กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น กรมชลประทานจับตาสถานการณ์น้ำ 24 ชม.

วันที่ 9 ต.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย นั้น กรมชลประทานได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์น้ำ 24 ชม. ตามข้อสั่งการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานประชาสัมพันธ์ประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักทั่วประเทศ
โดยล่าสุด นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พายุดีเปรสชันได้อ่อนกำลังลงกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง คาดว่าจะเคลื่อนตัวผ่านภาคใต้ตอบบนเข้าสู่ทะเลอันดามันในวันนี้ (9 ต.ค. 63)

ส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ กรมชลประทานได้ดำเนินการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด และให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับสถานการณ์
โดยการเฝ้าระวังติดตามปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 90 พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม (Dynamic Operation Curve) รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับฝนที่ตกลงมา โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน
สำหรับการเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้ ฝนที่ตกในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำน่าน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์มากขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้จะได้ผันน้ำบางส่วนเข้าทุ่งบางระกำ และจุดเก็บน้ำอื่นๆ แล้วก็ตาม
อีกทั้ง 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ได้ลดการระบายน้ำลง เพราะต้องการเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึง แต่ฝนตกชุกในแถบลุ่มน้ำปิง ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร และพิจิตร ซึ่งอยู่ด้านท้ายเขื่อน มีน้ำ Side Flow (น้ำนอกเหนือการควบคุม) ค่อนข้างมาก
และน้ำทั้งหมดจะไหลมารวมที่แม่น้ำเจ้าพระยาจังหวัดนครสวรรค์ จำเป็นที่จะต้องระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ในส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า น้ำที่ว่านี้จะระบายเข้าทุ่งลุ่มต่ำภาคกลางได้หรือไม่ นั้น ขอชี้แจงว่ายังไม่สามารถระบายน้ำเข้าทุ่งได้ เพราะยังมีการปลูกข้าวเกือบเต็มพื้นที่ และบางพื้นที่เพิ่งจะเริ่มเพาะปลูก เนื่องจากปีนี้ทำนาล่าช้ากว่ากำหนดจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น

https://www.prachachat.net/economy/news-534485
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่