แนะนำ 5 เครื่องมือยอดนิยมสำหรับ การวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด [นักการตลาดไม่ควรพลาด]

หากตอนนี้คุณกำลังจะเริ่มทำธุรกิจ หรือ ทำธุรกิจมาบ้างแล้วแต่ยังไม่มีแผนการตลาดที่ชัดเจน สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ การทำธุรกิจเหมือนการทำสงคราม "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง" ดังนั้นสิ่งที่คุณควรให้เวลาสำหรับการเริ่มต้นที่ดีคือ "การวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด"

การวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด มีหลายเครื่องมือและมีหลายขั้นตอน ในบทความนี้ผมได้จัดกลุ่มเครื่องมือการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประโยชน์มาแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักและสามารถไปศึกษาต่อได้ครับ

1.ขั้นตอนการกำหนดพันธกิจและวัตถุประสงค์ของบริษัท

1.1 Business Model Canvas
Business Model Canvas คือเครื่องมือสำหรับการเขียนแผนธุรกิจและวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดให้อยู่บนผืนผ้าใบแผ่นเดียวหรือกระดาษแผ่นเดียว ในตอนที่คุณเติมเต็ม BMC คุณจะสามารถสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ต้องพิจารณาทั้งหมดประกอบด้วย

1.Customer Segments (ลูกค้า) :  ใครคือลูกค้าของคุณ , พวกเขาคิดอย่างไร , พวกเขาเห็น ทำ และรู้สึกอย่างไร

2.Value Propositions (คุณค่าที่บริษัทอยากส่งมอบ) : อะไรคือสิ่งที่เป็นคุณค่าที่อยากส่งมอบให้ลูกค้า , ทำไมลูกค้าถึงซื้อสินค้าและบริการของคุณ

3.Channels (ช่องทางขาย) : สินค้าและบริการจะส่งมอบถึงลูกค้าอย่างไร

4.Customer Relationships (ความสัมพันธ์กับลูกค้า) : การโต้ตอบระหว่างคุณกับลูกค้าเป็นอย่างไร อะไรคือ “Customer Journey”

5.Revenue Streams (รายได้ของธุรกิจ) : ธุรกิจของคุณจะมีรายได้จากการเสนอคุณค่าผ่านสินค้าและบริการอย่างไร

6.Key Activities (กิจกรรมหลัก) :  อะไรคือกิจกรรมหลักที่ธุรกิจดำเนินการเพื่อให้โมเดลธุรกิจดำเนินต่อไป

7.Key Resources (ทรัพยากรหลัก) : อะไรคือทรัพยากรที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้

8.Key Partnerships (พันธมิตรหลัก) : อะไรคือสิ่งที่บริษัทไม่สามารถทำได้ และต้องพึ่งพาบริษัทอื่นเพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้ตามแผนธุรกิจ

9.Cost Structure (โครงสร้างต้นทุน) : อะไรคือต้นทุนที่ขับเคลื่อนธุรกิจ เช่น ต้นทุนขาย หรือ ต้นทุนการผลิต และจะเชื่อมโยงกับรายได้ได้อย่างไร ?
หน้าตาของ Business Model Canvas จะเป็นไปตามรูปด้านล่างนี้ครับ ประกอบด้วย 9 ช่องที่คุณต้องเติมให้สมบูรณ์

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ : Business Model Canvas คือ แนะนำการเขียนแผนธุรกิจด้วย BMC อย่างละเอียด
 

2.การวิเคราะห์ตำแหน่งปัจจุบันและสภาพการแข่งขัน
2.1 STP Marketing
Segmentation Targeting Positioning คือ หนึ่งในกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด ประกอบด้วย การแบ่งส่วนการตลาด การกำหนดเป้าหมาย และการวางตำแหน่งของสินค้าบริการ หรือเรียกสั้นๆว่า STP Marketing

เป้าหมายของ STP Marketing คือการวางแผนเพื่อที่คุณจะสามารถดึงดูดให้ลูกค้าที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของคุณ มาซื้อสินค้าและบริการของคุณโดยใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Segmentation คือ การแบ่งกลุ่มลูกค้าตามลักษณะที่โดดเด่นของกลุ่มตามที่คุณกำลังพิจารณา ได้แก่ การแบ่งกลุ่มตามฐานข้อมูลประชากร , การแบ่งกลุ่มตามหลักจิตวิทยา , การแบ่งกลุ่มตามหลักภูมิศาสตร์ และ การแบ่งกลุ่มตามพฤติกรรม ในส่วนนี้จะเป็นการระบุว่า "ลูกค้าคือใคร"
 
Targeting คือ การกำหนดลูกค้าเป้าหมายทางการตลาดในขั้นตอนนี้จะเป็นการประเมินความสนใจของลูกค้าและเลือกรูปแบบว่าคุณจะทำการตลาดกับลูกค้ากลุ่มใด เพื่อให้เห็นภาพเปรียบกลุ่มลูกค้าเสมือนพิซซ่า 1 แผ่น ในตลาดแบบกว้าง (Mass) : จะมองลูกค้าคือพิซซ่าทั้งแผ่นไม่มีการแบ่งประเภทของลูกค้า สินค้าและรูปแบบการตลาดจะเหมือนกัน , การตลาดแบบแบ่งส่วน (Segment) : จะแบ่งลูกค้าออกเป็นหลายกลุ่ม เหมือนแบ่งชิ้นพิซซ่า สินค้าและการตลาดจะทำเพื่อตอบสนองกลุ่มนั้นๆ และสุดท้าย การตลาดเฉพาะส่วน (Niche) : จะค้นหาความต้องการที่เฉพาะเจาะจง แล้วผลิตสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองพวกเขาเพียงอย่างเดียว
 
Positioning คือ การวางตำแหน่งของสินค้าหรือบริการของคุณต่อความรับรู้ของผู้บริโภค ในส่วนนี้จะเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของคุณและสัมพันธ์กับคู่แข่ง ตัวอย่างของการวางตำแหน่งเช่น Luxury Brand , High-End หรือ สินค้าราคาถูก

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ : Segmentation Targeting Positioning คือ ทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับ STP Marketing

 
2.2 SWOT Analysis

SWOT คือ หนึ่งในเครื่องมือสำหรับ การวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ที่มาจากภาษาอังกฤษ 4 คำ ประกอบด้วยปัจจัยภายในที่คุณสามารถควบคุมได้ได้แก่ S : Strengths , W : Weaknesses และปัจจัยภายนอกที่คุณไม่สามารถควบคุมได้ได้แก่ O : Opportunities และ T : Threats

S: Strengths คือ จุดแข็งหรือข้อได้เปรียบทางธุรกิจของคุณ ในส่วนนี้อาจจะเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่า ต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ช่องทางการจัดจำหน่ายที่มากกว่า หรือ คุณมีชื่อเสียงที่มากกว่าเป็นต้น
 
W : Weaknesses คือ จุดอ่อนหรือขอเสียเปรียบของธุรกิจ สำหรับปัจจัยนี้คุณควรวิเคราะห์ธุรกิจให้ตรงกับความเป็นจริงอย่าเข้าข้างตัวเองมากเกินไป การวิเคราะห์จุดอ่อนจะส่งผลให้ธุรกิจของคุณรับรู้ว่าอะไรที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นในอนาคต
 
O : Opportunities คือ โอกาสหรือปัจจัยภายนอกที่ส่งเสริมให้ธุรกิจของคุณได้เปรียบทางการแข่งขันและเติบโตยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การคว่ำบาตรสินค้าบางชนิดที่ส่งผลดีต่อธุรกิจของคุณ กฎระเบียบหรือข้อกฎหมายที่เอื้อต่อธุรกิจ หรือ คลิปไวรัลที่พูดถึงสินค้าและบริการของคุณก็ถือเป็นโอกาสเช่นกัน
 
T : Threats คือ ปัจจัยภายนอก (อุปสรรค/ภัยคุกคาม) ที่คุณไม่สามารถควบคุมได้และส่งผลเสียต่อธุรกิจของคุณ ตัวอย่างเช่น ปัญหาซัพพลายเชน การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป คู่แข่งรายใหม่ที่เข้ามา ในปัจจัยนี้คุณจะต้องคิดและวางแผนล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นและป้องกันไว้ล่วงหน้า
 
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ : SWOT คือ แนะนำหลักการใช้ SWOT Analysis ในการวิเคราะห์ธุรกิจ

2.3 PEASTEL Analysis
PESTEL Analysis คือ กรอบการคิดเชิงกลยุทธ์สำหรับ การวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด ที่ใช้เพื่อการประเมินสภาพแวดล้อมภายนอกของธุรกิจ เพื่อที่คุณสามารถดำเนินธุรกิจโดยเข้าใจสภาพแวดล้อมด้านต่างๆอย่างถ่องแท้ช่วยให้คุณวางแผนกลยุทธ์เพื่อสอดคล้องกับปัจจัยที่เอื้อต่อการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น โดยโอกาสและความเสี่ยงออกเป็นปัจจัยต่างๆ 6 ปัจจัยด้วยกันประกอบด้วย

P : Political : ปัจจัยด้านการเมืองเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ธุรกิจคุณควรพิจารณาโดยเฉพาะการทำธุรกิจข้ามชาติ คุณต้องทราบว่ารัฐบาลแต่ละประเทศมีการแทรกแซงเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมใดบ้าง รวมถึงปัญหาการคอรัปชั่น นโยบายของรัฐบาลที่เอื้อต่อธุรกิจบางประเภท นอกจากนี้นโยบายของรัฐบาลยังส่งผลต่อทรัพยากรบุคคลอีกด้วย
 
E : Economic : ปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่อาจจะส่งผลโดยตรงต่อบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตามแต่ประเทศที่คุณเข้าไปทำธุรกิจ สำหรับปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ต้องพิจารณาประกอบด้วย เศรษฐกิจระดับมหภาคได้แก่ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง และอีกปัจจัยคือ เศรษฐกิจระดับจุลภาคได้แก่ กำลังซื้อของผู้บริโภค จำนวนเงินฝาก อัตราหนี้สิน เป็นต้น ในส่วนนี้จะกระทบต่อธุรกิจที่ขายสินค้าโดยตรงแก่ผู้บริโภคหรือ B2C
 
S : Social : ปัจจัยด้านสังคมจะเกี่ยวข้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรม เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและทัศนคติของประชากร ตัวอย่างเช่น การเติบโตของประชากร การกระจายตัว ค่าเฉลี่ยอายุ ความใส่ใจด้านสุขภาพ ระดับการเกิดอาชญากรรมเป็นต้น
 
T : Technological : ปัจจัยด้านเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ Start Up ที่เข้ามา Disruption อุตสาหกรรมต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการมาของ Blockchain ที่เข้ามา Disruption อุตสาหกรรมการเงิน , เทคโนโลยี IoT ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน , IIoT ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ และ AI ที่กำลังพัฒนาการต่อเนื่องที่อาจจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในสักวันหนึ่ง
 
L : Legal : ปัจจัยด้านกฎหมายเป็นสิ่งที่ระบุไว้ในมาตราของกฎหมายแต่ละหมวดหมู่ซึ่งเป็นสิ่งที่จะระบุว่าธุรกิจของคุณสามารถทำอะไรได้และอะไรที่ไม่สามารถทำได้ การพิจารณาปัจจัยทางด้านกฎหมายอาจจะต้องนำมาพิจารณากับปัจจัยด้านการเมืองประกอบด้วยเพราะนักการเมืองสามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ผ่านสภา กฎหมายบางฉบับจะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ตัวอย่างเช่น กฎหมายเก็บภาษีความหวานที่เคยส่งผลต่อธุรกิจเครื่องดื่ม เช่น น้ำผลไม้และชาเขียว หรือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กำลังบังคับใช้ในปัจจุบันเป็นต้น
 
E : Environmental :  ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจบางประเภท ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การทำฟาร์มเกษตร การประมง เป็นต้น สำหรับคนที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องการนำปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมมาพิจารณาจะช่วยให้คุณวางแผนรับมือและป้องกันด้านความเสี่ยงได้ ตัวอย่างเช่น ปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ การชดเชยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นต้น
 
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ : PESTEL Analysis คือ แนะนำหลักการวิเคราะห์ การใช้งาน และประวัติของ PESTLE

ข้อมูลจาก : https://www.goodmaterial.co/
ติดตามเราได้ที่ : https://www.facebook.com/goodmaterial.co
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่