ขอเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน นายทหารใหม่ครับ (มีเนื้อความข้างใน)

พระราชบัญญัติว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการทหาร พุทธศักราช 2563
        
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการทหาร พุทธศักราช 2563”
มาตรา 2 ให้พระราชบัญญัติฯนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัติฯนี้
ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หมายถึง ผู้บัญชาการทหารบก หรือผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารอากาศ
คณะกรรมาธิการ หมายถึง คณะกรรมาธิการทหารประจำรัฐสภา
มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งเพื่อให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 5 ให้มีคณะกรรมาธิการทหารประจำรัฐสภา เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1)      พิจารณาและตรวจสอบบัญชีในการแต่งตั้ง โยกย้าย และถอดถอนนายทหารสังกัดกระทรวงกลาโหม และนายทหารสังกัดกระทรวงอื่นใด รวมไปถึงนายทหารนอกราชการที่ได้รับจากผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
2)      พิจารณาและตรวจสอบคุณสมบัติของนายทหารที่อยู่ในบัญชีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุด
3)      ออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง โยกย้าย และถอดถอนนายทหาร
4)      เสนอแนะ หรือให้ความคิดเห็นแก่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐสภา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง โยกย้าย และถอดถอนนายทหาร
5)      แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง โยกย้าย และถอดถอนนายทหาร
6)      ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากประธานรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 6 คณะกรรมาธิการทหารประจำรัฐสภา ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมาธิการ รองประธานคณะกรรมาธิการจำนวนสองคน กรรมาธิการไม่เกินยี่สิบคน เลขาธิการคณะกรรมาธิการ และผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมาธิการจำนวนสองคน
         ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็นกรรมาธิการโดยตำแหน่ง ทั้งนี้ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ หรือรองประธานคณะกรรมาธิการ
         ให้ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นเลขาธิการคณะกรรมาธิการโดยตำแหน่ง
มาตรา 7 ให้ประธานรัฐสภา เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อสรรหาคณะกรรมาธิการทหารประจำรัฐสภาตามาตรา 6 ไม่เกินสามสิบวัน หลังเปิดประชุมรัฐสภาสมัยแรก
มาตรา 8 ประธานคณะกรรมาธิการทหารประจำรัฐสภา มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1)      เรียกประชุมคณะกรรมาธิการอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5
2)      แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานคณะกรรมาธิการ ในกรณีที่มิสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยสมบูรณ์ได้
3)      เสนอต่อประธานรัฐสภาให้ยุบคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาใหม่
4)      ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใด ๆ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งนับจากองค์ประชุม
5)      ควบคุมการประชุมของคณะกรรมาธิการ และตัดสินชี้ขาดในกรณีที่มติขององค์ประชุมมีความเห็นเท่ากัน
มาตรา 9 นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการ
มาตรา 10 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยคำแนะนำของผู้บัญชาการทหารสูงสุด และความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการ
มาตรา 11 ให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีอำนาจแต่งตั้งนายทหารให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการ
1)      รองผู้บัญชาการเหล่าทัพ และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
2)      ผู้ช่วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด
3)      เสนาธิการเหล่าทัพ และเสนาธิการทหาร
4)      รองเสนาธิการเหล่าทัพ และรองเสนาธิการทหาร
5)      แม่ทัพภาค
6)      นายทหารระดับผู้บัญชาการหน่วยต่าง ๆ
มาตรา 12 ให้ผู้บัญชาการหน่วยต่าง ๆมีอำนาจแต่งตั้งนายทหารให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ โดยความเห็นชอบของผู้บัญชาการเหล่าทัพ
1)      ผู้บังคับการกรมและรองผู้บังคับการกรม
2)      เสนาธิการกรมและรองเสนาธิการกรม
มาตรา 13 ตำแหน่งของนายทหารอื่น ๆ นั้นให้อำนาจการแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงกลาโหม
มาตรา 14 ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรให้มีการแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอนนายทหารในตำแหน่งใด ๆ เพื่อเป็นรักษาความมั่นคงและให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจในการออกคำสั่งแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอนนายทหาร โดยมิต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการ
         ทั้งนี้ให้รายงานต่อรัฐสภา และขอมติจากคณะกรรมาธิการเพื่อขอความเห็นชอบภายในเวลาไม่เกินสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่มีคำสั่ง
         ถ้าคณะกรรมาธิการไม่เห็นชอบด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม ให้คำสั่งนายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งเป็นอันสิ้นสุดลง และให้นายทหารตามคำสั่งนั้นปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม
         หากคณะกรรมาธิการให้ความเห็นชอบด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม นายทหารตามคำสั่งนั้นสามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาคำสั่งดังกล่าวได้ โดยให้ถือว่าคำตัดสินของศาลปกครองเป็นที่สุด
มาตรา 15 ในกรณีที่เห็นสมควรให้มีการแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน หรือปรับเปลี่ยนตำแหน่งใด ๆ ตามมาตรา 11 เป็นกรณีพิเศษฉุกเฉินเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพมีอำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าวได้โดยมิต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการ
         ทั้งนี้ให้รายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และขอมติจากคณะกรรมาธิการเพื่อขอความเห็นชอบภายในเวลาไม่เกินเจ็ดวันนับตั้งแต่วันที่มีคำสั่ง
มาตรา 16 ในกรณีที่คณะกรรมาธิการมีการใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 5 ในส่วนของการแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอนนายทหารในตำแหน่งต่าง ๆ นายทหารที่ถูกแต่งตั้ง โยกย้าย หรือถอดถอนมีสิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์เพื่อการพิจารณาใหม่ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยให้ถือคำตัดสินของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นที่สุด
มาตรา 17 ในกรณีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้สภาพคณะกรรมาธิการทั้งคณะเป็นอันสิ้นสุดลง
มาตรา 18 ในกรณีที่ยังไม่มีคณะกรรมาธิการ หากมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือในกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการออกคำสั่งแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน นายทหารได้ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และเมื่อมีคณะกรรมาธิการแล้วให้นายกรัฐมนตรีขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมาธิการภายในสามสิบวันหลังจากมีคณะกรรมาธิการ
มาตรา 19 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจในการพิจารณาคำอุทธรณ์ของนายทหารผู้ยื่นคำร้อง โดยให้มีแนวทางอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1)      เห็นชอบตามมติของคณะกรรมาธิการ
2)      เรียกประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อขอความเห็น และให้พิจารณาใหม่อีกครั้ง
3)      ส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีร่วมพิจารณาและให้คณะกรรมาธิการพิจารณาใหม่อีกครั้ง
มาตรา 20 ในกรณีที่ความใด ๆ ในพระราชบัญญัตินี้ขัดต่อบทบัญญัติใด ในพระราชบัญญัติอื่น ๆ ให้ถือว่าความดังกล่าวในพระราชบัญญัตินี้ชอบด้วยกฎหมาย และมิขัดต่อบทบัญญัติใด ๆ ผู้ใดจะเอาไปฟ้องร้องมิได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่