JJNY : 5in1 นอนคุกอีกคืน !│ธปท.รับศก.ม.ค.64สะดุด│ดัชนีอุตฯม.ค.ร่วง2.8%│ประเสริฐไม่ห่วงยุทธพงศ์│ม็อบหนุนทัพเมียนมาพกอาวุธ

นอนคุกอีกคืน ! คำสั่งศาลอุทธรณ์ลงมาไม่ทัน ลุ้นประกันสุเทพ กับพวกอีกทีพรุ่งนี้
https://www.matichon.co.th/local/crime/news_2597256
 

 
นอนคุกอีกคืน ! คำสั่งศาลอุทธรณ์ ลงมาไม่ทันลุ้นประกันสุเทพ กับพวกอีกทีพรุ่งนี้
 
จากกรณี นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้อง ให้ศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาว่า จะให้ประกันหรือไม่พร้อมหลักทรัพย์จำนวน 600,000 บาท ขอประกันตัว  8 จำเลย แกนนำและแนวร่วม กปปส.
 
ต่อมาเวลา 16.40 น.วันที่25 ก.พ. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งของศาลอุทธรณ์ลงมายังศาลอาญา โดยตนจะยังรออยู่ที่ศาลต่อจนกว่าทางศาลอาญาจะเเจ้งว่า มีคำสั่งศาลอุทธรณ์ตกลงมาในวันนี้หรือไม่
 
ผู้สื่อข่าวรายงานตามขั้นตอน ภายหลังหมดเวลาทำการเเล้ว หากคำสั่งศาลอุทธรณ์ยังไม่ลงมา ก็จะต้องรอฟังคำสั่งอีกครั้งในพรุ่งนี้ว่าจะมีคำสั่งศาลอุทธรณ์ส่งมายังศาลอาญาอีกหรือไม่
 

 
ธปท.รับเศรษฐกิจไทย ม.ค.64 สะดุด จากโควิดรอบใหม่
https://tna.mcot.net/latest-news-644218
 
กรุงเทพฯ 25 ก.พ. – ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2564 ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้การฟื้นตัวไม่ทั่วถึงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบแรก
 
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการ อาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2564 ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้การฟื้นตัวไม่ทั่วถึงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบแรก โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวแย่ลง เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายที่ปรับตัวแย่ลงในทุกหมวด โดยเป็นผลจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่น ประกอบกับมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อการบริโภคจากการระบาดระลอกใหม่ยังไม่รุนแรงเท่ากับรอบแรก ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการหดตัวมาจากการผลิตหมวดปิโตรเลียม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดยานยนต์เป็นสำคัญ
 
ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวต่อ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ประกอบกับการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยยังมีจำนวนไม่มาก แม้ภาครัฐได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศไปบ้างแล้วในช่วงก่อนหน้า
 
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำขยายตัวดีขึ้นตามทิศทางของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 5.5 โดยเป็นการขยายตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่องในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดสินค้าเกษตรแปรรูปที่ขยายตัวเร่งขึ้น ประกอบกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก ทั้งนี้ การส่งออกที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบแรก
 
ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลับมาหดตัวร้อยละ 6.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำที่กลับมาขยายตัว มูลค่าการนำเข้าหดตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 11.1 ตามการนำเข้าที่หดตัวสูงในเกือบทุกหมวดสินค้าสำคัญจากผลของฐานสูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี หลังขจัดปัจจัยฤดูกาล การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด
 
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวชะลอลงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง ขณะที่การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจกลับมาขยายตัวได้ ทั้งนี้เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงตามความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลง
 
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคาอาหารสดที่ปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานปรับตัวแย่ลงจากผลของการระบาดระลอกใหม่ ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่สูงขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลงจากเดือนก่อน. – สำนักข่าวไทย
 

 
สศอ.โควิดรอบ2 ฉุดดัชนีอุตฯม.ค.ร่วง 2.8%
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/924507
  
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผย โควิดระบอดรอบ 2 ฉุดดัชนีอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2564 หดตัว 2.8% เมื่อเทียบปีก่อน คาดเดือนถัดไปดัชนีฯปรับตัวดีขึ้น เพราะเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิดในไทย และต่างประเทศ
 
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2564 หดตัวร้อยละ 2.80 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 ส่งผลต่อเนื่องมายังเดือนมกราคม 2564 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอย รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศลดลง ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะสั้น
 
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยจะปรับตัวดีขึ้น แต่จะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการกระจายวัคซีนโควิค-19 ทั้งในและต่างประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จำนวนการแพร่ระบาดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามามีแนวโน้มที่ดีขึ้น อีกทั้งรัฐบาลได้ผ่อนคลายกิจกรรมในพื้นที่ควบคุม เช่น ร้านอาหารเปิดบริการได้ตามปกติ  สถานบันเทิง ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถาบันกวดวิชา และสถานที่ออกกำลังกาย เป็นต้น 
 
สำหรับในมุมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองและรายการพิเศษเดือนมกราคม 2564 ขยายตัวร้อยละ 8.22 โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่  2 และเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 29 เดือน ซึ่งจากที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นสภาวะเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ
 
ด้าน อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนมกราคม 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.86  จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งจากสถานการณ์โควิด-19  ที่หลายสถานประกอบการมีนโยบายให้พนักงาน work from home ประกอบกับการลดการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ จึงส่งผลให้กลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์ ถุงอาหาร ขวด และเครื่องใช้ในครัวเรือนขยายตัวมากกว่าปีก่อน
 
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.44 จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากจีนมีการนำเข้าสินค้าเหล็กเพิ่มสูงขึ้นมากจนเกิดภาวะขาดแคลนสินค้า (Short Supply) ผู้ผลิตจึงเร่งผลิตเพื่อขายทำกำไรในช่วงนี้
 
อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.63 จากเฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้เป็นหลัก จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา รวมถึงสามารถกลับมาส่งสินค้าได้ตามปกติหลังมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในช่วงก่อนหน้า
 
อุตสาหกรรมอาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.21 จากอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปและอาหารปลาเป็นหลัก โดยเพิ่มขึ้นจากการผลิตอาหารแมวเพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาเลิกการผลิตและหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพื่อจำหน่ายแทน
 
อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.74 จาก สินค้า Printer เป็นหลัก ซึ่งผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากผู้ผลิตจากอินโดนีเซีย จีน และฟิลิปปินส์ ไม่สามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ รวมถึงความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการทำงาน work from home
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่