JJNY : ส.นักกม.สิทธิฯจี้รัฐยุติใช้ความรุนแรง/พิชายวิเคราะห์ส.ว./จาตุรนต์เล่าความไม่เป็นธรรม/ชวนต่อสายสุรยุทธ์–สมชายแล้ว

"ส.นักกฎหมายสิทธิฯ" จี้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม พร้อมจี้สอบ ผบก.น.6
https://www.matichon.co.th/politics/news_2434531
 

 
“ส.นักกฎหมายสิทธิฯ” จี้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ออกมาชุมนุม จี้สอบวินัยผบก.น.6 ฐานสั่งฉีดน้ำใส่ ปชช.
 
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 63 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ออกแถลงการณ์ ให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ จากกรณีใช้รถฉีดน้ำแรงดังสูงฉีดใส่ประชาชน ในการชุมนุมกลุ่มราษฎรที่บริเวณหน้าศาลฎีกาเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (8 พ.ย. 2563) รวมถึงกรณีเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 ที่มีการฉีดน้ำที่มีแรงดันสูงและมีสารเคมีใส่ผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย
 
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มีความเห็นว่า การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ นั้น ยังถือเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนพึงกระทำได้ ตามที่ถูกรับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฯ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การอาศัยเพียงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภายในประเทศเกี่ยวกับการชุมนุมบางประการ ไม่อาจทำให้การชุมนุมนั้นกลายเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ จนเป็นเหตุให้รัฐใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมได้
  
การแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ ในฐานะสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของประเทศให้ดำรงอยู่อย่างสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง โดยไม่ได้ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ยุยงให้ใช้ความรุนแรงต่อเป้าหมายนั้น (hate speech) ย่อมเป็นเสรีภาพในการแสดงออกที่ประชาชนพึงกระทำได้ และการที่เจ้าหน้าที่รัฐฉีดน้ำแรงดันสูงต่อผู้ชุมนุมที่ยังชุมนุมโดยสงบนั้น ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศรับรองไว้ ทั้งยังไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
 
สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ระบุข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 3 ข้อ คือ 
 
1.รัฐต้องยุติการใช้อำนาจที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การความคิดเห็น และการชุมนุมโดยสงบของประชาชนทุกกลุ่ม โดยต้องอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากภายนอก
 
2. หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายต่อการกระทำดังกล่าว โดยขอให้มีการสอบสวนทางวินัยโดยเร่งด่วนกับ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 ในฐานะผู้บัญชาการควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการสั่งการให้มีฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุม เพื่อไม่สร้างการสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และป้องปรามและป้องกันไม่ให้มีการกระทำของเจ้าหน้าที่เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
 
3. เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ เป็นอิสระ และปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อผดุงความยุติธรรมและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของบุคคลกลุ่มใดที่มุ่งใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองกับผู้เห็นต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรมให้ได้รับควมน่าเชื่อถือและเชื่อมั่นจากประชาชนอีกครั้ง
 

 
'พิชาย'วิเคราะห์ ส.ว.กล้าค้านดำริบิ๊กตู่ปมแก้รธน. อาจสะท้อน ส.ว.เริ่มไม่ให้ค่านายกฯ
https://www.matichon.co.th/politics/news_2434634
 
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต นักวิชาการ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะประธาน ครป. โพสต์ข้อความแสดงความเห็นทางการเมืองประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ ระบุว่า
  
พล.อ.ประยุทธ์ เคยแถลงว่า จะสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ ม.256 แต่ ส.ว. กลุ่มหนึ่งที่ตั้งมากับมือ และ ส.ส. บางส่วนของพรรคพลังประชารัฐ กลับร่วมมือกันเสนอญัตติเพื่อขออนุมัติจากรัฐสภาให้ส่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. 256 ต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ
 
มีทางเลือกในการอธิบายเพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์นี้อย่างน้อย 2 อย่าง
 
1 กรณีพลเอกประยุทธ์ไม่รู้เห็นกับการกระทำของ ส.ว.และ ส.ส.กลุ่มนี้ก็หมายความว่า พลเอกประยุทธ์หมดอำนาจ ขาดบารมีทางการเมืองลงแล้วอย่างสิ้นเชิง ทำให้คำพูดที่คนได้ยินกันทั่วประเทศไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อการกระทำของ ส.ว. และ ส.ส.กลุ่มนี้อีกต่อไป พวกเขาจึงทำเรื่องที่ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อภาพลักษณ์ของพลเอกประยุทธ์ และทำให้พลเอกประยุทธ์กลายเป็นอะไรสักอย่างที่ไร้ตัวตน หากเป็นแบบนี้ มีความเป็นไปได้ว่า ส.ว.และ ส.ส.กลุ่มนี้จะประเมินว่า พลเอกประยุทธ์อาจอยู่ในอำนาจอีกไม่นาน ดีไม่ดี อาจไม่เกินวันที่ 2 ธันวาคมนี้ก็ได้ พวกเขาจึงไม่ให้ค่าคำพูดของพลเอกประยุทธ์ อีกต่อไป
 
2. กรณีพลเอกประยุทธ์รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของกลุ่มนี้ ก็หมายความว่า พลเอกประยุทธ์เป็นคนใช้ไม่ได้อย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการสมคบคิดกันหลอกลวงประชาชนนั่นเอง แต่ผมคิดว่า กรณีที่สองมีความเป็นไปได้น้อย น่าจะเป็นกรณีแรกเสียมากกว่า
 
ก็ต้องดูกันต่อไปว่า สมาชิกรัฐสภาที่เหลือ จะลงมติอนุมัติให้ส่งญัตตินี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่
 
หากไม่อนุมัติก็แสดงให้เห็นว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภายังมีสำนึกผิดชอบชั่วดี รู้ร้อนรู้หนาวกับวิกฤติของบ้านเมือง ไม่เต้นไปตามการกระทำและเจตนาที่น่าสงสัยของกลุ่ม ส.ว. และ ส.ส. ที่เสนอญัตติ
 
แต่หากอนุมัติผ่านไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็แสดงว่ามี กลุ่มอำนาจรัฐมีเจตนาแตกหัก เพื่อรักษาตำแหน่งและอำนาจเอาไว้ โดยไม่สนใจใยดีว่า ผลที่ตามมาจะสร้างความเสียหายแก่สังคมมากเพียงไร
 
ได้แต่หวังว่า สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่จะมีสำนึกรับผิดชอบต่อบ้านเมืองและสันติสุขของประชาชน โดยร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

https://www.facebook.com/PhichainaBhuket/posts/193131552269091
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่