โรคคอพอก เด็กและคนท้องเป็นกันได้ เกิดจากร่างกายขาดไอโอดีนจริง ๆ หรือไม่

โรคคอพอก เป็นโรคที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เป็นกันได้ แต่เราจะรู้ได้ยังไง ว่าใครที่มีความเสี่ยงเป็นคอพอก หรือกำลังป่วยเป็นคอพอกบ้าง วันนี้ theAsianparent Thailand จะมาแชร์วิธีสังเกตอาการคนที่เป็นคอพอกให้ได้รู้กัน พร้อมทั้งเล่าให้ฟังว่าโรคนี้เกิดจากอะไร เพื่อช่วยให้คุณแม่เฝ้าสังเกตและดูแลตัวเองและลูก ๆ ได้
 
โรคคอพอกคืออะไร
คอพอก เป็นภาวะความผิดปกติของร่างกาย เกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมาผิดปกติ ซึ่งคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ มักมีก้อนเนื้อขนาดใหญ่อยู่ที่บริเวณด้านหน้าลำคอ จนอาจทำให้ไอ หายใจเสียงดังหวีด เสียงแหบ หายใจไม่ออก มีปัญหาในการกลืนอาหาร รวมทั้งบางคนอาจรู้สึกวิงเวียนร่วมด้วย ส่วนสาเหตุที่ทำให้ร่างกายผู้ป่วยผลิตฮอร์โมนออกมาผิดปกติ ก็อาจมาจากปัจจัย ดังต่อไปนี้


 - ร่างกายขาดสารไอโอดีน เด็กที่ไม่ค่อยรับประทานอาหารที่มีไอโอดีน หรือเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา มักจะเป็นโรคคอพอก เนื่องจากไม่ค่อยได้รับประทานไอโอดีน และเมื่อร่างกายขาดไอโอดีน ต่อมไทรอยด์จะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนออกมาได้เพียงพอ แถมยังผลิตสาร TSH ออกมาเยอะเกินไป จนทำให้ต่อมไทรอยด์บริเวณคอขยายใหญ่ขึ้น
 - โรคเกรฟส์ หรือ Graves’ Disease เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์บริเวณด้านหน้าลำคอ ที่ทำงานผิดปกติ จนต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมาเป็นจำนวนมาก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจมีอาการรุนแรง จนไทรอยด์เป็นพิษ รวมทั้งระบบประสาทและระบบสมอง อาจได้รับผลกระทบด้วยในที่สุด
 - โรค Hashimoto’s Thyroiditis เป็นโรคต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง ที่เกิดจากการทำงานที่บกพร่องของภูมิคุ้มกัน พบได้บ่อย
 - มะเร็งต่อมไทรอยด์ พบได้ไม่บ่อยนัก เป็นโรคที่เกิดจากการขยายตัวของต่อมไทรอยด์ที่ด้านใดด้านหนึ่ง
 - การตั้งครรภ์ ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ หากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมน HCG ออกมาได้ตามปกติ อาจส่งผลให้ต่อมไทรอยด์โตขึ้นได้
 - ต่อมไทรอยด์อักเสบ ภาวะความผิดปกตินี้ จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนออกมาได้ไม่สมดุลกัน โดยอาจจะมากเกินไปหรือน้อยเกินไป จนทำให้เด็ก ๆ รู้สึกเจ็บปวดเมื่อต้องกลืนอาหารลงคอ
 - การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ อาจมีส่วนทำให้ต่อมไทรอยด์ขยายตัวใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นคอพอกได้

บางคน สามารถหายจากโรคคอพอกได้เอง อย่างไรก็ตาม หากต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่เกินไป อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก ทั้งนี้ ถ้าคุณแม่สังเกตเห็นว่าตัวเองหรือลูกมีก้อนเนื้อที่คอ หรือคอบวมโต ควรเข้าพบแพทย์โดยด่วน เพื่อรับการวินิจฉัย และให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

คนกลุ่มไหนที่เสี่ยงเป็นคอพอก
บางคนอาจจะเป็นคอพอกตั้งแต่เกิด หรือเป็นหลังจากเกิดที่ได้ไม่กี่ปี โดยกลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นคอพอกนั้น มักเป็นคนที่รับประทานเกลือไอโอดีนน้อย หรืออยู่ในประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคคอพอกได้มากกว่าผู้ชาย และหากพ่อแม่ของเด็กเคยเป็นคอพอกมาก่อน เด็กก็อาจได้รับความเสี่ยงผ่านทางพันธุกรรมได้ รวมถึงหากตั้งครรภ์อยู่ ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากช่วงที่ตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่อาจผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ ได้ไม่สมดุลกัน นอกจากนี้ การรับประทานยารักษาโรคหัวใจ และยารักษาโรคทางจิตอย่างลิเทียม ก็อาจเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เป็นคอพอกได้ด้วย

คอพอก ป้องกันยังไงดี
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันคอพอกที่แน่ชัด แต่เราอาจช่วยตัวเองและเด็ก ๆ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ดังนี้
 
 - หมั่นรับประทานเกลือเสริมไอโอดีน หรืออาหารที่มีไอโอดีน เช่น อาหารทะเล สาหร่าย โยเกิร์ตรสธรรมชาติ โยเกิร์ตรสสตรอว์เบอร์รี หรือชีสสด เป็นต้น แต่ก็ไม่ควรรับประทานไอโอดีนเกินกว่า 150 ไมโครกรัมต่อวัน เพราะหากทานมากไป ก็อาจทำให้เป็นคอพอกได้เหมือนกัน
 - หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของหอย สาหร่าย เพราะอาหารเสริมอาจมีปริมาณไอโอดีนเกินกว่าที่ร่างกายต้องการต่อวัน
เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ หากมีความเสี่ยง ก็จะได้ทราบว่าต้องปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตยังไง
 - งดสูบบุหรี่ นอนหลับให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
 
หากว่าป่วยเป็นคอพอกแล้ว ก็สามารถดูแลตัวเองได้ง่าย ๆ หลังกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ดังนี้
 - ผสมน้ำผึ้งกับแอปเปิ้ลไซเดอร์และน้ำเปล่า เพื่อดื่มในตอนที่ท้องว่าง วิธีนี้อาจช่วยให้ร่างกายดูดซึมไอโอดีน และลดอาการบวมของต่อมไทรอยด์ได้
 - ก่อนนอนให้ทาน้ำมันละหุ่งบริเวณที่เป็นคอพอก และนวดบริเวณเบา ๆ โดยที่ไม่ต้องล้างออก
 - ดื่มน้ำเลม่อนคั้นสดผสมน้ำผึ้งและกระเทียมบดทุกเช้า โดยควรทานในตอนที่ท้องว่าง
 - ออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อบริเวณคอ โดยให้ก้มคอไปด้านซ้าย ด้านขวา ด้านหน้า และด้านหลังเบา ๆ สลับกัน
 - รับประทานถั่วทุก ๆ เช้า 1 กำมือ เพื่อเพิ่มโอเมก้า 3 และ โอเมก้า 6 ให้ร่างกาย และช่วยลดอาการอักเสบบริเวณคอ
 - รับประทานน้ำมันปลา หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมน้ำมันปลา เพื่อช่วยเผาผลาญฮอร์โมนในร่างกาย

แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีป้องกันโรคนี้ แต่หากคุณแม่และน้อง ๆ หมั่นรับประทานไอโอดีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดูแลตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ และหมั่นทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงได้แล้วไม่มากก็น้อยค่ะ

 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่