แสงสรวงสัชชนาไลย ตอนที่ ๑

แสงอาทิตย์กระทบยอดเจดีย์ดอกบัว สีทองอร่ามตา ‘ศิลปะสุโขทัย’ จันนวลนึกขึ้น ตามความรู้ที่เคยได้ร่ำเรียนมา นึกแปลกใจ ทำไมจึงมีวัดอยู่ใกล้สนามบินขนาดนี้ เมื่อเครื่องบิน ลดระดับลงจอด จึงรู้ว่าเป็นงานศิลปะ ของสนามบิน ตัวอาคารเปิดโล่ง หลังคาทรงไทย เรียบง่าย ไม่ตกแต่งหรูหรา รำคาญตา ‘บ้านเมืองเจริญขึ้นมากจริง กี่ปีแล้วที่ไม่เคยกลับมาที่นี่ นับแต่ พ่อแม่ จากไป’ จันนวล นึกพลาง 

เมื่อรับกระเป๋า สัมภาระใบย่อม ‘คงพอสำหรับ ๑ สัปดาห์’ เดินออกมาทางหน้า หญิงสูงวัย ท่าทางใจดี เดินตรงเข้ามา ยิ้มรับ น้ำตาคลอ 

“คุณหนู จัน ใช่ไหมคะ ลูก คุณท่าน คุณ หอมจันทน์” แม่ลำพา ยิ้ม น้ำตาที่คลอหน่วยตา รื้น ไหลตามแก้ม พลางเสียงเครือ 

“ตามั่น มายกกระเป๋า คุณหนูเร็ว”  

ชายวัยสูงวัย ทว่ากระฉับกระเฉง รั้งผ้าคาดเอว กลางเก่ากลางใหม่ กระชับเข้าตัว กุลีกุจอเข้ามา 

“ไม่เป็นไรคะ ใบไม่ใหญ่เท่าไร หนูถือได้” จันนวล ปฏิเสธด้วยเกรงใจ ทั้งเติบโตอยู่ในต่างประเทศนาน เรื่องยกกระเป๋า หรืออะไรจิปาถะ ล้วนทำเองเสียสิ้น 

“เป็นหน้าที่ครับ คุณหนู” นายมั่น ยิ้ม ยิงฟันขาว “ผมเป็นคนของคุณท่าน รับใช้กันมานาน ลูกของคุณท่าน ก็ต้องดูแลอย่างดี” 

จันนวล จำทั้ง ๒ ท่านได้เพียง ลางๆ ไม่รู้ว่าใครคนไหนชื่ออะไร สมัยก่อน คนในบ้านมากมาย เข้าออก ทั้งแม่ยังส่งไปเรียนที่กรุงเทพตั้งแต่ ๑๐ ขวบ 

รถตู้คันย่อม ใหม่สะอาดเอี่ยม นำทั้ง ๓ ไปยังเรือน หอมจันทน์ เมื่อรถแล่นข้ามสะพาน

“สวยจัง โค้งน้ำสวยจังคะ เหมือนเมืองนอกเลย” จันนวล อุทาน 

“แม่น้ำยมค่ะ คุณหนู” แม่ลำพา เอ่ยขึ้น น้ำเสียงสดใส 

พลางนายมั่น ต่อคำ “คุณหนูเห็นยอดพระธาตุ นั่นไหมขอรับ ทางเข้าบ้านเราต้องเห็นพระธาตุ” เสียงนายมั่น พลันมีชีวิตชีวา เหมือนสายน้ำ ยม ที่ชุ่มชื้น 

ตลิ่ง ๒ ฝั่งสูงลาด เห็นคนทำสวนเชิงตลิ่งอยู่ประปราย รายไป สุดคุ้งน้ำ ออกดอกผลงดงาม 

“อิ่มน้ำยมขอรับ” นายมั่นว่า 

ทางเข้าเรืองหอมจันทน์ มีบ้านน้อยใหญ่เรียงราย ร่มครึ้มด้วยไม้นานา 

“เงียบเชียบเสียจริง โจรขโมยไม่ชุกชุมหรือคะ” จันนวลเอ่ยถาม ด้วยเห็นว่าร้างคน 

“ไม่มีหรอก ขอรับ บ้านเดียวกันทั้งนั้น เข้าออกจำหน้าค่าตากันได้ เลยถัดเข้าไป ก็บ้านคุณ กรัน ขนาบ บ้านเรา ปลอดภัย ไม่ต้องกลัวขอรับ” 

นายมั่น ชะลอ หยุดรถ ที่กลางสะพาน จันนวล ทอดสายตาไกล พลางคิด 

‘คิดถูกหรือผิดนี่ หรือเราโง่เอง ที่เลือกเอา ที่ดินผืนนี้ แทนที่จะเป็นที่ดินในกรุงเทพ พี่น้องต่างพากันร่ำรวย ขายที่ทางสร้างตึกสูงกันหมด’ 

“ถึงบ้านแล้วค่ะ คุณหนู” เสียงแม่ลำพากระตุ้นให้หลุดจากความคิดนึก 

“เร็วดีนะคะ  เอ สนามบินสุโขทัยทำไมใกล้บ้านจัง นี่ สวรรคโลก ใช่ไหม หนูจำอะไรไม่ค่อยได้” จันนวลเอ่ยถามระคนแปลกใจ 

“ค่ะ สนามบิน สุโขทัย อยู่ที่ สวรรคโลกนี่ หากจะไปเที่ยวเมืองเก่า ต้องนั่งรถเข้าไปอีกสัก ๔๐ กิโล” 

“อ่อ” จันนวลพนักหน้ารับ 

“ผมเอารถไปคืน คุณกรันก่อนนะ ขอรับ เดี๋ยวมายกกระเป๋าขึ้นเรือน” นายมั่นเอ่ย 

“ไม่มีใครทางนี้ นับแต่คุณท่านเสีย รถคันเดิมก็ผุพังไป จะซื้อหาใหม่ก็คงไม่ได้ใช้ นายมั่น เขามีกะบะ ทางทนายคุณท่าน ซื้อไว้ให้ใช้ ดูแลบ้าน ไร่” แม่ลำพาเล่า 

“หากจำเป็น ก็คงต้องซื้อ รบกวนคนอื่นๆ เขาจะว่าเราได้คะ” จันนวลเอ่ย 

ร่างสูงโปร่ง ในวัยต้น ๔๐ จันนวล ดูทะมัดทะแมง สง่าสมวัย มั่นใจ แลสะดุดตา  พลางเดินดู สิ่งต่างๆ ที่ชานบ้าน ไม่รู้ตัวว่า สายตาคู่หนึ่งจับจ้องมาจาก บ้านที่เยื้องกัน

“ป้าจัดห้องที่เรือนเล็กไว้ เพราะเรือนท่านเจ้าคุณน้อย ทรุดโทรมมาก กลัวจะไม่สะดวก นี่คุณ กรัน ว่าจะหาช่างมาช่วยซ่อมให้ ช่างฝีมือ สมัยนี้หายากเสียจริง เรือนโบราณ ต้อง “มือถึง” จริง จึงจะซ่อมได้” 

จันนวล พยักหน้ารับ ด้วยไม่อยากให้ยุ่งยากอะไร 

เรือนเล็ก เรือนหอ เมื่อพ่อแม่แต่งงาน ปลูกอย่าง เรือนต้น ทางใต้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 

‘เอาลูกสาวเขามาอยู่ต่างถิ่น อย่างน้อยปลูกเรือนอย่างเมืองใต้ ให้เขาอยู่ รู้สึกไม่ไกลบ้าน’ พ่อมักพูดแบบนี้ 

เรือนเล็ก กับ บ้านคลองชักพระคลับคล้ายกัน แลเรือนเล็ก จึงไม่เหมือน เรือนท้องถิ่นในสวรรคโลก

ล้างมือไม้ หน้าตาพอให้ สบายตัว พลันได้กลิ่นหอม ไหม้อ่อน 

“น้ำข้าวตังค่ะ คุณหนู ป้าต้มไปถวายท่านเจ้าอาวาส ที่วัดคุ้งวารี ฝั่งตรงข้าม และที่วัดกลางเลยเข้าไปในเมือง ดื่มอุ่นๆ ดีกว่าเย็น ลองดูนะคะ” 

ในถาดน้อยนั้น มีโถปริกใบเล็ก “ผงอ้อย” หรือนำ้ตาลแดง และก้านอบเชยวางเคียงกันมา 

พลันนึกถึงวัยเด็ก จันนวล มักไปขโมยหยิบ งบน้ำอ้อย และน้ำตาลแดงในครัวมากินเล่น จนแม่ดุ

“แม่จะตีนะ ถ้าฟันผุ” 

พลันน้ำตารื้น แม่หลับไป ขณะที่ จันนวลกำลัง ล่าม ในงานประชุมสำคัญ ภาคพื้นยุโรป กว่าจะติดต่อ รู้เรื่อง หาเที่ยวบินที่เร็วที่สุด เวลานั้น ก็ ๒ วันผ่านไป 

‘ไม่ทันดูใจแม่’ จันนวลยกมือเช็ดน้ำตา 

น้ำข้าวตัง แม่มักต้มถวายพระ ตำรับสืบกันมาจากครอบครัวทางพ่อ คุณหญิง วาด คุณย่า ภรรยา  พันเอก พระเดชาสวรรคโยธิน เวลาดื่ม จะโรยผงอ้อยแลชงด้วยก้านอบเชย ขับรสข้าวตังต้มให้หอม แลชุ่มคอ “ให้กำลังอย่างวิเศษ” คำของแม่ 

เรือนเล็ก ไม่ได้เล็กตาม ชื่อ ทว่าเล็กด้วย สถานะ เรียกให้ต่างจาก เรือนโก้ฝรั่ง หรือ เรือนใหญ่ของท่านเจ้าคุณเดชาฯ ซึ่งหลบลึกเข้าไป เรือนเล็กอยู่เยื้องมาด้านหน้า ห้องนอนของ แม่ และ พ่อ ยังดูสะอาด เสียที่ว่า จำอะไรไม่ได้มากนัก 

เมื่อเด็กจำได้เพียง แม่ไปรับจากบ้านยายในคลองชักพระบ้าง เป็นครั้งคราว ช่วงปิดภาคเรียน จับรถไฟมา สวรรคโลก เยี่ยม บ้านพ่อ ด้วย พลโท ขวัญสรวง สวรรคโยธิน รองแม่ทัพภาค ประจำที่มณฑลทหารพิษณุโลก 

“ตระกูล พ่อ เป็นนายทหารประจำมณฑลฝ่ายเหนือนี่มา ๓ ชั่วคน “เจ้าถิ่น” พ่อ มักเอ่ยด้วยความภูมิใจ  

รถไฟ เมื่อ ๒๐ กว่าปีล่วงมา เป็นเรื่อง ทั้งตื่นเต้นและน่าเบื่อ สำหรับเด็กๆ “เมื่อไรจะถึงล่ะ แม่” จันนวล จะถูกดุทันที “ห้ามบ่น อยากพบคุณพ่อ ต้องไม่บ่น ลูกทหารต้องไม่โยเย” 

“แม่ลำพาคะ สถานีรถไฟ อยู่ไกลไหม หนูจำได้ว่า เคยนั่งเมื่อเด็ก” จันนวลเอ่ย 

“ไม่ค่ะ ไม่ไกล เข้าในตัวเมืองหน่อย ไว้พรุ่งนี้สิคะ ตอนไป ธนาคาร ป้าจะพาไปดู” 

จันนวล ได้แต่มองผ่านๆ รายรับจากค่าเช่าที่ ทำไร่อ้อย และอื่นๆ ของพ่อ ตกทอดกันมา ก็มีมากพอจะอยู่ได้สบายๆ แต่ การงานจันนวล เองก็เลี้ยงตัวได้ จนแทบไม่เคยสนใจ ทรัพย์สินทางนี้เลย 

ในครัว ดูเหมือนโลกหยุดไว้แค่นั้น เตาหุงต้ม ยังคงเป็น เตาถ่าน ๒ หัว ปัดกวาด สะอาดเอี่ยม กะทะทองเหลือง หลายขนาด เรียงแขวนเป็นระเบียบ ทั้งหม้อเคลือบอย่างโบราณ เตาไฟ ยังร้อนกรุ่น ด้วยแม่ลำพาเพิ่ง ต้มน้ำข้าวตัง 

“เตาแกส ก็มีค่ะ อยู่ข้างเรือน พักของป้า เห็นคุณหนูมา เลยใช้ครัวคุณท่าน คิดถึง คุณท่านจริงๆ” 

จันนวลได้แต่ยิ้ม นั่งลงที่ ยกพื้น แผ่นไม้กระดาน เรียงต่อกัน สีซีดจาง เนียนมือ 

สมัยก่อน คนทำครัวกันเต็ม เดินเข้าออกกัน ทั้งวัน ยิ่งช่วงหีบอ้อย กลิ่นชานอ้อยไหม้ไฟ หอมฟุ้งกันไปทุกเรือน 

“คุณหนูรับมื้อเย็นที่นอกชานนะคะ ป้าจะเตรียมให้” 

จันนวล ไม่บอกปัด เกรงจะเสียน้ำใจ ทั้งรู้ตัวว่า กินยาก 

“ขอเป็น ข้าวต้ม อ่อนๆ นะคะ มื้อเย็น ปกติ จะไม่ทานมาก กับข้าว ขอแค่ ยำกุ้งแห้ง ไข่เค็มง่ายๆ ก็พอค่ะ” 

ย่ำค่ำ รอบบ้าน เงียบสงัด เห็นเพียงแสงไฟวอมแวมมาทางข้างบ้าน ‘กรัน’ คงเป็นบ้านที่นายมั่นไปยืมรถมาใช้  เตียงนอนเดิมของพ่อแม่ หนาหนัก เนื้อไม้สีซีดจางไปตามกาล ผ้าปูขาวนวล ลมพัดพอสบายตัว 

‘กลิ่นลูกจัน’ จริงสิ ข้างห้องแม่มีต้นจัน เมื่อยังเด็ก จันนวลมักเก็บมาเล่นทำกับข้าวกับปลา และบังคับให้เด็กๆ ลูกคนงานในโรงหีบอ้อยกิน

ความทรงจำลางเลือน ค่อยๆ กลับมา คล้ายภาพปะติดปะต่อ 

หลับไปด้วยเหนื่อยอ่อน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่