เปิดประชุมวิสามัญ ถอยคนละก้าวและใช้สภาผู้แทนราษฎรในการแก้ปัญหาเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ (The Mario)

กระทู้สนทนา
สิ่งที่ต้องการตอนนี้คือให้ ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ประธานสภา รวมถึง 250 สว. หันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทย เบื้องต้นคือทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตยให้มากกว่าทุกวันนี้ ให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกผู้บริหารประเทศของตนจริงๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผู้ชุมนุมหลายคนไม่ได้มีส่วนในการร่วมโหวตเพราะช่วงที่เขาโหวตกันวัยยังไม่ถึง เมื่อเห็นปัญหาในทางปฏิบัติหลังจากนำมาใช้จริงและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในคนรุ่นเขาแน่นอนว่าเขาย่อมไม่อินในทางบวกสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

      มีหลายอย่างที่ฝ่ายทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาร่วมกันแก้ไขเช่น

- ที่มาของ กกต. จะต้องไม่เชื่อมโยงกับ 250 สว ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช ทั้งคณะ เพื่อความเป็นกลางในการจัดเลือกตั้ง

- กติกาการเลือกตั้งที่ต้องชัดเจนไม่ตุกติก รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กำหนดว่าอย่างไร เท่าไหร่ก็ต้องว่าตามนั้น ไม่ควรอยู่ดีๆเอาสิ่งที่ไม่ได้บัญญัติไว้มาสร้าง ส.ส. ปัดเศษขึ้นมาเพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคใดพรรคหนึ่ง

- มารยาททางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงให้คนในประเทศและต่างประเทศได้มองเห็นว่าประเทศไทยมีการเมืองที่ดี พรรคที่ชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งโดยนับจากจำนวน ส.ส. ที่ได้ ควรได้รับสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลก่อนเป็นลำดับแรก มารยาททางการเมืองนี้สมควรถูกบรรจุเข้าไปเพิ่มในรัฐธรรมนูญ

- กลุ่ม 250 สว. ไม่ควรถูกแต่งตั้งมาจาก คสช ทั้งหมด และไม่ควรได้สิทธิ์ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก หัวหน้า คสช ที่มีส่วนในการคัดเลือก สว. เป็นแคนดิเดตนายกฯจากพรรคการเมืองที่ลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ควรมีความเชื่อมโยงกันโดยสิ้นเชิง และ สว. ควรทำหน้าที่นิติบัญญัติให้ดีที่สุดเพื่อถ่วงดุลย์อำนาจอธิปไตยของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่สมยอมไปด้วยกันแล้วมาโหวตคนที่แต่งตั้งตนเองเข้ามาให้มาเป็นนายกฯ มันไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองอื่น

- ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ไม่ควรมีความเชื่อมโยงใดๆหรือถูกแต่งตั้งมาจาก 250 สว. ซึ่งจะเชื่อมโยงไปเป็นลูกโซ่ถึงหัวหน้า คสช. คือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ปัจจุบันดำรงค์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญควรเป็นองค์กรตุลาการตัวกลางที่คอยถ่วงดุลย์อำนาจอธิปไตยของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเท่าเทียม ไม่ควรมีจุดเชื่อมโยงใดๆกับนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เพื่อทำหน้าที่ตัดสินความทางการเมืองด้วยความเป็นกลางให้มากที่สุด ไม่เช่นนั้นก็จะยังคงติดข้อครหาจากประชาชนว่าเป็นองค์กรที่เอียง เลือกปฏิบัติ ตัดสินความผิดให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และคอยตีตราความชอบธรรมให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งที่พยายามเชิดชูว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงแต่ย้อนแย้งในเชิงปฏิบัติ

       ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุมก็ควรเรียกร้องในจุดที่เป็นไปได้ และมีส่วนร่วมในการหาทางออกร่วมกันไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาไล่กันอย่างเดียว หากมีการตกลงกันเรื่องที่แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยของฝ่ายสภาให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย  หากมีการปล่อยตัวแกนนำผู้ชุมนุมเพื่อลดบรรยากาศที่ไม่ดีทางการเมือง ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ควรยุติการชุมนุมและเฝ้าดู-รอคอยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเรียกร้องประชาธิปไตยกันจริงๆ ข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องยุบสภาหรือลาออกจึง "ไม่ควรมี" เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้กับระบอบประชาธิปไตยในวันนี้และวันข้างหน้า พลเอกประยุทธ์ไม่ต้องยุบสภาหรือลาออก แต่ควรใช้เวลาที่เหลืออยู่ในรัฐบาลทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยเพื่อรอการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

       รัฐธรรมนูญฉบับนี้หากจะแก้ไข-เพิ่มเติม ไม่ใช่มีแค่มาตรา 256 เท่านั้น แต่ยังมีมาตราอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องให้กระโดดไปกระโดดมาให้ดูแก้ไขยากขึ้นไปอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความจริงใจในการแก้ปัญหาของประเทศ ฟังเสียงของประชาชนยึดความถูกต้องเป็นธรรมและผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลักมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน ทุกอย่างก็ล้วนมีการแก้ไขได้

       นายกฯและคณะรัฐมนตรี ประธาน-รองประธานสภาฯ ส.ส.ในสภาทั้งหมด สว.ทั้งหมดที่ได้รับการแต่งตั้งมาจาก คสช. รวมถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากกลุ่ม สว. อีกที พวกคุณคืออำนาจอธิปไตยทั้งสามฝ่ายที่มีหน้าที่ร่วมกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่เป็นปัญหาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ควรให้ความสำคัญกับประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนที่ได้รับ รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาเพื่อผูกติดอำนาจไว้กับฝ่ายตนเพียงฝ่ายเดียวมันไม่เป็นธรรมกับประชาชนในภาพรวม กระบวนการสรรหาผู้บริหารประเทศด้วยเสียงของประชาชนโดยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายรัฐบาลเองด้วยมันไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเลยสำหรับประเทศที่มีการเมืองที่ดี ไม่ต้องไปกลัวอะไรกับกติกาที่เป็นกลางและสู้กันด้วยความสุจริต รู้แพ้รู้ชนะอย่างมีศักดิ์ศรี ทุกขั้วการเมืองมีโอกาสชนะการเลือกตั้งทั้งสองฝ่ายแต่ต้องอยู่ภายใต้กติกาที่เป็นธรรมให้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้เป็นคนตัดสิน 

       โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์(หากยังคงเล่นการเมืองต่อ) และพรรคพลังประชารัฐจะยังสามารถชนะการเลือกตั้งได้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปแม้จะเปลี่ยนกระบวนการให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็ตามเพราะฐานคะแนนเดิมยังมีบวกกับคะแนนจากกลุ่มประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมไปถึงผลจากโครงการต่างๆของรัฐบาลที่ส่งผลไปในทางบวกแก่กลุ่มเป้าหมายของโครงการ กลุ่มคะแนนเหล่านี้น่าจะเพียงพอที่จะทำให้พลังประชารัฐสามารถเอาชนะเลือกตั้งได้ในครั้งต่อไป  การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในการจัดการเลือกตั้งและกระบวนการสรรหาตัวนายกรัฐมนตรีย่อมปลดข้อครหาด้านความเป็นเผด็จการออกไปจากตัวพลเอกประยุทธ์และรัฐบาลเองลงไปได้ และประเทศเดินหน้าต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอรัฐธรรมนูญใหม่  หากมาตราใดมีปัญหาและส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนในทางปฏิบัติ ณ ช่วงเวลานั้นก็จึงแก้ไขเป็นรายมาตราไป จึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ พรรครัฐบาลรวมไปถึงพรรคร่วมต่างๆได้โปรดพิจารณา

       รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ถูกเรียกว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง จึงไม่ควรสอดไส้การเอารัดเอาเปรียบทางการเมืองให้เกิดความย้อนแย้งในเชิงปฏิบัติ มันขึ้นอยู่กับพวกคุณแค่ไม่กี่ร้อยคนว่าจะเลือกทำอะไรต่อจากนี้เพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติและระบอบการเมืองไทยเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

*******************

ขอทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ไขและจบลงด้วยดี
สมาชิกหมายเลข 4561745 (The Mario) , 25 ตุลาคม 2563
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่