พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร

วันวิสาขบูชา
เป็นวันเพ็ญ ๑๕ค่ำ เดือน๖(วิสาขะ)  เป็น วันสำคัญที่
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน

บทความนี้จะกล่าวถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าตรัสรู้อะไร ได้อย่างไร
(เป็นการสรุปรวมตามความเห็นส่วนตัว ถ้าผู้ใดเห็นว่ามีข้อบกพร่องต้องแก้ไขตรงไหนแจ้งให้ทราบด้วยครับ)

การบรรลุธรรม ถึงนิพพาน
ต้องอาศัยโพธิปักขิยธรรม๓๗ ประการ เพื่อให้ละอวิชชา(ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตน)ได้

โพธิปักขิยธรรม คือ
ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ประกอบด้วยธรรมะ ๗ หมวด คือ
  สติปัฏฐาน ๔
  สัมมัปปธาน ๔
  อิทธิบาท ๔
  อินทรีย์ ๕
  พละ ๕
  โพชฌงค์ ๗
  มรรคมีองค์ ๘
รวมเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗

1.) สติปัฏฐาน ๔ คือ การเจริญสติระลึกรู้
1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การหมั่นคิดใคร่ครวญโดยเน้นที่เรื่องรูปธรรม
2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การหมั่นคิดใคร่ครวญโดยเน้นที่เรื่องนามธรรมในส่วนความรู้สึกจากสัมผัส
3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การหมั่นคิดใคร่ครวญโดยเน้นที่เรื่องนามธรรมในส่วนของการรับรู้
4. ธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การหมั่นคิดใคร่ครวญโดยเน้นทุกเรื่องทั้งรูปธรรมและนามธรรม

2.) สัมมัปปธาน ๔ คือ ความเพียรพยายาม
1. สังวรปธาน คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น
2. ปหานปธาน คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
3. ภาวนาปธาน คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น
4. อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น

3.) อิทธิบาท ๔คือ ทางแห่งความสำเร็จในกิจอันเป็นกุศล
1. ฉันทะ คือ ความพอใจและเต็มใจ
2. วิริยะ คือ ความเพียรพยายาม
3. จิตตะ คือ ความเอาใจใส่ จิตใจจดจ่อ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน
4. วิมังสา คือ ปัญญาที่พิจารณาใคร่ครวญ หาเหตุผล เพื่อแก้ปัญหา หรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

4.) อินทรีย์ ๕คือ ธรรมที่ทำหน้าที่เป็นใหญ่ในอารมณ์
1. สันธินทรีย์ คือ ความศรัทธาเป็นใหญ่
2. วิริยินทรีย์ คือ ความเพียรเป็นใหญ่
3. สตินทรีย์ คือ สติที่ระลึกรู้ในอารมณ์ปัจจุบันเป็นใหญ่
4. สมาธินทรีย์ คือ การทำจิตให้เป็นสมาธิตั้งมั่นจดจ่ออยู่ในอารมณ์กรรมฐาน
5. ปัญญินทรีย์ คือ ปัญญาทำหน้าที่เป็นใหญ่ด้วยการรู้แจ้ง

5.) พละ 5 คือ ธรรมอันเป็นกำลังที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค
1. สัทธาพละ คือ ความเชื่อ เลื่อมใส ศรัทธาที่เป็นกำลังให้อดทน และเอาชนะธรรมอันเป็นข้าศึก เช่น ตันหา
2. วิริยะพละ คือ ความเพียรพยายาม เป็นกำลังให้ต่อสู้กับความขี้เกียจ
3. สติพละ คือ ความระลึกได้ในอารมณ์สติปัฏฐาน อันจะเป็นกำลังให้ต้านทานความประมาทพลั้งเผลอ
4. สมาธิพละ คือ ความตั้งมั่นจดจ่ออยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ทำให้เกิดกำลังต่อสู้เอาชนะความฟุ้งซ่าน
5. ปัญญาพละ คือ เป็นกำลังปัญญาที่เข้มแข็ง ซึ่งทำให้เอาชนะโมหะ คือความโง่ ความหลง

6.) โพชฌงค์ ๗คือ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้
1. สติสัมโพชฌงค์ คือ ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง
2. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม
3. วิริยสัมโพชฌงค์ คือ ความเพียร
4. ปีติสัมโพชฌงค์ คือ ความอิ่มใจ
5. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือ ความสงบกายใจ
6. สมาธิสัมโพชฌงค์ คือ ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์
7. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง

7.)และอริยะมรรค๘
1.สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
(รู้ว่าทาน ยัญ การบูชามีผลจริง  วิบากของกรรมดี กรรมชั่วมีผลจริง  โลกนี้ โลกหน้า มีจริง  พ่อ แม่มีพระคุณ สัตว์ผุดเกิดโตเต็มวัย(โอปปาติกะ)เช่นเทวดาและสัตว์นรกมีจริง อรหันต์ผู้รู้แจ้งในโลกนี้โลกหน้ามีจริง)
2.สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
(การออกจากกาม การไม่พยาบาท การไม่เบียดเบียน)
3.สัมมาวาจา การเจรจาชอบ
(การไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ)
4.สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
(ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม)
5.สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ
(ไม่ประกอบอาชีพ ขายยาพิษ อาวุธ ค้าสัตว์ ไม่ทำมิจฉาชีพ)
6.สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ(การเพียรละ เลิกอกุศลธรรม การเพียรเจริญ และรักษากุศลธรรม)
7.สัมมาสติ ความระลึกชอบ
(หมั่นพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม)
8.สัมมาสมาธิ การตั้งมั่นชอบ
(เจริญสมถะ และวิปัสสนา)


เมื่อพระองค์บำเพ็ญอริยะมรรคองค์๘ได้สมบูรณ์ดีแล้ว
มีอินทรีย์๕ คู่กับพละ ๕
คือ ความสามารถทางจิต  ที่ตั้งมั่น และเต็มเปี่ยมได้แก่

สัทธินทรีย์ คือ ความศรัทธาอันยิ่ง และพลังศรัทธาเต็มเปี่ยม
วิริยินทรีย์ คือ ความเพียรอันยิ่งและพลังความเพียรเต็มเปี่ยมในสัมมัปปธาน ๔
สตินทรีย์ คือ ความระลึกอันยิ่ง และพลังสติเต็มเปี่ยม ในสติปัฏฐาน ๔
สมาธินทรีย์ คือ ความตั้งมั่นอันยิ่ง และพลังสมาธิเต็มเปี่ยม ในฌานทั้ง ๔
ปัญญินทรีย์ คือ ปัญญาอันยิ่งและพลังปัญญาเต็มเปี่ยม
ที่มีวิปัสสนาญาณเป็นพื้นฐาน
และนำมาใช้ในโพชฌงค์๗

1.สัมมาสติ(ที่ตั้งมั่น มีพลัง)
2.ธัมมวิจยะ(เรื่องเหตุแห่งทุกข์)
3.วิริยะ
4.ปีติ
5.ปัสสัทธิ
6.สมาธิ
7.อุเบกขา พิจารณาธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง และมีพลัง

และใช้อิทธิบาท๔ พิจารณาใคร่ครวญธรรม โดยใช้ปัญญินทรีย์
ทำให้จิตมีพลังสามารถบรรลุญาณดังนี้
ปฐมยาม ทรงบรรลุ บุพเพนิวาสานุสสติญาณคือพระญาณที่ทำให้ระลึกอดีตชาติของพระองค์ได้
ทำให้ทรงทราบวาระจิต ขณะจุติจิต เมื่อยังมีสังขารปรุงแต่ง จะปฏิสนธิจิต ในภพชาติใหม่ของพระองค์ตามสังขารที่ปรุงแต่งนั้น

มัฌชิมยาม ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ คือพระญาณที่ทำใหรู้จุติ(ตาย เคลื่อนที่) และอุบัติ(เกิด)ของสัตว์ทั้งหลาย
ทำให้ทรงทราบวาระจิต ของสัตว์ทั้งหลายขณะจุติจิต เมื่อยังมีสังขารปรุงแต่ง จะปฏิสนธิจิต ในภพชาติใหม่
ตามสังขารที่ปรุงแต่งนั้น

นำมาพิจารณาปฏิจจสมุปบาท
หลักธรรมที่อธิบายถึง
การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น
ว่าเพราะสังขารเป็นปัจจัยที่ปรุงแต่งให้เกิดภพชาติใหม่ ของพระองค์และสัตว์ทั้งหลาย
มีปัจจัยจากอวิชชา การยึดมั่นในอัตตา ตัวตน
ทำให้เกิดสังขาร
และเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นขององค์ธรรมสืบ ๆ เนื่องกันมาตามลำดับดังนี้ คือ

เพราะ อวิชชา เป็นปัจจัย    สังขาร จึงมี
เพราะ สังขาร เป็นปัจจัย    วิญญาณ จึงมี
เพราะ วิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูป จึงมี
เพราะ นามรูป เป็นปัจจัย     สฬายตนะ จึงมี
เพราะ สฬายตนะ เป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี
เพราะ ผัสสะ เป็นปัจจัย       เวทนา จึงมี
เพราะ เวทนา เป็นปัจจัย      ตัณหา จึงมี
เพราะ ตัณหา เป็นปัจจัย      อุปาทานจึงมี
เพราะ อุปาทาน เป็นปัจจัย  ภพ จึงมี
เพราะ ภพ เป็นปัจจัย           ชาติ จึงมี
เพราะ ชาติ เป็นปัจจัย         ชรามรณะ
โสกะ(ความโศก ความแห้งใจ) ปริเทวะ,( ความคร่ำครวญ พิไร รำพัน)ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส(ความคับแค้นใจ) ก็มีพร้อม
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมี

ปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงไปแล้วข้างต้น เรียกว่า อนุโลมเทศนา
และเมื่อพิจารณาย้อนกลับ
จากปลายมาหาต้น
จากผลไปหาเหตุปัจจัย
เช่น ชรามรณะเป็นต้น มีเพราะชาติเป็นปัจจัย
ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย
ภพมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
อุปาทานมีเพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย
ตัณหามีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย
เวทนามีเพราะผัสสะเป็นปัจจัย
ผัสสะมีเพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย
สฬายตนะมีเพราะนารูปเป็นปัจจัย
นามรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
วิญญาณมีเพราะสังขารเป็นปัจจัย
และ สังขารมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ดังนี้ เรียกว่า ปฏิโลมเทศนา
การกำจัดอวิชชา จึงไม่ทำให้เกิดชาติภพใหม่อีกต่อไป

ในปัจฉิมยาม จึงทรงบรรลุ อาสวักขยญาณ คือพระญาณ ที่ทำให้พระองค์ทรงสามารถทำลายกิเลสาสวะ กำจัดอวิชชาให้สิ้นไป
(โดยใช้วิปัสสนาปัญญา
ขจัดการยึดมั่นในอัตตา ตัวตน คงมีเพียงรูปและนาม ที่เกิดตามสังขารเป็นปัจจัยปรุงแต่งเท่านั้น เป็นอนัตตาตามไตรลักษณ์
1.สรรพสังขารา อนิจจัง
2.สรรพสังขาราทุกขัง
3.สรรพธรรมา อนัตตา)

เมื่อพระองค์ตรัสรู้ กำจัด อวิชชาต้นเหตุแห่งการเกิดได้
ก็บรรลุนิพพาน(สอุปาทิเสสนิพพาน)

คือตรัสรู้อริยะสัจ๔
ความจริงอันประเสริฐ๔ประการ
๑.ทุกข์ คือความทนได้ยาก
ได้แก่ ชาติ(การเกิด) ชรา มรณะ  โสกะ(ความแห้งใจ) ปริเทวะ(ความพร่ำ พิไรรำพัน) อุปยาสะ(ความทนได้ยาก)
การประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก
การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก
ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น
รวมว่าอุปาทาน ขันธ์๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)เป็นทุกข์
๒.สมุทัย เหตุแห่งทุกข์
-กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม
-ภวตัณหา ความทะยานอยากมีอยากเป็น
-วิภวตัณหา ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น
๓.นิโรธ  ทางดับทุกข์ คือนิพพาน
๔.มรรค หรือ มรรคานิโรธคามินีปฏิปทา หนทางปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ มีองค์๘
ตามที่กล่าวมา

นพ.สุทธิศักดิ์ วุฒิพันธ์เรืองชัย
๒๖พค.๒๕๖๔
(แก้ไขครั้งที่๑)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่