เรื่องของมะเร็งเต้านม ที่คุณอาจไม่เคยรู้!!!

🎗️ เรื่องของมะเร็งเต้านม ที่คุณอาจไม่เคยรู้!!!
 
     เมื่อหลายปีก่อน หลายๆ คนคงจะเคยได้ยินข่าวดาราฮอลลีวูดที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง ตัดสินใจผ่าตัดเอาเต้านมทั้งสองข้างออกใช่มั้ยครับ ในขณะที่เธอมีอายุเพียง 37 ปีเท่านั้น แต่ที่ต้องตัดสินใจทำแบบนี้ก็พราะคุณหมอตรวจพบความผิดปกติในยีนตัวหนึ่ง ซึ่งยีนตัวนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งเต้านมมากถึง 87% และมะเร็งรังไข่อีก 50% ซึ่งการผ่าตัดครั้งนี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมให้เหลือเพียง 5% เท่านั้น😊
     ต้องยอมรับว่าข่าวคราวของเธอ ทำให้ผู้หญิงหลายคนหันมาสนใจตรวจหาความเสี่ยงมะเร็งเต้านมมากขึ้น เพราะมะเร็งชนิดนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ และยังเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงอีกด้วย 👨‍⚕️ พี่หมอจึงไปหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มาเล่าให้ทุกคนฟัง ซึ่งข้อมูลที่พี่หมอค้นเจอมาไม่ได้มีเพียงแค่นี้นะครับ แต่จะมีอะไรบ้างนั้นเดี๋ยวพี่หมอจะมาทยอยไล่เรียงให้ฟัง รวมถึงเรื่องที่ทุกคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมด้วย 
นมเล็ก นมใหญ่ ใครเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่ากัน❓
     ขนาดของหน้าอกไม่มีผลต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจากส่วนประกอบสำคัญของหน้าอกก็คือเนื้อเยื่อไขมัน (fatty) ในขณะที่มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเซลล์ที่อยู่ในท่อน้ำนมและต่อมผลิตน้ำนม มีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากเนื้อเยื่อที่อยู่ในส่วนอื่นๆ แต่สำหรับผู้ที่มีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมมากกว่า 75% ก็อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงทั่วไป 4-6 เท่า 
     ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงที่มีหน้าอกใหญ่มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่มีหน้าอกเล็กก็เพราะ ผู้หญิงที่มีหน้าอกใหญ่ มักจะมีน้ำหนักมากหรือมีดัชนีมวลกาย (BMI)l สูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งความอ้วน นี่แหละครับที่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม 
 
ผู้หญิงข้ามเพศกับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม 
     ผู้หญิงข้ามเพศ หรือแม้แต่สตรีที่หมดประจำเดือนที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะเวลานานๆ จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนทั่วไป 😮
     มีรายงานการศึกษาจากทีมวิจัยของศูนย์การแพทย์ในมหาวิทยาลัยในอัมสเตอร์ดัม พบว่า ผู้หญิงข้ามเพศมีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชายทั่วไปถึง 47 เท่า แต่ถ้าเทียบกับผู้หญิงทั่วไป ผู้หญิงข้ามเพศจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า
 
จุดเริ่มต้นของมะเร็งเต้านม 
     ปกติเซลล์มะเร็งจะก่อตัวเป็นเนื้องอกที่สามารถตรวจพบได้ด้วยการเอกซเรย์หรือคลำได้เป็นก้อน แต่ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ก้อนเนื้อหรือเนื้องอกในเต้านมส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอันตรายและไม่ใช่มะเร็ง มีเพียงเนื้องอกบางชนิดเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ 
     มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะเริ่มในท่อที่นำน้ำนมไปที่หัวนม หรือบางส่วนก็เริ่มในต่อมที่สร้างน้ำนม 🍼 นอกจากนี้ ยังมีมะเร็งเต้านมชนิดอื่นอีก เช่น ก้อนเนื้องอกชนิดกึ่งมะเร็ง และมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งสองชนิดหลังนี้พบได้น้อยมาก
 
การแพร่กระจายของมะเร็งเต้านม 
     มะเร็งเต้านมสามารถแพร่กระจายได้เมื่อเซลล์มะเร็งเข้าสู่ระบบเลือด 🩸 หรือน้ำเหลือง ซึ่งท่อน้ำเหลืองจะนำน้ำเหลืองออกจากเต้านม และถ้ามีเซลล์มะเร็งปะปนอยู่ในนั้น ก็จะทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ ซึ่งถ้ามีต่อมน้ำเหลืองที่มีเซลล์มะเร็งเต้านมมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะพบมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ มากขึ้นเท่านั้น  แต่ก็ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่มีเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองแล้วจะมีการแพร่กระจาย เพราะแม้แต่ผู้ป่วยที่ไม่มีเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองก็อาจจะเกิดการแพร่กระจายในภายหลังได้ เพราะต่อมน้ำเหลืองมีอยู่ทั่วร่างกาย
6 วิธีลดปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม
 
     1. การควบคุมน้ำหนัก จากการศึกษาของหลายๆ ที่ พบว่า น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 10 – 15 กก.ในช่วงวัยผู้ใหญ่ (หลังอายุ 18 ปี) มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมหลังวัยหมดประจำเดือนมากกว่าผู้หญิงที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นไม่ถึง 10 กก. ถึง 40% 
     2. การออกกำลังกายเป็นประจำ 🧘 มีผลต่อการหมุนเวียนของฮอร์โมนเอสโตรเจนในเนื้อเยื่อเต้านม รวมถึงมีผลต่อระดับอินซูลินและ Insulin – like growth factor : IGF (เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่กระตุ้นการเจริญเติบโตที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลิน) ซึ่งเชื่อมโยงกับการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม ดังนั้น  ผู้หญิงที่ออกกำลังกายเป็นประจำ จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่ออกกำลังกาย โดยประเภทของการออกกำลังกายที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ก็คือ เดินเร็ว เต้นแอโรบิค และโยคะ โดยควรทำประมาณสัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมง นอกจากนี้ การออกกำลังกายเป็นประจำ ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำด้วย 
     3. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 🍺 เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อการเพิ่มของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังทำปฏิกิริยากับสารก่อมะเร็ง และยับยั้งความสามารถในการต่อสู้กับมะเร็งของร่างกาย ดังนั้น ผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์แม้เพียงไม่กี่แก้วต่อสัปดาห์ ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 
     4. วิตามินดี ☀️ ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมได้สูงถึง 50% ดังนั้น ผู้หญิงที่ได้รับปริมาณวิตามินดีอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะมาจากการรับประทานอาหารหรือจากแสดงแดดก็ย่อมมีความเสี่ยงลดลง ซึ่งปริมาณที่คุณหมอแนะนำก็คือประมาณ 800 – 1,000 I.U. ต่อวัน* 
     5. ความเสี่ยงจากการใช้ยา 💊 ผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดและผู้ที่ต้องใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนบำบัดในระยะยาว จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น และจะลดลงหลังจากที่หยุดรับประทานยาหรือหยุดฮอร์โมนไปแล้ว นอกจากนี้ ผู้หญิงที่รับประทานยาไดเอทิลสติลเบสตรอล (Diethylstilbestrol-DES) ในระหว่างการตั้งครรภ์เพื่อลดโอกาสในการแท้งบุตร ก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมที่ค่อนข้างสูง รวมถึงลูกสาวที่คลอดโดยคุณแม่ที่รับประทานยาชนิดนี้ด้วย 
     6. ความหนาแน่นของเต้านม ผู้หญิงที่มีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูง หรือมีเนื้อเยื่อเต้านมมากกว่า 50% จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงทั่วไป ซึ่งความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมนั้น ถูกกำหนดโดยปัจจัยต่างๆ เช่น ฮอร์โมน อายุ เชื้อชาติ พันธุกรรม รวมถึงผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมน  
 
     แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ 🤔 วิธีที่จะช่วยให้รู้ได้ก็คือ การตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรม เป็นการตรวจก่อนที่ผู้ป่วยจะรู้ตัวและสังเกตเห็นอาการ รวมถึงการตรวจเพื่อวินิจฉัยอาการที่น่าสงสัยอื่นๆ เช่น พบก้อนเนื้อในเต้านม อาการเจ็บเต้านม หรือมีสิ่งผิดปกติบริเวณหัวนม 
     ผู้หญิงส่วนใหญ่ควรเริ่มทำแมมโมแกรม เมื่ออายุ 40 ปี และควรทำทุก 1-2 ปี แต่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงมากกว่าเกณฑ์ แนะนำให้ทำทุกปีเมื่ออายุ 45 ปีจนถึงอายุ 54 ปี จากนั้นก็ให้ทำต่อทุก 2 ปี หรือถ้าไม่แน่ใจว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่ ก็สามารถไปพบคุณหมอเพื่อรับการประเมินได้นะครับ
 
     นอกจากการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมแล้ว อีกวิธีก็คือ การตรวจ MRI เต้านม เนื่องจากมะเร็งบางชนิดก็อาจมองไม่เห็นในภาพแมมโมแกรม เพราะมีขนาดเล็กเกินไป หรือไปอยู่ในบริเวณที่มองเห็นได้ยาก รวมถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือมีรอยโรคของมะเร็งเต้านมก่อนกำหนด คุณหมอก็อาจจะแนะนำให้ทำ MRI ร่วมกับการตรวจด้วยแมมโมแกรม 
 
ประโยชน์ของการตรวจ MRI เต้านม ✔️
 
     · ช่วยประเมินความผิดปกติเพิ่มเติมที่ตรวจพบโดยการตรวจด้วยแมมโมแกรม
     · ตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกที่อาจตรวจไม่พบด้วยวิธีอื่นๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูง และผู้หญิงที่มีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่น
     · ตรวจหามะเร็งในผู้หญิงที่มีการปลูกถ่ายเต้านม หรือมีเนื้อเยื่อแผลเป็นจากการผ่าตัด ซึ่งการตรวจด้วยแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียว อาจให้ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้อง
     · ตรวจหาความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจไม่เห็นด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์ เช่น ผู้หญิงที่มีเซลล์มะเร็งเต้านมอยู่ในต่อมน้ำเหลืองใต้วงแขน แต่ไม่มีก้อนที่คลำได้
     · ช่วยประเมินการรั่วซึมของซิลิโคนในผู้ที่ทำศัลยกรรมเต้านม
     · ช่วยประเมินขนาดและตำแหน่งที่ชัดเจนของรอยโรคมะเร็งเต้านม รวมถึงความเป็นไปได้ที่มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น เพื่อหาทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
     · ตรวจหาการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านม หรือเนื้องอกที่อาจหลงเหลือจากการผ่าตัด 
              
     และเนื่องจากการตรวจ MRI เป็นการตรวจที่ไม่ได้ใช้รังสี จึงเหมาะกับผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี แต่ข้อจำกัดของการตรวจ MRI ก็คือ ไม่สามารถแยกแยะความผิดปกติของเซลล์มะเร็งได้เสมอไป ซึ่งก็อาจนำไปสู่การตัดชิ้นเนื้อโดยไม่จำเป็น และไม่สามารถระบุว่าเป็นหินปูนหรือการสะสมของแคลเซียมขนาดเล็กที่สามารถบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็งเต้านมได้ 
 
     สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคุณผู้หญิง 👩 นอกจากการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอก็คือ การตรวจสุขภาพและตรวจคัดกรองประจำปี โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรม ซึ่งสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพราะมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ก็มีโอกาสที่จะหายขาดได้
 
     เขียนมาซะยาวเลย ขอบคุณทุกคนด้วยนะครับที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ หวังว่าจะได้ประโยชน์กันบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
 
     แล้วกลับมาพบกับพี่หมอได้ใหม่ในสัปดาห์หน้านะครับ 😍😍😍
              
หมายเหตุ I.U. หรือ International Unit เป็นหน่วยวัดมาตรฐานสากลซึ่งเป็นหน่วยที่ใช้อ้างอิง เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์แต่ละชนิด เช่น วิตามิน ซึ่งกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก 
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่