JJNY : 4in1 โพลชี้ 77% หนุนแก้รธน.│กสิกรไทยลดจีดีพีเหลือ1.8%│อังกฤษสุดดีใจพ้นล็อกดาวน์│สหรัฐแนะปชช.“งดเดินทาง”กว่า160

โพลพระปกเกล้า ชี้คนไทย 77% หนุนแก้รธน.
https://www.dailynews.co.th/politics/838291
 
โพล สถาบันพระปกเกล้า ชี้คนไทย 77% อยากแก้รัฐธรรมนูญ ส่วน 93% พร้อมประชามติ
 
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ร่วมกันสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 22,830 ตัวอย่าง กระจายตามเพศ อายุ อาชีพ และระดับการศึกษา ระหว่างวันที่ 1-19 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจพบว่า ประชาชนในสัดส่วนร้อยละ 77.5 มีความต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ขณะที่ร้อยละ 22.5 บอกว่าไม่ต้องการแก้ไข โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันดีอยู่แล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เสียเวลา และไม่มีประโยชน์ ขณะที่บางส่วนให้เหตุผลว่าไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง และไม่รู้จัก
 
เมื่อสำรวจลึกลงไปถึงกลุ่มประชาชนที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พบว่า คณะบุคคลที่มีความเหมาะสมให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ควรเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ร้อยละ 39.1 / รัฐสภา ร้อยละ 30.8 / คัดเลือกบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสังคมมาร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 13.6 / ขณะที่ประชาชนร้อยละ 12.7 และ 2.6 เสนอให้เป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตามลำดับ
 
การสำรวจยังสอบถามความเห็นของพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับการไปลงประชามติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 93.2 บอกว่าจะไปออกเสียงประชามติแน่นอน ขณะที่ร้อยละ 6.8 ตอบว่าไม่ไป โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเวลา ไม่สนใจ และเบื่อการเมือง
 
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติในครั้งนี้ ยังได้สอบถามถึงการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่น "หมอพร้อม" ที่รัฐบาลกำลังประชาสัมพันธ์เพื่อใช้ในการจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาก่อนเริ่มใช้จริง ผลปรากฏว่ามีประชาชนร้อยละ 19.7 เท่านั้นที่บอกว่ารู้จักและใช้แอพพลิเคชั่น "หมอพร้อม" ร้อยละ 4.3 บอกว่ารู้จัก แต่ไม่ใช้ ขณะที่ประชาชนร้อยละ 76 บอกว่าไม่รู้จักแอพพลิเคชั่นนี้.
 

 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 1.8%
https://www.matichon.co.th/economy/news_2680987
 
จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มเติบโตลดลงที่ 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.6%
 
โดยมีรายละเอียด ดังนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มีความรุนแรงกว่าในระลอกก่อนหน้านี้ ในขณะที่แม้ว่าจะไม่ได้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด แต่ความกังวลต่อสถานการณ์จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน รวมถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงมีผลต่อการบริโภคครัวเรือนให้มีทิศทางต่ำกว่าที่ประเมิน
 
อย่างไรก็ตาม ประมาณการเศรษฐกิจใหม่ได้รวมปัจจัยบวกจากแนวโน้มการส่งออกที่จะเติบโตดีกว่าที่เคยประเมินไว้จากอานิสงส์ของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด นอกจากนี้ยังได้รวมถึงปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไปแล้ว โดยมีโครงการที่ยังดำเนินอยู่ เช่น โครงการเราชนะ และโครงการเรารักกันซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. 2564 ขณะที่มีมุมมองว่า ภาครัฐจะมีมาตรการต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศภายใต้วงเงินกู้ 1 ล้านล้าน ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ราว 2.4 แสนล้านบาท ประกอบกับยังมีเงินจากงบกลาง ภายใต้ พรบ.งบประมาณปี 2564 ที่สามารถนำมาใช้ได้อีกราว 1.3 แสนล้านบาท
 
ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีความกังวลถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2 ล้านคน ในกรณีฐานดังกล่าว มองว่ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่องโดยใช้วงเงินงบประมาณที่เหลืออยู่จนหมดโดยไม่มีการกู้เงินเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาด และยังมีความจำเป็นต้องมีมาตรการภาครัฐเพื่อดูแลผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิดเพิ่มเติม โดยหากรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นสมควรมีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อใช้ดูแลเศรษฐกิจ ก็อาจจะส่งผลให้ตัวเลข GDP ในปีนี้มีแนวโน้มสูงกว่า 1.8%
 
ตัวแปรสำคัญคือการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งหากการฉีดวัคซีนมีความล่าช้า ก็มีความเป็นไปได้ที่การแพร่ระบาดจะยืดเยื้อหรืออาจเกิดการแพร่ระบาดอีกระลอก โดยหากการแพร่ระบาดยังไม่สามารถควบคุมได้หรือเกิดการแพร่ระบาดอีกรอบในช่วงไตรมาส 3/2564 จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ความหวังของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้ทยอยกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอาจต้องล่าช้าออกไปอีกปีหนึ่ง ซึ่งจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปยังการจ้างงานและการบริโภค
 
ทั้งนี้ ในกรณีที่การแพร่ระบาดยืดเยื้อหรือมีการระบาดที่รุนแรงอีกรอบไตรมาส 3/2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะไม่เติบโตจากปีก่อนหน้า ภายใต้สมมติฐานที่ว่าภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วงเงินที่เหลือตาม พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และ พรบ.งบประมาณประจำปี 2564-2565
 
การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดรวมถึงการเร่งปูพรมกระจายวัคซีนเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องจากระบบสาธารณสุขไทยมีขีดจำกัดในการรองรับผู้ติดเชื้อ หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูงมากกว่าพันคนอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนๆ อาจเกิดภาวะระบบสาธารณสุขล่ม และส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับต้นทุนแฝง (Hidden cost) ที่อาจประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มเห็นหลายโรงพยาบาลเผชิญกับปัญหาเตียงผู้ป่วยเต็ม และขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเครื่องช่วยหายใจ
 
ขณะที่ต้นทุนต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนจะเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยธรรมดาก็ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้เป็นปกติเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อประสิทธิภาพของแรงงานให้ลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะมีมากกว่าการบริโภคที่ลดลงและรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่