" Bryum Bharatiensis " มอสสายพันธุ์ใหม่ในทวีปแอนตาร์กติกา




(Bryum bharatiensis สายพันธุ์มอสในแอนตาร์กติกาตะวันออก ที่เพิ่งค้นพบใหม่โดยนักวิทยาศาสตร์จากปัญจาบ / Cr. Felix Bast)


ระหว่างการสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาตะวันออกที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งในปี 2017 นักชีววิทยาขั้วโลกและทางทะเลแห่ง Central University of Punjab, Bathinda (CUPB) สะดุดกับมอสสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งการระบุตัวตนเป็นเรื่องที่ลำบาก และต้องใช้เวลาถึง 5 ปีในการยืนยันว่าสายพันธุ์นี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรก โดยทีมงานได้เขียนบทความอธิบายการค้นพบที่ได้รับการยอมรับนี้ลงตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติชั้นนำ Journal of Asia-Pacific Biodiversity

มอสพันธุ์ใหม่จากแอนตาร์กติกานี้ถูกค้นพบโดย Dr. Felix Bast นักชีววิทยาในมหาวิทยาลัยกลางแห่งปัญจาบ โดยตั้งชื่อว่า 'Bryum bharatiensis' เพื่อเป็นเกียรติแก่เทพธิดาสรัสวดีแห่งอินเดีย (หรือที่เรียกว่า 'Bharati') เทพธิดาแห่งการเรียนรู้ของชาวฮินดู และยังเป็นชื่อหนึ่งในสถานี 'Bharati' ในแอนตาร์กติกของอินเดีย

ในเวลานั้น Dr. Felix Bast ในฐานะนักวิทยาศาสตร์การสำรวจในภารกิจ Indian Antarctic Mission 2016-17 ครั้งที่ 36 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจทวีปเป็นเวลา 6 เดือน โดย Dr. Bast ได้ค้นพบพบพืชสีเขียวเข้มบนโขดหินใกล้ ๆ สถานี Bharati หนึ่งในสถานีวิจัยที่ห่างไกลที่สุดในโลก ที่ Larsemann Hills แอนตาร์กติกาตะวันออก เมื่อเดือนมกราคม 2017

หลังจากกลับมาที่ CUPB แล้ว Dr. Bast พร้อมด้วยทีมงานของเขา ได้ทำการประเมินอนุกรมวิธานและการศึกษาต่างๆ ซึ่งยืนยันว่าสายพันธุ์นี้เป็นมอสสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบเป็นครั้งแรกในโลก โดยใช้วิธีการที่ผสมผสานเทคนิคดั้งเดิมตามสัณฐานวิทยากับเครื่องมือสมัยใหม่ที่ใช้ DNA Sequence เพื่อกำหนดรูปแบบการค้นพบสปีชีส์


สายพันธุ์นี้ได้รับการตั้งชื่อตามสถานีวิจัยของอินเดียที่เรียกว่า Bharati / Cr.PRADEEP TOMAR


Dr. Bast กล่าวว่า พืชต้องการไนโตรเจน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แสงแดด และน้ำเพื่อความอยู่รอด แต่แอนตาร์กติกาเพียง 1% เท่านั้นที่ไม่มีน้ำแข็ง คำถามสำคัญคือ มอสสามารถอยู่รอดได้อย่างไรในภูมิประเทศที่เป็นหินและน้ำแข็ง ภายใต้หิมะหนาทึบในช่วง 6 เดือนของฤดูหนาว โดยที่ไม่มีแสงแดดและอุณหภูมิลดลงถึง -76C
 
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์คาดว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ตะไคร่น้ำจะแห้งจนถึงระยะพักตัว จนเกือบกลายเป็นเมล็ด และงอกใหม่อีกครั้งในช่วงฤดูร้อน
ในเดือนกันยายนเมื่อเริ่มได้รับแสงแดดอีกครั้ง โดยจะดูดซับน้ำจากหิมะที่กำลังละลาย และยังพบว่ามอสส่วนใหญ่เติบโตในพื้นที่ที่มีนกเพนกวินผสมพันธุ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นไปได้ว่า พืชอาจสามารถอยู่รอดได้ในมูลนกเพนกวิน (ขี้นกเพนกวินมีไนโตรเจน) ที่ช่วยให้ปุ๋ยไม่ย่อยสลายในสภาพอากาศแบบนี้

การค้นพบนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรูปแบบความหลากหลายทางชีวภาพที่เปลี่ยนแปลงไปในทวีปแอนตาร์กติกา โดยศาสตราจารย์ Raghavendra P. Tiwari รองอธิการบดีของ Central University of Punjab (CUP) ให้ความเห็นว่า การค้นพบนี้มีความสำคัญเนื่องจากเป็นพืชชนิดแรกที่ค้นพบได้ใน 40 ปีของ 'ภารกิจอินเดียนแอนตาร์กติก' (Indian Antarctic Mission)

หลังจากเก็บตัวอย่างแล้ว นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียใช้เวลาห้าปีในการจัดลำดับดีเอ็นเอของพืชและเปรียบเทียบรูปแบบกับพืชชนิดอื่น จนถึงปัจจุบัน
มีมอสมากกว่า 100 สายพันธุ์ที่ได้รับการบันทึกจากดินแดนแอนตาร์กติกา ทวีปที่แห้งแล้งที่สุด หนาวที่สุด และลมแรงที่สุดนี้


Prof. Felix Bast นำทีมนักวิทยาศาสตร์ไปยังทวีปแอนตาร์กติก / Cr.FELIX BAST


นอกจากนี้ Prof. Anjana Munshi คณบดี Research แจ้งว่า นี่เป็นการค้นพบสายพันธุ์ที่หกจากกลุ่มวิจัยของ Dr. Bast โดยก่อนหน้านี้ทั้ง 5 สายพันธุ์เป็นสาหร่ายทะเลสายพันธุ์ใหม่จากชายฝั่งอินเดีย และยังเสริมว่า แม้ว่าการค้นพบครั้งนี้จะเพิ่มความสำเร็จให้กับทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย แต่ความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มขึ้นบนขั้วโลกใต้ของโลกบ่งชี้ว่า มีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นที่ทวีปขั้วโลก

โดย Dr. Bast กล่าวปิดท้ายว่า นี่เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ค้นพบพันธุ์พืชซึ่งเป็นผลมาจาก 40 ปีของภารกิจ Indian Antarctic Mission ที่เริ่มขึ้นในปี 1981 แต่ที่น่ากังวลคือ "หลักฐานที่น่าตกใจ" ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เห็นระหว่างการเดินทาง จากธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย, แผ่นน้ำแข็งที่เต็มไปด้วยรอยแยก และทะเลสาบน้ำแข็งที่ละลายจากแผ่นน้ำแข็ง
 
และทวีปแอนตาร์กติกากำลังจะกลายเป็นสีเขียว พืชเมืองหนาวหลายชนิดซึ่งแต่ก่อนไม่สามารถอยู่รอดได้ในทวีปที่เย็นยะเยือกนี้ ปรากฏให้เห็นทุกหนทุกแห่งเพราะทวีปร้อนขึ้น ซึ่งนอกจากการค้นพบสายพันธุ์ใหม่แล้ว การศึกษายังเปิดเผยบันทึกการจัดหมวดหมู่ใหม่อีกสองรายการคือ
-  มอส Bryoerythrophyllum recurvirostrum ถูกบันทึกเป็นครั้งแรกจาก Larsemann Hills และ
-  มอส Coscinodon lawianus จาก Schirmacher Oasis

ทั้งนี้ นี่เป็นครั้งแรกที่อินเดียค้นพบพันธุ์พืชในช่วงสี่ทศวรรษนับตั้งแต่ก่อตั้งสถานีวิจัยในทวีปนี้เป็นครั้งแรก โดยสถานีแรกถูกตั้งขึ้นในปี 1984 และถูกทิ้งร้างในปี 1990 หลังจากที่จมอยู่ใต้น้ำแข็ง ส่วนอีกสองสถานีคือ Maitri และ Bharati ซึ่งได้รับมอบหมายในปี 1989 และ 2012 และยังคงเปิดให้บริการตลอดทั้งปี

Bryoerythrophyllum recurvirostrum
 Larsemann Hills
เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางตะวันออกของทวีปแอนตาร์กติก และเป็นพื้นที่จัดการพิเศษในทวีปแอนตาร์กติก (ASMA) เพียงแห่งเดียว
ซึ่งหลายประเทศได้ครอบครองสถานีอย่างต่อเนื่อง



(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่