะนับว่า มีเสียงพยัญชนะต้นทั้งหมด 10 เสียง (โดยนับรวมแถวบนสุดคือ แถวอะ あ ซึ่งถือเป็นเสียงที่ไม่มีพยัญชนะต้นด้วย) แต่ละแถว (แต่ละเสียงของพยัญชนะต้น) ผสมกับเสียงสระได้ ห้าสระ (ห้าเสียง) ดังนั้น เสียงพื้นฐาน หรือที่เรียกว่า 清音 (เซย์อน- ในภาษาไทยมักแปลกันว่า เสียงใส หรือเสียงอโฆษะ) จึงมี 10 คูณ 5 เท่ากับ 50 เสียงนั่นเอง

ซึ่งที่จริงแล้ว ในห้าสิบเสียงนี้ มันมีไม่ครบ เพราะมีแหว่งไปสามที่ คือ
แถว ยะ や ไม่มีเสียงสระอิ และสระเอะ (ทำให้คนญี่ปุ่นออกเสียง ยิง ไม่ได้ กลายเป็น อิง และออกเสียง เยน ไม่ได้ กลายเป็น เอน แทน นั่นคือ หน่วยเงินเยน ที่เขียนว่า yen คนทั่วโลกก็อ่านว่า เยน แต่เจ้าของเงินเองออกเสียงว่า เอน)
และแถว วะ わ ไม่มีเสียงสระอุ (แต่ถ้าปัจจุบันคือ เสียงสระอิ กับ เอะ ก็ไม่มีไปด้วย)

แต่ยังไงก็นับว่ามันเป็น โกะจูอน (ห้าสิบเสียง) อยู่ดีครับ ทั้งที่มันมีแค่ 47 เสียง ตรงนี้ มีอีกประเด็นหนึ่งที่จะขอแตกไปเขียนเป็นอีกกระทู้หนึ่งนะครับ
(ว่าด้วย โกะจูอง และลำดับการเรียงตัวอักษรญี่ปุ่นแบบโบราณ คือ ลำดับ いろは ที่มีอะไรมากกว่าที่คุณคิด)

ทีนี้ การเรียงโกะจูอน เรียงยังไง
ง่ายมาก ก็เรียงตามตาราง อะ อิ อุ เอะ โอะ ข้างบนเลย
เช่น ถ้ามีคำว่า あたし กับ あした ก็เรียงดังนี้
あした
あたし ตัวแรกเหมือนกัน ดูตัวที่สอง พบว่า し มาก่อน た ดังนั้นเรียงได้แล้ว ไม่ต้องดูตัวถัดไป

เพียงแต่ว่า มีกติกาเพิ่มเติมดังนี้

ก) ในคำไหนก็ตาม ที่มีพยางค์ที่เป็นเสียงขุ่น (濁音 ดะกุอน ซึ่งบางคนแปลว่า เสียงโฆษะ บางคนก็อาจเรียกมันว่า เสียงก้อง) ซึ่งตรงพยางค์ (ตัวอักษร) นั้นจะมีเครื่องหมายเตนเตน ゛ กำกับอยู่ ให้ถอดเตนเตนออก คือ ทำให้มันเป็น 清音

ข) พยางค์ที่เป็นเสียงกึ่งขุ่น 半濁音 ซึ่งกำกับด้วยเครื่องหมายมารุ ゜ ปัจจุบันมีแค่เสียงพยัญชนะต้น p เท่านั้น คือ เสียง ぱぴぷぺぽ ให้ถอดมารุออกเช่นกัน

ค) พยางค์ที่เกิดจากการเขียนด้วยตัวอักษรตัวเล็ก ได้แก่ ゃゅょっ (←ตัวเล็กนะ) ให้ทำมันเป็นตัวใหญ่ (ตัวปกติ) ซะ

ง) เพื่อความสะดวก แปลง คะตะคะนะ ให้เป็น ฮิรางานะให้หมด
และ
จ) พยางค์ที่เป็นสระเสียงยาว 長音 โดยการใช้เครื่องหมาย ー ให้ทำกลับเป็น 清音 ของแถว อะ โดยดูว่าตัว ー นั้นแทนสระเสียงใดอยู่ ก็ทำกลับเป็นสระเสียงนั้น (ในแถวอะ) เช่น บาห์เรน バーレーン จะนำไปเรียงโกะจูอน ด้วยเสียง はあれえん ถ้าเจอ シー แปลงเป็น しい エー แปลงเป็น ええ (ไม่ใช่ えい) トー แปลงเป็น とお (ไม่ใช่ とう)

ฉ) คำที่เป็นคันจิ หรือมีคันจิประกอบอยู่ ให้แปลงคันจิเป็นเสียงอ่าน และแน่นอนแปลงเสียงอ่านนั้นเป็น 清音 ทั้งหมด ตามหลักการข้างต้น

เมื่อแปลงคำที่ต้องการเรียง เป็น 清音 ทั้งหมดแล้วแล้วนำคำที่ได้ มาเรียงตามตัวอักษรตัวแรก-ไล่ไปตัวที่สอง-ที่สาม ... ตามลำดับ

ตัวอย่าง 

ขออ้างอิงจากลำดับการเดินพาเหรดของนักกีฬาในพิธีเปิดโอลิมปิกที่ผ่านมานะครับ
โดยอ้างอิงจากเวบนี้
https://en.m.wikipedia.org/wiki/2020_Summer_Olympics_Parade_of_Nations
(สืบค้น ณ เวลา 8:30 PM วันที่ 26 ก.ค 2564)

ลำดับ 45~50
45 カナダ
46 ガボン
47 カメルーン
48 ガンビア
49 カンボジア
50 北マケドニア

เวลาเรียง คือ เรียงจากโกะจูอน ดังนี้
かなた
かほん→→→→→な มาก่อน ほ แล้วตามด้วย め และ ん
かめるうん
かんひあ
かんほしあ→→ตัดสินที่ตัวที่สาม ひ มาก่อน ほ
きたまけとにあ

หรือ ระหว่าง 86 สวีเดน スウェーデン กับ 87 ซูดาน スーダン ทำไมสวีเดน มาก่อน ซูดาน 
ถ้าทำเป็นโกะจูอน ก็จะเห็นชัดเลย
すうええてん
すうたん→→え มาก่อน た

คงพอเข้าใจวิธีเรียงแล้วใช่ไหมครับ

ข้อสังเกตบางประการ
1. ลำดับที่ 102 ไทย 103 เกาหลีใต้ 104 ไชนีสไทเป (ไต้หวัน)
ไทยน่ะ เป็น タイ แน่ ๆ
เกาหลีใต้ คนที่เรียนภาษาญี่ปุ่น จะเรียนว่า ชื่อประเทศนี้คือ 韓国 อ่าน かんこく แต่ในที่นี้ เขาใช้ชื่อที่เป็นทางการมาเรียงครับ คือ 大韓民国 อ่านว่า だいかんみんこく ก็เลยมาต่อจากไทย แต่อยู่ก่อนไต้หวัน
ไต้หวัน ด้วยนโยบายของจีนที่บอกว่า จีนมีจีนเดียว ดังนั้น ไต้หวันเวลาแข่งโอลิมปิก ใช้ชื่อทีมว่า ไชนีสไทเป แต่.... ญี่ปุ่น เอาชื่อ 台湾 (อ่าน たいわん) มาแอบเรียงเฉยเลย (อย่าไปบอกพี่จีนเขานะ) เพราะถ้าเรียงด้วย チャイニーズ・タイペイ จริง ตามที่เขียนในเอกสารในลิงก์ข้างบน ไต้หวันต้องไปอยู่ลำดับที่ 107 แทนสาธารณรัฐเชค ครับ 
102 タイ
103 大韓民国
104 台湾
105 タジキスタン
106 タンザニア連合共和国
107 チェコ共和国

たい 
たいみんかんこく
たいわん จะเห็นว่า ถ้าใช้ชื่อ ちやいにいすたいへい มาเรียงต้องไปต่อท้ายเชค
たしきすたん
たんさにあれんこうきようわこく
ちえこきようわこく

ส่วนจีน ใช้ชื่อ 中華人民共和国 อยู่ลำดับ 110 (ชื่อนี้แปลตรงตัวเลย ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน)

2. หลายประเทศที่ญี่ปุ่นออกเสียงไม่เหมือนไทย (หรืออังกฤษ) เช่น ไซปรัส ญี่ปุ่นเรียก キプロス (คิปุโรสุ- คิปรอส นั่นแหละ) โรมาเนีย ญี่ปุ่นเรียก ルーマニア (รูมาเนีย) เป็นต้น รวมทั้งที่ออกเสียง ว (v) เป็น บ (b) ดังจะกล่าวในข้อต่อไป

3. การเรียงแบบนี้ แถวฮะ は จะสนุกสนานมาก เพราะมีทั้งเสียง h เสียง f (ふ) เสียง p เสียง b มาเรียงปน ๆ กัน รวมทั้ง พยางค์ที่ในภาษาอังกฤษสะกดด้วยพยัญชนะต้น v ญี่ปุ่นจะออกเสียงเป็น b แทนเฉยเลย (ย้ำว่าแค่บางคำ) ดังนั้น ถ้ามองจากชื่อภาษาอังกฤษ ในแถวฮะ นอกจาก h ยังมีตัวอักษร f b p และ v มาแจมด้วย เช่น เวเนซูเอล่า (ベネズエラ) เวียดนาม (ベトナム) รวมถึง ชื่อประเทศที่เขียนด้วย ph แล้วออกเสียง f อย่าง ฟิลิปปินส์ ก็มาอยู่ตรงนี้กะเขาด้วย
ลองดูลำดับที่ 131 บาห์เรน ไล่ไปถึง 171 ฮอนดูรัส ในลิงก์ข้างบนเองนะครับ

4. คันจิที่ใช้ในชื่อประเทศ 
ทิศ 北 きた เหนือ 南 みなみ ใต้ 東 ひがし ตะวันออก และ 西 にし ตะวันตก
中央 ちゅうおう กลาง หรือ central
共和国 きょうわこく สาธารณรัฐ หรือ Republic
連合 れんごう สห สหพันธ์ หรือ United 
諸島 しょとう หมู่เกาะ หรือ islands
สหรัฐอเมริกา ชื่อเต็ม คือ アメリカ合衆国 (คันจิสามตัวหลัง อ่าน がっしゅうこく)

5. ROC ที่มีคนเคยถามถึงในกระทู้อื่น เช่น 
ทำไมรัสเซียใช้ชื่อ ROC ในการแข่งขันโอลิมปิคคะ
ROC คือประเทศไหนคะ เห็นรายชื่อประเทศนี้ในโอลิมปิก
ROC อยู่ลำดับที่ 77 เพราะในภาษาญี่ปุ่น เอาตัวย่อจากภาษาฝรั่งเศส คือ COR (Comité olympique russe) มาใช้ในการเรียง ซึ่ง COR ญี่ปุ่นออกเสียงว่า シーオーアール ครับ เลยอยู่ลำดับที่ 77 อยู่ระหว่างตัว さ กับ し

ก็คงมีเพียงเท่านี้ครับ

--เพิ่มเติม--
สำหรับ โกะจูอน ที่ใช้เรียงคำในพจนานุกรม หรือ ดัชนีคำศัพท์ในหนังสือ/เอกสาร เวลาที่เจอคำที่พอแปลงเป็น 清音 แล้วเหมือนกันเด๊ะ ๆ จะเรียงยังไง ตรงนี้มีกฎเสริมที่ใช้ตัดสินอีก แต่ในลำดับรายชื่อประเทศที่เดินพาเหรดในโอลิมปิก ใช้แค่กฎหลักข้างต้น ที่ว่าแปลงเป็นเสียงพื้นฐานให้หมด ก็เพียงพอแล้ว เพราะไม่มีคำที่ใกล้เคียงกันมากนัก

ยกตัวอย่าง สมมติ มีสี่คำ คือ しょう しよう ショー ジョー จะเรียงยังไง
ทั้งสี่คำ แปลงเป็น 清音 แล้วสองคำแรกเป็น しよう สองคำหลังเป็น しよお
ให้เรียงดังนี้ ขีดเสียงยาว → ตัวเล็ก → ตัวปกติ
ฮิรางานะ → คะตะคะนะ
ดังนั้น เรียงจาก しょう しよう ショー ジョー

รายละเอียดปลีกย่อยมีอีกเยอะ ท่านใดที่สนใจก็ลองค้นคำว่า 辞書 かな順の並び方 ดูก็ได้ครับ บางที พจนานุกรมต่างเล่มอาจใช้กฎย่อยที่ต่างกันก็ได้ แต่กฎหลักใช้เหมือนกันแหละ (ในหลักการพื้นฐาน)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่