เส้นทางบินพาณิชย์ (( สุดประหลาด )) ที่แม้นักการตลาดยังต้องฉงน!!!


ปี 2020 วิกฤต COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการเดินทางล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 

สายการบินต่างๆบ้างก็ต้องยุติการให้บริการชั่วคราว บ้างสู้ไม่ไหวต้องล้มหายตายจากไป บ้างก็ต้องพยายามปรับตัว เช่น หันมาบินเพื่อการขนส่งสินค้า (cargo) เป็นหลัก แทนที่จะบินเพื่อการขนส่งผู้โดยสาร หรือให้เช่าเหมาลำสำหรับการบินแบบ repatriation flight หรือเที่ยวบินส่งกลับภูมิลำเนา สำหรับผู้โดยสารที่ไม่สามารถหาเที่ยวบินตามปกติได้ เราจึงได้เห็นสายการบินต่างๆทำการบินในเส้นทางแปลกๆที่เราไม่คุ้นเคย 
(**ช่วงท้ายบทมีนำเสนอเส้นทางบิน repatriation flight ที่น่าสนใจไว้ด้วย)

แต่ในยามปกติ ยังมีเส้นทางการบินพาณิชย์แบบประจำ ไม่ใช่แบบเหมาลำ หรือบินเฉพาะกิจ ที่เปิดบินแบบที่ผู้บริหารสายการบินชั้นนำต้องเกาหัวว่าจะเปิดให้ใครบินเนี่ย จะเอากำรี้กำไรมาจากไหน หรือเปิดไปเพื่อเหตุใดกันฟ่ะ เรามาดูกันว่ามีเส้นทางอะไรบ้าง….

==============================================================================================

เส้นทางบินแรก AIR KORYO (JS)

เส้นทาง เปียงยาง, เกาหลีเหนือ (Pyongyang / FNJ) – มาเก๊า (Macau / MFM)

เส้นทางแรกเป็นของสายการบิน Air Koryo สายการบินประจำชาติของเกาหลีเหนือ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1955 เป็นสายการบินสุดพิเศษที่แม้แต่ Skytrax ยังไม่กล้าให้ดาว!! ปัจจุบันมีเครื่องบินในฝูงบินที่ยัง Active อยู่ทั้งหมด 4 ลำ ทั้งหมดเป็นเครื่องบินแบบ Antonov An-148 และ Tupolev Tu-204 ที่ผลิตในรัสเซียอย่างละ 2 ลำ Air Koryo ได้ชื่อว่าเป็นสายการบินที่ขึ้นยากที่สุดสายการบินหนึ่งของโลก มีเงินอย่างเดียวซื้อตั๋วขึ้นเลยไม่ได้นะจ๊ะ ก็แน่หล่ะ เพราะใครที่ขึ้นสายการบินนี้ก็หมายถึงพวกเขาจะต้องมุ่งหน้าสู่กรุงเปียงยาง โลกที่ซ้อนทับโลกอีกใบของท่านผู้นำ จนกระทั่งเหล่าบรรดา avgeek และ blogger/youtuber ทางการบินหลายคน ต้องทำเป็นภารกิจชาเล้นจ์เพื่อบินกับ Air Koryo ให้ได้สักครั้งในชีวิต 

นอกจากนี้ยังมีมุมซุบซิบในหมู่ผู้สนใจการบิน ที่มักพูดถึง Air Koryo Hamburger ในตำนาน อาหารสุดฮิตที่ว่ากันว่าเป็นของอร่อยเลิศกับคุณหรีด ที่ถูกให้บริการในทุกๆเที่ยวบินของสายการบิน หรือเรื่องที่ว่าบางครั้งเมื่อสายการบินจะทำภารกิจลับบางอย่าง จะมีการเกณฑ์ชาวเกาหลีเหนือขึ้นไปนั่งบนเครื่องจนเต็มลำ เพื่อทำการบินไปและกลับ เพื่อไม่ให้เกิดความสงสัยว่าสายการบินจะทำการบินมายังจุดหมายปลายทางแห่งนี้ทำไม (อ้างว่าก็พวกผู้โดยสารพวกนี้แหละเหมาลำมา!!) 

(ภาพซ้าย : Air Koryo Hamburger ในตำนาน ขนมปังหนานุ่ม สอดไส้ด้วยเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ล้นขอบขนมปัง วางผักสดๆกรอบๆจนเต็มอิ่มราวกับจานสลัด ราดซอสมายองเนสเต็มอิ่มไม่หวงเลย!!! // ภาพขวา : ห้องโดยสารแบบ Retro ภายในเครื่องบินที่ขึ้นชื่อของ Air Koryo)
ปัจจุบันก่อนยุค COVID-19 สายการบิน Air Koryo ทำการบินเส้นทางประจำสู่กรุงปักกิ่ง (Beijing) และเมืองเสิ่นหยาง (Shenyang) ในประเทศจีน และเมืองวลาดิวอสต็อก (Vladivostok) ในประเทศรัสเซีย ซึ่งก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร เพราะทั้งจีนและรัสเซีย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ร่วมหัวจมท้ายกันในแง่อุดมการณ์ทางการเมืองมายาวนาน
 
แต่ยังมีอีก 1 เส้นทางบิน ที่สายการบินทำการบินเชื่อมต่อกับกรุงเปียงยาง แบบปิดๆเปิดๆมายาวนานหลายสิบปี และเป็นที่สงสัยกันว่าใครจะไปขึ้น ล่าสุด Air Koryo กลับมาเปิดเส้นทางบินนี้อีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2019 นั่นคือเส้นทางบินสู่มาเก๊า หากเราไม่ได้มองว่ามาเก๊าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ก็ต้องบอกว่านี่คือเส้นทางบินนอกดินแดนร่วมอุดมการณ์ทั้งอดีตและปัจจุบันเส้นทางเดียวของสายการบินนี้ ทำไมหรือ? คนมาเก๊านิยมไปเที่ยวเกาหลีเหนือหรือ? ไม่น่าจะใช่นะ ยิ่งประชาชนธรรมดาๆชาวเกาหลีเหนือ ยิ่งไม่ต้องคิดเลยว่าท่านผู้นำไม่ปล่อยให้ไปเดินเล่นแถว The Venetian แน่นอน 
 
แต่คำตอบที่ Air Koryo บินไปมาเก๊า เพราะเหตุผลว่า “มาเก๊าเป็นเมืองแห่งการพนัน” ใช่.. บินไปเพราะ “การพนัน”

เป็นที่รู้กันว่า Stanley Ho เจ้าพ่อคาสิโนแห่งมาเก๊า ผู้ที่เพิ่งล่วงลับไปเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยวัย 98 ปี อยู่ในฐานะเจ้าของคาสิโน ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้นใต้ดินของ Yanggakdo Hotel โรงแรมหรูกลางกรุงเปียงยาง และพนักงานในคาสิโนเกือบทั้งหมดเป็นชาวมาเก๊า ที่ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษให้เข้าไปทำงานในนั้น ส่วนแขกที่เข้าไปเล่นในนั้น ก็คือพวกชนชั้นนำ ข้าราชการต่างๆ ที่อยากหาความตื่นเต้นในชีวิต รวมทั้งใช้เพื่อสูบเงินนักท่องเที่ยวใจกล้าที่เข้าไปเยือนประเทศเกาหลีเหนือ  

(ภาพซ้ายบน : Stanley Ho เจ้าพ่อคาสิโนแห่งมาเก๊า // ภาพที่เหลือ : Yanggakdo Hotel โรงแรมหรูกลางกรุงเปียงยาง อันเป็นที่ตั้งของ Casino Pyongyang)

ว่าแต่แค่พนักงานคาสิโนชาวมาเก๊าที่มาทำงานในเกาหลีเหนือ จำเป็นที่ Air Koryo จะต้องเปิดบินไปถึงมาเก๊าเชียวหรือ? คำตอบ คือ ไม่อย่างแน่นอน!! มีการกล่าวกันว่าเที่ยวบินสู่มาเก๊านี้ เป็นเส้นทางบินที่ทำกำไรมากที่สุดในโลก แต่กำไรที่ว่านั้นไม่ได้มาจากการขายตั๋ว หากแต่เที่ยวบินนี้มักจะเต็มไปด้วยชนชั้นนำในเกาหลีเหนือ ที่จะออกเดินทางไปเสี่ยงโชคในคาสิโน และ (อาจจะ) ทำหน้าที่ฟอกเงินไปด้วยในตัว รวมทั้งทำภารกิจลับทางธุรกิจบางอย่างให้กับประเทศ โดยอาศัยความสัมพันธ์กันทางธุรกิจคาสิโนของทั้ง 2 ประเทศ และกล่าวกันว่าเกาหลีเหนืออาจจะใช้มาเก๊าเป็นเส้นทางสำหรับนำสิ่งของบางอย่าง ??? เข้าและออกจากประเทศอีกด้วย  

(หมายเหตุ – สมัยบ้านเรายังมีสนามบินหลักเป็นดอนเมือง และช่วงเปิดสุวรรณภูมิใหม่ๆ Air Koryo เป็นแขกประจำมาเยี่ยมเยือนด้วยนะ แต่มาทำไม.. ใครรู้ช่วยบอกที!!! 55)


==============================================================================================

เส้นทางบินที่ (2) TAAG ANGOLA AIRLINES (DT)

เส้นทาง ลูอันดา, แองโกลา (Luanda / LAD) – ฮาวานา, คิวบา (Havana / HVN)

มันมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมีเที่ยวบินตรงจากประเทศคิวบา ดินแดนที่ได้ชื่อว่าประชาชนออกเดินทางจากประเทศได้ยากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้แต่นักกีฬาเองก็เถอะ ใครที่ออกมาแล้ว ล้วนแต่ไม่ย้อนกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้ง กับกรุงลูอันดา ประเทศแองโกลา ทีมี GDP (nominal) per capita จากการจัดอันดับของ World Bank อยู่ที่อันดับ 133 ของโลก จาก 189 ประเทศ ซึ่งเป็นอดีตเมืองขึ้นของโปรตุเกส มีที่ตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ 

(ภาพซ้าย : กรุงฮาวานา นครหลวงสุด Hip สไตล์ Retro แห่งแคริบเบียน // ภาพขวา : ตลาดกลางกรุงลูอันดา กับวิถีชีวิตที่ยังต่ำกว่ามาตรฐาน)

แต่ใครจะรู้ว่าเส้นทางบินนี้เกิดขึ้นจากเหตุผลทางด้าน “ประวัติศาสตร์” โดยต้องย้อนกลับไปถึงยุคสงครามเย็น ในเวลานั้นประเทศคิวบามีบทบาทในเรื่องการต่างประเทศอย่างมากก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยในปี 1975 เมื่อแองโกลาได้รับเอกราชจากโปรตุเกส ช่วงเวลานั้นได้เกิดความขัดแย้งภายในประเทศระหว่างกลุ่มนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ (MPLA) กับกลุ่มนิยมประชาธิปไตย (UNITA) ที่ต่างก็มีมหาอำนาจหนุนหลัง โดยกลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์ (MPLA) มีสหภาพโซเวียต ยูโกสลาเวีย และเยอรมันตะวันออก ให้การหนุนหลัง ส่วนกลุ่มนิยมประชาธิปไตย (UNITA) มีสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ให้การหนุนหลัง

(ภาพซ้าย : กองกำลังคิวบาที่เข้าร่วมกับฝ่าย MPLA // ภาพซ้าย : กองกำลังฝ่าย UNITA ที่ได้กองกำลังจากแอฟริกาใต้และซาอีร์เข้าร่วมช่วยเหลือ)

โดยกองกำลังฝ่าย UNITA ซึ่งได้แก่กองกำลังจากแอฟริกาใต้และซาอีร์ ร่วมกับกองกำลังปลดปล่อยพื้นเมือง ได้พยายามบุกเข้ายึดแย่งพื้นที่กับกลุ่ม MPLA โดยใช้ชื่อว่าปฎิบัติการ Operation Savannah ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ กองทหารคิวบาได้เข้ามาช่วยทำให้ฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ คือ ขบวนการประชาชน (MPLA) ได้รับชัยชนะ ภายหลังแกนนำกลุ่มสหภาพแห่งชาติที่สหรัฐฯหนุนหลังก็ต้องลี้ภัยไปยังสหรัฐฯเมื่อปี 1986 จนกระทั่งฝ่าย MPLA ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในปี 2002

(ภาพขวา : กองกำลังแอฟริกาใต้กำลังถอนทหารจากแองโกลาหลังปราชัย)

ผลของความขัดแย้งในครั้งนี้ทำให้กองกำลังทหารชาวคิวบาต้องเสียชีวิตไปกว่า 10,000 นาย รวมทั้งบาดเจ็บ พิการ เป็นจำนวนมาก และชาวแองโกลาปัจจุบันก็ถือว่าตัวเองเป็นหนี้บุญคุณชาวคิวบาที่ข้ามฟ้ามหาสมุทรมาช่วยรบอยู่

แต่เพียงแค่ประวัติศาสตร์ที่มีบุญคุณต่อกัน จะทำให้เส้นทางบินข้ามทวีปนี้อยู่ยั่งยืนยงได้หรือ คำตอบก็คงเป็นเพราะปัจจุบัน แองโกลาแม้จะเป็นประเทศที่ยังยากจน แต่ทรัพยากรที่มีอยู่ใต้ผืนดินของประเทศนี้ล้วนมีค่า ทั้งเหมืองเพชร ที่ส่งออกสูงสุดได้มากถึง 8 ล้านกะรัตใน 1 ปี ธุรกิจเหมืองแร่เหล็ก รวมทั้งธุรกิจน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งแองโกลาเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันได้มากที่สุดในภูมิภาค Sub-Saharan Africa เหนือกว่าไนจีเรีย และการลงทุนจากชาวจีนที่หลั่งไหลเข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติของประเทศนี้ ด้วยความเห็นชอบของรัฐบาล ทำให้กรุงลูอันดาเติบโตพัฒนาไปมาก เริ่มมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมากมาย และค่าครองชีพก็พุ่งสูงที่สุดแห่งหนึ่งในแอฟริกา 


ซึ่งการใช้ชีวิตที่หรูหราขึ้นนี้อาจจะ Match กันกับเหล้ารัมคุณภาพดี และซิการ์เกรดพรีเมี่ยม สินค้าส่งออกขึ้นชื่อของประเทศผู้มีพระคุณอย่างคิวบาก็เป็นได้


(หมายเหตุ – TAAG ANGOLA AIRLINES สายการบินแห่งชาติที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1940 สมัยที่ยังเป็นอาณานิคมโปรตุเกส ถือหุ้นโดยรัฐบาลแองโกลา 100% ปัจจุบันได้รับ rating จาก Skytrax อยู่ที่ 3 ดาว ได้ชื่อว่าเป็นสายการบินที่กำลังเติบโตและพัฒนาสายการบินหนึ่งของแอฟริกา มีฝูงบินทันสมัย เช่น B777-200ER / B777-300ER / B737-700 / และ Q400 รวมแล้วกว่า 14 ลำ มีเส้นทางบินสู่เมืองหลักๆทางเศรษฐกิจ เช่น กรุงลิสบอน (Lisbon) กรุงปักกิ่ง (Beijing) นครเซาเปาโล (Sao Paulo) นครริโอเดอจาเนโร (Rio de Janeiro) นครโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) เป็นต้น แม้ปัจจุบันสายการบินจะถูกแบนบางส่วนจาก EU ก็ตาม)

*** มีต่อในคอมเม้นต์ ***
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่