แสงสรวงสัชชนาไลย ตอนที่ ๙ (๒) คุ้นเคยดั่งเก่าก่อน

นักศึกษา ต่างๆ เพลินกับการเก็บรูปทั้งด้วยกล้องและด้วยดินสอ 

หน้าพระเจดีย์ช้างล้อม ทางเดินทอดยาวไปยังวัดเจดีย์ ๗ แถว  

“ใครหนอ ช่างตั้งชื่อ” นักศึกษาสาวนางหนึ่งเอ่ยขึ้น 

“ครูเคยลองนับอยู่หลายแนว หลายรอบ แต่นับยังไงก็เกิน ๗ แถว” นัยน์แทรก พร้อมหัวเราะชอบใจ  

“ผมเข้าใจว่า ชื่อต่างๆ เหล่านี้น่าจะมาในสมัยหลัง เพราะไม่พบหลักฐานอะไรเลย ศรีสัชนาลัย สุโขทัย มีหลักฐานอยู่น้อยมาก และเป็นจารึกเสียส่วนใหญ่” กรันตอบ 

“เอ้าเด็กๆ สาวเท้าหน่อย เดี๋ยวแดดจะร้อน” นัยน์เอ่ย 

สายเข้า แดดเริ่มแรงขึ้น แต่ร่มไม้ใหญ่กรองแสงได้อย่างดี ไม่ร้อนแม้นิด เริ่มมีนักท่องเที่ยวขี่จักรยานชมอุทยานบ้างประปราย ร่มเงาต้นก้ามปูแผ่เข้าหากันเป็นซุ้มไม้สูง ยิ่งขับให้บริเวณรอบหมู่พระเจดีย์ดูเขียวจัดสบายตา 
 
เจดีย์ยอดดอกบัวยืนเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางหมู่เจดีย์น้อยใหญ่ รูปทรงหลากหลาย แปลกตา

“เด็กๆ ครับ ผมอยากให้ทุกคน มอง สังเกต ภาพรวม ภาพย่อย ของพื้นที่วัดเจดีย์ ๗ แถวนี้ สัก ๑๕ นาที ดูว่าใครมองเห็นอะไร แล้วผมจะตั้งคำถามว่า เพราะอะไร จึงน่าจะเป็นอย่างนั้น” นัยน์ชวนนักศึกษาชมพระเจดีย์ 

‘จริงด้วยสิ เจดีย์รายรอบเหล่านี้ มีรูปทรงไม่เหมือนกัน หรือบางองค์ก็คล้ายกัน แต่ขนาดต่างกัน ไม่เป็นระเบียบสักเท่าไร’ จันนวลนึกพลาง  แต่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลป์ของจันนวล เรียกได้ว่า ‘น้อย’ จนแทบจะไม่มีเลย 

เพียงชั่วแวบเดียว ที่จันนวลก้าวผ่านองค์พระเจดีย์ประธานทรงบัวตูม กรันก็เห็นภาพซ้อนเดิม หญิงสาวเกล้ามวยต่ำ ปักปิ่นทองคำใกล้ปลายหู แวบเดียว แวบเดียวเท่านั้น กรัน สาวเท้าก้าวตามไป แลจันนวลหันมาทันควัน 

“มีอะไรหรือเปล่าคะ กรัน” 

กรัน อึกอัก เสไป “ไม่ครับ ผมแค่จtบอกว่าให้ระวัง เผื่อมีแมลง สัตว์เลื้อยคลาน แถวนี้หญ้ารก เอาไม้นี่ไว้ เขี่ยพวกใบไม้สุมๆ นี่ครับ ผมกลัวจะมีงู” 

“ขอบคุณค่ะ คุณรอบคอบดีจัง ฉันมัวแต่จะทำตามเด็กๆ” 

ใบหน้าของกรัน แดงเรื่อ ดูเขินอาย ไรหนวดเขียวครึ้ม ดูมีเสน่ห์อย่างหนุ่มใหญ่ท้องถิ่น 

“เอาล่ะๆ ไหนใครเห็นอะไร ลองบอกผมมาที” เสียงนัยน์เรียกสติจันนวลคืนมา 

“เจดีย์ แล้ว ก็เจดีย์ แล้วก็เจดีย์ ครับ” นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ย พร้อมเสียงหัวเราะครืนตามมา 

“เออ รู้ว่าเจดีย์ ไม่ใช่ ตู้เย็น” นัยน์แซวรับ 

“หนูว่าเจดีย์รายต่างๆ นี่ รูปทรงไม่เหมือนกันเลยค่ะ แต่ก็เรียงกันเป็นแนวดี” นักศึกษาสาวอีกคนกล่าว 

“๗ แถว ๗ ยังไงครับ” อีกคนหนึ่งกล่าวขึ้น

นัยน์ส่งไม้ต่อให้กรัน “ผมจะตอบคำถามไหนก่อนดี เอาเรื่อง ๗ แถวก่อนดีไหม ดูแล้วน่าจะง่ายที่สุด ทุกคนลองดูนะครับ เรามองแบบกว้างก่อน พื้นที่นี้แบ่งออกเป็น กี่ส่วนหลัก มีใครตอบได้บ้าง” กรันกระตุ้นความอยากรู้ของนักศึกษา แต่มีเพียง “ความเงียบ” 

จันนวลแทรกขึ้น “๒ ส่วน หรือเปล่าคะ” 

“คุณนวลดูยังไงครับ” กรันถามกลับ 

“หากมองเชิงพื้นที่ก่อน ก็คล้ายวัดช้างล้อมที่ผ่านมา คือ ด้านหน้าเป็น วิหาร ด้านหลังเป็นส่วนของเจดีย์” 

“เก่งจังเลยครับ ช่างสังเกตมาก” กรันยอ 

“เออ จริงด้วยสิ ผมก็ไม่เคยนึกเรื่องนี้เลย” นัยน์แทรกและเสริมต่อ “เออจริงสิ หากมองเป็น ๒ ส่วนก่อน จะเห็นว่าข้างพระวิหารมี เจดีย์ราย ๒ แถวขนาบแต่ละข้าง นับได้ ๔ ในส่วนที่พระเจดีย์ประธานบัวตูม มีล้อมไว้ ๓ แถว ซ้าย ขวา และหลัง รวมเป็น ๗​ จริงๆ ด้วย นวล” 

จันนวลนึกขึ้นได้จะอย่างไรก็ไม่รู้ ลึกๆ แล้วรู้สึกคุ้นเคยกับที่นี่มาก ...ก็เท่านั้น “ตอบตามความรู้สึกน่ะ นัยน์” 

“ใช่ครับ ผมก็คิดอย่างเดียวกัน คราวนี้ เราจะมาลองจัดกลุ่มกันดูนะครับ ยกเจดีย์ประธานไว้ก่อน ลองดูเจดีย์ราย ทั้ง ๗ ว่า มีลักษณะร่วม ลักษณะต่างอย่างไร ?” 

พักหนึ่ง ผ่านไป  ความเงียบ และความอยากรู้ซ่อนอยู่ในแววตาของนักศึกษา 

“เอาล่ะ ผมจะถามเป็นข้อๆ ดีไหมครับ หากเราไม่นับองค์พระเจดีย์ประธาน เจดีย์รายรอบทั้ง ๗ แถวนี้ มีขนาดแตกต่างหรือเหมือนกันไหมครับ” คำถามนำเริ่มได้ผล 

“ไม่เท่ากันค่ะ มีใหญ่ เล็กลดหลั่นกัน” นักศึกษาหนุ่มตอบ 

“แบบก็ไม่เหมือนกันครับ โห ต่าง style กันเลย” อีกคนรีบแทรก กลัวน้อยหน้า 

“เริ่มสนุกแล้วสิ เด็กๆ เห็นไหม เสือสวรรคโลก ลุ่มน้ำยม คนนี้ไม่ธรรมดา”  นัยน์แซวนายกรัน 

“ใช่ครับ ขนาดต่างกัน แล้วแบบไหน มีมากที่สุดครับ” 

“ทรงดอกบัวตูมครับ อาจารย์ แต่ดอกบัวดูเล็กๆ นะครับ” 

“ใช่เลยครับ เจดีย์ทรงดอกบัวตูมเป็นแบบที่มีมากที่สุดในบริเวณนี้ แต่ขนาดจะไปแข่งกับพระเจดีย์ประธานไม่ได้” 

“ใหญ่เล็กน่าจะเป็นเรื่องยศศักดิฐานันดร” จันนวลเอ่ยไปแทบไม่ได้คิด

สายตาออกอ้อนวอน ดูเป็นสีน้ำตาลเข้มมองมาทางจันนวล ทั้งยิ้มเชิงพอใจเชิงทึ่ง

“ผมอยากให้ดูเจดีย์บัวตูมที่มุมซ้ายนั่น เป็นองค์ที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์รองจากองค์ประธานเลยที่เดียว ตำแหน่งประจำมุมถือว่าสำคัญมากนะครับ คือทิศทั้ง ๔ ผมคิดว่าผู้สร้าง คือคนที่อุปถัมภ์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า sponsor น่าจะเป็นคนสำคัญในระดับหนึ่ง” กรันบรรยาย ทั้งอภิปราย 

“นัยน์ ตำแหน่งอย่างนี้ดูคล้ายแบบ mamdala เลยนะ” จันนวลกระซิบนัยน์ 

แค่กระซิบ ก็ทำให้หนุ่มอีกคน “เขว” ได้ แล้วรีบดึงสมาธิกลับมาที่การบรรยาย 

“แหงสิ นวล mandala ชัดๆ คติศูนย์กลางจักรวาล” นัยน์ตอบ 

“เนอะ แล้วดูเจดียข้างหน้าสิ องค์เล็กลงกว่าองค์มุมนี้อีก ดูไปดูมาเล็กกว่า องค์ที่อยู่ถัดไปด้วย ตำแหน่งต้องมีความหมายซ่อนไว้แน่ๆ” จันนวลวิเคราะห์ 

“จริงด้วยสินวล ลองดูขนาดในแต่ละแถวข้างองค์เจดีย์ประธานสิ จะมี ๓ องค์ใหญ่ ๒ องค์เล็กแทรก แถวหลังก็เหมือนกัน ดูสินวล” นัยน์เสริม

เสียงกรันดังขึ้น “สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าวัดเจดีย์ ๗ แถวนี้ เป็นสุสานหลวง แต่ส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยเท่าไรนัก” กรันเอ่ย

“ใช่นายกรัน ผมก็คิดแบบนั้น สุสานไม่น่าจะอยู่ในแนวแกนเดียวกับ พระเจดีย์ช้างล้อม และเจดีย์เขาสุวรรณคีรี” นัยน์ต่อเสริมความเห็น 

“เด็กๆ ว่ายังไงกันค่ะ ฟังคนแก่คุยกันจะเบื่อแย่” จันนวลเย้าเด็กนักศึกษา 

“ไม่เบื่อครับ แต่ละท่านความรู้แน่นๆ ทั้งนั้นเลยครับ พลางก้มหน้าร่างภาพพระเจดีย์หลัก รอง รอบ” เด็กหนุ่มเอ่ยขึ้น 

“หนูว่าเจดีย์ดอกบัวประธานองค์นี้ อ่อนหวาน ดูเรียบๆ เหมือนหญิงสูงศักดิ์” นักศึกษาสาวจินตนาการไกล 

“ผมคิดแบบนั้นนะ อาจจะเป็นมเหสีเทวี พระธิดา ของพ่อขุนครองเมืองนี้ก็เป็นได้” กรันออกจะเห็นด้วย พลางสายตาจับที่จันนวล 

“นัยน์ ดูสิองค์ประธานเท่านั้นนะ ที่มีขั้นบันได ๒ ฝั่งด้านหน้า” จันนวลสังเกต 

“ใช่นวล ผมว่าคงไว้ให้คนขึ้นไปวางเครื่องบูชา” นัยน์คิด 

“ฉันกลับคิดว่า หากเราใช้รูปแบบ mandala เจดีย์ประธานก็คือ ศูนย์กลางจักรวาล เขาพระสุเมรุ ใช่ไหม นัยน์ ชื่อนี้ถูกต้องไหม บันไดด้านหน้าอาจหมายถึงเขาพระสุเมรุก็เป็นได้นะ นัยน์” 

“น่าคิดจริงๆ ครับ คุณนวล” กรันออกจะเห็นด้วย 

“มีใครสังเกตุเห็น เจดีย์แบบอื่นๆ อีกไหมครับ” นัยน์ชวนนักศึกษาชมเจดีย์รายต่อ 

“นี่ค่ะ เหมือนหน้าโรงละครแห่งชาติเลยค่ะ” นักศึกษาสาวเอ่ยขึ้น 
“ช่างสังเกตุจริงๆ เลย สาวน้อย” นัยน์แซว 

“ครับ รูปแบบนี้ เรียกว่าทรงปราสาท ๕ ยอด ที่มุมขวานั่น ค่อนข้างสมบูรณ์มากอยู่ครับ เจดีย์แบบนี้ เป็นศิลปะที่นิยมกันมากในล้านนา มีรายละเอียดมาก” กรันดูเป็นตัวเอง เมื่อได้ทำสิ่งรักสิ่งชอบ 

‘สวรรคโลก คือ กรัน กรัน คือ สวรรคโลก เขารักบ้านเกิดเมืองนอนเขามาก’ นัยน์เล่าให้จันนวลฟังหลายวันก่อน 

เด็กๆ พากันเดินตามกรันไปหน้าพระเจดีย์ยอด “ลองดูที่ด้านบนของกรอบเหลี่ยมสิครับ” 

“เรียกว่า กระจัง ใช่ไหมครับ” เด็กหนุ่มเอ่ย 

“ถูกต้องครับ แบบนี้มีรายละเอียดตกแต่งเป็นกลับโค้งเข้าหากัน เรียกว่า ฝักเพกา แสดงถึงศิลปะแบบพุกาม นิยมกันมากในศิลปะแบบล้านนา” 

“แล้วทำไมมาอยู่ที่นี่ล่ะคะ” เด็กสาวเอ่ยถาม 

“นั่นสิ ทำไม เรียนโบราณคดี เราต้องคิดให้กว้าง อย่ามองแค่โบราณสถานหรือศิลปะวัตถุเป็นแค่เศษอิฐเศษปูน แต่มองให้เห็นถึง คน และ แรงบันดาลใจ” นัยน์ถือโอกาสสอนวิเคราะห์ 

“เด็กๆ รู้ไหม ว่าบริเวณ สวรรคโลก นี่ถือเป็นจุดต่อแดน หรือชายแดนต่อกับล้านนา เดี๋ยวผมจะพาไปดูแก่งหลวงกลางแม่น้ำยม ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก นี้ มีอาณาต่อแดนทางซ้ายกับเมืองเถิน ลำปาง ผืนป่าอุทยานแห่งชาติ ศรีสัชนาลัย ก็ต่อแดนกับลำปาง หากออกไปทางทุ่มเสลี่ยม หากขึ้นเหนือไป ก็ติดกับ แพร่ ขึ้นไปตามแม่น้ำยม ถึง พะเยา เลย ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับอุตรดิตถ์ ซึ่งมีอาณาเขตติดกับเมืองน่าน และ สปป. ลาว ลำปาง แพร่ พะเยา นี่ถือเป็นล้านนา ขึ้นไปอีก ก็เชียงใหม่ ใครเคยไปเชียงใหม่ แล้วไปกลางเวียงเห็นอะไรครับ” 

“อ๋อ อนุสาวรีย์ ๓ กษัตริย์” 

“ถูกต้องครับ มี พญามังราย พญางำเมือง พ่อขุนรามคำแหง” นัยน์บรรยายถึงรส 

จันนวลฟัง จดจ่อ ไม่ไหวติง พลางนึกถึงข้อความในบันทึกท่านเจ้าคุณทวด พระยาสวรรครักษราชโยธิน 

“แพร่ กบฎเงี้ยว ใช่ไหม นัยน์” จันนวลเอ่ยขึ้น 

เสียงนายกรันแทรก ทั้งกระตุก “ไม่ทั้งหมดครับ บางกลุ่มเท่านั้น เงี้ยวเป็นคนไทใหญ่ที่รักสงบ” 
จันนวลเซ ทั้งตกใจที่ได้เสียงเสียงกร้าวจากกรัน 

กรันรวบรวมสติ พร้อมกล่าวขอโทษที่เสียงดัง นัยน์เปลี่ยนบรรยากาศ ดึงกลับมาที่การบรรยาย 

“ผมกำลังจะชี้ให้เห็นว่า งานศิลปะจะไม่มีทางเกิดขึ้นมาโดดๆ เราต้องมองในเชิงสัมพันธ์กับคนและพื้นที่ ศรีสัชนาลัย อยู่ในจุดต่อแดนด้านบน ส่วนสุโขทัยเอง ก็อยู่ในจุดต่อแดนด้านใต้ กับกำแพงเพชร ตะวันออกกับเมืองตาก และตะวันตกกับสองแควพิษณุโลก ทุกอย่างจะชัดเจนขึ้นในวันพรุ่งนี้กับมะรืน” 

กรันรู้สึกผิดที่เสียงดัง แต่ก็ไม่รู้จะแก้ไขอะไรได้  จันนวลเองกลับเป็นฝ่ายแก้สถานการณ์ 

“แสดงว่า ศรีสัชนาลัยเองก็รับเอาศิลปะล้านนา เข้ามา ซึ่งมีได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบพุกาม” 

“ใช่เลยนวล พุกามเจริญมาก่อน ศรีสัชนาลัยสุโขทัย รับพุทธศาสนาก่อน ล้านนาเองก็ตกเป็นรองพุกาม พม่า อยู่หลายครั้ง” นัยน์แจง 

“หากเราลองดูพระเจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์อื่นๆ ที่สมบูรณ์น้อยกว่า จะมีรายละเอียดต่างกัน บางองค์ไม่มีฝักเพกา เป็นเพียงกระจังโค้ง แบบนี้แสดงให้เห็นถึง ศิลปะแบบลังกา หรือ อีกองค์หนึ่งที่งามมาก ถัดไปทางซ้ายนั่น จะเห็นว่า กระจังเป็นหน้าจั่ว ในช่องเหลี่ยมหรือช่องจรนำ มีพระพุทธรูปลีลางามมากทีเดียวครับ ตอนบ่ายผมจะพาไปดูที่วัดพระปรางค์ จะเห็นว่างามคล้ายกัน” นัยน์พยายามกลับมาจดจ่อที่การบรรยาย 

กรันเพลิดเพลินกับการ ถาม-ตอบ บรรยาย ศิลปะต่างๆ จากองค์พระเจดีย์ราย ราวกับว่าเป็นผู้สร้างพระเจดีย์เหล่านี้เอง ช่างรู้ซอกรู้แซกไปเสียทุกอย่าง 

“ศรีสัชนาลัยนี่ international อยู่มากนะ นัยน์” 

“แน่สิ นวล เป็นเมืองเก่าแก่ คู่กันมากับสุโขทัย นั่นล่ะ บางที่ก็เรียกปนเปกันไป พระเจดีย์สุวรรณคีรี ทรงระฆังที่เราไปดูกันนี่ ถือเป็น master piece งานชั้นครู ต้นแบบศิลปะทรงลังกาสุโขทัยเลยทีเดียว นี่เดี๋ยวไปชมพระพุทธรูปปางลีลาจะเห็นว่า งามหมดจรดจริงๆ” 

“ครับ คราวนี้ ผมอยากให้สักเกตส่วนยอดของเจดีย์ทรงปราสาทครับ เห็นไหมครับว่าคล้ายกับทรงอะไร” กรันถม 

“ระฆังค่ะ แต่ใบย่อมกว่ามาก” นักศึกษาสาวชิงตอบ 

ใช่ครับแล้วเราลองมองย้อนกลับไปถึง เจดีย์ทรงระฆัง บนพนมเพลิง ยอดปราสาท และทรงดอกบัว มองเห็นอะไรไหมครับ” 
จันนวลคิดพลาง และตอบออกไป 

“คุณกรันกำลังจะบอกว่า เจดีย์ทรงดอกบัวมีพัฒนาการมาจากทรงระฆัง ใช่ไหมคะ” 

“ครับและผมอยากให้มองที่ตัวแกนของพระเจดีย์ดอกบัวด้วยว่าน่าจะเป็นการพัฒนาจากองค์ปราสาทแบบเขมร บีบให้เล็ก ชลูด มีกลีบใบรองฐานดอกซึ่งพัฒนามาจาก กลีบขนุน ซึ่งประดับรับยอดปราสาทแบบเขมร กลีบขนุนยังมีพัฒนาการต่อไปถึงสมัยหลังสุโขทัยเลยครับ”  

กรันเดินนำชมพระเจดีย์รายโดยรอบ มาถึงด้านข้างท้ายพระวิหาร “สังเกตดูสิครับ พระเจดีย์ทรงแปลกตานี่ มีฐาน ๔ เหลี่ยม องค์เจดีย์เพิ่มมุมเป็นลอนหยักทั้งองค์ขึ้นถึงยอด แล้วยังเป็นคู่กันกับอีกข้าง แสดงว่าน่าจะมีการสร้างถวายเป็นพุทธบูชา แบบนี้ เรียกกันว่า ทรงวิมาน หรือ บางคนก็เรียกว่าทรงมณฑป ครับ” กรันบรรยายต่อ เข้าถึงอย่างลึกซึ้ง

“ถ้าเป็นอย่างนั้น บริเวณนี้ไม่น่าจะเป็นสุสานหลวงแล้วค่ะ เพราะมีการสร้างพระเจดีย์อุทิศถวายด้วย” จันนวลเอ่ยตามความรู้ที่เคยร่ำเรียนมาหลายสิบปี  กรันยิ้มพอใจ 

จริงๆ แล้ว จันนวลเพียงต้องการไม่ให้กรันรู้สึก เสียความมั่นใจ เพราะเสียงดังเมื่อครู่ ส่วนจันนวลเองก็ไม่ได้โกร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่