JJNY : 4in1 KKPหวั่นศก.ติดลบ1.2%/พท.อัดลอกการบ้านเดิม เพิ่มความจน/ส.ส.ชาติพันธุ์เข้าใจพิมรี่พาย/'ไผ่'เดือด จนท.รัฐยิงขู่

KKP หวั่นโควิด-19คุมไม่อยู่ ต้องล็อกดาวน์ถึงไตรมาส2 เสี่ยงฉุดศก.ปีนี้ติดลบ 1.2%
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/916887

 
 เกียรตินาคินภัทร หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.0% จากเดิมที่ 3.5% จากผลกระทบโควิด-19รอบใหม่ พร้อมปรับลดจำนวนท่องเที่ยวลงเหลือเพียง 2ล้านคน ชี้หากโควิด-19ลากยาว รุนแรง ส่งผลต้องล็อกดาวน์ถึงไตรมาส2ปีนี้ คาดกรณีเลวร้าย ส่งผลฉุดเศรษฐกิจปีนี้ติดลบ 1.2%
 
    ล่าสุด เกียรตินาคินภัทร หรือ KKP Research ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สำหรับปี 2021 ลงจาก 3.5% เป็น 2.0% จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศที่นำไปสู่การปิดเมืองบางส่วน
    โดยประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2021 ปรับลดลงจาก 6.4 เป็น 2 ล้านคน ในกรณีเลวร้ายคาดว่าจะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยทั้งปี
    ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ (1) การลุกลามของการติดเชื้อภายในประเทศ (2) ข้อจำกัดด้านสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วย และ (3) ประสิทธิผลและความครอบคลุมในการแจกจ่ายวัคซีน
 
    สำหรับเศรษฐกิจในไตรมาส 1 จะหดตัวรุนแรง ก่อนจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในไตรมาสถัดไป คาดการณ์ว่า รัฐจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
 
.  ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันกับในไตรมาส 2 ปี 2020 โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวลงรุนแรงและจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ ส่งผลให้ GDP ในไตรมาสแรกมีโอกาสโตติดลบถึง 6.1% และหากการระบาดจบลงตามคาด เศรษฐกิจจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ ในช่วงไตรมาส 2
  
    ทั้งนี้ การประมาณการเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ โดยหากสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อและรุนแรง คาดว่าในกรณีเลวร้ายอาจต้องมีมาตรการที่จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจยาวนานถึง 2 ไตรมาสเพื่อควบคุมการระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้น ภาคการผลิตและการส่งออกอาจประสบปัญหาจากความจำเป็นต้องปิดโรงงานชั่วคราวและการขนส่งสินค้า
 
     อีกทั้งหากวัคซีนไม่ได้ผลตามคาด อาจทำให้ไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยในปีนี้ ในกรณีเลวร้าย KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวต่อเนื่องที่ -1.2% ในปี 2021
 

 
‘โฆษกเพื่อไทย’ อัดรัฐแจกเงินเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือน ลอกการบ้านเดิม เพิ่มเติมคือความจน
https://www.matichon.co.th/politics/news_2525789
 
‘โฆษกเพื่อไทย’ อัด รบ.แจกเงินเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือน ลอกการบ้านเดิม แต่เพิ่มเติมคือความจน
 
เมื่อวันที่ 12 มกราคม น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ข่าวการระบาดของยาเคนมผง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 13 ราย ซึ่งยาเสพติดชนิดนี้ประกอบไปด้วยยาเสพติดหลายประเภท หาซื้อง่ายขายคล่อง สะท้อนให้เห็นว่าแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะเข้ามาบริหารประเทศเข้าสู่ปีที่ 7 มีอำนาจมากล้น แต่ยาเสพติดยังทวีความรุนแรงมากขึ้น วาระแห่งชาติในการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปตำรวจเงียบหาย เข้าตำราหัวไม่ส่ายหางไม่กระดิก เหมือนรัฐไทยไร้ตำรวจ นอกจากปัญหายาเสพติดแล้วยังไม่สามารถสืบหาผู้อยู่เบื้องหลังบ่อนผิดกฎหมายในหลายพื้นที่ และใครคือตัวการที่ปล่อยให้มีการเดินทางข้ามพรมแดนมาอย่างผิดกฎหมายได้ สิ่งเหล่านี้ประชาชนล้วนสงสัยและต้องการให้รัฐสืบสาวไปถึงต้นตอตัวจริง
 
น.ส.อรุณี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในภาพรวมการแก้ปัญหาประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 และการออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างล่าช้าและอยู่ในกรอบมาตรการเดิมๆ อย่างโครงการเราชนะ แจกเงินเยียวยา 3,500 บาท ในระยะเวลา 2 เดือน เป็นเพียงการลอกการบ้านเก่า แถมน้อยกว่าเดิมเพิ่มเติมคือความจน ควรดำเนินการอย่างรวดเร็วกว่านี้ แต่ขณะนี้คนไทยมองไม่เห็นอนาคตผ่านวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศแต่อย่างใด เพราะเป็นผู้นำที่มาจากเผด็จการ ใช้ความกลัวเป็นเครื่องควบคุมคน การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 จึงดูน่ากลัว ตรงข้ามกับข้อมูลของการระบาดในครั้งนี้ แม้เชื้อโรคมีการแพร่ระบาดเร็ว แต่อัตราการตายต่ำเมื่อเทียบกับครั้งก่อน แต่รัฐกลับไม่พยายามสื่อสารให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องเหล่านี้
 
ทั้งนี้ พรรคพท.เห็นว่า ในช่วงของการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยควรปรับรื้อโครงสร้างการผลิตใหม่ โดยเน้นเพิ่มทักษะแรงงาน และการเรียนรู้เทคโนโลยี โดยเสนอให้รัฐใช้มาตรจูงใจลดภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าปลอดเชื้อโรคโควิด-19 ผ่าน Product Coronavirus-Free เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการส่งออกได้ ภายใต้การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารโลกที่มีมาตรฐาน ขณะเดียวกันการเยียวยาในภาพรวมจะต้องครอบคลุมไปถึงกลุ่มเปราะบาง ไม่ใช่สุ่มชิงโชคด้วยการลงทะเบียนรับสิทธิ์ เพราะคนที่ขาดการเข้าถึงเทคโนโลยียังมีอีกมากในประเทศไทย ความยุติธรรมในยามวิกฤติ คือ การเยียวยาคนที่อ่อนแอให้ได้รับสิทธิทุกคน เช่น คนแก่ คนตกงาน หรือผู้ที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ซึ่งรัฐมีข้อมูลจำนวนคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว ต้องได้รับสิทธิ์การเยียวยา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่