JJNY : ติดเชื้อพุ่ง4,803 ตาย 34│300 รง.ผลิตอาหารวุ่น ต้นทุนเหล็กพุ่ง│'อ๋อย'อัดเนติบริกรอาการหนัก│หมอธีระแนะเลื่อนเปิดปท.

โควิดไทยยังหนัก! ติดเชื้อใหม่พุ่ง4,803ราย-ตายอีก34
https://www.dailynews.co.th/politics/846415


ยอด 'โควิด-19' วันนี้ พบเสียชีวิตเพิ่มอีก 34 ราย ขณะที่พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มอีก 4,803 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 120,916 ราย
 
 สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ล่าสุด วันที่ 29 พ.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อโควิด 4,803 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 2,101 ราย จากเรือนจำที่ต้องขัง 2,702 ราย หายป่วยกลับบ้าน 4,439  ราย หายป่วยสะสม 74,885 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 120,916 ราย 
 
โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 34 ราย ขณะที่ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 988 ราย


 
300 โรงงานผลิตอาหารวุ่น ต้นทุนกระป๋องเหล็กพุ่ง 20% วอนเบรกภาษีเอดี
https://www.prachachat.net/economy/news-679503

โรงงานผู้ผลิตอาหารกระป๋องวุ่นหลัง “เหล็กเคลือบดีบุก/โครเมียม” ใช้ทำกระป๋องจาก 2 โรงงานผู้ผลิตในไทยทะยอยปรับขึ้นตามราคาเหล็กแผ่นในตลาดโลก ส่งผล 6 สมาคมเหล็กดิ้นร้องหอการค้าไทยทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ ขอชะลอการพิจารณาขึ้นภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (AD) เหล็กทั้ง 2 ประเภทออกไปก่อน หวังนำเข้าลดต้นทุน ขณะที่ 2 โรงงานเหล็กเคลือบ “สยามแผ่นเหล็กวิลาส-แผ่นเหล็กวิลาสไทย” รับวัตถุดิบแพงจนผลิตสินค้าไม่เต็มกำลังผลิต เสี่ยงเหล็กเคลือบขาดแคลน ซ้ำเติมสถานการณ์ด้านราคาขึ้นไปอีก
 
นับจากต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สถานการณ์ราคาเหล็กโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะเหล็กจากประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้เบอร์ 1 ในตลาดโลก ปรับราคาส่งออกเหล็กแผ่นรีดร้อนขึ้นไป 2.2 เท่า หรือตั้งแต่ตันละ 910-925 เหรียญ ส่งผลให้ผู้ใช้เหล็กเดือดร้อนหนัก โดยเฉพาะกลุ่มก่อสร้าง ร้องถึงกระทรวงพาณิชย์ให้ออกมาตรการดูแล
 
โดยขอให้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศ “ตรึงราคา” รวมถึงพิจารณาค่า K จากนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ได้ประกาศเลื่อนการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) เหล็กเมทัลชีสออกไป 6 เดือน เพื่อเปิดทางนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาช่วยบรรเทาภาระต้นทุน
 
3 ไตรมาสต้นทุนพุ่ง 20%
 
ล่าสุด 6 สมาคม (สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหาร สัตว์เลี้ยงไทย สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย สมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สเปรย์ไทย และสมาคมบรรจุภัณฑ์โลหะไทย) ได้เข้าร้องเรียนต่อ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำมาสู่การยื่นหนังสือ ธกบ./ส.032/2564 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2564 เพื่อขอให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณา “ชะลอ” การพิจารณากำหนดภาษีเอดีเหล็กเคลือบดีบุกและเหล็กเคลือบโครเมียมที่นำเข้าจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นออกไปก่อนจากเดิมที่จะมีกำหนดประกาศในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 เพื่อบรรเทาผลกระทบโรงงานผู้ผลิตสินค้า 324 โรงงงาน
 
โดยให้เหตุผลว่าตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมานับจากไตรมาส 4/2563 ถึงปัจจุบัน ราคาแผ่นเหล็กเคลือบดีบุกและแผ่นเหล็กเคลือบโครเมียม “ปรับราคาสูงขึ้น” อย่างต่อเนื่อง (ราคา Tin Plate จากจีนอยู่ที่ 1,430  เหรียญ/ตัน-ราคา Tin Free 1,600 เหรียญ/ตัน) จนทำให้ต้นทุนแผ่นเหล็กที่ใช้ผลิตกระป๋องและฝาสูงบรรจุภัณฑ์ปรับขึ้นรวม 11,500 บาทต่อตัน
 
ทางผู้ผลิตอาหารแบกรับภาระต้นทุนราคากระป๋องและฝาที่ปรับขึ้นทั้ง 3 ไตรมาส ไปแล้วรวมกว่า 17-19% และจากที่ได้หารือร่วมกับผู้ผลิตแผ่นเหล็กในประเทศทั้ง 2 ราย คือ บริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย จำกัด และ บริษัทสยามแผ่นเหล็กวิลาส จำกัด ต่างคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ราคาเหล็กแผ่นมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นต่อเนื่องอีกในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2564 นี้
 
“การปรับขึ้นราคาแผ่นเหล็กที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วจากจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลกที่มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50% ของโลก มีนโยบายปิดโรงงานที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้มีโรงงานเหล็กถูกปิดไปหลายโรงงาน ปริมาณการผลิตเหล็กมีจำนวนน้อยลง ประกอบกับเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวหลังโควิด-19 มีความต้องการเหล็กของอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ส่งผลให้จีนลดการอุดหนุนการส่งออกเหล็ก ด้วยการประกาศยกเลิกการให้คืนภาษี (Rebate Tax) 13% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เพื่อเพิ่มปริมาณเหล็กภายในประเทศ จนทำให้เหล็กทุกประเภทที่ส่งออกจากจีนปรับราคาสูงขึ้นมาทันที”
 
ขณะที่ผู้ผลิตเหล็กจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ต่างก็มีการปิดเตาหลอมประมาณ 5-6 เตา เพื่อซ่อมบำรุงและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำให้ปริมาณเหล็กเพื่อการส่งออกมีปริมาณลดลง จากเดิมที่ผู้ผลิตเหล็กจากเกาหลีใต้ผลิตเหล็กนี้เพื่อขายในประเทศ 30% และส่งออก 70% ก็ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการส่งออกลงเหลือเพียง 40% ทั้งยังมีค่าขนส่งทางเรือสูงขึ้นจากการขาดแคลนตู้ขนส่ง รวมถึงราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เป็นแรงผลักดันให้ราคาสินค้าต่าง ๆ มีราคาที่สูงขึ้น
 
ผู้ผลิต 2 รายซัพพลายไม่พอ
 
แหล่งข่าวกล่าวว่า เดิมกระทรวงพาณิชย์ได้ช่วยชะลอการประกาศเอดีเหล็กเคลือบฯ มาแล้ว 6 เดือน แต่ตอนนี้กำลังจะประกาศอัตราเอดีในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเป็นไปตามข้อร้องเรียนของผู้ผลิต 2 รายที่ร้องไว้ในปี 2561 แต่ทางหอการค้าพบว่า ปริมาณการผลิตของผู้ผลิตดังกล่าวยังไม่พอใช้ โดยบริษัทสยามแผ่นเหล็กวิลาส จำกัด (STP) ซึ่งมี Nippon Steel Japan เข้าถือหุ้นใหญ่ 90%
 
ทำให้ทั้ง Supply Chain ตั้งแต่การผลิตเหล็กขั้นต้นจนถึงแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก/เคลือบโครเมียม ถูกควบคุมโดย Nippon Steel จึงทำให้การต่อรองราคาทำได้ยากขึ้น ขณะที่บริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย จำกัด (TTP) ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นโดยคนไทย 100% ตั้งแต่ปี 2563 แต่ยังมีปัญหาเรื่องการหาแหล่งซื้อเหล็กดำ (TMBP) ในการผลิตเป็นแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก/เคลือบโครเมียมให้ได้เพียงพอกับกำลังการผลิตที่มีอยู่ จึงไม่สามารถใช้กำลังการผลิตได้อย่างเต็มที่ ทำให้แผ่นเหล็กเคลือบดีบุก/เคลือบโครเมียม ในประเทศมีปริมาณลดน้อยลงไปมากเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต
 
“ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกังวลเรื่องความสามารถในการส่งมอบของผู้ผลิตในประเทศทั้งสองรายว่า จะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานของอุตสาหกรรมในประเทศมาตั้งแต่ต้น จึงจำเป็นต้องอาศัยการนำเข้าแผ่นเหล็กเพื่อมาชดเชย ซึ่งโดยปกติแต่ละปีไทยจะมีการนำเข้าเหล็กชนิดนี้คิดเป็นสัดส่วน 80% และใช้เหล็กภายในประเทศ 20% ในปัจจุบันพบประเด็นปัญหาเรื่อง AD ของแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก/เคลือบโครเมียม ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมการค้าต่างประเทศ ทำให้ต้องชะลอการนำเข้าและหันมาพึ่งพาผู้ผลิตในประเทศไทย 100% ซึ่งผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ”
 
อ่วมต้นทุนเพิ่ม
 
สอดคล้องกับ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศ และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนกระป๋องจะคิดเป็นสัดส่วนในการผลิตอาหารประมาณ 20-50% แล้วแต่ชนิดอาหาร หากเป็นกลุ่มอาหารทะเล/สัตว์น้ำกระป๋องที่มีราคาจำหน่ายแพงกว่าก็จะกระทบน้อยกว่า กลุ่มผักและผลไม้กระป๋องซึ่งมีราคาจำหน่ายถูกกว่า
 
“เหล็ก 2 ชนิดนี้ คือ ทินเพลทและทินฟรี อยู่ระหว่างไต่สวนเอดี ซึ่งปัญหาใหญ่คือผู้ผลิตมีเพียง 2 ราย ถ้าฟ้องเอดีสำเร็จจะกระทบซัพพลายเออร์ที่เป็นผู้ผลิตกระป๋องของเราไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศมาแข่งขันได้ ซึ่งที่สำคัญเหล็กที่ 2 บริษัทนี้ใช้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยในปี 2563 มีการใช้เหล็กทินเพลท 3.5 แสนตัน หรือ 60% และทินฟรี 2.5 แสนตัน
 
ซึ่งสัดส่วนการนำเข้าในปี 2563 อยู่ที่ 60% ลดลงจากปี 2562 ที่นำเข้าสัดส่วน 80% และในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้นำเข้า 50% ดังนั้น ถ้ายกเลิกเอดีราคาเหล็กแผ่นสำหรับผลิตกระป๋องก็จะเป็นไปตามกลไกตลาด และถ้าในประเทศแพงก็สามารถนำเข้าได้ หรือถ้าต่างประเทศแพงก็ใช้ของในประเทศได้ แต่ถ้าไม่ยกเลิกเอดีสถานการณ์จะกลับกัน”
 
ผู้ส่งออกอ่วมปัญหาต้นทุนพุ่ง-แรงงานขาด
 
นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปไทย กล่าวว่า การส่งออกอาหารสำเร็จรูปของไทยยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดสำคัญจีน สหรัฐและยุโรป เนื่องจากปัจจัยของวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผู้ส่งออกยังต้องเจออุปสรรคเรื่องของต้นทุนการผลิต
 
โดยเฉพาะต้นทุนแผ่นเหล็กที่นำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้ากระป๋องซึ่งยังเป็นปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข และยังเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการตลอด ขณะที่ปัญหาอื่นที่กระทบต่อผู้ส่งออก คือ การขาดแคลนแรงงานในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ซึ่งทำอย่างไรให้แรงงานเข้าระบบมากขึ้น และเปิดให้มีการทำงานรายชั่วโมงได้ เพื่อลดปัญหาแรงงานตกงานและให้แรงงานมีทางเลือก
 
ก่อนหน้านี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือกแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า การส่งออกกลุ่มอาหารทั้งปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 3-5% โดยสินค้าที่ขยายตัว เช่น กลุ่มผัก ผลไม้สด แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 444 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนมีนาคม 2564 ส่วนกลุ่มที่หดตัว เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป
 
“ทูน่า” อ่วมส่งออกหด 5%
 
สอดคล้องกับ นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าการส่งออกจากลดลง 5% เหลือ 75,000 ล้านบาทจากปีที่ผ่านมา 2563 มีมูลค่า 85,000 ล้านบาท จากปัญหาหลายปัจจัย โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักผู้ผลิตอาหารกระป๋องยังเผชิญปัญหาหนักจากราคาแผ่นเหล็กที่พุ่งสูงขึ้น จนกระทบต้นทุนการผลิตอาหารกระป๋อง ขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน จากไตรมาสที่ 4 ปลายปีที่ผ่านมา ถึงไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ราคากระป๋องปรับสูงขึ้นรวม 17-19% และยังมีแนวโน้มจะปรับราคาสูงขึ้นอีกในไตรมาสที่ 3-4 นั่นคือทั้งปี ขอให้รัฐหามาตรการเร่งด่วนหากจะมีการปรับขึ้นต่อเนื่องราคาต้องสะท้อนความเป็นจริงด้วย
 
ขณะที่ผู้ผลิตแผ่นเหล็กหรือกระป๋องในประเทศซึ่งมีเพียง 2 ราย มีกำลังการผลิตที่จำกัดแค่ 2 แสนตัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 6 แสนตัน ของความต้องการใช้ในประเทศ จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้า ในข้อนี้ขอตั้งข้อสังเกตว่ากรณีของมาตรการการทุ่มตลาด จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตกระป๋องภายในประเทศสามารถแสวงหาแผ่นเหล็กจากแหล่งอื่นที่มีต้นทุนถูกลง
 
ซึ่งเป็นการสร้างเสถียรภาพทั้งเชิงปริมาณและราคาหรือไม่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ผลิตแผ่นเหล็กในประเทศไม่สามารถปรับแผนการผลิตให้รองรับความต้องการใช้ภายในประเทศได้ ขอให้คณะกรรมการเเข่งขันทางการค้า (กขค.) ช่วยตรวจสอบมีการผูกขาดทางการค้าหรือไม่
 
ส่วนออร์เดอร์แน่นอนว่าต้องส่งผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าอาจการปรับแผนการสั่งซื้อบ้าง เนื่องจากยังคงติดปัญหาหลายทาง ทั้งค่าเฟด ราคาค่าระวางเรือซึ่งน่าจะสูงเกินกว่า 300% แล้วด้วยซ้ำ รวมทั้งปัญหา ตู้คอนเนอร์ ทั้งนี้ แต่ละบริษัทเริ่มปรับการใช้แพ็กเกจจิ้ง อื่นที่เป็นกระดาษและเลือกเป็นทางเลือกแทนกระป๋องเพื่อรักษาต้นทุน อย่างไรก็ตามเมื่อต้นทุนเผชิญกับหลายปัจจัยสุดท้ายจะยิ่งส่งผลต่อเกษตรกรเองต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มไปด้วย
 
“หากสถานการณ์ปัญหาการปรับราคาค่าขนส่ง และแผ่นเหล็กยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจังและเป็นระบบยิ่งกระทบต่อความสามาถแข่งขัน เพราะตอนนี้โรงงานดีลกับซัพพลายเออร์เดือดร้อนมาก ผลกระทบเป็นวงกว้างเริ่มจากผู้บริโภคที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวประมง ห่วงโซ่การผลิต รวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงาน และขอให้หน่วยงานภาครัฐเร่งรัดหามาตรการโดยด่วน”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่