ทำไมไทยถึงพัฒนาช้ากว่าญี่ปุ่น แม้จะเปิดประเทศพร้อมกัน

"ทำไมไทยจึงพัฒนาช้ากว่าญี่ปุ่น แม้จะเปิดประเทศพร้อมกัน" คำถามนี้เป็นหนึ่งในคำถามคลาสสิคที่คนไทยเราพยายามหาคำตอบมานาน ซึ่งคำตอบก็หลากหลายมาก ระเบียบวินัยบ้าง การศึกษาบ้าง ฯลฯ โดย จขกท. มองว่า ยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าศึกษา ในกระทู้นี้ จขกท. อยากชวนท่านลองมาสนทนากันครับ

ในมุมมองของผู้เขียนนั้น มองว่ามีปัจจัยมาอย่างน้อย 3 ประการ
1.ความแตกต่างโลกเหนือโลกใต้ - มีทฤษฎีหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า ประเทศในซีกโลกเหนือมักมีอัตราการพัฒนาที่สูงกว่าในซีกโลกใต้ เนื่องจากในซีกโลกเหนือนั้น อากาศหนาวค่อนข้างทารุณกว่า อาหารเก็บยาก และมีจำกัดกว่า ทำให้ประเทศในซีกโลกเหนือ ผู้คนมักต้องมีความคิดค้น นวัตกรรมต่างๆมากกว่า เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ ลักษณะนี้ได้คงอยู่มาหลายรุ่นจนเป็นลักษณะประจำชาติ แม้ว่าในรุ่นต่อๆมาจะย้ายถิ่นฐานไปที่อื่น ลักษณะนี้ก็ยังคงอยู่ ในส่วนของซีกโลกใต้นั้น อากาศค่อนข้างอบอุ่น สบายกว่า อาหารอุดมสมบูรณ์กว่า ทำให้ไม่จำเป็นต้องคิดค้น มีนวัตกรรมมากนัก เพราะทุกอย่างมีเหลือเฟืออยู่แล้ว จึงไม่ขวนขวายอะไรมากนัก

เทียบกับกรณีไทย ญี่ปุ่น เห็นได้ชัดว่าทั้งสองประเทศนี้อยู่ในซีกโลกเหนือและใต้ มีลักษณะของทั้งสองเขตชัดเจน ในส่วนของไทยนั้น แม้ลักษณะของซีกโลกใต้จะทำให้ดูเหมือนเฉื่อยชา ทว่าตามความเห็นของ จขกท. ทุกที่มีคนขยัน ขี้เกียจเหมือนกันหมด ไม่อย่างนั้นคงไม่มีสองคำนี้ในพจนานุกรม เพียงแต่ว่าของไทยนั้น ขยันหมายถึงทำให้พอมีกิน เก็บไปได้ในช่วงหนึ่งๆเท่านั้น แล้วก็ไปแสวงหาความสุข ไม่ได้จะทำให้เป็นมรดกสะสมไปในภายภาคหน้า เพราะอาหารและแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว ทว่าด้วยสังคมปัจจุบันที่ซับซ้อนมากขึ้น ลักษณะนิสัยนี้อาจเปลี่ยนไปได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา

2.การเกิดของรัฐชาติ - ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะ ทำให้มีเชื้อชาติค่อนข้างเป็นเชื้อชาติเดียว คือชาวญี่ปุ่นหรือชาวยามาโตะ อาจมีชนพื้นเมืองไอนุหรือริวกิว รวมทั้งชาวเกาหลีหรือจีนบ้างแต่ก็น้อยมาก ทำให้เมื่อตอนที่ญี่ปุ่นสร้างรัฐชาติสมัยใหญ่ จึงทำเพียงการปราบปรามกลุ่มซามูไรที่ไม่เห็นด้วยในท้องถิ่นต่างๆ รัฐชาติของญี่ปุ่นจึงเกิดขึ้นเร็วกว่า และทำให้ญี่ปุ่นเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาด้านต่างๆมากกว่า ในกรณีของสยาม สยามเป็นอาณาจักรที่มีเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลายมาก ในช่วงจักรวรรดินิยม สยามต้องสร้างรัฐชาติเพื่อรับมือกับจักรวรรดินิยม การสร้างรัฐชาตินั้นจำเป็นต้องลดทอนอำนาจของกลุ่มต่างๆ เริ่มจากกลุ่มเจ้านายและขุนนางในเมืองหลวง ต่อมาเป็นเจ้าประเทศราชในภาคต่างๆ ทำให้เกิดการต่อต้านจากรอบทิศ ทั้งวิกฤตการณ์วังหน้าในส่วนกลาง กบฏพญาผาบและกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ในภาคเหนือ กบฏผีบุญหรือกบฏผู้มีบุญในภาคอีสาน และกบฏพระยาแขกเจ็ดหัวเมืองในภาคใต้ จะเห็นได้ว่า รัฐชาติของสยามนั้นสร้างยากและนานกว่าของญี่ปุ่น ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ห้านั้นเป็นในเชิงกายภาพเป็นหลัก ในสมัยรัชกาลที่หกสืบต่อมาถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงเป็นการสร้างในเชิงจิตสำนึก ให้พลเมืองมีความคิดร่วมกันว่าเป็นชาวสยาม/ไทยเหมือนกัน ต่างจากของญี่ปุ่นที่ความเป็นเชื้อชาติเดียวทำให้ในส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องสร้างมากนัก จากการที่รัฐชาติสยามเกิดช้ากว่าญี่ปุ่น ทำให้กว่าจะดำเนินนโยบายพัฒนาด้านอื่นๆได้ ก็ใช้เวลานาน
(ไทยในสมัยจอมพล ป. เคยคิดจะพัฒนา "กอุพากรรม" คือกสิกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมของไทย โดยใช้ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ ทว่าด้วยสงครามทำให้ทำได้ไม่เต็มที่ กว่าไทยจะเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมได้ก็มายุค 60 แล้ว ในยุคนี้เป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ยุค 80 จึงพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก)

3.การศึกษา - ชาติกลุ่มประเทศที่อิงวัฒนธรรมจีนหรือ Sinosphere เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนามนั้นมีค่านิยมให้คุณค่ากับการศึกษามายาวนาน อย่างที่เรามักเห็นในหนังจีนว่า พ่อแม่มักจะให้ลูกเรียนหนังสือเพื่อที่จะได้สอบเป็นจอหงวนได้ ในส่วนของญี่ปุ่นนั้น แม้ในช่วงที่ปิดประเทศ ก็ได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนอ่านออกเขียนได้ เมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศ และต้องการส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อศึกษาวิทยาการ ทำให้ส่งคนไปศึกษาได้จำนวนมากกว่า ในกรณีของสยามนั้น การศึกษาในสมัยโบราณจะเป็นตามครอบครัว คือเรียนวิชาชีพตามครอบครัว เช่น เป็นชาวไร่ชาวนา เป็นช่าง เป็นศิลปิน ซึ่งถ้าจะต้องการเปลี่ยนสายอาชีพ ก็ต้องไปฝากตัวเป็นศิษย์กับสำนักต่างๆ ซึ่งก็ต้องปรนนิบัติดูแลอาจารย์อยู่นานกว่าที่จะได้เรียนรู้ (เป็นที่มาของการเรียกว่าพ่อครูแม่ครู และสาเหตุที่ทำไมอาชีพครูในไทยถึงถูกมองว่าศักดิ์สิทธิ์) การศึกษาเพื่อให้รู้หนังสือนั้นจำกัดอยู่ในวัดและวัง และเน้นที่ผู้ชายเป็นหลัก แม้กลุ่มนี้เอง การศึกษาก็เน้นไปที่ให้อ่านออกเท่านั้น ไม่กวดขันเรื่องเขียนได้ ตามพระนิพนธ์หนึ่ง ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่าที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะว่าสามารถบอกให้เสมียนอาลักษณ์จดได้ จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ห้า ระบบราชการสมัยใหม่เข้ามา ทำให้การรู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้กลายเป็นวิชาบังคับ เริ่มจากกลุ่มเจ้านายและขุนนางก่อนจะขยายไปสามัญชน ซึ่งก็ต้องใช้เวลานาน ถ้าหลายๆท่านมีโอกาสได้อ่านประวัติของพระครูหรือเจ้าอาวาสในอดีตที่ทำงานด้านการศึกษานั้นจะพบว่า ท่านเหล่านั้นต้องไปตามบ้านเพื่อบอกให้พ่อแม่ส่งลูกหลานมาเรียนที่โรงเรียนของวัด การที่ค่านิยมด้านการศึกษาของสยาม/ไทยไม่ยาวนานเหมือนญี่ปุ่น ทำให้เมื่อครั้งที่เปิดประเทศ การส่งคนไปเรียนวิทยาการจากยุโรปจึงทำได้น้อยและใช้เวลานานกว่าญี่ปุ่น

ประมาณนี้ครับ ตามมุมมองของ จขกท. หากท่านใดมีความเห็นประการใดก็มาถกเถียงกันได้ โดยส่วนตัว จขกท.ยังมองอีกว่า การจะพัฒนาประเทศ อยากเห็นประเทศของตัวเองพัฒนาเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ควรใช้คำพูดอย่างกลางๆไม่เยินยอเกินไปจนไม่พัฒนา หรือไม่กดคุณค่าให้ประเทศของเราดูต่ำไปกว่าความเป็นจริง แบบนี้น่าจะดีกว่า

ใครมีความเห็นอย่างไรลองมาแลกเปลี่ยนกันครับ ถ้ามีส่วนใดที่เข้าใจผิด ไม่เหมาะสมหรือผิดพลาดไปก็ขออภัยด้วยครับ

หมายเหตุ: งานเขียนนี้ ไม่ต้องการให้เป็นงานเขียนเชิงวิชาการ ผู้เขียนอิงมาจากที่อ่านมาจากหลายๆที่ หลายๆแหล่ง ซึ่งอาจไปตรงกับเนื้อหาของหลายๆแหล่งที่ผู้เขียนจำแหล่งอ้างอิงไม่ได้ ผู้เขียนจึงขออภัยในส่วนนี้ด้วยครับ และเนื่องจากไม่เป็นงานเขียนเชิงวิชาการ จึงไม่แนะนำให้ยึดถือเป็นแหล่งอ้างอิง แต่จะยินดีเป็นอย่างยิ่ง หากการสนทนาในกระทู้นี้ ก่อให้เกิดการค้นหาเรียนรู้จนเกิดเป็นองค์ความรู้หรือแนวทางใหม่ๆในอนาคตได้ต่อไป
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่