ติดหน้าจอแบบนี้ เสี่ยงเป็นออทิสติกเทียมไม่รู้ตัว

ติดหน้าจอแบบนี้ เสี่ยงเป็นออทิสติกเทียมไม่รู้ตัว
 
     ปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กๆ ยุคนี้เข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ง่ายกว่าสมัยก่อน ทั้งโทรศัพท์มือถือ 📱 แท็บเล็ต 💻 คอมพิวเตอร์ 🖥️ ทำให้หลายคนใช้เวลาอยู่หน้าจอมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะเรียนหนังสือ ท่องโซเชียล เล่นเกม ดูคลิปวิดีโอต่างๆ ก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้ 
     ซึ่งบางครอบครัว ถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถจัดสรรหรือควบคุมเวลาที่อยู่หน้าจอ (screen time) ของลูกได้ ก็อาจจะไม่มีปัญหาตรงนี้มากนัก แต่ก็มีหลายบ้านที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถควบคุมลูกในเรื่องนี้ได้ ส่งผลให้เด็กมีปัญหาทั้งทางด้านพัฒนาการ พฤติกรรม อารมณ์และสุขภาพต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะภาวะที่เรียกว่า “ออทิสติกเทียม” 
     แล้ว “ออทิสติกเทียม” คืออะไร เหมือนหรือต่างกับออทิสติกแท้อย่างไร มีวิธีสังเกต หรือป้องกันหรือไม่ มาดูกันครับ
 
ออทิสติกเทียมคืออะไร❓ 
     ออทิสติกเทียม ไม่ใช่โรคออทิสติก แต่เป็นอาการที่เกิดจากการที่เด็กจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจนควบคุมตัวเองไม่ได้ โดยไม่สนใจ หรือไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้กับคนหรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว รวมถึงอาการอื่นๆ ด้วย เช่น มีท่าทางเหม่อลอย อารมณ์เสียง่าย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย 
     ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดู เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก เช่น ไม่พูดคุย ไม่เล่นกับลูก เป็นต้น แต่มักจะให้ลูกอยู่กับหน้าจอ ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียวมากเกินไป ส่งผลให้เด็กขาดการกระตุ้นเรื่องการสื่อสารสองทาง ทำให้เด็กมีปัญหาในการสื่อสารกับผู้อื่น 
ออทิสติกแท้ ต่างกับออทิสติกเทียมอย่างไร❓ 
     ออทิสติกแท้ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของพัฒนาการด้านภาษา การสื่อสาร ทักษะทางสังคม รวมถึงมีพฤติกรรมการแสดงออกบางอย่างที่แตกต่างออกไป โดยเด็กจะมีความสนใจสิ่งต่างๆ อย่างจำกัด ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสามารถด้านต่างๆ ที่กล่าวมา 
     เด็กที่เป็นออทิสติกมักจะมีพฤติกรรมทำอะไรแบบเดิมซ้ำๆ เช่น โยนของไปมา สะบัดมือซ้ำๆ หรือชอบพูดเลียนแบบ ซึ่งความรุนแรงของออทิสติกแท้มีหลายระดับ ตั้งแต่มีความผิดปกติน้อยมากจนคนทั่วไปแทบจะแยกไม่ออก จนถึงระดับรุนแรง ซึ่งจะเห็นถึงความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าความผิดปกตินั้นคืออะไร หรือเกิดจากอะไร เพราะเด็กที่เป็นออทิสติกแต่ละคนจะมีรายละเอียดปลีกย่อยและพฤติกรรมการแสดงออกที่แตกต่างกัน 
วิธีป้องกัน เพื่อไม่ให้ลูกเป็นออทิสติกเทียม 
    🛡️ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ดูหน้าจออย่างเด็ดขาด 
    🛡️ พูดคุยกับลูกบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 30 นาที – 1 ชั่วโมง สำหรับเด็กเล็ก ควรพูดช้าๆ ชัดๆ เพื่อให้ลูกเรียนรู้วิธีการออกเสียงที่ถูกต้อง และเพื่อให้เกิดการสื่อสารแบบสองทาง หรือมีการโต้ตอบระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้คำศัพท์ที่ช่วยในการสื่อสาร ตลอดจนเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
    🛡️ สร้างกติกาการใช้หน้าจอในครอบครัวอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดเวลาเล่นไม่ให้เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และ 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อป้องกันการนอนไม่หลับ และไม่ควรให้เด็กอยู่กับหน้าจอตามลำพัง 
    🛡️ หากิจกรรมที่น่าสนใจและเสริมสร้างทักษะและพัฒนาการให้ลูกทำ เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร รวมถึงการทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์เข้ามาเกี่ยวข้อง  
    🛡️ หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือดุด่าว่ากล่าวด้วยการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง พี่หมอแนะนำว่า ให้ลองคุยกันด้วยเหตุผล แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหาทางออกร่วมกัน 
    🛡️ เด็กที่ติดเกมมากๆ อาจส่งผลให้กลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือต่อต้านพ่อแม่ ซึ่งถ้ามาถึงขั้นนี้ ก็อาจจะต้องพาลูกมาปรึกษาหรือรับคำแนะนำจากจิตแพทย์เด็ก เพื่อหาทางรักษาและปรับพฤติกรรมร่วมกัน
 
     ออทิสติกแท้เกิดจากความผิดปกติของสมองตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ ในขณะที่ออทิสติกเทียม เกิดจากการเลี้ยงดูเป็นหลัก ดังนั้น ถ้าหากลูกๆ ของเรามีอาการคล้ายออทิสติกเทียม คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลใจเกินไปนะครับ เพราะเด็กที่เป็นออทิสติกเทียม ถ้าได้รับการกระตุ้นและการรักษาอย่างเหมาะสมภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว อาการก็จะดีขึ้น และสามารถกลับมาเป็นเด็กปกติได้ 
     ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกของเรามีอาการออทิสติกเทียมหรือเปล่า ก็สามารถพาลูกมาตรวจเช็กกับคุณหมอด้านพัฒนาการเด็กได้นะครับ คุณหมอจะได้วินิจฉัยอาการและทำการรักษาได้อย่างถูกต้องทันท่วงที โดยเฉพาะในช่วง 5 ขวบแรก เพราะเป็นช่วงที่สมองของเด็กกำลังพัฒนาอย่างเต็มที่ 
     แต่วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการเกิดออทิสติกเทียมก็คือ การเลี้ยงดูด้วยความรักและความเอาใจใส่ เพราะพี่หมอเชื่อว่า สำหรับลูกๆ ของเล่นหรืออุปกรณ์อะไรก็ไม่มีค่าเท่ากับความรักและความห่วงใยจากพ่อและแม่ 👨‍👩‍👦❤️
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่