เชียงใหม่-113 ปี สถาบันเพื่อการฟื้นฟูสภาพแมคเคน อดีตแห่งความทรงจำและการก้าวข้ามสู่อนาคต

......สถาบันเพื่อการฟื้นฟูสภาพแมคเคน หรือโรงพยาบาลแมคเคนในคำพูดประจำวันของคนทั่วไปได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาครบ 113 ปี ใน พ.ศ.2564 



ซึ่งในรอบศตวรรษที่ยืนหยัดกับการสงเคราะห์และรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อน ได้สร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์แห่งความเป็น "แมคเคน" 
คือสถานรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ประทับอยู่ในความทรงจำของผู้คนตลอดมา 
จนบางครั้งตราประทับนี้กลายเป็นตัวฉุดรั้งที่ทำให้ "แมคเคน" ไม่อาจก้าวออกไปจากหลุมลึกของอดีตได้ 



แต่อย่างไรก็ดี ในวิถีชีวิตของผู้คนและสังคมย่อมมีอดีตที่เป็นเรื่องราวของการก่อร่างสร้างตัว การต่อสู้บากบั่น
การบอกกล่าวเล่าขานถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวที่ระคนปนกันไป 
และเมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ต้องมีพัฒนาการที่ก้าวออกไปสู่ความเป็นตัวของตัวเองตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
เช่นเดียวกับสถาบันเพื่อการฟื้นฟูสภาพแมคเคนที่จะต้องก้าวไปสู่มิติใหม่ๆ เพื่อต่อยอดชีวิตของสถาบันและการปฏิบัติภารกิจ (หรือพันธกิจตามภาษาของชาวคริสต์)
ที่สร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคม โดยการส่งผ่านความรับผิดชอบของผู้คนจากรุ่นต่อรุ่นสืบต่อไปอย่างยาวไกลจนถึงที่สุด



......ช่วงปลายปี พ.ศ.2432 (มกราคม ค.ศ.1890) มีมิชชันนารีวัยหนุ่มคนหนึ่ง คือ นายแพทย์เจมส์ ดับบลิว แมคเคน มิชชันนารีโปรแตสแตนต์ สังกัดคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน
ได้เดินทางมาถึงเชียงใหม่เพื่อร่วมงานกับมิชชันนารีผู้เข้ามาบุกเบิกก่อน คือ ศาสนาจารย์แดเนียล - นางโซเฟีย บรัดเลย์ แมคกิลวารี และศาสนาจารย์โจนาธานวิลสัน ในสังกัดคณะมิชชันเดียวกัน



ส่วนหนึ่งเป็นการตอบสนองต่อความจำเป็นด้านการรักษาพยาบาลของมิชชันนารีที่ต้องเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ ซึ่งอาศัยอยู่ห่างไกลจากการบริการของการแพทย์แบบตะวันตก
และที่สำคัญคือเพื่อการประกาศเผยแพร่คริสต์ศาสนาโดยใช้การแพทย์สมัยใหม่เป็นเครื่องมือที่จะทำให้คนเมืองเหนือได้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจากพันธกิจการรักษาพยาบาล ที่เห็นประสิทธผลรวดเร็วกว่าการรักษาความเจ็บป่วยแบบเดิม

......ก่อนหน้าที่นายแพทย์แมคเคนจะเข้ามายังเชียงใหม่นั้น ทางคณะมิชชันอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้ส่งนายแพทย์มิชชันนารีเข้ามาปฏิบัติงานแล้ว 3 ท่าน คือ
นายแพทย์ชาร์ล วรูแมน อยู่ในช่วง พ.ศ.2415-2416 
นายแพทย์แมเรียน เอ ชีค หรือหมอชีคผู้โด่งดัง ท่านเป็นแพทย์มิชชันนารีระหว่าง พ.ศ.2418-2428 และได้ผันตัวเองไปเป็นนักธุรกิจด้านป่าไม้
และนายแพทย์ เอ. เอ็ม แครี่ อยู่ระหว่าง พ.ศ.2428-2430 เป็นผู้จัดตั้งโรงพยาบาลแบบชั่วคราว
ซึ่งเป็นการขยายงานการแพทย์แบบโอสถศาลา (dispensary) มาเป็นแบบโรงพยาบาล (hospital) 
เมื่อนายแพทย์แมคเคนเข้ามาในเดือนมกราคม พ.ศ.2432 จึงมีการพัฒนาโรงพยาบาลของมิชชันอเมริกันเพรสไบทีเรียนที่ได้วางรากฐานไว้ในเชียงใหม่ให้เป็นระบบมั่นคงยิ่งขึ้น
และได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาโรงพยาบาลและการแพทย์แบบตะวันตกในล้านนาจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง
กระทั่งมีการขยับขยายเป็นโรงพยาบาลแมคคอร์มิคในเวลาต่อมา



......จากการทำงานด้านการแพทย์เพื่อให้การรักษาผู้คนโดยทั่วไปแล้ว นายแพทย์แมคเคนมีความสนใจที่จะทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อนที่พบเห็นเป็นเบื้องต้นในเชียงใหม่
พวกเขาเหล่านั้นเป็นคนไร้บ้าน ถูกขับไล่ออกจากชุมชน ต้องร่อนเร่มาขอทานในเมืองที่ชุมนุมชน นับเป็นภาพที่ทำให้หมอแมคเคนได้หาทางที่จะช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้
เช่น การชักชวนนักธุรกิจทุกแขนงที่เป็นชาวฝรั่งต่างชาติในเชียงใหม่ นำอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และยา ไปแจกคนเหล่านี้ตามโอกาสที่ทำได้
เป็นการแสดงความเมตตาทางมนุษยธรรมและดำเนินตามคำสอนและอุดมคติของคริสต์ศาสนา
ดังที่ท่านได้กล่าวถึงสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้มีความสนใจในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนอย่างจริงจังต่อมา
เพราะว่าเป็น "กลุ่มคนที่พระเจ้าทรงสั่งให้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพวกเขาเป็นพิเศษ" (The Laos News.October 1907 : 116.)
และจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ลแสดงว่า พระเยซูคริสต์ได้มีพระบัญชาให้สาวกของพระองค์ออกไปรักษาคนเจ็บป่วย
ทำให้คนตายฟื้นขึ้นและรักษาคนโรคเรื้อนให้หาย (มัทธิว บทที่ 10 ข้อ 7-8)



......และจากบทความของนายแพทย์แมคเคน ในหนังสือ The Laos News เรื่อง/เล่มเดียวกัน กล่าวย้อนถึงความคิดและความพยายามที่จะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2430 แล้ว
นั่นคือ ทางมิชชันได้มีโอกาสนำเสนอต่อรัฐบาลสยามที่กรุงเทพฯ ให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่ดูแลหมู่คนที่อยู่ในสถานะอันเป็นที่รังเกียจของสังคมเหล่านี้ด้วย
......เมื่อมองถึงแนวคิดของนายแพทย์แมคเคนจะเห็นได้ว่า การให้ความสนใจต่อผู้ป่วยโรคเรื้อนนับเป็นการบุกเบิกงานใหม่ประการหนึ่งของคณะมิชชัน 
ซึ่งเป็นลักษณะวิสัยของมิชชันนารีที่เข้ามาบุกเบิกงานด้านต่างๆ และได้ทำสิ่งใหม่ๆ เข้ามายังประเทศสยาม จนเป็นที่ประจักษ์ในประวัติศาสตร์จนถึงทุกวันนี้
และในการกระทำของนายแพทย์แมคเคนยังเป็นจังหวะสำคัญที่ได้รับแรงสนับสนุนจากทางราชการ และหมู่เจ้านายผู้ปกครองที่ต้องการให้บ้านเมืองปลอดจากคนป่วยโรคเรื้อน
ไม่ให้เป็นที่อุดจาดสายตาของชาวต่างประเทศที่เข้ามายังสยาม เป็นการแสดงถึงการสร้างความเจริญแบบสมัยใหม่ (Modernization) อันเป็นกระแสกระบวนทัศน์จากประเทศตะวันตกที่ไหลบ่าเข้าสู่สยามในเวลานั้น

......ในปี พ.ศ.2448 นายแพทย์แมคเคนได้ดำเนินการเพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อนอย่างจริงจังโดยท่านได้เข้าเฝ้าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้น
กราบทูลรายงานถึงกิจกรรมทางการแพทย์ของมิชชันนารีที่ผ่านมา และขอความคิดเห็นเรื่องของการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์คนโรคเรื้อน
ซึ่งท่านได้รับอนุญาตและสนับสนุนให้ดำเนินงานด้านนี้ต่อไปโดยทันที ดังที่มีจดหมายของนายแพทย์แมคเคนถึง ดร.อาร์เธอร์ เจ บราวน์ (เลขาธิการของกรรมการมิชชันต่างประเทศ คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน)
เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2448 กล่าวถึงพระดำรัสของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า
" หมอทำถูกต้องแล้ว เมื่อกลับไปถึงเชียงใหม่ ให้เข้าไปรายงานกับท่านข้าหลวง และเสนอโครงการช่วยผู้ป่วยโรคเรื้อนทั้งหมด
แล้วขอแจ้งให้ข้าหลวงทราบด้วยว่า ฉันสนับสนุนโครงการนี้ และฉันจะดีใจมากถ้าท่านข้าหลวงจะได้ร่วมมือกับหมอเพื่อให้โครงการของหมอสัมฤทธิ์ผล
และถ้าหากมีอุปสรรคใดๆ เกิดขึ้น และอยู่ในอำนาจของฉันจะช่วยหมอได้แล้ว หมอแจ้งให้ฉันทราบด้วย"



......ในปี พ.ศ.2450 นายแพทย์แมคเคนได้ขออนุญาตและขอใช้สถานที่เกาะกลางจากเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 8 
เพื่อเป็นที่พักอาศัยและให้การบำบัดผู้ป่วยโรคเรื้อน โดยเฉพาะเจ้าหลวงอินทวโรรสทรงเห็นชอบและยินดีเป็นอย่างยิ่ง
โดยพระองค์ทรงเห็นว่า เป็นการทำบุญสร้างกุศลและจะทำให้บ้านเมืองสะอาดตายิ่งขึ้น ความสำเร็จในการขอสถานที่เพื่อเป็นแหล่งบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนนี่
มีบทความของนายแพทย์แมคเคน เรื่อง "Extension of Medical Work in Chieng Mai" (The Laos News, ประจำเดือนตุลาคม ค.ศ.1907 หรือ พ.ศ.2450) 
กล่าวว่า เจ้าหลวงเชียงใหม่ทรงอนุญาตให้ใช้เกาะกลางแม่น้ำปิงซึ่งอยู่ทางใต้ของเวียงเชียงใหม่ประมาณ 5 ไมล์ (ประมาณ 8 กิโลเมตร) 
เป็นที่ "ลี้ภัย" สำหรับคนโรคเรื้อน และที่ดินอันเป็นของขวัญล้ำค่านี้ ได้มีการลงสัตยาบันเป็นที่รับรองโดยรัฐบาลแห่งราชสำนักพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่กรุงเทพฯ



......"เกาะกลาง" นับเป็นเกาะ (ตามนิยามของความเป็นเกาะคือแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ) ที่มีขนาดใหญ่
มีเนื้อที่ประมาณ 160 เอเคอร์ (ประมาณ 400 ไร่) ซึ่งไม่ใช่เกิดจากการเป็นเกาะแก่งในแม่น้ำโดยตรง แต่พื้นที่นี้เกิดจากแม่น้ำปิงเดิมที่ไหลบ่าท่วมเวียงกุมกามเป็นประจำนั้น
ได้เปลี่ยนทิศทางการไหลแยกเป็น 2 สาย และไปบรรจบกันที่ส่วนปลายของตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีเรื่องเล่าว่า เดิมทีเจ้าหลวงอินทรวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 ได้มอบช้างของพระองค์เป็นของขวัญแด่เจ้าอินทวโรรส ราชบุตร
แต่ช้างมีนิสัยดุเกเรได้ทำร้ายควาญช้างจนถึงแก่ชีวิตหลายคน จึงถูกนำมาปล่อยไว้ที่เกาะกลาง และช้างนั้นยังได้มีพฤติกรรมดุร้ายอยู่เนืองๆ 
ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปใช้ที่เกาะกลางเป็นที่อาศัยทำกิน และเมื่อประมาณ พ.ศ.2448 ช้างของเจ้าหลวงล้มลง
ชาวบ้านก็ยังเชื่อว่า ยังมีผีช้างที่ดุร้ายนั้นวนเวียนอยู่ในบริเวณเกาะ ดังนั้นพื้นที่นี้จึงเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีคนอาศัยหรือใช้ทำกิน
เมื่อนายแพทย์แมคเคนขออนุญาตใช้เป็นแหล่งพักอาศัยของคนป่วยโรคเรื้อนจึงได้รับความเห็นชอบเป็นอย่างดี



การลงหลักปักฐานเรื่องงานสำหรับคนโรคเรื้อน
......ใน พ.ศ.2451 เมื่อนายแพทย์แมคเคนได้รับมอบที่ดินเกาะกลางอย่างเป็นทางการและท่านได้นำคนโรคเรื้อนเข้ามาอยู่อาศัยเป็นกลุ่มบุกเบิกจำนวน 9 คน เป็นผู้ใหญ่ 7 คน เด็ก 2 คน (ไม่กี่วันหลังจากนั้นมีผู้ใหญ่เสียชีวิตไป 1 คน)
โดยสร้างกระท่อมไม้ไผ่มุงหญ้าขึ้น 2 หลัง และในจำนวนคนโรคเรื้อนที่เข้ามาอยู่ในเกาะกลางนี้มีอย่างน้อย 1 คนที่เป็นคริสเตียนใหม่ ซึ่งได้หันมารับเชื่อในคริสต์ศาสนา เนื่องจากได้รับการผ่าตัดและการรักษาจากโรงพยาบาลของมิชชันที่เชียงใหม่
อีกทั้งยังเป็นที่สังเกตว่า การเริ่มต้นใช้เกาะกลางเพื่อทำพันธกิจกับคนโรคเรื้อนอย่างเป็นรูปเป็นร่างในปีนี้ เป็นช่วงปีเดียวกันกับที่รัฐบาลสยาม
โดยพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการประจำมณฑลพายัพในสมัยนั้น ได้จัดตั้งการสุขาภิบาลขึ้นในอำเภอเมืองเชียงใหม่เป็นแห่งแรกในมณฑลพายัพ ด้วยเหตุผลที่ว่า
......"...ที่อำเภอเมืองเปนที่ตั้งศาลารัฐบาลมณฑลแลเปนที่ประชุมการค้าขายมีบ้านเรือนแลผู้คนอยู่มาก สมควรจัดการศุขาภิบาลตามพระราชบัญญัติศุขาภิบาลได้
ด้วยความบริบูรณ์ของท้องที่ตำบลนี้ประการหนึ่ง แลเหตุที่ว่าเปนที่ประชุมชนมาก มักเกิดโรคภัยไข้เจ็บในที่แหล่งนั้น 
ถ้าจัดการศุขาภิบาลขึ้นจะเปนการป้องกันอันตรายแก่มหาชนด้วยประการหนึ่ง..."



......จากเหตุผลในการจัดตั้งสุขาภิบาลดังกล่าวถึงแม้จะไม่ได้ระบุถึงความสกปรกและน่ารังเกียจจากสภาพร่างกายของคนโรคเรื้อนโดยตรง
แต่การจัดตั้งสุขาภิบาลก็เพื่อการสร้างสุขอนามัยของท้องที่ เมื่อนายแพทย์แมคเคนได้เป็นเรี่ยวแรงในการจัดการกับคนโรคเรื้อนในเชียงใหม่
นับเป็นการดีสำหรับทางการบ้านเมืองที่ไม่ต้องดำเนินการด้วยตนเอง จึงเป็นที่พึงพอใจและให้การสนับสนุน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่