JJNY : บริหารหนี้คึกรับหนี้เสียพุ่ง/ตู้เรือขาดลากยาวถึงตรุษจีน/โตโต้ขอบคุณปชช.อุดหนุนกุ้ง/สมชัยแจงคืบหน้าร่างประชามติ

บริหารหนี้คึกรับหนี้เสียพุ่ง
https://www.thansettakij.com/content/money_market/461757

 
ตลาดบริหารหนี้ปีหน้ายังโต จากยอดพักชำระกว่า 3 แสนล้านมีแนวโน้มไหลเป็นเอ็นพีแอล 20-30% “BAM” พร้อมตั้งเป้ารับซื้อ 1.7 หมื่นล้าน “JMT” เตรียมหน้าตัก 6 พันล้าน  ค่าย “ชโย” คาดขยายตัวไม่น้อยกว่า 25% หลังไตรมาส3 โต 58%
 
อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย(Interest Coverage Ratio:ICR) ซึ่งเป็นตัวสะท้อนว่า กิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหนของกิจการไทยลดลงจาก 3.62 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่าในปี 2563 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีจึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม ดังนั้นจึงมีการประเมินว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5% ของสินเชื่อรวมในระบบ 14 ล้านล้านบาท หรือจะคิดเป็นมูลหนี้ราว 4.9 แสนล้านบาทซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับธุรกิจบริหารหนี้ 
 
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ BAMเปิดเผย บริษัทตั้งเป้ารับซื้อหนี้เอ็นพีแอลปีหน้าประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยจะมาจากแผนรับซื้อเอ็นพีแอล 1 หมื่นล้านบาทและการขายสินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ)อีก 7,000 ล้านบาทจากที่คาดว่า จะปิดสิ้นปีนี้ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกินเป้าที่ตั้งไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท ทั้งเป็นผลจัดเก็บและยอดขายเอ็นพีแอล
 
ปีนี้เอ็นพีแอลเข้าสู่ตลาด 7-8 หมื่นล้านบาท ปีหน้าอาจจะมากกว่าเดิม เพราะยังไม่รู้ว่าหนี้ที่ได้รับผ่อนปรนและปรับโครงสร้างหนี้จะกลับมาเป็นหนี้เสียเท่าไร ถ้าคำนวณแบบระมัดระวัง เกิดหนี้เสีย 10%ของยอดหนี้ที่พักชำระหนี้ 7.2 แสนล้านบาท ขณะที่ระบบธนาคารแข็งแรง จึงไม่น่าจะรีบเทขายหนี้ออกจำนวนมาก แต่แนวโน้มภาพรวมหนี้เสียจะขยับขึ้น
 
ด้านกำลังซื้อยังมีความต้องการซื้อทรัพย์แนวราบทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินเปล่า ส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีทีดินเก็บสะสม หันมาซื้อเอ็นพีเอแนวราบ ยกเว้นคอนโดฯ ที่ยังมีสต็อคคงค้าง ขณะที่ราคาทรงตัว แต่จะปรับราคาเพิ่มตามทำเลที่มีความเจริญและตัดถนน เช่น มีนบุรี หนองจอก กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตกตำบลสาย1 พุทธมณฑลสาย2 ฯลฯ ปัจจุบันมีพอร์ตเอ็นพีแอลอยู่ 4.8 แสนล้านบาทและเอ็นพีเอ 6.2 หมื่นล้านบาท โดยสิ้นปีคาดว่า จะมีรายได้รวม ซึ่งเป็นผลเรียกเก็บและยอดขายทรัพย์ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท
 
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด(มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า ปีหน้าบริษัทเตรียมงบประมาณ 6,000 บาท เพื่อรับซื้อหนี้ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ซึ่งสถาบันการเงินจะทยอยขายเอ็นพีแอล บางส่วน โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มรายย่อยภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล แต่ธปท.และสถาบันการเงินช่วยกันดูแลในการจัดชั้นเป็น Stage2 หรือหนี้จับตาเป็นพิเศษราว 3 แสนล้านบาท อาจจะมีบางส่วนผ่อนชำระไม่ไหว ให้ออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่าในปีที่ผ่านมา 
 
เราก็ไม่อยากเห็นเอ็นพีแอล ออกมามากเกินไป เพราะจะสะท้อนเศรษฐกิจไม่ดี แต่ในเชิงธุรกิจรับบริหารหนี้ยังเติบโตต่อได้อีกโดยมองว่า จะเห็นการขายเอ็นพีแอลต่อเนื่องในครึ่งหลังปีหน้า และน่าจะถึงจุดตํ่าสุดของเอ็นพีแอล ซึ่งเจเอ็มทีพร้อมจะรับซื้อหนี้ทุกช่วงอายุ
 
ทั้งนี้ปัจจุบันพอร์ตรวมมูลค่า 1.95 แสนล้านบาท ขณะที่พอร์ตรับจ้างติดตามหนี้พอร์ตอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาททรงตัวจากปีก่อน แบ่งเป็นหนี้เก่าค้างชำระมานานแล้ว ซึ่งปกติลูกหนี้จะมีการจ่ายไม่ตรงเวลาทุกเดือน อาจจะจ่าย 2 เดือนครั้งซึ่งกลุ่มนี้จะไม่กระทบมาก เพราะไม่เหมือนลูกหนี้ที่เคยจ่ายปกติ และลูกหนี้ที่ค้างชำระใหม่ซึ่งส่วนนี้ไม่เติบโตเพราะช่วง 3เดือนที่ผ่านมาทางสถาบันการเงินเรียกบัญชีลูกหนี้กลับไปเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ช่วยประคองลูกหนี้
  
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ CHAYO กล่าวว่า ปีหน้ามองแนวโน้มลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างพักชำระหรือปรับโครงสร้างหนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะค่อยๆ ทยอยเป็นเอ็นพีแอล เมื่อหมดมาตรการผ่อนปรน ซึ่งถ้าเอ็นพีแอลเพิ่ม 3.5% ตามตลาดประเมินไว้ถือว่า มีความสามารถจัดการได้ดีในช่วงโควิด-19 โดยส่วนตัวเห็นด้วยและไม่คิดว่าจะเป็นเอ็นพีแอลรุนแรง 6-7% ที่สำคัญนโยบายของธนาคารเจ้าหนี้หลายแห่งพยายามจะปรับโครงสร้างหนี้อาจจะ 6 เดือน และ 1 ปี โดยผ่อนเงื่อนไขช่วยลูกหนี้
 
ทั้งนี้ลูกหนี้ที่ CHAYO รับจ้างติดตามหนี้ ทั้งมีหลักประกันและไม่มีหลักประกันก็จะช่วยลูกหนี้ตามนโยบายธนาคาร เช่น ปรับเงื่อนไขให้ผ่อนชำระ 5%จากเมื่อก่อนต้องผ่อน 10% เช่นวงเงินกู้ 2 ล้านบาท จ่าย 7,000 ล้านบาท ถ้าเป็นลูกหนี้ปกติ คิดดอกเบี้ย 7%ต่อปี ถ้าลูกหนี้เอ็นพีแอลดอกเบี้ย 12-15%ต่อปี ส่วนสินเชื่อบ้านถ้ากู้คงที่ 3ปี อัตราดอกเบี้ยราว 3%ต่อปี ถ้าระยะเวลากู้เกินจากนี้ อาจคิดดอกเบี้ย 6-7% ต่อปี
 
ปกติสถาบันการเงินจะอั้นพอร์ตเอ็นพีแอลไม่เกิน 4% แต่หากแตะระดับ 4% ก็จะขายออก ซึ่งไตรมาส1 ปีหน้าเอ็นพีแอลจะค่อยๆไหลสู่ตลาด” 
 
สำหรับพอร์ตรับจ้างบริหารมีอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 6,000 ล้านบาทปีก่อน โดยมีจำนวน รายลูกหนี้เพิ่มเกือบ 2 แสนราย ส่วนพอร์ตรับซื้อหนี้ปีนี้แตะ 5.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน 3.6 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งยอดจัดเก็บลดลง 20% และบริการออนไลน์และสินเชื่อปีนี้ไม่เติบโตโดยปล่อยสินเชื่อ เพียง 60 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นความระมัดระวังของบริษัทเองโดยรวมไตรมาส3 ปีนี้ บริษัทเติบโต 58% 
 

 
ตู้เรือขาดลากยาวถึงตรุษจีน เอกชนหวั่นฉุดส่งออกไตรมาส 1
https://www.prachachat.net/economy/news-582148
 
การส่งออกโค้งสุดท้ายของไทยเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียทั้ง 12 ประเทศ มาอยู่อันดับ 6 หดตัว 6.9% จากเดิมที่ส่งออกอยู่ที่อันดับ 3 โดยหากพิจารณาจะพบว่าภาพรวมการส่งออกของไทยหดตัวลงไปในทิศทางเดียวกับ 9 ประเทศ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่ามี 3 ประเทศที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น คือ เวียดนาม ไต้หวัน และจีน (ตามกราฟิก)
 
 
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนพฤศจิกายน 2563 มีมูลค่า 18,932.66 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.65% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 18,880.07 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 0.99% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 52.59 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
ปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกมีทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การส่งออกในหลายกลุ่มสินค้าดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 เดือน
 
สอดคล้องกับหลายองค์กรระหว่างประเทศที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งประเทศต่าง ๆ มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
 
สำหรับภาพรวมการส่งออกในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2563 การส่งออกมีมูลค่า 211,385.69 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.92% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 187,872.73 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 13.74% ส่งผลให้ 11 เดือนแรกของปี 2563 ไทยเกินดุลการค้า 23,512.96 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
ดังนั้น หากในเดือนสุดท้ายไทยสามารถรักษาระดับการส่งออกให้ได้ถึง 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกไทยทั้งปีหดตัว 6.6% แต่หากสามารถผลักดันการส่งออกขยับไปถึง 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งปียอดส่งออกจะหดตัว 6.45% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่วางไว้ว่าจะหดตัว 7%
 
ส่องสินค้า-ตลาดส่งออกสำคัญ
 
หากเปิดไส้ในการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตร มีสินค้าที่ส่งออกหดตัว อาทิ น้ำตาลทราย หดตัว 74.1% อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป หดตัว 10.4% เครื่องดื่ม หดตัว 8.7% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป หดตัว 6.6% ส่วนสินค้าเกษตรที่ขยายตัว เช่น ยางพารา ขยายตัว 32.5% อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 23.6% เป็นต้น
 
ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 6.6% โดยสินค้าที่ส่งออกหดตัว เช่น ทองคำ หดตัว 42.7% สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 11.4% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 7.4% อัญมณี และเครื่องประดับไม่รวมทองคำหดตัว 28.4% ส่วนสินค้าที่ส่งออกขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 13.3% เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ขยายตัว 41.3% โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบขยายตัว 35.5% เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัว 10.8% เป็นต้น
 
สรุปได้ว่าสินค้าที่ยังส่งออกได้ดีเป็นสินค้ากลุ่มเดิม หมวดสินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (work from home) และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ รวมถึงถุงมือยางที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
 
ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐ และออสเตรเลีย ยังคงขยายตัว ขณะที่ตลาดที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง คือ ตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ส่วนตลาดอาเซียน 5 ประเทศ และตะวันออกกลาง เป็นตลาดที่ยังได้รับผลกระทบจากการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา
  
ส่งออกเป็นบวกปี’64
 
สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยปี 2564 จากที่ สนค.ได้หารือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ คาดว่าจะมีการขยายตัว 4% จากปี 2563 แต่จะกลับมาดีขึ้นหลังจากผ่านไตรมาส 1 ไปแล้ว โดยประเมินจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางดีขึ้น จาก “วัคซีนโควิด-19” ที่จะเข้ามาเป็นตัวเร่ง ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นทั่วโลก
 
ทั้งยังมีมาตรการแต่ละประเทศที่ยังคงทยอยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เชื่อว่าจะไม่มีการ “ล็อกดาวน์” ทั้งประเทศอีก
 
อย่างไรก็ตาม ไทยต้องฝ่าฟันปัจจัยเสี่ยงทั้งเรื่องปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ราคาน้ำมัน ปัญหาโควิด-19 รวมถึงทิศทางนโยบายประธานาธิบดี โจ ไบเดน ว่าจะกระทบต่อทิศทางการส่งออกไทยปีหน้า รวมถึงเรื่องการทบทวนโครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP)
 
แน่นอนว่าเพื่อเร่งการส่งออกโค้งสุดท้ายและต้นปี 2564 ประเทศไทยต้องเร่งเครื่องผลักดันการส่งออกให้เต็มที่ ส่วนปัจจัยที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของคู่ค้าความคืบหน้าในการผลิตและกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและการบริโภค และจากการที่ส่งออกไทยหดตัวลงมามาก
 
เนื่องจากหลายประเทศก็ผลักดันสินค้าขั้นกลาง ซึ่งมีความต้องการนำเข้ามากขึ้นทำให้ประเทศในกลุ่มเอเชียผลักดันการส่งออก โดยประเทศไทยต้องเร่งเครื่องสร้างโอกาสและแต้มต่อในการผลักดันการส่งออก
  
เอกชนชี้ 3 ปมกระทบส่งออก
 
มุมมองของ นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เห็นพ้องกันว่า แนวโน้มการส่งออกปี 2564 จะกลับมาเป็นบวก 3-4% หลังจากผ่านพ้นไตรมาส 1 ไปแล้วจะค่อย ๆ เริ่มฟื้นตัว
 
โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการแพร่ระบาดของโควิดกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มอ่อนตัวเล็กน้อยหลังจากข่าวกระแสการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
 
ที่สำคัญคือ ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน (ชอร์ต) ไทยยังไม่สามารถแก้ไขได้ แม้ว่าทางรองนายกรัฐมนตรี และ รมต.พาณิชย์ จะมีการเพิ่มมาตรการให้มีการนำเข้าตู้ และให้ซ่อมตู้เก่าเพื่อมาให้บริการก็ตาม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่