“ดื้อ เกเร ต่อต้าน ก้าวร้าว” นิสัยไม่ดีหรือโรคจิตเวช

แพทย์หญิงกันยา พาณิชย์ศิริ
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์
จากผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต พบว่าพฤติกรรมก้าวร้าวเกเรในวัยรุ่น เกิดจากโรคทางพฤติกรรมที่เรียกว่า Conduct disorder หรือ โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว ซึ่งเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้ปกครองว่าความก้าวร้าวเป็นการพัฒนาความกล้าแสดงออกของเด็กปกติทั่วๆ ไป จึงไม่ห้ามปราม ซึ่งเมื่อเด็กโตขึ้นกว่า ร้อยละ 40 อาจทำให้เป็นนักเลงอันธพาลได้ และนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ อีก เช่น ความขัดแย้งในครอบครัว การเรียน ยาเสพติด และพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร ดังที่เห็นได้ตามข่าวในปัจจุบัน 

พฤติกรรมเกเร หรือ Conduct Behavior คือ พฤติกรรมที่มีการใช้ความรุนแรง ละเมิดสิทธิของผู้อื่น หรือฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคม และมักเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย พฤติกรรมมีตั้งแต่ความรุนแรงน้อยไปถึงมาก ยกตัวอย่างเช่น

• รังแก คุกคาม ทำร้ายคนหรือสัตว์
• ทะเลาะวิวาท อาจมีทั้งการใช้หรือไม่ใช้อาวุธ
• ทำลายทรัพย์สินผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย
• หนีเรียน หนีออกจากบ้านตอนกลางคืน
• ขโมย โกหก จี้ ปล้น ข่มขืน

พฤติกรรมเหล่านี้มักเกิดในวัยประถมปลายหรือมัธยมต้น อาจเกิดจากความคึกคะนอง วู่วาม หุนหันพลันแล่น หรือถูกชักชวนไปในทางที่ผิด บางคนอาจค่อยๆ ดีขึ้น หรืออาจมีปัญหาต่อเนื่องไปถึงวัยผู้ใหญ่ได้ รวมถึงหากพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ และต่อเนื่อง อย่างน้อย 1 ปี ก็จะเรียกว่าเป็นโรคเกเร หรือ Conduct Disorder

ปัจจัยใดเป็นสาเหตุของพฤติกรรมเกเร?

พฤติกรรมเกเรเหล่านี้มักเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ทั้งจากตัวเด็กเอง ครอบครัว และสภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโตมา

สำหรับปัจจัยจากตัวเด็กเอง อย่างแรก คือ เรื่องของเพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงและมีพฤติกรรมเกเรได้มากกว่าเด็กผู้หญิง อย่างที่สอง คือ พันธุกรรม พบว่าครอบครัวใดที่พ่อแม่มีประวัติในเรื่องของโรคเกเร ลูกที่เกิดมาก็จะมีความเสี่ยง เปราะบาง เมื่อถูกเลี้ยงดูหรือว่าเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม สาม คือ เรื่องของพื้นอารมณ์ของเด็ก มักมีพื้นอารมณ์ที่เป็นเด็กเลี้ยงยาก หงุดหงิดง่าย ชอบต่อต้าน และสุดท้าย คือ โรคทางจิตเวช พบว่าโรคทางจิตเวชหลายๆ โรคมีความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมเกเร โดยเฉพาะเรื่องของโรคสมาธิสั้น นอกจากนี้เรื่องของสติปัญญาบกพร่องก็เป็นความเสี่ยงหนึ่งที่จะทำให้เด็กมีโรคเกเรได้เช่นเดียวกัน

เรื่องของปัจจัยทางครอบครัวสำคัญมาก การเลี้ยงดูในรูปแบบต่างๆ ในครอบครัวที่ไม่เหมาะสม หล่อหลอมให้เด็กคนนึง โตขึ้นมามีพฤติกรรมที่เกเรได้ เช่น การเลี้ยงดูที่มีการใช้ความรุนแรง ทั้งทางร่างกาย วาจา และอารมณ์ เด็กจะรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ปลอดภัย ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ ในบางครั้งเด็กจะต้องใช้พฤติกรรมเกเรเหล่านี้เพื่อเป็นการเอาตัวเองให้รอด นอกจากนี้การเลี้ยงดูในรูปแบบที่ไม่สม่ำเสมอ ตามอารมณ์ของผู้ดูแล การเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่ว่าเด็กอยู่ที่ไหน ทำอะไร รวมถึงการเลี้ยงดูที่เข้มงวดเกินไป ก็อาจทำให้เด็กต่อต้านและมีพฤติกรรมที่เกเรได้

ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม สภาพบรรยากาศภายในบ้าน คนอื่นๆ ภายในบ้านก็มีผลเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมเกเรของคนในบ้าน รวมถึงการใช้ความรุนแรงภายในบ้าน เด็กจะซึมซับและเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านี้มาเรื่อยๆ และเรียนรู้ว่าพฤติกรรมความก้าวร้าว รุนแรง เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ตามปกติที่ใช้ในการควบคุมคนอื่น

โดยเฉพาะในวัยรุ่น เรื่องเพื่อนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พบว่าเด็กที่มีพฤติกรรมเกเรเหล่านี้ มักเริ่มต้นจากการมีพฤติกรรมน้อยๆ ก่อน ทำให้เพื่อนที่ดีๆ ไม่รับการยอมรับ และไม่ให้เข้ากลุ่มด้วย พอขาดการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนที่ดี ทำให้เด็กไปจับกลุ่มกันเอง เป็นการรวมกลุ่มที่มีพฤติกรรมเกเรเหมือนกัน คล้ายกัน ก็ยิ่งส่งเสริมให้มีพฤติกรรมเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องของโรงเรียนก็สำคัญเช่นเดียวกัน เด็กกลุ่มนี้มักถูกมองว่าเป็นเด็กเกเร เป็นเด็กที่ไม่ดี เป็นเด็กหลังห้อง เด็กจะขาดการมีส่วนร่วม ขาดการทำกิจกรรมกับโรงเรียน บางครั้งโรงเรียนก็อาจลงโทษเด็กด้วยวิธีที่รุนแรง ทำให้เด็ก ยิ่งเกิดการต่อต้านและใช้พฤติกรรมเกเรเหล่านี้มากขึ้น

รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่มีความสำคัญมาก เด็กทุกคนต้องมีการใช้สื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสังคมออนไลน์ หรือว่าการเล่นเกม ดังนั้น ภาพและเนื้อหาที่เด็กต้องดูอยู่ทุกวันก็มีผลที่จะทำให้เด็กมีพฤติกรรม ก้าวร้าว เกเร รุนแรงได้เช่นกัน

ป้องกันแก้ไขอย่างไร?

เห็นได้ว่าพฤติกรรมเกเรของเด็กๆ เกิดจากหลายปัจจัย ดังนั้นการป้องกันหรือแก้ไขจึงควรจะต้องทำในทุกๆ มิติ รวมถึงต้องให้การช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมต่อเนื่องหรือรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นโรค

ปัจจัยจากตัวเด็ก

• เด็กควรได้รับการอบรมเรื่องคุณธรรม จริยธรรม การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา เรียนรู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้น มีผลกระทบในด้านบวกหรือด้านลบกับคนอื่นมากน้อยแค่ไหน
• การขัดเกลาทางสังคม ให้เด็กเรียนรู้เรื่องบทบาททางสังคม ระเบียบวินัยทางสังคม ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม รวมถึงเรียนรู้ที่จะรู้จักสิทธิเสรีภาพอย่างมีขอบเขต ทั้งของตนเองและของผู้อื่น เพื่อเป็นพื้นฐานในการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
• การจัดการอารมณ์ สอนให้เด็กรู้จักการควบคุมและจัดการอารมณ์ การมีทักษะทางสังคมที่ดี และการแก้ปัญหาด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่ใช้ความรุนแรง
• ค้นหาและสนับสนุนจุดเด่นของเด็ก เพราะเด็กแต่ละคน มีความสามารถไม่เหมือนกัน บางคนถนัดวิชาการ แต่บางคนถนัดด้านอื่นๆ พ่อแม่ควรหาจุดเด่นและความสามารถของเด็ก เพื่อให้เด็กเกิดความมั่นใจ เห็นคุณค่าในตนเอง ป้องกันไม่ให้เด็กใช้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการสร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเองแบบผิดๆ เพื่อได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน
• สำหรับเด็กที่มีโรคหรือสงสัยว่าจะมีโรคทางจิตเวชหรือโรคทางสมอง คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กเข้ารับการประเมินและเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคร่วมที่รุนแรงอื่นๆ เด็กที่เกเร ก้าวร้าวบางคน ในระหว่างที่เรากำลังปรับสภาพแวดล้อมหลายอย่าง แต่ตัวเด็กมีเรื่องของความรุนแรงมาก ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องมีการใช้ยา เพื่อช่วยควบคุมอารมณ์ในช่วงสั้นๆ

ปัจจัยจากครอบครัว

• ปรับปรุงการเลี้ยงดู การเลี้ยงดูใดๆ ที่ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมเกเรได้ พ่อแม่ต้องปรับให้เหมาะสม มีกฎกติกาในบ้านที่ชัดเจน ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ไม่ตามใจหรือเข้มงวดมากเกินไป
• ครอบครัวมีส่วนร่วม ทุกคนควรแสดงความเห็นร่วมกัน สอบถามความเห็น ความรู้สึกของเด็ก พูดคุยกับเด็กด้วยเหตุผล และไม่ตอบสนองเด็กตามอารมณ์ของพ่อแม่ ไม่ออกคำสั่ง การใช้คำพูดเชิงบวก จะทำให้เด็กมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเรา หากพ่อแม่ต้องการให้เด็กมีการเปลี่ยนแปลง
• เป็นตัวอย่างที่ดี บางครั้งพ่อแม่เองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กเช่นเดียวกัน

ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม

• โรงเรียนมีส่วนช่วยได้มาก เด็กแต่ละคนมีความถนัด มีความสามารถไม่เหมือนกัน เด็กที่มีความสามารถด้านดนตรี กีฬา ศิลปะ แต่ไม่ถนัดวิชาการ เราควรมีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงความสามารถ หรือจุดเด่นของตัวเองออกมา จะทำให้เด็กคนอื่นๆ ยอมรับตัวเด็กไปด้วย
• เปิดโอกาสให้เด็กสามารถเข้าไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ดี เลี่ยงการไปจับกลุ่มกับเด็กที่มีพฤติกรรมเกเรคนอื่นๆ
• บทบาทของสื่อที่มีความสำคัญมากในตอนนี้ ควรต้องได้รับการควบคุม ทั้งภาพและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะกับสื่อที่สามารถเข้าถึงได้ทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงพ่อแม่เองควรมีการควบคุมดูแลลูกๆ ให้ใช้สื่ออย่างถูกต้องและเหมาะสมตามวัยด้วย
ท้ายนี้ ฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน ถ้าลูกกำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นหรือประถมตอนปลาย และสงสัยว่าอาจมีพฤติกรรมที่เสี่ยง คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นแก้ปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้พฤติกรรมเหล่านี้รุนแรงและมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากไม่แน่ใจ สามารถพาลูกๆ เข้ารับการปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่