อาหารช่วยลดความดันโลหิตในเด็ก ต้องทานอะไรดีถึงจะช่วยได้?

รู้หรือไม่ว่า อาหารช่วยลดความดันโลหิตในเด็ก นั้นสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่เปลี่ยนการทานอาหารใหม่ เพราะอาการความดันโลหิตสูงอาจเป็นเพียงแค่ชั่วครู่ หรือเป็นในระยะยาวเลยก็เป็นได้ ดังนั้นรู้ไว้ก็ไม่เสียหายอะไร มาดูไปพร้อมกันเลยว่า อาหารช่วยลดความดันโลหิตในเด็ก มีอะไรบ้าง
 
 
 
ความดันโลหิตสูงในเด็ก
ความดันโลหิตสูงในเด็ก คือความดันโลหิตที่เท่ากับ หรือสูงกว่าร้อยละ 95 ของเด็กที่มีเพศ อายุ และส่วนสูงเท่ากับเด็กในช่วงอายุเดียวกัน สำหรับเด็ก ๆ แล้วนั้นการอ่านค่าความดันโลหิตนั้นจะไม่มีตัวเลข หรือระดับกำกับอย่างชัดเจน เนื่องจากเด็ก ๆ นั้นยังอยู่ในช่วงวัยของการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งมีโอกาสสูงที่ความดันโลหิตของเขาจะเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปีที่มีการตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงนั้นมักจะเกิดจากสาเหตุเดียวกับผู้ใหญ่ นั่นคือ น้ำหนักเกิน ทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ และการขาดการออกกำลังกายนั่นเอง

อาหารช่วยลดความดันโลหิตในเด็ก มีอะไรบ้าง?
การทานอาหารที่ดีนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญของการป้องกันโรคต่าง ๆ และยังช่วยเสริมสร้างร่างกายที่แข็งแรงให้กับเด็ก ๆ ที่อยู่ในช่วงวัยของการเจริญเติบโตอีกด้วย โดยเด็ก ๆ จำเป็นจะต้องรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ เพื่อไม่ให้เกิดโรคได้ โดยอาหารที่ช่วยลดความดันโลหิตของเด็กได้ มีดังต่อไปนี้
 
1. ผลไม้ตระกูลเบอรี่
ผลไม้ตระกูลเบอรี่นั้นมักจะประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่เรียกว่า แอนโธไซนานิน (anthocyanins) ซึ่งเป็นฟลาโวนอยด์ชนิดหนึ่ง โดยนักวิจัยได้มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงจำนวนมากกว่า 34,000 คนที่ได้มีการทดลองให้ทานผลไม้ตระกูลเบอรี่เป็นประจำ นั้นมีผลออกมาว่า มากกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมดมีความดันโลหิตที่ลดลง โดยพวกเขาจะรับประทานเป็นอาหารว่างระหว่างวัน หรือใส่ลงในมื้ออาหารเช้าพร้อมกับข้าวโอ๊ตนั่นเอง
 
2. กล้วย
กล้วยมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการกับความดันโลหิตที่สูงขึ้น โดยกล้วยขนาดกลาง 1 ลูกมีโพแทสเซียมมากถึง 422 มิลลิกรัม นอกจากกล้วยแล้วยังมีผักผลไม้ชนิดอื่นที่มีโพแทสเซียมมากเหมือนกับกล้วยเช่นกัน อาทิ อะโวคาโด แคนตาลูป เห็ด มะเขือเทศ ถั่ว และมันฝรั่งหวาน เป็นต้น ทั้งนี้คุณจะต้องระวังเกี่ยวกับการทานโพแทสเซียมจำนวนมากในเด็กด้วย เพราะอาจนำไปสู่การเป็นโรคไตได้หากได้รับจำนวนมากเกินไป

3. บีทรูท
สำหรับประเทศไทยเรานั้นบีทรูทอาจไม่ค่อยนิยมรับประทานกันมากนัก แต่คุณรู้หรือไม่ว่าการดื่มน้ำบีทรูทนั้นสามารถช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยมีการวิจัยพบว่าการดื่มน้ำบีทรูท 250 มิลลิลิตรทุกวัน เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ทำให้ความดันโลหิตนั้นลดลงอย่างสังเกตได้ โดยนักวิจัยชี้ว่าสารอินทรีย์ไนเตรตที่มีมากในหัวบีทรูทนั้นเป็นตัวช่วยให้ความดันโลหิตนั้นลดลง

 
4. ดาร์กช็อกโกแลต
คุณแม่หลายท่านอาจไม่อยากให้บุตรหลายของคุณเข้าใกล้ของหวานอย่างช็อกโกแลตมากนัก แต่สำหรับดาร์กช็อกโกแลตนั้นสามารถช่วยให้ความดันโลหิตของเด็ก ๆ ลดลงได้ อีกทั้งยังช่วยป้องกันภาวะก่อนที่จะเริ่มเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย โดยจะต้องเป็นช็อกโกแลตที่มีค่าของช็อกโกแลตมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปเท่านั้นจึงจะช่วยได้ แต่ถ้าหากช็อกโกแลตนั้นมีการเพิ่มน้ำตาล หรือใส่สารอื่นเพิ่มเติมอาจนำไปสู่โรคอ้วน และเบาหวานในเด็กได้

5. กีวี่
การบริโภคกีวี่ทุกวันนั้นสามารถช่วยลดความดันโลหิตในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเพียงเล็กน้อย หรือมีความดันโลหิตเพียงชั่วครู่ให้ลดลงได้ เพราะในกีวี่นั้นอุดมไปด้วยวิตามินซี จากการวิจัยพบว่าการทานกีวี่เป็นเวลาติดต่อกัน 8 สัปดาห์ในระหว่างมื้ออาหารนั้นสามารถลดความดันโลหิตสูงได้ผลดีกว่าการทานแอปเปิลที่ใช้ระยะเวลาเดียวกัน
 
6. แตงโม
แตงโมมีกรดอะมิโนที่เรียกว่า ซิทรูลีน (Citrulline) ซึ่งมีส่วนช่วยควบคุมความดันโลหิตสูงได้ โดยจะช่วยให้ร่างกายของเราผลิตไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ซึ่งเป็นก๊าซที่ช่วยผ่อนคลายหลอดเลือด และกระตุ้นความยืดหยุ่นในหลอดเลือดแดงของเรา ทำให้เกิดการหมุนเวียนเลือดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งผลต่อความดันโลหิตด้วย นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีความดันโลหิตสูงที่มีการใช้สารสกัดจากแตงโมนั้นพบว่านอกจากมีความดันโลหิตที่ลดลงแล้ว ยังช่วยให้เลือดบริเวณข้อเท้า แขน และต้นแขนที่ซึ่งมีเส้นเลือดหลักอยู่นั้นทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น
 
7. กระเทียม
กระเทียมเป็นอาหารที่ถูกใช้เป็นยาปฏิชีวนะ และต้านเชื้อราที่หาได้ตามธรรมชาติ มีสารออกฤทธิ์หลัก ๆ คือสารอัลลิซิน (Allicin) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเราเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่ากระเทียมนั้นช่วยเพิ่มการผลิตไนตริกออกไซด์ในร่างกาย ซึ่งช่วยให้กล้ามเนื้อของผ่อนคลาย ไม่ตึง และช่วยให้หลอดเลือดของเราขยายตัวได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถทำให้ความดันโลหิตของเราลดลงนั่นเอง

8. ผักใบเขียว
ผักใบเขียนนั้นอุดมไปด้วยไนเตรต ซึ่งช่วยควบคุมความดันโลหิต มีงานวิจัยหนึ่งพบว่าการทานผักใบเขียว 2 ใน 3 มื้อต่อวันนั้นจะสามารถลดความดันโลหิตได้นานถึง 24 ชั่วโมง โดยผักใบเขียวที่แนะนำมีดังต่อไปนี้ กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ ผักคะน้า ผักกาดหอม และ ผักโขม
 
9. ข้าวโอ๊ต
ข้าวโอ๊ตมีเส้นใยอาหารที่เรียกว่า เบต้ากลูแคน (beta-glucan) ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด และในรายงานบางชิ้นพบว่า เบต้ากลูแคน นั้นสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้เช่นกัน นอกจากนี้ข้าวโอ๊ตยังมีส่วนช่วยในเรื่องของระบบทางเดินอาหารให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ป้องกันการเกิดท้องผูกในเด็กได้อีกด้วย
 
10. อาหารหมักดอง
ถึงแม้ว่าจะเคยได้ยินอาการหมักดองนั่นไม่ดี แต่อาหารหมักดองนั้นอุดมไปด้วยโปรไบโอติก ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มรประโยชน์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพของลำไส้ การรับประทานโปรไบโอติกนั่นยังส่งผลทำให้ความดันโลหิตนั้นลดลงด้วย ซึ่งอาหารหมักดอกที่เหมาะสมกับเด็ก ๆ เช่น 
โยเกิร์ต กิมจิ  มิโซะ  แอปเปิลไซเดอร์
 
11. ถั่วพิสตาชิโอ
ถั่วพิตาชิโอเป็นถั่วที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ เพราะว่าถั่วพิสตาชิโอนั้นมีไขมันที่ดีในระดับปานกลาง ไม่มากเกิน หรือน้อยเกินไป ซึ่งส่งผลทำให้ความดันโลหิตนั้นลดลงได้ในช่วงที่เกิดความดันโลหิตสูงจากความเครียด เพราะสารประกอบในถั่วจะช่วยลดความบีบแน่นของหลอดเลือดในขณะที่เครียดนั่นเอง
 
12. ทับทิม
การดื่มน้ำทับทิม 1 ถ้วยต่อวันเป็นเวลาติดต่อกัน 1 เดือนนั้นสามารถช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ในระยะสั้น โดยมีผลมาจากปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ภายในทับทิมนั่นเอง นอกจากนี้การทานทับทิมยังช่วยในเรื่องของการป้องกันมะเร็งได้บางชนิดอีกด้วย แต่คุณจะต้องระวังดี ๆ หากซื้อน้ำทับทิมจากซูเปอร์มาร์เกต กรุณาตรวจสอบค่าของน้ำตาลที่ถูกผสมกับน้ำผลไม้ให้ดี เพราะบางทีเขาอาจจะหายจากอาการความดันโลหิตสูง และเป็นเบาหวานแทนได้

เด็กที่มีความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยงอะไร?
แม้ว่าอาหารบางชนิดอาจช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ แต่อาหารบางชนิดอาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้โดยไม่คุณอาจจะไม่ได้ตั้งตัว โดยคุณสามารถเลี่ยงการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารดังต่อไปนี้

 - เกลือ โซเดียมสามารถเพิ่มความดันโลหิตได้อย่างมาก โดยมีผลการวิจัยว่าการบริโภคเกลือในปริมาณที่ลดลง 4 กรัมต่อวันจะช่วยลดความดันโลหิตได้ ซึ่งอาหารที่มีโซเดียมสูงนั้นจะเป็นจำพวก อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง เครื่องปรุง ขนมขบเคี้ยว และอาหารแช่แข็ง เป็นต้น
 - คาเฟอีน ในชา กาแฟ โคล่า และเครื่องดื่มชูกำลัง อาจทำให้ความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้นในระยะสั้นได้ โดยมีการวิจับพบว่าหากมีการบริโภคคาเฟอีนจำนวนมากจะส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นภายใน 3 ชั่วโมงหลังรับประทาน
  

ถึงแม้ว่าความดันโลหิตสูงในเด็กนั้นจะไม่สามารถตรวจได้อย่างแน่ชัด แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรที่ชะล่าใจ เพราะการทานอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการในจำนวนที่มาก อาจส่งผลต่อร่างกายของเด็ก ๆ ในทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้ ทั้งนี้การทานอาหารที่ดีมีประโยชน์นั้นจึงดีต่อร่างกายพวกเขามากที่สุด


แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่