การค้นพบทางโบราณคดีในประเทศไทย 2020

“โครงกระดูกวาฬ” อายุประมาณ 2,000–6,000 ปี
Cr.ภาพ thaireportchannel.com/


(การขุดค้นโครงกระดูกวาฬ บ้านแพ้ว ที่สมุทรสาคร เผยแพร่เมื่อ 25 พ.ย. 2563 จาก Facebook/กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)


สื่อต่างประเทศรอบโลกได้เผยแพร่การค้นพบที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563  ที่ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ภายในพื้นที่ของบริษัท ไบรท์ บลู วอเตอร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด จากการขุดบ่อดินแล้วพบโครงกระดูกวาฬขนาดใหญ่ จากนั้นการสำรวจขุดค้นซากวาฬตามหลักวิชาการจึงเริ่มขึ้นโดยความร่วมมือกันของกรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์และความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่

ผลการสำรวจขุดค้นเพิ่มเติมพบว่า ชิ้นส่วนกระดูกวาฬสะสมตัวอยู่ในตะกอนดินเหนียวทะเลโบราณ โครงกระดูกวาฬที่พบเปลี่ยนสภาพจากการแทนที่ของแร่ธาตุอื่น ส่วนใหญ่มีสภาพค่อนข้างเปราะบาง จึงมีการเร่งสำรวจขุดค้น ตั้งแต่วันที่ 9 -15 พฤศจิกายน 2563 และพบว่ามีกระดูกวาฬอีกหลายชิ้นที่เรียงตัวต่อเนื่อง โดยโครงกระดูกวาฬที่พบบนแผ่นดินนี้อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันประมาณ 15 กิโลเมตร

จากการขุดค้นที่มากกว่าร้อยละ 50 ประกอบไปด้วย กระดูกสันหลังที่สมบูรณ์ 19 ชิ้น กระดูกซี่โครงข้างละ 5 ชิ้น สะบักไหล่ และแขน (ครีบ) ด้านซ้าย
ต่อมา มีการสำรวจเพิ่มอีกในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 พบชิ้นส่วนกระดูกวาฬเพิ่มเติมมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ กระดูกสันหลังส่วนลำตัวถึงส่วนคอ กระดูกซี่โครง และกะโหลกพร้อมขากรรไกรสภาพสมบูรณ์

หลังจากนั้นก็นำตัวอย่างไปอนุรักษ์ในห้องปฏิบัติการและเตรียมศึกษาวิจัยเพื่อระบุสายพันธุ์ต่อไป  นอกจากโครงกระดูกวาฬแล้ว บริเวณโดยรอบยังพบซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อาทิ ฟันฉลาม ฟันกระเบน เปลือกหอย ปูทะเล เพรียงทะเล และเศษไม้ และได้นำตัวอย่างเปลือกหอย ซากพืช และกระดูกวาฬ ส่งวิเคราะห์หาอายุด้วยวิธีศึกษาธาตุคาร์บอน-14 (C-14)


Cr.ภาพ workpointtoday.com
การพบโครงกระดูกวาฬในครั้งนี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงการรุกของน้ำทะเลเข้ามาในแผ่นดินเมื่อหลายพันปีก่อน อีกทั้งสามารถศึกษาประวัติและวิวัฒนาการของวาฬและสัตว์ทะเลในอดีต และเห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพจากการพบซากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ร่วมกับวาฬ

นอกจากนี้ ผลที่ได้จากการสำรวจด้วยวิธีการเจาะสำรวจศึกษาชั้นตะกอนดินและเทียบสัมพันธ์ ยังช่วยแปลความหมายว่าด้วยเรื่องสภาพแวดล้อมในอดีต การหาขอบเขตชายทะเลโบราณในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ตลอดจนศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในปัจจุบันและอนาคตที่มีผลจากปัจจัยทางธรณีวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยกรมทรัพยากรธรณีจะดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ต่อไป

การขุดค้นโครงกระดูกวาฬยุติลงเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คืนพื้นที่ให้เจ้าของ พร้อมดำเนินการขนย้ายโครงกระดูกวาฬทุกชิ้นไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่ออนุรักษ์และวิจัยหาสายพันธุ์จากโครงกระดูกวาฬต่อไป





แหล่งโบราณคดีใต้น้ำใหม่ 3 แห่งกลางอ่าวไทย


วันที่ 30 กันยายน 2563 กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร เผยแพร่ข้อมูลในเพจ “กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร” ว่า กลุ่มเครือข่ายดำน้ำลึก (ซึ่งกลุ่มเครือข่ายดำน้ำลึกได้รับแจ้งจากไต๋เรือตกปลาอีกทอดหนึ่ง) นำข้อมูลมาแจ้งว่า พบเนิน-กองภาชนะดินเผาใต้น้ำที่ระดับความลึก 60-75 เมตร บริเวณกลางอ่าวไทย อาจเป็นแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ ประสงค์ให้กองโบราณคดีใต้น้ำเข้าเก็บข้อมูล

โดยในวันที่ 25-30 กันยายน 2563 กองโบราณคดีใต้น้ำ จึงส่งเจ้าหน้าที่ร่วมดำน้ำสำรวจตรวจสอบแหล่งดังกล่าว พบแหล่งโบราณคดีใต้น้ำทั้'สิ้น 3 แหล่ง สันนิษฐานว่าเป็นเรือสำเภา จำนวน 2 แหล่ง เรือจมสมัยหลัง (เรือเหล็ก) จำนวน 1 แหล่ง

กองโบราณคดีใต้น้ำได้เก็บข้อมูลทางโบราณคดีเบื้องต้น และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีใต้น้ำของกองโบราณคดีใต้น้ำ พบว่าเป็นแหล่งใหม่ที่ไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลกองโบราณคดีใต้น้ำทั้ง 3 แหล่ง โดยกองโบราณคดีใต้น้ำได้วางแผนการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม บริหารจัดการมรดกทรัพยากรใต้น้ำ และนำมาเผยแพร่ต่อไปในอนาคต





 ดวงฤกษ์สมัยทวารวดี


(ภาพแผ่น "ดินเผาทรงกลม” ซึ่งคาดว่าเป็น แผ่นฤกษ์ทรงกลม พบที่โบราณสถานโคกแจง จังหวัดนครปฐม)
ภาพจาก กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร


เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานโคกแจง ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี ก่อด้วยอิฐ ขนาดความกว้างฐานด้านละ 7.20 เมตร และมีบันไดที่กึ่งกลางทั้ง 4 ด้าน โบราณสถานโคกแจงนับเป็นโบราณสถานที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับโบราณสถานสำคัญหลายแห่งในเมืองโบราณนครปฐมที่เคยพบก่อนหน้า

จากการขุดแต่งพบว่า ด้านบนสุดของโบราณสถานที่ชำรุดหักพัง มีลักษณะของหลุมที่กรุผนังด้วยแผ่นอิฐ นักโบราณคดีจึงขุดตรวจสอบลงไปจนถึงระดับความลึกที่ 1.20 เมตร จึงพบโบราณวัตถุที่น่าสนใจ คือ แผ่นดินเผาทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 26.2 เซนติเมตร หนา 1.2 เซนติเมตร วางอยู่ในตำแหน่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในพื้นที่กรอบอิฐ

แผ่น ดินเผา นี้มีขีดช่องตารางคล้ายกับดวงฤกษ์แบ่งเป็น 12 ช่องตามแนวรัศมี และขีดเส้นวงกลมซ้อนชั้นจากแกนกลางออกมาเป็นระยะ เกิดเส้นซ้อนทับกันเป็นช่องตารางย่อย ในแต่ละช่องตารางพบตัวอักษรจารกำกับอยู่เกือบทุกช่อง รวมถึงที่ขอบของแผ่นดินเผาก็พบตัวอักษรจารึกเช่นกัน พิจารณารูปอักษรจารึกในเบื้องต้นพบว่า ลักษณะคล้ายกับกลุ่มอักษรสมัยหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14

อย่างไรก็ตาม การอ่านแปลและวิเคราะห์สาระในจารึก จำเป็นต้องพิจารณาจากอักษรที่มีทั้งหมด ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายหลังจากโบราณวัตถุผ่านกระบวนการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์ให้มีความแข็งแรง


โบราณสถานโคกแจง ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ภายหลังการขุดศึกษาทางโบราณคดี
ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ค้นพบแผ่นฤกษ์ทรงกลม ที่มีการจารึกตัวอักษรในวัฒนธรรมทวารวดีในประเทศไทย แต่เดิมเคยพบหลักฐานแผ่นอิฐที่สันนิษฐานว่าเป็นอิฐฤกษ์ที่เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม เป็นอิฐที่ทำลวดลายพิเศษ และที่เจดีย์หมายเลข 1 เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
เป็นอิฐที่ตกแต่งด้วยการเขียนสีเป็นลวดลาย การค้นพบแผ่นฤกษ์มีตัวอักษรที่ใจกลางโบราณสถานโคกแจง จึงเป็นหลักฐานใหม่ที่จะช่วยให้การศึกษาทางโบราณคดีในส่วนของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดีก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง

ต่อมา สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้เคลื่อนย้ายแผ่นดินเผานี้ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ดำเนินการอนุรักษ์ตามกระบวนการ หลังจากนั้นจะนำไปศึกษาวิเคราะห์รูปแบบอักษรที่จารึก และศึกษาด้านอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป





ปลาปอดชนิดใหม่ของโลกอายุ 150 ล้านปี


เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ ณ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ โดยทีมนักวิจัย
ซึ่งนำโดย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องซากดึกดำบรรพ์ปลา ดร.Lionel Cavin พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเจนีวา ร่วมกับ ดร. อุทุมพร ดีศรี อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา และศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ นักธรณีวิทยาชำนาญการ พิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี

ระบุว่า ค้นพบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ปลาปอด ที่ประกอบด้วย ชิ้นส่วนของกะโหลก และแผ่นฟัน ซึ่งคาดว่าเป็นชิ้นส่วนจากปลาตัวเดียวกัน โดยรูปสัณฐานของส่วนกะโหลกและแผ่นฟันปลาปอดที่พบที่ภูน้อย จัดอยู่ในสกุล " เฟอกาโนเซอราโตดัส " แต่มีความแตกต่างจากชนิดอื่น จึงได้ตั้งชื่อปลาปอดที่พบ
ที่ภูน้อย เป็นปลาปอดชนิดใหม่ของโลก ชื่อ “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” (Ferganoceratodus annekempae) ซึ่งชื่อชนิดตั้งเป็นเกียรติให้กับ Dr.Anne Kemp (ดร.แอน เคมป์) ผู้เชี่ยวชาญปลาปอดของโลก

ปลาปอดจัดเป็นปลาโบราณ เนื่องจากพบปรากฏมาตั้งแต่ในยุคดีโวเนียนและยังคงพบในปัจจุบัน ลักษณะของปลาปอดคือ สามารถหายใจด้วยปอดร่วมกับการหายใจด้วยเหงือก ครีบอกและครีบท้องมีลักษณะเป็นเนื้อหุ้ม ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดแบบคอสมอยด์ ฟันมีลักษณะเป็นแผ่นฟัน ซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดสกุลเฟอร์กาโนเซอราโตดัส ถือว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่หายากโดยเฉพาะส่วนกะโหลก 

โดยสกุลนี้มีการพบในประเทศจีน ประเทศรัสเซีย และประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้นการค้นพบปลาปอด “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” ณ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ ภูน้อย อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ จึงมีความสำคัญในการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลก


ปลาปอดแอฟริกา



สำหรับแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อยู่ในพื้นที่ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ในหมวดหินภูกระดึง กลุ่มหินโคราช ยุคจูแรสซิกตอนปลาย มีอายุประมาณ 150 ล้านปี เป็นแหล่งมีการสำรวจขุดค้นมามากกว่า 10 ปี มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่หลากหลาย เช่น ฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เทอโรซอร์ และไดโนเสาร์  ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และจัดว่าเป็นแหล่งที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังมากที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้

ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศให้พื้นที่ภูน้อยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551


ที่มา  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
Cr.https://www.silpa-mag.com/history/article_60629
Cr.https://www.silpa-mag.com/news/article_53017

(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่