JJNY : จันทบุรีล่าชื่อค้านเหมืองทอง/รุมจวกส.ส.พปชร.โทรเฉ่งชาวบ้านค้านผันน้ำยวม/ทั่วโลกป่วยโควิด28ล./ติดเชื้อใหม่7

จันทบุรีล่าชื่อค้านเหมืองทอง สวนปาล์มจี้รัฐโรงสกัดรับซื้อไม่เป็นธรรม
https://www.prachachat.net/local-economy/news-518638

 
“จันทบุรี”ล่ารายชื่อคัดค้านการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ในท้องที่ อ.แก่งหางแมว หวั่นแหล่งต้นน้ำ เมืองเกษตรกรรม-ท่องเที่ยวเสียหาย ฟากสวนปาล์มจี้รัฐ โวยโรงสกัดรับซื้อปาล์มไม่เป็นธรรม
 
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากจังหวัดจันทบุรีเข้ามาว่า วันที่ 9 กันยายนเป็นวันแรก กลุ่มคนไม่เอาเหมืองทองคำนัดรวมพลกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี เพื่อคัดค้านการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ในท้องที่ อ.แก่งหางแมว โดยนางอินทรา มานะสกุล รองประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จันทบุรี คาดว่าจะรวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านในวันนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 คน จากประชากรทั้งหมด 10 อำเภอ จากที่คณะทำงานตั้งเป้ากันไว้ประมาณ 200,000 คน
 
“ใน อ.แก่งหางแมวตอนนี้ นอกเหนือจากบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ที่ขอเข้าสำรวจแหล่งแร่ทองคำ 2 แปลง พื้นที่ 14,650 ไร่ แล้วก็ยังมีอีก 3 บริษัท ที่เตรียมยื่นขออาชญาบัตรสำรวจแร่อีก ดังนั้นเราจึงมีฉันทานุมัติในที่ประชุม ทสม. เมื่อวันที่ 3 กันยายน คัดค้านการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำที่ยื่นขอมาทั้งหมด รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดด้วย และให้ถอนจังหวัดจันทบุรีออกจากจังหวัดที่เป็นแหล่งแร่ทันที” นางอินทรากล่าว
 
ขณะที่ นายธนภณ กิจกาญจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า เครือข่ายภายใต้รัฐธรรมนูญ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครื่อข่ายภาคประชาสังคม เอกชนองค์กรต่าง ๆ ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นรายชื่อผู้คัดค้านการดำเนินการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท รัชภูมิ ไมนิ่ง ในเครืออัครา เพื่อไม่ให้ดำเนินการไปสู่การขอสำรวจและขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำต่อไป โดยจะทำการยื่นรายชื่อคัดค้านกับรักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และยื่นผ่านไปสำนักนายกรัฐมนตรีอีกฉบับ
 
ทั้งนี้ ประเด็นคัดค้านก็คือ 
1) เป็นแหล่งต้นน้ำ 
2) เป็นเมืองเกษตรกรรม-ท่องเที่ยว
3) คดีเหมืองทองอัคราสร้างความหวั่นวิตกให้กับชาวจันทบุรี
 
ด้านนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า คำขอของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง เป็นการขออนุญาตเข้าสำรวจแร่และการสำรวจแร่เพื่อหาพื้นที่แร่ที่มีศักยภาพสูงและมีความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ทำในพื้นที่เล็กน้อยเพื่อเก็บข้อมูลภาพรวมโดยการเจาะสำรวจหรือธรณีฟิสิกส์ ซึ่งเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำการสำรวจแร่แล้ว ก่อนเข้าไปดำเนินการสำรวจต้องได้รับอนุญาตจาก “เจ้าของพื้นที่ก่อน” เมื่อดำเนินการเสร็จต้องฝังกลบ ทำสภาพพื้นที่ให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิม จึงไม่ทำให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อพื้นที่สำรวจ
 
“การได้รับอนุญาตอาชญาบัตรไม่ผูกพันถึงสิทธิในการได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดทั้งความปลอดภัยและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่การสำรวจ โดยผู้ขอต้องปฏิบัติตามหลักวิชาการและรายละเอียดเงื่อนไขตามแผนงานที่ได้รับอนุญาต หากตรวจสอบพบว่าไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดสามารถเพิกถอนอาชญาบัตรได้”
 
นางสาวกาญจนา ทัพป้อม อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่เคยยื่นขอสำรวจเหมืองแร่ทองคำในคราวเดียวกันที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แร่ ปี พ.ศ. 2560 ในจังหวัดจันทบุรีมี 4 บริษัท คือ บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง, บริษัท เอราวัณ ไมนิ่ง, บริษัท พารอน ไมนิ่ง และบริษัท ซันเนยี่ ไมนิ่ง
 
นอกเหนือไปจากการล่ารายชื่อเพื่อคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำแล้ว ด้านชาวสวนปาล์มน้ำมันก็มีความเคลื่อนไหว โดยนายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันที่ 11 กันยายนนี้ กลุ่มเกษตรกรปาล์มน้ำมันภาคกลาง จะไปยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการวิสามัญปาล์มน้ำมัน ที่สภาผู้แทนราษฎร เรื่องการซื้อปาล์มที่ไม่เป็นธรรม มีส่วนต่างของราคา กก.ละ 60-80 สตางค์ ซึ่งเป็นเหตุให้สมาพันธ์ต้องรวบรวมรายชื่อสมาชิกกลุ่มปาล์มน้ำมันภาคกลาง ในนามของสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เพื่อจะไปยื่นหนังสือในครั้งนี้ด้วย
 
“ตอนนี้การรับซื้อปาล์มของกลุ่มโรงสกัดน้ำมันปาล์ม ในแต่ละจังหวัดกำหนดราคาแตกต่างกันมาก กระบี่ ราคา 4.80 บาท ชุมพร 4.40 บาท กลุ่มภาคกลางประมาณ 4 บาท อย่างกลุ่มหนองเสือ สระบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยา ราคารับซื้อที่ลานเทประมาณ 3.40 บาทเท่านั้น”



รุมจวก ส.ส.พปชร. ทำเกินบทบาท โทรเฉ่งชาวบ้าน ค้านโครงการผันน้ำยวม
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_4876227
 
รุมจวก ส.ส.พปชร. ทำเกินบทบาท โทรเฉ่งชาวบ้าน ค้านโครงการผันน้ำยวม
 
วันที่ 9 ก.ย. นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ชาวบ้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เขียนบันทึกและมีผู้นำมาเผยแพร่ว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.12 น.ของวันที่ 8 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ตนได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่แจ้งว่า ชื่อ ส.ส.วีระกร คำประกอบ จากพรรคพลังประชารัฐ บอกว่า เป็นกรรมาธิการของ ส.ส. (สภาผู้แทนราษฎร) เรื่องน้ำ โดยนายวีระกร ถามถึงหนังสือที่ตนส่งไปคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนและผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ว่า 
 
“คุณเป็นใคร อยู่ที่ไหน ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน จริงหรือไม่ โครงการนี้ไม่มีผลกระทบอะไรเลย ในพื้นที่ได้ลงไปถามแล้วชาวบ้านบอกว่าไม่ได้รับผลกระทบเลย แล้วทำไมคุณได้รับผลกระทบ
 
นายสะท้านเขียนบันทึกต่อไปว่า “ผมก็ตอบว่าผมเป็นคนในพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ ทุกปีที่ดินของผมถูกน้ำยวมท่วมอยู่แล้ว คุณวีระกร บอกว่า ทุกครั้งที่มีเวที ไม่เห็นคุณมาเข้าร่วมเวทีเลย ผมบอกว่า เวทีทุกครั้งที่เขาเชิญ ผมเข้าร่วมทุกครั้ง มีครั้งหนึ่งที่ไม่ได้เข้าร่วม คือเวทีกรรมาธิการของ ส.ส. เรื่องน้ำ ผมไม้ได้เข้าร่วม เหตุผลคือทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้เชิญ
 
คุณวีระกรบอกว่า เขาไม่เห็นความสำคัญของผมก็เลยไม่เชิญผมเข้าร่วมเวที แล้วคุณวีระกร ก็บอกต่อว่า ในพื้นที่แม่น้ำยวม แม่น้ำเงา อยู่ในพื้นที่อุทยานหมดเลย ผมก็บอกว่าพื้นที่ผมไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ คุณวีระกร ถามต่อว่าพื้นที่คุณมีโฉนดหรือไม่ ผมบอกว่า มีโฉนด อยู่ติดแม่น้ำยวม คุณวีระกรบอกวผมว่า ให้ผมถ่ายโฉนดที่ดินให้ด้วย และบอกว่า จะให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ มาตรวจสอบพื้นที่ แล้วบอกว่าบุกรุกพื้นที่ป่า ที่คุณส่งหนังสือคุณมั่วแล้ว ผมบอกว่า ผมไม่คุยแล้ว ผมไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ครับ
 
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 เครือข่ายลุ่มน้ำยวม เงา เมยและสาละวิน ที่ลงชื่อโดยนายสะท้านได้ยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เรื่องขอคัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลฯ โดยให้เหตุผล 8 ข้อ อาทิ การสูญเสียที่ดินทำกินของชาวบ้านและพื้นที่ป่า การสำรวจไม่ครอบคลุมชุมชนทั้งหมด ขอให้ทบทวนแนวทางการบริหารน้ำทั้งระบบ
 
โดยในหนังสือฉบับนี้ได้แนบรายชื่อหมู่บ้าน 28 แห่ง ทั้งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตากและเชียงใหม่ ที่ร่วมกันคัดค้านโครงการดังกล่าว และหนังสือฉบับนี้ได้นอกจากปลัดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯได้ลงนามรับทราบแล้ว ยังได้เวียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563 นายวีระกร คำประกอบ ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ พร้อมด้วยผู้บริหารกรมชลประทาน ได้เดินทางลงพื้นที่หมู่บ้านท่าเรือ ม.8 ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และแม่น้ำยวมซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล
 
โดยนายวีระกรได้ให้สัมภาษณ์ว่าพื้นที่ที่คาดว่าราษฏรจะได้รับผลกระทบ ประมาณ 40 ไร่ ราษฏร 4 ครอบครัวที่ซึ่งมีอาชีพทำไร่ โดยทางภาครัฐก็จะดำเนินการชดเชยตามระเบียบ
 
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้สื่อมวลชนหลายสำนักข่าวลงสำรวจพื้นที่โครงการดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยได้สัมภาษณ์ชาวบ้านที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากการขุดอุโมงค์ กว่า 64 กิโลเมตร และชาวบ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นอุโมงค์และสถานีสูบน้ำ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ จึงได้ร่วมกันทำหนังสือคัดค้านและส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
ด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า หากดูจาก พฤติกรรมของ กมธ.บางคนในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งควรมีบทบาทหน้าที่ทำการศึกษาและเสนอแนะ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือตามที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบได้ทำหนังสือถึงกรมชลประทาน และหน่วยงานต่างๆ ว่าชาวบ้านเห็นด้วยหรือไม่ แต่ปรากฎว่า กมธ.บางส่วนกลับสร้างความคับข้องใจให้ชาวบ้านว่าทำบทบาทของ ส.ส. และกมธ.ได้ถูกต้องหรือไม่ เพราะมีท่าทีผลักดันโครงการฯชัดเจน
 
เขามองไม่เห็นปัญหาของชาวบ้าน ทำหน้าที่คล้ายเป็นนายหน้าผลักดันโครงการฯ แทนหน่วยงานรัฐ โดยไม่สนใจเหตุผลที่คัดค้าน ว่าโครงการฯ จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง คุ้มหรือไม่ในการลงทุน มิติเหล่านี้กลับไม่มีการพิจารณา
 
เมื่อพวกเขาลงพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีแต่สิ่งที่พวกเขาพูดๆๆ จนแทบไม่มีเวลารับฟังเสียงที่ท้วงติงเลยผมทราบมาว่าในการลงพื้นที่มีรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พยายามยกมือพูด แต่เขากลับไม่ยอมให้พูด แล้วนำมารายงานในที่ประชุม กมธ.ว่าประชาชนเห็นด้วยหมด วิธีการแบบนี้ไม่น่าจะเป็นบทบาทของ ส.ส. ซึ่งไม่ใช่ ส.ส. ในพื้นที่ด้วยซ้ำ” นายหาญณรงค์ กล่าว
 
นายหาญณรงค์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กมธ.บางคนให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า ได้มีการเจรจากับทุนรัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งจะมาลงทุนในโครงการนี้ฟรีเพื่อแลกกับสิทธิการในการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในเขตชายแดนไทย-พม่าและขายไฟฟ้าให้ไทย ถามว่าเรื่องนี้เป็นบทบาทหน้าที่ของ กมธ.หรือไม่ ตนคิดว่าสภาควรมีการตรวจสอบการทำงานของ กมธ.หรือ ส.ส.ประเภทนี้ ว่าทำเกินเลยหน้าที่หรือไม่ หากทำแบบนี้ต่อไปชาวบ้านคงไม่สามารถไว้ใจในการทำหน้าที่ของ กมธ.ได้ เพราะการลงพื้นที่แต่ละครั้งก็ทำตัวเหมือนเจ้าของโครงการ ชาวบ้านจะมั่นใจในการส่งเสียงสะท้อนและข้อท้วงติงผ่าน กมธ.ได้อย่างไร
 
ขณะที่ นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนฯ กล่าวว่า พวกตนได้ลงพื้นที่โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลด้วยเช่นเดียวกัน แต่ไปคนละคณะกับ กมธ.ชุดใหญ่ โดยโครงการนี้กรมชลประทานได้ปักหมุดเอาไว้แล้ว และ กมธ.บางรายก็เชื่อตามกรมชลประทานที่บอกว่ามีบ้านที่ได้รับผลกระทบเพียง 4 หลัง
 
แต่ข้อเท็จจริงที่พบคือ มีชุมชนอีกหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผืนป่าใหญ่แห่งสุดท้ายของจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย ซึ่งเราต้องทำข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปใน กมธ. เพราะมีประชาชนเดือดร้อนจำนวนมาก การที่กรมชลประทานอ้างมีบ้านที่ได้รับผลกระทบแค่ 4 หลังนั้น อาจเป็นแค่จุดหัวงานเขื่อนสร้างโรงสูบน้ำเท่านั้น แต่ยังมีหมู่บ้านอีกมากมายที่อยู่เหนือเขื่อนและใต้เขื่อนที่ได้รับผลกระทบ
 
นายคำพอง กล่าวว่า การศึกษาเรื่องแม่น้ำยวมและแม่น้ำเมยอยู่ในชุดอนุ กมธ.เจ้าพระยา ที่อยู่ในระหว่างทำการศึกษาและต่อเวลาออกไปน่าจะสิ้นสุดการในช่วงปลายปี ซึ่งเราก็จะนำข้อมูลที่ได้รับเข้าไปนำเสนอเช่นกัน โดยบทบาทของเราคือการศึกษาอย่างรอบด้านและเสนอแนะนำสู่สภา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่