แสงสรวงสัชชนาไลย ตอนที่ ๒

ตอนที่ 2

“หลับสบายไหมคะ คุณหนู” แม่ลำพา ถาม พลางจัดสำรับเช้า 

“ไม่ค่อยหลับเท่าไร คงแปลกที่มังคะ” จันนวลตอบ 

สัมผัสเท้ากับพื้นกระเบื้องดินเผาเก่าคร่ำคร่า รู้สึกสบายเท้าดีจริง พื้นสะอาด แม้มีฝุ่นอยู่บ้าง ทว่าลมโกรก ตลอดชานเรือน 

“คุณหนูอยากได้ แอร์ ไหมคะ จำได้ว่า เมื่อเด็กๆ แพ้อากาศมาก ไม่ชอบห้องแอร์ สิ้นคุณท่านไป แอร์เก่าชำรุด ผุพัง ทิ้งเสีย ก็ยังไม่ได้ติดตั้งใหม่” แม่ลำพาเล่าเรื่อย 

จันนวลส่ายหน้า “กลับมาแค่ ๒ อาทิตย์ อาทิตย์หน้าก็ต้องสะสางเรื่องต่างๆ ที่บ้านคลองชักพระ” จันนวลตอบ 

แม่ลำพา ซึมไป “นึกว่าจะมาอยู่สักพัก” แม่ลำพา อึกอัก รวบรวมความกล้าถามออกไป 

“คุณหนู คิดจะขายที่ทางในสวรรคโลก นี่จริงๆ หรือคะ ไร่อ้อย ฝ้าย เก่าแก่ของท่านเจ้าคุณ และคุณหญิงมากมาย เหลือเกิน นี่ยังมีแถบ คลองมะพลับ เลยขึ้นไปถึงเมืองตรอน อีกนะคะ” 

“ยังไม่รู้เลยค่ะ ว่าจะทำอย่างไร รู้แต่ว่าที่ดินแถวนี่ พวกพี่ๆ เขาไม่อยากได้กัน ขอแลกกับที่ดินของหนูในกรุงเทพกันแทบหมด” จันนวลตอบ พลันนึกระอา บรรดาพี่น้อง ล้วนแล้วแต่อ้างสารพัดเหตุ มาขอแลกที่ดิน แต่ค่าที่เป็นพี่น้องคลานตามกันมา และเห็นแก่หลานๆ จึงยอมแลกไป เหลือให้เก็บกินประโยชน์บ้าง แถวย่านบางกอกน้อย บางระมาด บางขุนศรี 

ข้าวต้มร้อนในชามสังคโลก สีเขียวเข้ม เก่าตามกาล ตรงขอบมีลวดลายสีจาง ให้รู้ว่าผ่านการใช้งานมานมนาน ในสำรับมี ยำผักกาดดอง สีสวยด้วย พริกชี้ฟ้าซอย กุ้งแห้งโขลก เมื่อชิมดู 

“รสดีนะคะ เผ็ดนิด อมเปรี้ยว หวานปลายลิ้น” จันนวลชม 

“สีออกคล้ำหน่อย ป้าใช้น้ำตาลอ้อย ผสมมะนาว พริกขี้หนู เค็มด้วยกุ้งแห้ง ไม่กล้าใช้น้ำปลา เพราะเป็นสำรับเช้า กลิ่นจะแรงไป” แม่ลำพาได้ทีสาธยาย ฝีมือตน 

ไข่ตุ๋น หอมกลิ่นหอมเจียว โรยด้วยเศษเต้าหู้ทอด เนื้อไข่ดูเนียน “เหมือนของแม่ทำ” จันนวลเอ่ย 

“ใช่ค่ะ ตำรับ คุณหอมท่าน ท่านใส่แค่ซีอิ๊ว เท่านั้นเอง” 

เป็นมือเช้าที่จันนวลมีเวลามากที่สุดในรอบ ๕ ปี และ ไม่มี “กาแฟ” เช้า ไม่ว่าจะที่ ปารีส เวียนนา โรม 

“กาแฟ” เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ครัวซองต์ เนย แยม ชอกโกลาต์ เป็นสิ่งจำเจ ที่ช่วยให้รอดตายทุกเช้า 

“คุณหนูอยาก ดื่มกาแฟไหมคะ ป้าก็ลืมไป มาจากเมืองฝรั่ง น่าจะต้องดื่มกาแฟเป็นพื้น” แม่ลำพาเอ่ย 

“ไม่เป็นไรคะ สักพักออกไปตลาด คงมีร้านกาแฟบ้าง” พลางเสถามไปเรื่องอื่น 

“ที่นี่ปลูกอะไรกันบ้างคะ เห็นร่ม ครึ้ม ดีเหลือเกิน” จันนวล เปลี่ยนเรื่องคุยให้ แม่ลำพาคลายกังวลเรื่องที่ดิน 

นายมั่นเดินเข้ามาในครัว “อ้อยเป็นหลักครับ ปลูกกันมานานตั้งแต่ รุ่นพ่อ รุ่นแม่ สมัยก่อน บ้านเรา ค้าพืชไร่กันเป็นล่ำเป็นสัน ถั่วเหลือง ถั่วยี่สง แถบคลองมะพลับนี่ คนเก่าแก่ รู้จักท่านเจ้าคุณใหญ่ และท่านเจ้าคุณน้อย กันทั้งนั้น” 

จันนวลฟังเพลิน จำได้แค่ว่า พ่อเคยเล่าว่า ปู่และทวด ต่างเป็นทหาร พ่อ จึงรับราชการทหารเช่นเดียวกับทั้ง ๒ ท่าน 

“คุณหนูอยากขึ้นไปที่เรือนใหญ่ไหมคะ ป้าเก็บกวาดเรียบร้อยแล้ว เนื้อไม้ผุพังไปบ้างตามเวลา ตามพื้นบ้าง ประตูบ้าง” จันนวลพยักหน้ารับ 

“ดีค่ะ ตอนเด็กๆ ไม่เคยขึ้นไปเลย พี่ๆ ชอบแกล้งหลอกว่าเป็น บ้านผีสิง” 

เรือนใหญ่ อยู่ถัดเข้าไปจากเรือนเล็ก เชื่อมด้วยทางเดินโรยกรวดหยาบ ๒ ข้างทางมีต้นจัน จำปี ส่งกลิ่นหอมฟุ้ง โคนต้นมีโอ่งคละขนาดประดับรายทางไป กระไดขึ้นเรือนมีไม้ดามไว้เสริมให้แข็งแรง พลางคิด 

‘หากเก็บไว้ คงต้องซ่อมใหญ่ เงินทองไม่เป็นปัญหา แต่ ช่าง นิสิ’ 

นึกถึงตอน ช่างฝรั่งมาซ่อมระบบทำความร้อนในตึกเก่า ที่จันนวลพักอยู่ย่านเมืองเก่า ทางเขตไม่ยอมให้ ปรับแต่งใดๆ เลย เพราะเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่คู่กรุงเวียนนา มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ กว่าจะตามหา ช่างกรุแผ่นฝ้าไม้โอคได้ รอร่วม ๓ เดือน จันนวลจำยอม เช่า ห้องพักชั่วคราวอยู่นาน 

เรือนอย่างฝรั่ง นิยมกันมากเมื่อต้นรัชกาลที่ ๖ ออกแบบให้โปร่งโล่ง ระบายความชื้นได้ เข้ากับอากาศเมืองร้อน หากเปิดประตู หน้าต่าง ก็จะ ‘ถึงกัน’ ลมโกรกเย็นสบาย บานประตูไม้มีน้ำตาลอ่อน ตัดกรอบน้ำตาลไหม้ ปิดสนิท ‘ไม่รู้วันเดือนปี’ กลอนทองเหลืองยาวตลอดบานประตูอย่างโบราณ ออกฝืด แต่ไม่เกินจะบิดได้ 

“พวกพี่ๆ ไม่เคยมาเยี่ยมกันเลยหรือคะ” จันนวลเอ่ยขึ้น 

“เคยค่ะ แต่ก็ไม่ได้เข้าไปเพราะ เห็นว่าคุณหนูเป็นเจ้าของเรือน คงเกรงใจ ดูไร่อ้อยนิดหน่อย ก็กลับไป” ลำพาตอบ 

เปิดบานประตูออก นายมั่นเร่งเข้าไปเปิดหน้าต่างให้ระบายลม ชุดรับแขกไม้แบบอย่างจีน เก่าคร่ำ ดูเคร่งขรึม บอกฐานะท่านเจ้าของเรือน ด้านหลัง ผนังสูง ประดับภาพคู่ ‘คงเป็นท่านเจ้าของเรือน’ ในเครื่องแบบทหารเต็มยศ ยืนสง่า มือข้างหนึ่งจับกระบี่ แลอีกข้างหนึ่งแตะพนักงานเก้าอี้ทรงจีน ซึ่งสตรีวัยกลางคน แต่งกายตามสมัยนิยม เสื้อลูกไม้แขนพองนุ่งซิ่นป้ายอย่างสตรีทางเหนือ นั่งอยู่ พาดศอกบนโต๊ะข้าง เก็บเท้าไปด้านหลัง  

ใต้กรอบหน้าต่างด้านหนึ่ง มีตั่งยาว เรียบ พร้อมหมอนขวาน ใบโต 

“สง่า” จันนวลเอ่ย 

“ค่ะ เป็นความภูมิใจของชาวสวรรคโลกในสมัยนั้น อย่างที่รุ่นพ่อรุ่นแม่เล่าต่อกันมา เมื่อครั้งท่านเจ้าคุณใหญ่ รับราชการที่ พิษณุโลก” แม่ลำพา จดจำไว้ขึ้นใจ ตามคำที่ รุ่นเก่า เล่ากันมา “กุญแจไขตู้ ลิ้นชักต่างๆ อยู่ที่ธนาคารนะคะ ทนายทรงยศ แจ้งทางธนาคารแล้วว่า คุณหนูอาจจะมา”

จันนวล คิด “จะมีอะไรเหลืออยู่อีกในเรือนนี้ เครื่องถนิม พิมพาภรณ์ ที่ตกทอดกันมา พวกพี่ๆ สะใภ้ต่างจ้องตาเป็นมัน แต่จันนวลยันเสียงขาด หากอยากได้ที่ดินที่ขอแลกนั้น “อย่ายุ่งกับเครื่องประดับพวกนี้ เพราะหากไม่เอา ที่ดิน ที่นี่ ทุกอย่างของ ที่นี่ ขอให้ปล่อยไว้ที่นี่  เป็นของปู่ย่า เมื่อตายไป ฉันจะมอบให้ พิพิธภัณฑ์​งานศิลปะ ตายแล้วจบกัน ก็คืนไว้ให้เป็นสมบัติแผ่นดิน ศิลปะแห่งชาติ” 

ตู้กระจกใบเขื่อง บานกระจกบางอย่างกระจกฝรั่งโบราณ ดูเคร่งขรึม อยู่ชิดฝาข้างหนึ่ง 

“หนังสือ เต็มเลยค่ะ แม่ลำพา” จันนวลตื่นเต้น ไม่ว่าเมื่อไรที่เห็นหนังสือโบราณ 

“พรุ่งนี้ ให้นายมั่นพาไป ธนาคาร นะคะ ไปรับกุญแจมาไข”  แม่ลำพาเอ่ย พลางหันไปบอกนายมั่น 

“ดีค่ะ อยากรู้จัง สมัยก่อนเขาอ่านเรื่องอะไรกัน เห็นมี ภาษาฝรั่งด้วย” 

เสียงคนตะโกนเรียกนายมั่น จึ่งขอตัวไปดู 

จันนวลเดินสำรวจ ดูความทรุดโทรม หาก “ตัดสินใจ” ซ่อม ก็ต้องเตรียม ปรึกษา ทนายทรงยศ หาช่าง แต่ หาก “ตัดสินใจ” รื้อ  ขายที่ดิน ก็จะต้องเตรียมวางแผนกันต่อไป คนเก่าแก่ คงแบ่งที่ดินไว้ให้ทำกิน เงินก้อนไว้ใช้จ่าย 

มุมลึกเข้าไป มีฉากกั้น บุหวายตาดอกพิกุล ขาดเป็นส่วนๆ ด้วยต้านแดดต้านลมมาหลายสิบปี หรือเกือบจะร้อยปี จึงจะถูก มีโต๊ะหนังสือตัวใหญ่ เนื้อไม้ยังแน่น แม้สีน้ำตาลไหม้ จะหลุดล่อนไปตามเวลา เห็นร่องรอยการใช้งาน และเก้าอี้บุหนังสีเขียว แตกเป็นลาย 

‘คงต้องเปลี่ยน บุหนังใหม่’ จันนวลคิดพลาง 

ลิ้นชักปิดสนิททุกช่อง ‘ไม่มีกุญแจ ก็ทำอะไรไม่ได้’ 

บันไดไม้แผ่นหนาทอดขึ้นชั้น ๒ ของเรือน “ชั้นบนเป็นห้องนอนของ ท่านเจ้าคุณใหญ่ และท่านเจ้าคุณน้อยค่ะ” แม่ลำพาเล่านำ จันนวล ขมวดคิ้ว พยายามนึก 

“ท่านเจ้าคุณใหญ่ เป็น ทวด ของคุณหนูไงล่ะคะ ภรรยาท่านคือ คุณหญิง พรรณ ส่วน ท่านเจ้าคุณน้อย ก็คือ ปู่ ของคุณหนู ภรรยาคือ คุณหญิงวาด ไงเจ้าคะ” 

ความทรงจำเรื่อง บรรพบุรุษ เลือนลางไปตามเวลา จันนวลเอง รู้แต่ว่า ปู่ เสียชีวิตไปนาน เมื่อพ่อยังเล็ก ‘พ่อเอง ก็แทบจะจำปู่ไม่ได้’ 

ห้องนอนทั้งสองท่านนั้น อยู่คนละปีก แม้จะอยู่เรือนเดียวกัน ทว่าแยกเป็นสัดส่วน โถงชั้นบน โปร่ง โล่ง ตั่งไม้ตัวใหญ่ วางชิดมุมไปทางปีก คุณทวด พานกระเบื้องสีเขียวเข้มวางตรงมุมตั่ง ดูสง่า สะท้อนรสนิยมเจ้าของเรือน เหนือตั่งขึ้นไป ภาพสตรีสูงศักดิ ดูสง่า น่าเกรงขาม แขวนไว้ จันนวล คลานบนตั่งเข้าไปใกล้ ใต้ภาพมีลายมือชื่อกำกับ ‘เยาวมาลยนฤมล’ คงเป็น เจ้านาย ชั้นผู้ใหญ่สักพระองค์กระมัง 

“เล่ากันต่อๆ มาว่า คุณหญิงพรรณ มักเอนหลังบนตั่งตัวนี้ค่ะ ท่านเป็นสาวชาววัง แต่ก็สมบุกสมบัน ค้าขายเก่ง ไม่ว่าจะ ข้าว ถั่วเหลือง ถั่วยี่สง ใบตอง คุณหญิงท่าน ส่งขายทาง เมืองพิชัย ตรอน ลงไปถึง พิษณุโลก พานสังคโลกใบนี้ ร่วม ๑๐๐ ปีแล้วนะคะ คุณหอมว่า ‘เคยตั้งวางอย่างไร ให้ตั้งวางอย่างนั้น’ ” แม่ลำพาเล่าเพลิน 

ข้างตั่ง บานประตูผลักออกไป เป็นระเบียง มองไปสุดหูสุดตา ‘เขียว’ ดังแต้มสี จันนวลมองเพลิน สบายตา สูดอากาศสะอาด ทว่า “ชื้นนะคะ แม่ลำพา” 

“ค่ะ แถวนี้ ไม้ใหญ่มีมาก ทั้งฉำฉา ก้ามปู สัก ไผ่ บ้านเราใกล้น้ำยมด้วยคะ ดินแถบนี้ อิ่มน้ำยม จนรู้สึกความชื้นจากดินได้

คุณหนูมองไปทางขวาสิคะ เขียวสุดตา นั่น ไร่อ้อย ของท่านเจ้าคุณใหญ่ เจ้าคุณเล็ก ทั้งนั้น ร่วม ๕๐๐ ไร่ได้กระมัง” 

“มากขนาดนั้นเลยหรือคะ” จันนวลไม่ค่อยรู้อะไร ที่จริง คือแทบไม่เคยสนใจ 

“ค่ะ ไร่นาแถบนี้ สมัยก่อนไม่แพงมากนัก แต่ชาวไร่ชาวนาก็ไม่ค่อยได้เป็นเจ้าของ หนี้สินรุงรัง ได้ไม่คุ้มเสีย ยิ่งพักหลัง โรงงานน้ำตาลเปิดใหม่มีมาก คนรวยต่างถิ่น ก็กว้านซื้อ แล้วจ้างชาวบ้านปลูก แปลกไหมล่ะคะ เป็นลูกจ้างในที่ดินปู่ย่าตายายของตัว” แม่ลำพาเล่า พลางถอนใจ 

“แล้วปล่องไฟหลังเรือนเล็กนั่นล่ะคะ อะไร โรงครัวหรือคะ” จันนวลถาม 

“โรงหีบอ้อยไงคะ สมัยก่อน เตาน้ำอ้อย บ้านท่านเจ้าคุณน้อย นี่ ขึ้นชื่อเรื่องความหวาน สะอาด คุณหญิงวาดท่าน ดูแลเองแทบจะทุกขั้นตอน เมื่อคุณหอมออกเรือนมากับ ท่านนายพล ก็รับทอดมาจากคุณหญิงวาดเต็มๆ” 

ภาพปล่องไฟ และกลิ่นหอมชานอ้อย ค่อยลอยกลับคืนมาในความทรงจำของจันนวล ‘เด็กๆ ไปเล่นที่อื่น เตาร้อนนะ แม่จะตีนะ’ จันนวลนึกถึงเมื่อยังเด็ก มักจะมาแอบจิ้มนำ้อ้อยเคี่ยวกิน บางครั้ง พลาดโดนกะทะร้อน ร้องไห้จ้า แม่จะวิ่งมาดู และ ดุ ไม่ให้ร้องไห้ ‘ซนนัก แม่บอกแล้วนะ นิ่ง ร้องไห้แม่จะตี อีกหน่อยไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ จะต้องช่วยเหลือตัวเอง ห้ามขี้แย ลูกทหาร ห้ามขี้แย’

“ตอนนี้ ยังหีบอ้อยอยู่ไหมคะ” จันนวลถาม 

“บ้านเรา เลิกไปนานแล้วค่ะ ตามยุคสมัย คุณหอม ไม่อยากใช้เครื่องยนต์หีบอ้อย ท่านว่ากลิ่นควัน เจือน้ำอ้อย กรองอย่างไร ก็ยังเหม็น อยากให้หีบอ้อยอย่างโบราณ ก็ต้องมีคน เลี้ยงวัวเลี้ยงควายให้อีก เพราะต้องใช้ “เดินหีบ” คุณหอม ท่านรักทุกชีวิต ในสวรรคโลก นี่ ไม่ว่าคนในเรือน คนงาน สัตว์เลี้ยง 

แต่แถวนี้ ยังทำน้ำตาลอ้อยกันอยู่ค่ะ ปลายปีคึกคักทีเดียว” 

จันนวลฟังเพลิน คิดถึงแม่เหลือเกิน ทั้งรู้สึกผิดที่กลับมาไม่ทัน ดูใจ แม่ 

จันนวลเดินกลับเข้ามาในโถงชั้นบน เงยมองที่เพดาน ‘ช่างคิดทำเสียจริง โคมกระเบื้องสีเขียว ฉลุ โปร่งให้แสงลอดได้ เรียบ โก้’ 

นายมั่นเดินขึ้นมาบนเรือน พอดี “โคมนี่ ก็สังคโลกขอรับ เห็นว่ามาจาก ศรีสัชนาลัย เวลาเปลี่ยนหลอดไฟ กลัวใจเหลือเกินครับ กลัวจะร่วงลงมา” 

จันนวลเดินเข้าไปห้อง ท่านเจ้าคุณใหญ่ เตียงนอนไม้สักขนาดกึ่งใหญ่ ถอดแยกชิ้นส่วนวางพิงไว้ เนื้อไม้ยังสมบูรณ์อยู่มาก พลางนึก ‘พี่ขอเตียงนะ จะเอามาใช้บ้านใหม่ที่เพิ่งสร้าง ไม่ต้องซื้อหา’ พี่ แจ้ง พี่ชายของจันนวลขอเอาดื้อๆ มาทางโทรศัพท์ 

“ไม่ หากพี่แจ้งอยากได้ เตียง ตู้ ขอให้พี่รับบ้านสวรรคโลกไปทั้งหลัง อะไรกัน กินขนม กินแต่ไส้ แป้งห่อขนมใครจะกิน ที่ดินย่าน ราชวัตร ที่แลกไป จันว่า พอซื้อเตียงสัก ๑๐๐ หลังมังคะ” จันนวลต่อปากต่อคำ แม้ไม่ตั้งใจให้เจ็บช้ำน้ำใจ แต่อยากว่า กระเทือนไปถึงพี่สะใภ้ 

“เครื่องแต่งตัว คุณทวด คุณย่า แบ่งไหม” พี่จง พี่ชายคนรอง ถามมา 

“พี่จะใส่เองไหม หรือเอาไปให้ใคร แม่เขียนไว้ชัดเจน หากใครรับบ้านสวรรคโลกไป ให้รับไปทั้งหมด พี่จงคงเข้าใจดี สายสร้อยดอกรัก เส้นนั้น เมียพี่ไม่เข็ดหรือ ใส่แล้วเหมือนโดนรัดคอ เจ้าของท่านไม่เต็มใจ จะกล้าหรือ” นิสัยพูดตรง ไม่อ้อมค้อม จันนวลแก้ไม่หายเสียที 

“กุญแจหีบไม้สักนั่น ป้าถือไว้นะคะ ในนั้นมีผ้านุ่งของท่านผู้หญิง และของคุณหอม ต้องคอยเอามาผึ่ง พับ ผืนไหม ใช้ไม่ได้แล้ว ป้าแยกเก็บไว้อีกหีบ รอคุณหนูมาสั่งการ” แม่ลำพาแจกแจง 

บานตู้เสื้อผ้าคงทำขึ้นจากไม้แผ่นเดียว ด้วยไม่มีรอยต่อไม้ใดๆ สีซีดจางบ้าง แต่ยังคงทนแข็งแรง 

“บานพับตู้ สนิมจับเขรอะ สมัยก่อน คุณหอมใช้เก็บเครื่องนอน หมอนผ้าห่ม เปื่อยยุ่ยเก็บทิ้งไปแล้ว กุญแจสนิมจับมาก เปิดไม่ได้ คุณ กรัน ว่าจะมาซ่อมให้ หากต้องการ” 

จันนวลเอะใจ “คุณ กรัน นี่ ใจดีจังนะคะ คง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่