JJNY : ปชช.คาดหวังจากครม.ใหม่│วิกฤติสื่อโทรทัศน์ ผู้ชมลด│เตือน11จว.เตรียมปรับเพิ่มระบายน้ำ│โคราชระดมรับบริจาคช่วยน้ำท่วม

ประชาชนคาดหวังจาก ครม.ชุดใหม่ เร่งแก้ปัญหา ‘ปากท้อง’ เป็นอันดับแรก
https://www.dailynews.co.th/news/3789114/
 
 
สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจประชาชนคาดหวังจาก ครม.ชุดใหม่ เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ค่าครองชีพ เป็นอันดับแรก การทำงานของรัฐบาลดีขึ้น
 
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ความคาดหวังของประชาชน ต่อ ครม.ชุดใหม่” ระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคม 2567 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,164 คน สำรวจผ่านทางออนไลน์และภาคสนาม พบว่า กลุ่มตัวอย่างอยากให้ ครม. ชุดใหม่ควรต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ร้อยละ 74.43 และคาดหวังว่าจะทำงานดีขึ้น กระทรวงต่าง ๆ ร่วมมือกันทำงานได้ดีขึ้น ร้อยละ 70.30 โดยมองว่า “ความซื่อสัตย์และจริยธรรม” ทางการเมืองเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการคัดเลือก ครม.ชุดใหม่ ร้อยละ 84.19 การปรับ ครม. ครั้งนี้คาดหวังว่าน่าจะส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลดีขึ้น ร้อยละ 46.39 สุดท้ายการปรับ ครม. จะส่งผลต่อสถานการณ์บ้านเมืองอย่างไรนั้น ยังคาดการณ์อะไรไม่ได้ ร้อยละ 30.50

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลโพลไม่ว่าจะกี่ครั้งของรัฐบาลนี้ ประชาชนยังคงให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ค่าครองชีพ ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่กระทบต่อชีวิตประจำวัน โดยมีความหวังว่า ครม.ชุดใหม่ จะทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซื่อสัตย์ โปร่งใส เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล แม้ประชาชนจะมีความหวังแต่ก็ยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์บ้านเมืองจะไปในทิศทางใด เนื่องจากยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปหลังจากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจพร พึงไชย ผู้ช่วยคณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่าการเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน สามารถพลิกผันได้ตลอดเวลา สิ่งที่ประชาชนต้องการและคาดหวังอย่างยิ่ง คือ ความเชื่อมั่นว่าคนที่เข้ามาบริหารประเทศจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยมาอย่างยาวนาน สอดคล้องกับผลสำรวจที่สะท้อนว่า ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ถึงร้อยละ 74.43 และสิ่งที่ตามมาจากปัญหาเศรษฐกิจ คือ ปัญหาปากท้องที่ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นแต่รายรับกับสวนทาง สำหรับประเด็นการปรับครม.ชุดใหม่นี้ ประชาชนหวังว่าจะช่วยให้การทำงานของรัฐบาลดีขึ้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าการคัดเลือกรัฐมนตรีที่จะเข้ามาสานต่อนโยบายการทำงานของรัฐบาลมีผลต่อความมั่นใจของประชาชน ทั้งนี้ ความซื่อสัตย์และจริยธรรมทางการเมืองเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญ เพราะการเมืองไทยช่วงสิบปีที่ผ่านมาล้วนประสบกับปัญหานี้มาโดยตลอด ซึ่งส่งผลต่อความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลหรือแม้กระทั่งฝ่ายค้านเอง อย่างไรก็ดี โฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ย่อมเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่าการเมืองไทยจะหลุดพ้นจากวังวนของปัญหาจริยธรรมนักการเมืองได้หรือไม่ คงต้องติดตามกัน ห้ามกระพริบตาเลยทีเดียว


 
วิกฤติสื่อโทรทัศน์ ผู้ชมลด เผชิญความท้าทาย กระทบวงการบันเทิง
https://www.thairath.co.th/news/politic/2810306
 
"ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์" สส.พรรคประชาชน ชี้สื่อโทรทัศน์ไทยเผชิญความท้าทาย ผู้ชมลดลง ส่งผลต่อวงการบันเทิง แนะรัฐบาลส่งเสริมวิจัยหาความร่วมมือระหว่างประเทศ
 
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 67 นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน เปิดเผยว่า ขณะนี้สื่อโทรทัศน์ในประเทศไทย โดยเฉพาะละครโทรทัศน์ กำลังเผชิญกับปัญหาการลดลงของผู้ชมอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของ ThaiPBS พบว่า ความนิยมของละครโทรทัศน์ในช่องสาธารณะลดลงอย่างมาก หลายช่องโทรทัศน์จึงต้องปรับลดงบประมาณและจำนวนการผลิต ส่งผลกระทบต่อดาราและบุคลากรในวงการบันเทิง ที่มีความเสี่ยงที่จะตกงาน ซึ่งผู้จัดละครบางคนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบอย่างหนักต่อวงการบันเทิงโดยรวม
 
นายธัญวัจน์ กล่าวต่อว่า ข้อจำกัดหลายประการในสื่อสาธารณะไทย เช่น การพึ่งพารายได้จากโฆษณา และเงื่อนไขที่เข้มงวดในการนำเสนอเนื้อหา ทำให้ผู้ผลิตเนื้อหาไม่สามารถนำเสนอเรื่องราวที่หลากหลายหรือท้าทายได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ กสทช.ยังมีบทบาทในการกำกับดูแลเนื้อหาที่ออกอากาศ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านศีลธรรมและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้ผู้ผลิตเนื้อหาต้องระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหา ที่อาจสร้างความขัดแย้งในสังคม แต่ในทางกลับกันตลาดสื่อบอกรับสมาชิกทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว การแข่งขันจากแพลตฟอร์มอย่าง Netflix, HBO และ Amazon Prime Video กำลังทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของสื่อบอกรับสมาชิกเพิ่มขึ้น

"สื่อบอกรับสมาชิกสามารถดึงดูดผู้ชมได้มากกว่า เนื่องจากการนำเสนอเนื้อหาที่เฉพาะเจาะจง และไม่มีข้อจำกัดจากโฆษณา นอกจากนี้ สื่อบอกรับสมาชิกยังมีความยืดหยุ่นในการสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพสูง และไม่ถูกจำกัดจากข้อบังคับภาครัฐ ซึ่งทำให้ผู้ผลิตมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานที่ท้าทาย และสร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้ชม" นายธัญวัจน์ กล่าว
... 
นายธัญวัจน์ กล่าวต่อว่า ตามข้อมูลล่าสุดในปี 2023 จากการวิเคราะห์ของ Ampere Analysis ตลาดสื่อแบบบอกรับสมาชิกทั่วโลก กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดย Netflix ที่ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 18-19% ในปัจจุบัน มีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น HBO  และ Amazon Prime Video การลดลงของส่วนแบ่งตลาดแสดงให้เห็นถึงการเติบโต และศักยภาพของแพลตฟอร์มเหล่านี้ในการดึงดูดผู้ชมทั่วโลก ในปี 2023 มูลค่าการตลาดทั่วโลกของสื่อแบบบอกรับสมาชิก ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลาดสื่อแบบบอกรับสมาชิกทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
"ภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จในแพลตฟอร์มอย่าง Netflix เช่น "ฉลาดเกมส์โกง" และ "ไทบ้านเดอะซีรีส์" เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำเสนอวัฒนธรรมไทยสู่สากล ซึ่งรัฐบาลควรส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ที่สามารถปรับใช้ในระดับสากล และควรสำรวจความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงการศึกษาความต้องการของตลาดต่างประเทศว่า ผู้ชมสนใจเนื้อหาแบบใด และภาพลักษณ์ของภาพยนตร์ไทยในสายตาต่างชาติเป็นอย่างไร เพื่อเพิ่มความเป็นสากลให้กับเนื้อหาภาพยนตร์ไทย รวมถึงนำเทคโนโลยีใหม่ๆมายกระดับคุณภาพของเนื้อหา เพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้" นายธัญวัจน์ กล่าวทิ้งท้าย



กรมชลฯ เตือน 11 จังหวัด เตรียมปรับเพิ่มระบายน้ำ พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเฝ้าระวังด่วน!
https://www.dailynews.co.th/news/3789219/

กรมชลฯ เตือน 11 จังหวัด เตรียมปรับเพิ่มระบายน้ำ พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเฝ้าระวังด่วน!

กรมชลประทาน ออกประกาศฉบับ 3 เตือน 11 จังหวัด เตรียมปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 900 ลบ.ม. พื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเฝ้าระวัง
จากสถานการณ์น้ำทางด้านตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลทำให้หลายพื้นที่ประสบกับปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ส.ค. นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดี กรมชลประทาน ได้ออกประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ และการบริหารน้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 4 ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี  อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กรุงเทพมหานครฯ เนื่องจากพบว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 24-30 ส.ค. 2567 คาดว่าในอีก 1-3 วันข้างหน้า ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,000 ลบ.ม./วินาที รวมปริมาณน้ำสาอีก 200 ลบ.ม./วินาที และรับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่ง ในอัตรา 300 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทานจึงต้องปรับการระบายผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 700-900 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.40 – 0.80 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.อยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.อยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีการระบาย มากกว่า 1,000 ลบ.ม./วินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป

สำหรับปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 952 ลบ.ม./วินาที ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท กุญแจหลักสำคัญก่อนที่มวลน้ำจะเข้าสู่กรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 15.95 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 9.40 เมตร/รทก. มีระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 6.94 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 649 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจากการระบายน้ำดังกล่าวส่งผลทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นเกือบเมตรตามประกาศก่อนหน้านี้ของกรมชลประทาน และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรอรับมวลน้ำจากทางภาคเหนือที่กำลังประสบอุทกภัยในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม สำนักงานชลประทานที่ 12 โดยกรมชลประทาน ก็ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำ ทั้ง 11 จังหวัด เฝ้าติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่