Survivor โลกในมุมมองของ Value Investor

กระทู้คำถาม
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Survivor
​คนที่เป็น VI นั้น  ผมคิดว่าน่าจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งนั่นก็คือ  เขาเป็น  “Survivor” หรือคนที่สามารถ “เอาตัวรอด” ได้ใน  “สถานการณ์ที่ยากลำบาก”  อย่างเช่นในเรื่องของการลงทุนในปัจจุบันนั้น  ถ้าใครที่พอร์ตลงทุนโดยรวมขาดทุนหรือเสียหายไม่เกิน 20-25% และไม่ได้ทำให้ “ชีวิต” เปลี่ยนแปลงไปมาก  ก็ต้องถือว่ายังเป็น Survivor  เหตุผลก็เพราะเศรษฐกิจไทยตกอยู่ในช่วงภาวะ “วิกฤติ”ตลาดหุ้นเองก็เคยตกลงมาหนักกว่า 30% ในช่วงแรก  และแม้แต่ในช่วงล่าสุดก็ยังตกลงมากว่า 20% จากต้นปี  อย่างไรก็ตาม  นี่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าเขาจะยังอยู่รอดได้ไปถึงสิ้นปีหรือในอนาคตข้างหน้าสำหรับวิกฤติรอบนี้  เหตุผลก็เพราะ  วิกฤติรอบนี้ก็ยังไม่จบ  ดัชนีตลาดหุ้นไทยเองก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวและกลับทิศไปแน่นอนแล้วอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นในตลาดหุ้นที่ก้าวหน้ากว่าอย่างสหรัฐหรือจีนหรือตลาดหุ้นที่ด้อยกว่าอย่างตลาดหุ้นเวียตนาม
​ในความคิดของผม  คำว่า Survivor ในเรื่องของการลงทุนนั้น  เป็นเรื่อง “ระยะยาว” ที่คน ๆ หนึ่งวางแผนการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งหรือความมั่นคงทางการเงินแทบจะ  “ตลอดชีวิต”  โดยที่แผนของเขานั้นจะต้องประกอบไปด้วยกลยุทธ์หรือแนวทางหลัก ๆ  3 ประการอย่างที่ผมพูดเปรียบเปรยเสมอมาว่าเหมือนกับ  “แก้ว 3 ประการ” หรือ“ตะเกียง 3 ดวง” ที่ประกอบไปด้วยแก้วดวงแรกคือ  การหาเงินมาลงทุนซึ่งก็มักจะมาจากการทำงานและเก็บออมมาลงทุน  แก้วดวงที่ 2 ก็คือ  การลงทุนอย่างถูกต้องและชาญฉลาดที่จะสร้างผลตอบแทนทบต้นที่สูงต่อเนื่องยาวนาน  และแก้วดวงสุดท้ายก็คือ  การลงทุนด้วยระยะเวลาที่ยาวนานที่สุด  ทั้งสามเรื่องนั้น  ถ้าทำได้ดี  คือแก้วทุกดวงต่างก็สุกสว่าง คือมีเงินมาลงทุนเพิ่มมากขึ้น  ได้รับผลตอบแทนการลงทุนสูง  และลงทุนต่อเนื่องยาวนานไปเรื่อย ๆ  เราก็มักจะมีความมั่งคั่งหรืออย่างน้อยมีความมั่นคงในชีวิตทางการเงิน  แต่ถ้าหากว่าแก้วทุกดวงต่างก็ “ริบหรี่” อนาคตทางการเงินก็ไม่สดใส
​ในช่วงเวลาที่ยาวนานระหว่าง  “การเดินทาง” หรือการสร้างและสะสมความมั่งคั่งนั้น  ทุกคนต่างก็จะต้องประสบกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับความสำเร็จที่ตามมาจากความพยายามและความตั้งใจของเรา  พูดง่าย ๆ  ก็คือ  พอร์ตลงทุนของเราก็จะมีขึ้นมีลง  และถ้าเราลงทุนด้วยหลักและวิธีการที่ดีมากกว่าที่แย่  มันก็มักจะค่อย ๆ  เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อเวลาผ่านไปมากพอ  เราก็มักจะเห็นถึงความสำเร็จของการลงทุน  เช่น  มีเงิน 1 ล้านบาทแล้ว  บางคนก็อาจจะมีเงิน 10 ล้านบาทแล้ว  บางคนคิดว่าตนเอง  “มีอิสรภาพทางการเงินแล้ว” บางคนเป็นเศรษฐี 100 ล้านแล้ว  อาจจะมีบางคนเป็นเศรษฐี 1,000 ล้านหรือมากกว่านั้น  “สถานะใหม่” แบบนี้  อาจจะไม่สามารถ “ยืน” อยู่ได้  ถ้าพอร์ตถูกกระทบแรงจนเสียหายหนัก  ส่วนใหญ่มาจากสถานการณ์ที่เลวร้ายจนเป็นวิกฤติ  และถ้ามันไม่สามารถ “ฟื้น” กลับมาได้อีกเลย  นั่นก็คือ  เราไม่สามารถ Survive หรือ “เอาตัวไม่รอด” ความสำเร็จที่ได้มานั้น  กลายเป็น “ภาพลวงตา”
​ประวัติศาสตร์ของนักลงทุนระดับเซียนของโลกที่พอจะจดจำกันได้ก็น่าจะมีหลายคน   คนที่ดังที่สุดและครั้งหนึ่งในชีวิตแทบจะรวยที่สุดในโลกคนหนึ่งก็คือ  เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ ซึ่งในช่วงชีวิตของเขานั้น  เขาล้มแล้วลุกมาหลายครั้ง  ถ้าจะเรียกการล้มแล้วกลับมาได้ทุกครั้งว่าเป็น Survivor เขาก็เป็น Survivor ที่น่าทึ่งมาก  เพราะแทบทุกครั้งที่ประสบกับ “วิกฤติ” นั้น  เขาแทบจะ  “หมดตัว” แต่เขาก็สามารถ “ระดมเงิน” มาเล่นใหม่เสมอจนเอาความมั่งคั่งกลับคืนมาได้  กลับคืนสถานะ “เซียน” หรือ “จ้าวพ่อ” ได้ทุกครั้ง  อย่างไรก็ตาม  ในที่สุดเขาก็ “ไม่รอด” ความมั่งคั่งสูญสลายหมดและต้องฆ่าตัวตายในวาระสุดท้าย  จากการศึกษาดูวิธีการลงทุนของเขาแล้ว  ผมคิดว่า   เขาไม่ได้วางแผนหรือกลยุทธ์รองรับกับสถานการณ์ที่เลวร้ายดีพอที่จะเป็น  Survivor เลย  ทุกการ “เดิมพัน” ของเขานั้น  มักจะเป็นการ “เล่นหมดหน้าตัก” ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาทำผลตอบแทนมหาศาลและทำให้เขาอยู่  “เหนือโลก”  แต่ก็มีความเสี่ยงแบบสูงสุด และนั่นก็คือ  “จุดตาย” ของเขา
​เซียนหุ้น  “VI” แนว “ไฮเท็ค” คนหนึ่งคือ  Bill Miller อดีตผู้จัดการกองทุน Legg Mason ที่โด่งดังมากเมื่อ 20-30 ปีก่อนนั้น  เคยทำผลตอบแทนการลงทุนที่ดีมากจากการเป็นนักลงทุน VI ที่บุกเบิกและเน้นการลงทุนในหุ้นไฮเท็คในยุคแรก ๆ  แต่เมื่อหุ้นไฮเท็คล่มสลายในช่วงปี 2000  ผลงานของเขาหลังจากนั้นก็ตกต่ำลง  ชื่อเสียงของเขาที่หลายคนยังเรียกว่าเป็น  “นักลงทุนในตำนาน” ตกต่ำลงไปมาก  ทุกวันนี้แม้ว่าเขาจะยังรวยและบริหารกองทุนอยู่ในวัย 70 ปี และเป็นเซียนบิทคอยด้วย  แต่เมื่อเปรียบเทียบกับชื่อเสียงช่วงที่เขาโด่งดังที่สุดหรือเปรียบกับนักบริหารกองทุนอย่างปีเตอร์ ลินช์ ที่ครั้งหนึ่งน่าจะมีฝีมือหรือชื่อเสียงพอ ๆ  กัน  ก็ต้องบอกว่าห่างชั้นกันมาก  พูดโดยสรุปก็คือ  เขาไม่ใช่ “Survivor”
​ผมยกตัวอย่างของคนที่ไม่สามารเอาตัวรอดได้ในระดับที่เป็นเซียนหรือผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลกเพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับนักลงทุนว่า  แม้แต่เซียนก็  “ตาย” ได้  ไม่ต้องพูดถึงเซียนระดับประเทศอย่างของไทย  ซึ่งเท่าที่ผมเคยได้สัมผัส  หลาย ๆ  คนนั้น  ในช่วงเวลาหนึ่งย้อนหลังไปซัก 10-20 ปี ผมเคยเห็นว่าเขาเคยทำผลงานระดับสุดยอด  พอร์ตหรือความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็นเศรษฐีได้ในช่วงเวลาอันสั้น  จับหุ้นตัวไหนตัวนั้นก็วิ่งติดจรวด  การเพิ่มขึ้นของมูลค่าพอร์ตนั้น “Sky is not the limit”  หรือเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัดทั้ง ๆ  ที่เงินเริ่มต้นที่ใช้ในการลงทุนก็ไม่ได้มากนัก  อย่างไรก็ตาม  หลังจากนั้น  เมื่อเกิดสถานการณ์เลวร้ายในตลาดและกระทบหุ้นที่ถือ  ความมั่งคั่งก็แทบจะ “หายวับ” ไปกับตา  เขาไม่ใช่ “The Survivor” ชื่อเสียงในแวดวงนักลงทุนหายไปจนคนรุ่นหลัง ๆ  ไม่รู้จัก
​คนที่จะเป็น Survivor นั้น  ผมคิดว่าเขาจะต้องคิดถึงเรื่อง “ความเสี่ยง” มากกว่าคนปกติ  แน่นอนว่า  คนที่ประสบความสำเร็จสูงหรือสูงมากนั้น  ต่างก็เป็นคนที่  “กล้าเสี่ยง” บางคนอย่างเจสซี่ ลิเวอร์มอร์นั้น  “กล้าเสี่ยงอย่างบ้าคลั่ง” ความสำเร็จนั้น  เจ้าตัวก็มักจะคิดว่าเป็นเพราะความสามารถหรือฝีมือของตนเองประกอบกับความกล้าเสี่ยงในสิ่งที่เขาคิดว่าเป็น  “Calculated Risk” หรือ “เสี่ยงอย่างชาญฉลาด”  น้อยคนจะบอกว่าเป็นเรื่องของ “โชค” ดังนั้น  คนที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนโดยทั่วไปจึงอาจจะไม่ได้คิดถึงความเสี่ยงเท่าที่ควร  และนั่นก็ทำให้ผมคิดว่าพวกเขาจำนวนมากอาจจะไม่ใช่  “The Survivor”  จริง ๆ  คนที่จะเป็น Survivor นั้น  เมื่อสถานะหรือความมั่งคั่งถึงระดับหนึ่ง  เขาก็จะพยายามรักษาสถานะนั้นไว้มากกว่าความต้องการที่จะสร้างความร่ำรวยหรือมีสถานะสูงขึ้น  ดังนั้น  กลยุทธ์การลงทุนก็จะเน้นความปลอดภัยมากขึ้น  เขาคิดว่าเขาจะต้อง Survive ในยามที่สถานการณ์เกิดเลวร้ายลงอย่างแรง
​แนวทางลดความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดก็คือการ “กระจายความเสี่ยง” อย่าถือหุ้นน้อยตัวเกินไปและหุ้นตัวใหญ่ที่สุดที่ถือก็จะต้องไม่ใหญ่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต  เช่น  กรณีที่ผมถือว่าค่อนข้างสุดโต่งก็คือ  ตัวเดียวเกิน 50% ของพอร์ต  นอกจากการกระจายโดยตัวหุ้นแล้ว  การกระจายตลาด เช่น ถือหุ้นต่างประเทศด้วยก็อาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคนี้ที่แม้แต่ประเทศก็เป็นความเสี่ยงที่เราเรียกว่า “Country Risk” และก็เช่นเดียวกัน  การถือแต่หุ้นก็เป็นเรื่องที่อันตรายแม้ว่าจะเป็นการลงทุนระยะยาวมากที่บอกว่าหุ้นมีความเสี่ยงน้อยถ้าถือเป็นสิบ ๆ  ปีขึ้นไปเป็นต้น ดังนั้น  การถือทรัพย์สินอื่นเช่น  พันธบัตรหรืออสังหาริมทรัพย์ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ควรทำ
​ผมเองนั้น  เนื่องจากอายุที่มากขึ้น  และการที่พอร์ตโตมากพอที่จะรองรับความต้องการทุกด้านทั้งของตนเองและทายาทถึงรุ่นหลานแล้ว  ความต้องการที่จะสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมาก ๆ  ก็น้อยลงไปมาก  ดังนั้น  เป้าหมายสำคัญก็คือ  การพยายามรักษาสิ่งที่มีอยู่ที่ได้สร้างสมมานาน  สิ่งที่ผมพยายามทำเวลานี้ก็คือ  ไม่พยายาม  “บุก”  ในด้านของการลงทุนที่ผมไม่เข้าใจดีซึ่งผมคิดว่ามีความเสี่ยงสูง  พยายามลดความคาดหวังผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคต  ผมคิดว่าเวลาทองหรือทศวรรษทองของการลงทุนและของ VI นั้น  มันจบลงมาอาจจะหลายปีแล้ว  ตอนนี้สิ่งที่จะต้องคิดมากกว่าก็คือเราจะ “Survive” ได้อย่างไรในสถานการณ์ที่อาจจะเลวร้ายต่อไปอีกนานแสนนานอย่างที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก  ผมจะยังคงต้องติดตามสถานการณ์ไปเรื่อย  ๆ  และคิดถึงสิ่งที่ต้องทำเพื่อที่จะเอา “ตัวรอด” ตลอดไป
—————————-

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่