สูตรเซียน VI รุ่นต่อไป ถูกที่-ถูกเวลา-ถูกตัว : โลกในมุมมองของ Value Investor โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

มองย้อนหลังกลับไปในตลาดหุ้นไทยถึงปีประมาณ 2544-2545 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยเริ่มฟื้นตัวเต็มที่หลังวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 และเป็นปีที่แนวคิดการลงทุนแบบ “Value Investing” เริ่มได้รับการยอมรับในหมู่ “นักลงทุนรุ่นใหม่” อย่างกว้างขวาง

มาจนถึงวันนี้ ก็ต้องยอมรับว่า นักลงทุน VI ของไทยประสบความสำเร็จสูงมาก จำนวนไม่น้อยทำผลตอบแทนการลงทุนปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์แบบทบต้นและทำให้รวยเป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีและเป็นที่ยอมรับว่าเป็น “เซียน VI” ในวันนี้

ความสามารถในการเลือกหุ้นโดยใช้หลักการแบบ VI ดูเหมือนว่าจะเป็น “ปัจจัยหลัก” หรือปัจจัยประการเดียวที่ทำให้ VI ประสบความสำเร็จ หรืออย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ “เซียน VI” พูดถึงเวลาคุยหรือให้สัมภาษณ์พิธีกรหรือผู้สื่อข่าวเมื่อถูกถามว่าอะไรคือ “สูตรแห่งความสำเร็จ” ของการเป็น VI
แทบจะไม่มีใครพูดถึงสภาวะของตลาดหุ้นหรือแม้แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจว่ามันเอื้ออำนวยต่อการลงทุนหรือไม่ คนสนใจแต่เฉพาะตัวหุ้นหรือกิจการที่กำลังเติบโตและเอาชนะคู่แข่งที่บริหารงานด้วยแนวทางการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ที่กำลังค่อย ๆ ล้มหายตายจากอานิสงค์ส่วนหนึ่งจากภาวะวิกฤติการเงินในปี 2540

ในช่วงเวลานั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องง่ายมากที่จะเลือกซื้อหุ้น “VI” ซักตัวหนึ่ง ที่ราคาหุ้น “เริ่มขยับ” และเริ่มเป็นที่กล่าวขวัญถึงใน “หมู่นักลงทุน VI” ที่เริ่มรวมตัวกัน “ค้นหาหุ้น” ที่กำลังเติบโต ราคาไม่แพง และเข้าเกณฑ์ของการเป็น “หุ้น VI” ซื้อซักพักราคาหุ้นก็มักจะ “วิ่ง” ตามยอดขายสินค้าที่กำลังโตและกำไรที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจหรือ GDP ที่กำลังดีขึ้นจากติดลบเป็นบวก 3-4% และกำลังกลายเป็นปีละ 6-7% ในปี 2545-2547

หุ้นที่วิ่งขึ้นไปก็มักจะถูกเทขายในเวลาไม่นาน เหตุผลก็คือ VI ได้กำไรมากแล้วจากหุ้นตัวนั้นและต้องการเงินสดที่จะเข้าลงทุนในหุ้นตัวใหม่ที่ “ยิ่งสดใสกว่า” ในการลงทุนรอบใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น เงินที่มีอยู่ดูเหมือนว่าจะไม่พอที่จะทำกำไรให้มากยิ่งขึ้นไปอีก VI จำนวนมากจึง “ลงทุนร้อยเปอร์เซ็นต์” ในตลาดหุ้น และเป็นการลงทุน “เพื่อชีวิต” และหวังที่จะมีอิสรภาพทางการเงินหรือรวยไปเลย

ปี 2008 หรือปี พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นปีวิกฤติซับไพร์มทำให้กระแส VI สะดุดลงไปบ้างแต่ก็เพียงปี-สองปี ที่ GDP ไม่โตเลย แต่หลังจากนั้นก็กลับมาโตในระดับกว่า 7% อีกครั้ง เช่นเดียวกับดัชนีตลาดหุ้นที่ฟื้นตัวกลับมาและกลับมาเป็น “All Time High” หรือสูงที่สุดใหม่เกิน 1,000 จุดจาก 450 จุดในช่วงวิกฤติ และเป็นจังหวะเวลาที่ “VI รุ่นใหม่” ที่อายุน้อยและมีพ่อแม่ที่ฐานะการเงินดี มีการศึกษาสูงและสนใจการลงทุนในตลาดหุ้น

ช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลเองก็เริ่มเข้ามาส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้นเพราะเห็นว่าเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญเช่นเดียวกับเป็นแหล่งออมเงินให้กับประชาชนที่อาจจะเริ่มแก่ตัวลงและต้องเตรียมตัวสำหรับการเกษียณในอนาคต มาตรการสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการอนุมัติให้มีกองทุนระยะยาวที่ลงทุนในหุ้นหรือ LTF ที่ให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีรายได้ส่วนบุคคล และต่อมาก็คือการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 20% ต่อปี ตั้งแต่ช่วงปี 2551 ถึง 2556

ด้วย “Timing” ที่เหมาะสมต่อการลงทุนในตลาดหุ้น “สมบูรณ์แบบ” แบบนั้น คือการที่เศรษฐกิจกลับมาโต และเม็ดเงินที่ถูกส่งเสริมหรือควบคุมให้พุ่งเข้ามาสู่ตลาดหุ้น ทั้งจากการที่ประชากรแก่ตัวลงและเตรียมออมเงินเพื่อการเกษียณ รวมถึงการที่รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ดัชนีตลาดหุ้นก็วิ่งขึ้นเป็น “4 ปีทองของการลงทุน”

ในช่วงเวลานั้น “VI รุ่นใหม่” ที่มักจะไม่มีพันธะอะไรเลย แต่มีผู้สนับสนุนคือพ่อแม่ที่มีฐานะดีจึงสามารถ “Take Risk” หรือกล้าเสี่ยงได้เต็มที่ จำนวนมากนอกจากจะลงทุนเต็มร้อยแล้วก็ยังกู้ยืมเงินจากพ่อแม่มาลงทุนพร้อม ๆ กับการใช้มาร์จินในหุ้นเต็มพิกัด และเท่านั้นยังไม่พอ เขายังกล้าที่จะลงทุนหุ้นเพียงตัวหรือสองตัวประเภท “All In” ด้วยเงินทั้งหมด ในหุ้นบางตัวที่เขามีความมั่นใจเป็นอย่างสูง

เรื่องราวของคนหนุ่มที่ “จำนองบ้าน” เพื่อเอาเงินมาซื้อหุ้นแบบตัวเดียว แล้ว “เกือบพลาด” นั้น เป็นเรื่องราวที่ “สร้างแรงบันดาลใจ” ให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะหนุ่ม ๆ ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ในตลาดหุ้นได้ก่อให้เกิด “เซียน VI” โดยเฉพาะรุ่นใหม่หลาย ๆ คน เม็ดเงินหรือขนาดของพอร์ตในช่วงพีกนั้นต้องพูดว่า “มหัศจรรย์” และที่ผมเคยอ่านและศึกษามานั้น แทบจะไม่มี VI ประเทศไหนเลยที่ทำได้

แต่ความสำเร็จทั้งหมดนั้น ดูเหมือนจะค่อย ๆ หายไปในช่วงอาจจะประมาณอย่างน้อย 5 ปีที่ผ่านมา สำหรับบางคนก็อาจจะ 10 ปีแล้วที่ผลงานการลงทุนไม่ได้ดีอย่างที่เคยเป็น “เซียน VI” หลาย ๆ คนก็ค่อย ๆ “หายไป” จากวงการ คนที่เคยมี “แมจิก” คือเล่นตัวไหน ตัวนั้นก็วิ่งระเบิด เดี๋ยวนี้ก็อาจจะไม่เป็นแล้วเพราะคนอาจจะไม่เชื่อ ผลตอบแทนการลงทุนเองนั้น ก็ดูเหมือนว่าน่าจะถดถอยลงมากแม้ว่าเราอาจจะไม่มีวันรู้ว่าเป็นอย่างไร

การเลือกหุ้น “ถูกตัว” ซึ่งเป็น “ซิกเนเจอร์” ของ “เซียน VI” นั้น ผมคิดว่าคงจะยากขึ้นมาก เหตุผลสำคัญก็คือ หุ้นของกิจการที่ดีเด่นหรือเติบโตเร็วและแข็งแกร่งในประเทศไทยอาจจะมีน้อยลงมากแล้วเนื่องจากความถดถอยของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มอิ่มตัวลงอย่างรวดเร็ว และแม้ว่าบางคนจะยังเชื่อหรือบอกว่าประเทศไทยก็ยังมีกิจการที่ดีเด่นอยู่และแม้ว่าอาจจะยังเล็กก็ยังพอหาได้

แต่ประเด็นของผมก็คือ โอกาสที่เราจะมองพลาดก็คงจะมากกว่าเดิม นอกจากนั้น ความโดดเด่นถ้าจะมีก็อาจจะไปไม่ได้ไกลมากเมื่อคำนึงถึงว่าเศรษฐกิจไทยโตช้าลงและขาดความสามารถในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ บริษัทจะโตไปมาก ๆ ได้อย่างไรในยุคที่สินค้าใหม่ ๆ ของโลกต่างก็เน้นความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีชั้นสูงที่ประเทศไทยขาดแคลน

นั่นนำมาถึงความคิดของผมว่า ถ้าจะประสบความสำเร็จในการลงทุนมากจริง ๆ ในยุคต่อไปเราจะต้องเปลี่ยนแนวทางใหม่ของการลงทุนโดยที่จะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินที่เอื้ออำนวยเช่นเดียวกับตัวหุ้นที่มีคุณภาพดีและมีโอกาสเติบโตและแข็งแกร่งในอนาคต และนั่นนำมาถึง “สูตรการลงทุน” ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จสูงนั่นคือ

เราจะต้องลงทุน “ถูกที่” ในตลาดหุ้นของประเทศที่จะเติบโตเร็วต่อไปอย่างน้อยซัก 10 ปี ซึ่งเวลานี้ก็อยู่ในแถบเอเชียตอนใต้ เช่น อินเดีย เวียตนามและอาเซียนยกเว้นไทยและเมียนมาร์ และต้องเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ หรือประเทศที่มีความก้าวหน้าสูงและมีความสามารถที่จะสร้างบริษัทระดับโลก อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา จีน ใต้หวัน และประเทศในยุโรปหรือสแกนดิเนเวียบางประเทศ เป็นต้น

เราจะต้องลงทุน “ถูกเวลา” ซึ่งก็คือช่วงเวลาที่จะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในตลาดเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะมาเพราะเหตุใด อาจจะเป็นเรื่องของดอกเบี้ยที่ลดลง หรือการที่ประเทศมีเม็ดเงินเหลือเพื่อเตรียมเกษียณ หรืออาจจะเป็นเพราะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อหวังผลตอบแทนที่ดีอย่างในกรณีของเวียตนามที่นักลงทุนอาจจะอยากมาหาผลตอบแทนที่ดีได้เมื่อตลาดหุ้นของประเทศได้รับการยอมรับจาก MSCI เป็นต้น
สุดท้ายถึงจะเป็นการลงทุนหุ้น “ถูกตัว” นั่นก็คือ การ “เลือกหุ้นแบบ VI” ที่มีการวิเคราะห์หามูลค่าพื้นฐานและซื้อหุ้นในราคาที่มี “Margin of Safety” เพียงพอ

ทั้งหมดนั้นจะทำให้ได้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีในระยะยาว และการเลือกตลาด “ถูกที่”จะเป็นสิ่งที่จะบอกถึงความสำเร็จค่อนข้างมาก การเข้าไปลงทุนแบบ “ผิดเวลา” บางทีก็ไม่ได้ทำให้เสียหายมาก เพียงแต่ผลตอบแทนอาจจะไม่ดีเท่าที่คิด

การลงทุนถูกเวลานั้น สำคัญมากเช่นเดียวกัน ถ้าถูกที่ ถูกเวลา อย่างเช่นสมมุติว่าลงทุนในเวียตนาม อาจจะในช่วงนี้ แล้วก็ปรากฏว่าตลาดหุ้นเวียตนามได้รับการปรับอันดับเป็นตลาดเกิดใหม่ภายในเวลาอันสั้น ก็อาจจะทำให้หุ้นขึ้นแรงและทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมในเวลาอันสั้น

การลงทุน “ผิดตัว” นั้น ในบางกรณีก็อาจจะไม่รุนแรงนักในตลาดที่ถูกที่และถูกเวลา เพราะในสถานการณ์แบบนั้น หุ้นเกือบทั้งหมดก็อาจจะไปได้ดี ถ้าลงทุนไม่ถูกตัวก็ได้ผลตอบแทนไม่มากนักแต่ก็อาจจะไม่เสียหาย ในกรณีที่เลือกไม่เป็นและลงทุนหุ้นตามดัชนี ผลตอบแทนก็จะไม่เลวนัก

แต่ถ้าลงทุนหุ้น “ถูกตัว” ด้วย เช่น เป็นหุ้นที่เติบโตเร็ว แข็งแกร่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่กำลังโตเร็ว ผลตอบแทนที่ได้ก็จะ “ระเบิด” อาจจะทำให้ “รวยไปเลย” และคนที่ทำก็อาจจะกลายเป็น “เซียน VI” รุ่นใหม่ ซึ่งก็อาจจะคล้ายกับสถานการณ์ในตลาดหุ้นไทยในช่วงหลังปี 2551 ที่ได้สร้างเซียน VI ในปัจจุบัน ที่อาจจะกำลังกลายเป็นอดีต

23 พ.ย 2567
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อ้างอิง https://www.blockdit.com/posts/6741a3cfc5d700bda410fd24

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่