นักวิจัยค้นพบ สุนัข สามารถใช้สนามแม่เหล็กโลก เป็น GPS นำทาง ได้เหมือนนกอพยพข้ามทวีป

สุนัขใช้สนามแม่เหล็กโลกนำทางได้เหมือนนกอพยพ
แม้จะมีการสันนิษฐานกันมานานแล้วว่า สุนัขมีประสาทสัมผัสที่สามารถรับรู้ถึงพลังของสนามแม่เหล็กโลกได้ เหมือนกับสัตว์อีกหลายชนิดเช่นนก เต่า กบ และซาลาแมนเดอร์ แต่ล่าสุดทีมนักชีววิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย CULS ของสาธารณรัฐเช็กเพิ่งพบหลักฐานที่ยืนยันได้ชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า เจ้าตูบของเรามีความสามารถพิเศษดังกล่าวจริง
รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร eLife ระบุว่า มีการทดลองติดกล้องและอุปกรณ์จีพีเอสกับตัวสุนัขระหว่างออกล่าสัตว์ ซึ่งผลการทดลองนี้ช่วยอธิบายได้ว่า เหตุใดสุนัขหลายตัวจึงสามารถค้นหาเส้นทางที่ถูกต้องหรือเส้นทางลัดได้แม่นยำ แม้จะอยู่ในสถานที่ไม่คุ้นเคย ไม่มีรอยเท้าเก่าหรือร่องรอยอื่น ๆ ให้ติดตามดมกลิ่นได้เลยก็ตาม
ทีมนักวิจัยให้สุนัขล่าเหยื่อ 10 สายพันธุ์ จำนวน 27 ตัว ออกติดตามแกะรอยและนำสัตว์ที่ล่าได้กลับมาหาเจ้าของรวมทั้งสิ้นกว่า 600 ครั้ง โดยการทดลองจัดขึ้นในสถานที่หลายแห่ง ซึ่งมักเป็นป่ารกทึบไม่ค่อยมีแสงอาทิตย์ส่องถึงพื้น ทั้งยังมีใบไม้ร่วงทับถมกันจนหนา กลบรอยเดินเท้าและกลิ่นต่าง ๆ ที่พื้นดินจนหมด
ผลปรากฏว่าสุนัขส่วนใหญ่จะติดตามดมกลิ่นไปได้สักครู่ ก่อนจะถอยกลับมาตั้งหลักในจุดเริ่มต้น แล้วออกวิ่งไปในเส้นทางใหม่ที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
สุนัขทดลองที่นำเหยื่อกลับมาหาเจ้าของได้ในเวลาอันรวดเร็ว มักจะวิ่งมาตามแนวเหนือ-ใต้ ซึ่งตรงกับการวางตัวของเข็มทิศเสมอ ไม่ว่าเจ้าของจะยืนรออยู่ตรงตำแหน่งใดก็ตาม ถือเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่าสุนัขมีความสามารถรับรู้ถึงพลังของสนามแม่เหล็กโลก หรือแม็กนีโตรีเซปชัน (Magnetoreception)
ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีการศึกษาถึงคุณสมบัติดังกล่าวในสุนัขมากนัก เมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่นฝูงนกที่ต้องอพยพเป็นระยะทางไกลข้ามทวีปในทุกปี ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบถึงกลไกการทำงานโดยละเอียดของประสาทสัมผัสชนิดพิเศษในสุนัขนี้
เมื่อไม่กี่ปีก่อน นักวิจัยทีมเดียวกันยังค้นพบว่า สุนัขมักจะขับถ่ายตามแนวทิศทางเหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ชี้ว่าพวกมันรับรู้และตอบสนองต่อพลังของสนามแม่เหล็กโลกได้
สำหรับในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์หลายคนเริ่มมีคำถามว่า มนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิดมีความสามารถแบบนี้แอบแฝงอยู่ด้วยหรือไม่ ซึ่งก็เป็นประเด็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป
ที่มา https://www.bbc.com/thai/features-53540116

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่