การรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยนิ้วล็อก

อาการนิ้วล็อกหรือนิ้วสะดุด เป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมักเกิดในผู้ที่ใช้งานมือในลักษณะเกร็งนิ้วบ่อยๆ 
เช่น การหิ้วของหนัก การทำงานบ้าน หรือการใช้มือในท่ากำบีบอย่างแรง เกิดจากการเสียดสีบริเวณเส้นเอ็นทางด้านฝ่ามือและปลอกหุ้มเส้นเอ็น
ทำให้มีการอักเสบและหนาตัวขึ้นของปลอกหุ้มเส้นเอ็น ส่งผลให้เส้นเอ็นเคลื่อนที่ได้ไม่สะดวก เกิดการฝืด ติดขัด เจ็บ และสะดุดเวลางอนิ้ว
ส่วนมากจะพบในวัยกลางคนอายุประมาณ 40 - 50 ปี  โดยปัจจัยที่มีโอกาสทำให้เกิดโรคมากขึ้นได้แก่ โรคเบาหวาน ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
                      
อาการของโรคจะแบ่งได้ทั้งหมด 4 ระยะ คือ
                                 ระยะที่ 1    ระยะปวดและมีจุดกดเจ็บ  โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดฐานนิ้วและโคนนิ้วด้านหน้า 
                                                 จะปวดมากขึ้นเมื่อเอานิ้วมากด
                                ระยะที่ 2     ระยะสะดุด ผู้ป่วยจะมีอาการสะดุดขณะงอหรือเหยียดนิ้วจนรู้สึกได้ มีเสียงขณะงอหรือเหยียด 
                                                 และมักจะมีอาการปวดมากขึ้นกว่าระยะแรก  
                                ระยะที่ 3   ระยะล็อก เมื่อผู้ป่วยงอนิ้วลงไปแล้ว จะติดล็อกไม่สามารถเหยียดออกเองได้ 
                                                 ต้องใช้มืออีกด้านช่วยแกะหรือง้างออก ในผู้ป่วยที่มีอาการมากๆ อาจจะไม่สามารถงอนิ้วได้เอง
                                ระยะที่ 4   ระยะติดในท่างอหรือเหยียด ระยะนี้ผู้ป่วยจะติดอยู่ในท่างอหรือเหยียดนิ้ว ไม่สามารถง้างออกได้ 
                                                หากใช้มืออีกข้างแกะ หรือง้างออกจะมีอาการปวดมาก เนื่องจากการอักเสบที่มากขึ้น 
                      
 การรักษาทางกายภาพบำบัด
                                 1. พักการใช้นิ้วมือและแช่น้ำอุ่น ประมาณ 15- 20 นาที เพื่อลดอาการปวด หรือรับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วย
                                 2. ลดอาการปวดโดยใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น การแช่พาราฟิน  การทำอัลตร้าซาวด์
                                     การใช้ความเย็นรักษาในระยะอักเสบ 
                                 3. จำกัดการเคลื่อนไหวโดยใช้อุปกรณ์ดามนิ้วมือ ในกรณีที่มีอาการปวดมากๆ
                                 4. การขยับดัดดึงข้อต่อ เมื่ออาการปวดลดลง เพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหว
                                

บทความโดย ฟิสิคอลคลินิกกายภาพบำบัด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่