JJNY : 5in1 คาดGDPไต้หวันQ1พุ่งกว่า8%│นิวยอร์กเปิดเมือง│ธปท.จ่อหั่นGDP│ทำเนียบฯติดเชื้อเพิ่ม2│คลัสเตอร์วงสมศักดิ์52ราย

คาดการณ์จีดีพีไต้หวัน Q1/2564 พุ่งกว่า 8%
https://voicetv.co.th/read/1WbFOK6yf

 
สำนักงานสถิติแห่งไต้หวันประกาศประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประจำไตรมาสแรกของปี 2564 คาดเติบโตถึง 8.16% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (yoy) ทั้งยังคิดเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 12.93% 
 
ปัจจัยสำคัญส่งเสริมแนวโน้มดังกล่าวมาจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการที่เติบโตเกือบแตะ 20% ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ อันเป็นผลมาจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ
 
ขณะที่ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนกลับมาเป็นบวกอีกครั้งหลังจากติดลบและชะลอตัวมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 สะท้อนความเข้มแข็งภาคครัวเรือนของประชาชน
 
ประเด็นความเข้มแข็งภาคครัวเรือนของชาวไต้หวัน ยังสอดคล้องกับตัวเลขอัตราการว่างงานที่อยู่ที่ราว 3.67% เท่านั้น ซึ่งไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นผิดปกติจากวิกฤตโควิดแต่อย่างใด


 
นิวยอร์กเปิดเมือง 100 % 1 ก.ค. นี้ แม้เคยเป็นศูนย์กลางโรคโควิด19
https://www.springnews.co.th/news/808662
 
แม้นิวยอร์กจะเคยเป็นศูนย์กลางแห่งการแพร่ระบาดโรคโควิด19 แต่เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันในสหรัฐดีขึ้นมา ทำให้ นครนิวยอร์กจะกลับมาเปิดอย่างสมบูรณ์ 100% ในวันที่ 1 ก.ค.ที่จะถึงนี้
 
นายบิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ออกมาเปิดเผยว่า หลังจากที่มหานครนิวยอร์ก ต้องอยู่ในมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 อย่างเต็มรูปแบบ มาเป็นเวลา ปีเศษ แต่ ณ ตอนนี้ หลังผู้ติดเชื้อทยอยลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย ส่งผลให้ วันที่ 1 ก.ค. นี้ เมืองนิวยอร์กจะกลับมาสู่ความปกติอีกครั้ง
 
"แผนของนิวยอร์ก คือ การเปิดเมืองอย่างสมบูรณ์ ใน วันที่ 1 ก.ค. 2021 โดยเราพร้อมเปิดห้างสรรพสินค้า เปิดธุรกิจ เปิดสำนักงาน เปิดโรงภาพยนตร์ อย่างเต็มที่ เนื่องจากเราเห็นว่าประชาชนได้เข้ารับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก และผมเชื่อว่าผู้คนจะหลั่งไหลมายังนครนิวยอร์ก เนื่องจากพวกเขาต้องการที่จะกลับมาอยู่ที่นี่" นายเดอ บลาซิโอ  นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กแสดงความเห็น

ในช่วงที่ผ่านมา นิวยอร์ก เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในสหรัฐฯ และเป็นศูนย์กลางของจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโควิด19  ส่งผลให้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นิวยอร์กต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด ร้านค้าต่างๆ ไม่สามารถเปิดได้ตามปกติ แต่หลังจากที่เริ่มมีการฉีดวัคซีน สถานการณ์ในนิวยอร์ก รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในสหรัฐฯ เริ่มคลี่คลายมากขึ้น

ขณะนี้ มีประชาชน 9,092,794 หรือ 45.6% ในนิวยอร์ก ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม ขณะที่ 6,655,923 หรือ 33.4% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว
 
และนอกจากนโยบายเปิดเมือง บิล เดอ บลาซิโอ ยังเปิดเผยว่า จะมีการจัดเตรียมแผนดูแลสุขภาพจิตสำหรับชาวเมืองไว้ด้วย สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากการแพร่ระบาดของโควิด19 จะได้รับบริการตรวจสุขภาพจิตฟรี ตามสถานที่ฉีดวัคซีนในเมือง รวมถึงสถานที่ต่างๆ อาทิ โรงเรียน สำนักงานในชุมชน เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางเยียวยาความเจ็บปวดในจิตใจของประชาชน
 
ปัจจุบัน ชาวอเมริกันกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ ได้รับวัคซีนโควิด19 แล้วอย่างน้อย 1 โดส และราว 1 ใน 3 ของชาวอเมริกันในวัยผู้ใหญ่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว
 


ธปท.จ่อหั่นจีดีพีรับโควิดระลอก 3 กระทบ มี.ค.ส่งออก-บริโภคเอกชนฟื้นตัว
https://www.prachachat.net/finance/news-659499
 
ธปท.จ่อทบทวนประมาณการเศรษฐกิจปี 64 ที่มองไว้ 3% หลังผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3 รุนแรงกว่าระลอก 1-2 เผยเศรษฐกิจเดือน มี.ค. ปรับดีขึ้นตามกิจกรรมเศรษฐกิจ-แรงส่งภาครัฐ ดันการบริโภคเป็นบวก 1.8% การส่งออกโตฉลุย 22.1% หวังเป็นพระเอกหนุนเศรษฐกิจ
 
วันที่ 30 เมษายน 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนายการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ในภาพรวมยังคงไม่เห็นผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 เนื่องจากเริ่มมีการระบาดในช่วงปลายเดือน
 
อย่างไรก็ดี ธปท.ยอมรับว่าการระบาดครั้งนี้จากข้อมูลเร็วยอมรับว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดย ธปท.คงมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจในระยะต่อไปจากเดิมที่มองไว้ในระดับ 3% ซึ่งในเดือนพฤษภาคมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมโดยจะนำภาพผลกระจากการระบาดระลอก 3 เข้าไปประเมินการเติบโตเศรษฐกิจอีกครั้ง
 
ขณะเดียวกัน ธปท.อยู่ระหว่างการทบทวนพิจารณามาตรการช่วยเหลือในส่วนของลูกหนี้รายย่อย ภายหลังจากออก 2 มาตรการล่าสุด ได้แก่ สินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งเปิดให้สถาบันการเงินได้ยื่นคำขอแล้ว ส่วนมาตรการรายย่อยอยู่ระหว่างการประเมินภาพผลกระทบและประสานงานกับภาครัฐ เพื่อให้มาตรการช่วยเหลือมีความครอบคลุม
 
จากเดิมก่อนจะมีการระบาดระลอก 3 การฟื้นตัวทยอยปรับดีขึ้น ทั้งในดัชนีภาคการบริโภคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนเอกชน แต่หลังจากมีระบาดระลอก 3 มองว่าดัชนีที่จะเห็นการสะดุดในไตรมาสที่ 2 จะเป็นเรื่องการบริโภคตามกิจกรรมที่ลดลง และการท่องเที่ยวที่เลื่อนออกไป แต่เชื่อว่าภาครัฐจะมีมาตรการเข้ามาส่วนกระตุ้นการบริโภค ทำให้เห็นตัวเลขบริโภคกลับมาได้ในปลายปี แต่ที่เป็นแรงส่งดี ๆ ต่อเนื่อง และเป็นพระเอกของปีจะเป็นการส่งออก
 
ทั้งนี้ หากดูเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน โดยภาคการส่งออกถือเป็นเครื่องชี้ที่มีบทบาทและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งตัวเลขการส่งออกในเดือน มี.ค.เติบโต 22.1% (ไม่รวมทองคำ) และไตรมาสที่ 1 เติบโต 11.8% เป็นผลมาจากอุปสงค์คู่ค้าฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังสหรัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินจำนวนมากจะส่งผ่านต่อการค้าโลก และเป็นแรงส่งต่อการส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องได้
 
ขณะที่ภาคการบริโภคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นและแรงส่งจากมาตรการรัฐ ซึ่งการเติบโตปรับดีขึ้นทุกหมวด สะท้อนจากข้อมูลบัตรเครดิต และการซื้อสินค้าคงทน ส่งผลให้เดือน มี.ค. การบริโภคเอกชนเติบโตขยับเป็นบวกอยู่ที่ 1.8% จากเดือนก่อนหน้าหดตัว -2.5% อย่างไรก็ดี ตัวเลขไตรมาสที่ 1 ยังคงติดลบ -1.7%
 
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางการส่งออกและความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวในระดับ 5.7% ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ ไม่รวมเงินโอน หดตัวทั้งจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน แต่เป็นผลมาจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าที่มีการเร่งเบิกจ่ายภายหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณมีความล่าช้าออกไป
 
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจเดือน มี.ค. ทยอยฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 ระบาดระลอก 2 แต่หากดูตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง โดยดูจากตัวเลขผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92,279 คน จากเดือน ก.พ. อยู่ที่ 90,904 คน และมองไปข้างหน้าการระบาดระลอก 3 มีความรุนแรงกว่าระลอก 1 และ 2 ซึ่งต้องติดตามดูผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจระยะต่อไป
 
ภาวะเศรษฐกิจเดือน มี.ค. เครื่องชี้วัดปรับดีขึ้นตามการส่งออกและแรงเสริมภาครัฐ และไตรมาส 1 การฟื้นตัวได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอก 2 ทำให้การบริโภคลดลงไปบ้าง แต่การส่งออกค่อนข้างดี ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 1 พอไปได้ ส่วนผลการระบาดระลอก 3 ธปท.คงต้องติดตามใกล้ชิด แต่เชื่อว่าการส่งออกจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจคู่ค้า
 
นางสาวชญาวดี กล่าวเพิ่มเติม สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนอยู่ที่ 0.8 พันล้านดอลลาร์ แต่หากดูตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันขาดดุลอยู่ที่ 2.6 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาท จะเห็นว่าเงินบาทโดยเฉลี่ยปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่ง จึงทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ทรงตัว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่