JJNY : สภาพัฒน์ฯเผยเหลื่อมล้ำพุ่งรอบ10ปี/พท.ถามเหลื่อมล้ำพุ่งจะโทษใคร/ลงทุนศรีพันวาปูดขาดทุนกว่า150ล./กมธ.เตรียมสอบ สปส.

สภาพัฒน์ฯ เผยไทยเหลื่อมล้ำพุ่งรอบ 10 ปี รวยจนห่างกันสูงสุด 20 เท่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มทะลุ 80 เปอร์เซ็นต์
https://www.matichon.co.th/economy/news_2359806

 
สภาพัฒน์ฯ เผยไทยเหลื่อมล้ำพุ่งรอบ 10 ปี รวยจนห่างกันสูงสุด 20 เท่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มทะลุ 80% คนจนมีโอกาสเรียน ป.ตรีแค่ 3%
 
เมื่อวันที่ 22 กันยายน กรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในการประชุมประจำปี 2563 ในเรื่อง ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด ที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์การประชุมอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน
 
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า 
 
จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหยุดการเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศ เกิดการย้านฐานการผลิต ทำให้มีแรงงานตกงานจำนวนมาก ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ก็กลับภูมิลำเนา จึงกลับมาทบทวนเพื่อหาจุดแข็งในการผลักดันเพิ่ม และแก้ไขจุดอ่อนที่มีอยู่ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มากขึ้น โดยเฉพาะการกระจายความเจริญออกไปในจุดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะพยายามใช้เงินกู้ที่มีอยู่ในการขับเคลื่อนตามแผนงาน สำหรับเงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาท คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้มีการประชุมกันทุกสัปดาห์ แบ่งเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 ได้รับการอนุมัติแล้ว 9.2 หมื่นล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการเบิกจ่าย ส่วนเม็ดเงินที่เหลือจะทยอยออกในไตรมาส 4/2563 และไตรมาส 1-2 ปี 2564 ซึ่งจะทยอยออกมาเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะหากใช้เงินหมดภายในครั้งเดียว จะไม่เหลือเงินใช้ในอนาคต
 
“กรณีการชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง มองว่า หากมีปัจจัยความไม่แน่นอนอะไรเข้ามา ก็จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะหากการเมืองไม่นิ่ง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอีกครั้ง จะทำให้การแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากผลกระทบของโควิด-19 ยากขึ้นไปอีก จึงอยากให้ทุกอย่างนิ่งก่อนสักระยะ เพื่อช่วยกันผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นก่อน หลังจากนั้นจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็กลับมาประเมินกันอีกครั้ง โดยวันเดียวกันนี้จะมีการประชุมหารือในโครงการกระตุ้นการจ้างงาน ผ่านการออกเงินร่วมกันของเอกชนและรัฐคนละครึ่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 22 กันยายน”Ž นายทศพรกล่าว
 
ระดมกึ๋นทำแผน13สู่นิวนอร์มอล
 
นายทศพรกล่าวว่า สศช.จัดการประชุมใหญ่ทางวิชาการขึ้นทุกปี เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคม ในหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยในปีนี้ เนื่องจากเป็นระยะครึ่งทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 หรือช่วงครึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะที่หนึ่ง (พ.ศ.2561-2565) สศช.ได้ติดตามประเมินผลการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี โดยมีการวิเคราะห์และรายงานผลการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลการพัฒนาตามตัวชี้วัดที่สำคัญต่างๆ ที่กำหนดในแผน 12 ให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีการพัฒนาต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุง และบริหารจัดการภารกิจที่รับผิดชอบ ทั้งในส่วนกลาง ระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิผล และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
“ที่สำคัญในปีนี้ ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง ส่งผลให้การพัฒนาและการดำรงชีวิตของคนไทยต้องเปลี่ยนแปลง และพลิกโฉมจากเดิมไปอย่างมาก ดังนั้น นอกจากการนำเสนอผลการพัฒนาที่ผ่านมาแล้ว การประชุมในวันนี้จึงจะเป็นการระดมความคิดเห็นร่วมกัน เกี่ยวกับประเด็นความท้าทาย และแนวทางการปรับตัวของประเทศไทย เพื่อก้าวสู่ชีวิตวิถีใหม่ (นิว นอร์มอล) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี รวมถึงสภาพัฒน์จะนำผลการประชุมในครั้งนี้ ไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ เพื่อกำหนดประเด็นสำคัญในการปรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และวางกรอบการพัฒนาประเทศฉบับที่ 13 ต่อไป” นายทศพรกล่าว
 
พบคนจนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี60
 
นายทศพรกล่าวว่า การพัฒนาประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา หากประเมินจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย นับตั้งแต่ปี 2540-2563 ค่าเฉลี่ยการเติบโตอยู่ประมาณ 3% แต่เมื่อเจอผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่สงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิสรัปชั่น จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจลง โดยสภาพัฒน์ประเมินจีดีพีไทยจะติดลบ 7.3% ถึงติดลบ 8% เนื่องจากประเทศไทยอาศัยรายได้จากต่างชาติเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว เมื่อปัจจัย 2 ตัวนี้หายไป เศรษฐกิจไทยจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง รวมถึงหากประเมินจากอันดับความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ ไทยยังย่ำอยู่กับที่ โดยเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แม้จะตั้งเป้าก้าวขึ้นเป็นอันดับ 2 ในประเทศอาเซียน แต่ก้าวข้าวมาเลเซียก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ทำให้อันดับความสามารถในการแข่งขันปี 2563 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 29 จาก 63 ประเทศ
 
“การชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่าน ส่งผลกระทบหลายส่วน อาทิ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน พร้อมทั้งการส่งออกที่ปรับตัวลดลง มูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ปรับตัวลดลง จากเดิมที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพมากพอสมควร และอัตราการว่างงาน ที่จากเดิมอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1% หรือประมาณ 400,000 คน แต่เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 ก็มีผู้ว่างงานเพิ่มมา 2% หรือประมาณ 750,000 คน เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จากเดิมอยู่ที่ 40% เมื่อเกิดโควิด-19 หนี้สาธารณะจึงเพิ่มขึ้น เพราะรัฐต้องกู้เงินมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ ส่วนสถานการณ์ความยากจนในประเทศไทย แม้ดูจะดีขึ้นจากปี 2550-2561 แต่จำนวนคนยากจนในปี 2560-2563 มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่าจำนวนคนจนจะเพิ่มขึ้นมาในช่วง 3 ปีหลัง“ นายทศพรกล่าว
 
ช่วง 10 ปี ยังรวยกระจุกจนกระจาย
 
นายทศพรกล่าวว่า ด้านหนี้สินครัวเรือนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2550-2563 จะเห็นจำนวนสะสมของหนี้สินต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันอยู่ที่ 80% ต่อจีดีพี แต่ข้อมูลตัวเลขหนี้ครัวเรือน จากพฤติกรรมของคนไทย พบว่ากว่า 20% เป็นการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลในการทำธุรกิจ ส่วนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย พิจารณาในส่วนของผู้ที่มีรายได้มากที่สุดแตกต่างจากผู้ที่มีรายได้น้อยสุดกว่า 20 เท่า โดยมีกลุ่มคนชนชั้นกลางอยู่ประมาณ 35% สะท้อนถึงการกระจุกตัวของรายได้ในกลุ่มบน และการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึงไปสู่คนกลุ่มล่าง รวมถึงการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ในส่วนของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา พบว่าคนรวยมีโอกาสเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี 65.6% สูงกว่าคนจนที่มีเพียง 3.8% และยังพบว่าคนในเขตเมือง พื้นที่กรุงเทพฯ มีการเข้าถึงระบบการศึกษาได้สูงกว่าในเขตชนบทหรือนอกกรุงเทพฯ ค่อนข้างมาก คิดเป็นช่องว่างที่ห่างกันกว่า 17.3 เท่า
 
นอกจากนี้ แม้การบริหารราชการแผ่นดินจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ยังเป็นวิกฤตที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขด้วย โดยดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นปี 2562 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 101 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก
 

 
'เพื่อไทย' ถาม 'ประยุทธ์' อยู่มาเกือบ7 ปี แต่เหลื่อมล้ำพุ่งปรี๊ด แบบนี้จะโทษใคร
https://www.matichon.co.th/politics/news_2360163
 
“อนุสรณ์” ถาม “ประยุทธ์” อยู่มา 6-7 ปี แต่ความเหลื่อมล้ำพุ่ง แบบนี้จะโทษใคร บอก ยิ่งอยู่ยาวคนยิ่งแห่มาลงทะเบียนรับบัตรคนจนเพิ่ม
 
เมื่อวันที่ 22 กันยายน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี สภาพัฒน์ฯ เผยไทยเหลื่อมล้ำพุ่งรอบ 10 ปี รวยจนห่างกันสูงสุด 20 เท่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มทะลุ 80 เปอร์เซ็นต์ ว่า
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เห็นรายงานของสภาพัฒน์ฯแล้ว นึกออกหรือยังว่าจะแก้ไขอย่างไร หรือจะใช้วิธีโยนความผิดไปให้รัฐบาลก่อนตามถนัด ในรายงานพบคนจนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 60 พล.อ.ประยุทธ์ หนียังไงก็หนีไม่ออก รัฐบาลยิ่งอยู่ยาวคนยิ่งแห่มาลงทะเบียนรับบัตรคนจนเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจไทยหลังจากโควิดจะต้องเจอกับภาวะ 3 สูง 3 ต่ำ 3 สูง คือ อัตราการว่างงานสูง หนี้สาธารณะสูง และหนี้ภาคเอกชนสูง
 
ส่วน 3 ต่ำ คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำ และอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ ตลอด 6-7 ปี ทำให้คนไทยได้เห็นว่า ประเทศไทย ไม่ใช่ใครก็ได้ ที่จะมาเป็นผู้นำ คนไทยจะฝากอนาคตเศรษฐกิจไทยไว้กับทหารเกษียณที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์จริง ๆ หรือ ทหารแก่ไม่มีวันตาย แต่ทหารแก่ กำลังทำลายเศรษฐกิจไทยให้ตายทั้งเป็น หรือไม่
 
“ภาวะสุญญากาศ กำลังลุกลาม ทั้งด้าน เศรษฐกิจ การเมือง หารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังไม่ได้ จะพูดอะไร จะแก้เหลื่อมล้ำแบบไหน น้ำหนักคงไม่มี” นายอนุสรณ์ กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่