บทความตามใจฉัน “Dethrone” Part 1

ในสงครามธุรกิจเครื่องเกมคอนโซลโดยเฉพาะระหว่าง Sony และ Nintendo นั้น สำหรับในญี่ปุ่นแล้วค่อนข้างที่จะจืดชืดเนื่องจากแนวทางการตลาดที่เน้นการโฆษณาขายสินค้าของตนเอง แต่ถ้ามองไปในตลาดประเทศตะวันตกแล้วกลับพบว่าการต่อสู้แย่งชิงส่วนแบ่งตลาดนั้นดุเด็ดเผ็ดมันกว่ามากเนื่องจากแนวทางการโฆษณาที่เน้นเชิงรุกมากกว่ารวมถึงสังคมยังยอมรับการโฆษณาในรูปแบบที่ล้อเลียนคู่แข่งอีกด้วย ตัวอย่างเช่น Blast Processing ของ Sega ผู้อ่านสามารถดูวิดีโอโฆษณาได้ใน Link ข้างล่าง
https://www.youtube.com/watch?v=zlulSyBI2aY
 
Sony เองที่ถือเป็นหน้าใหม่ของวงการก็มีการใช้รูปแบบโฆษณาล้อเลียนด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เกม Crash Bandicoot พัฒนาโดยบริษัท Naughty Dog ที่กำลังโดนมรสุมหนักขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่นี้ก็เคยมีโฆษณาที่จิกกัดคู่แข่งอย่าง Nintendo ด้วย ผู้อ่านสามารถดูวิดีโอโฆษณาได้ใน Link ข้างล่าง ในวินาทีที่ 45
https://www.youtube.com/watch?v=EYrYSWxDf7o
 

 
อย่างไรก็ตามขณะนั้น Sony เองก็ยังไม่มีเกมเด่น ๆ ในมือจึงทำให้สถานะการณ์เสียเปรียบคู่แข่งทั้ง Nintendo และ SEGA อย่างมาก นี่ทำให้เมื่อ Square จะมาทำเกมลง ps ทาง Sony เลยเสนอขอเป็นตัวแทนจำหน่ายและทำการตลาดร่วมกับ Square รวมถึงยังช่วยออกทุนค่าการตลาดให้อีกด้วย
 
 Tomoyuki Takechi ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Square ได้บอกข้อมูลว่าในตลาดอเมริกานั้นใช้เงินค่าการตลาดไปมากกว่า 20 ล้านเหรียญ ยุโรปราว ๆ 30 ล้านเหรียญและญี่ปุ่นประมาณ 40 ล้านเหรียญ จากการให้ข้อมูลของ David Bamberger อดีตผู้จัดการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Sony ที่กล่าวว่าทีมของเค้าได้รับงบทำการตลาดมา 10 ล้านเหรียญจึงคาดว่างบการตลาดที่ Tomoyuki Takechi กล่าวถึงนั้น ครึ่งหนึ่ง Sony ช่วยออกให้
 
ในรูปคือร่างแผนการตลาด Square on PlayStation ในอเมริกาซึ่ง David Bamberger ค้นจากคลังเอกสารเก่าของเค้ามาให้ดู โดยในส่วนของ Main Objective โดยเฉพาะข้อที่ 1 นั้นน่าสนใจมากเพราะมันกล่าวถึงการส่งเสิรมศักยะภาพของ Square อย่างเต็มที่ (เพิ่มยอดขาย) เพื่อที่จะสามารถขายเครื่องได้และในหน้าแรกของแผนนี้มีการพูดถึงชื่อเกมทั้งสิ้น 5 เกม ได้แก่ Final Fantasy7, Final Fantasy Tactics, Bushido Blade, Sega Frontier,  Tobal #2 ซึ่งน่าจะหมายถึงเกม Tobal no1
 
เอกสารดังกล่าว polygon.com ได้แสกนเป็น PDF เก็บไว้  ผู้อ่านสามารถดูเอกสารได้ใน Link ข้างล่าง
https://cdn1.vox-cdn.com/uploads/chorus_asset/file/7687635/Bamberger_marketing_files.0.pdf
 

 
นี่ทำให้เมื่อ Final Fantasy 7 เกมใหม่ล่าสุดของ Square กำลังจะวางตลาดที่อเมริกา นอกจาก Sony จึงทำการตลาดแบบเชิงรุกหวานปูพรมสื่อโฆษณาทั้งในนิตยสาร ทีวี และสื่ออื่น ๆ มากมาย
แต่โฆษณาที่เป็นที่จดจำที่สุดคือโฆษณาหนึ่งที่ลงในนิตยสาร
ในส่วนด้านบนของโฆษณามีข้อความว่า
 
“ใครก็ได้เอาบุหรี่ให้คนทำเกมตลับแล้วผูกตาเค้าที”
(อธิบายมุก นักโทษที่จะถูกประหารโดยการยิงเป้าจะมีการเอาผ้าผูกตาไว้ให้ก่อนยิง)
 
แน่นอนว่าข้อความนี้สื่อถึง Nintendo อย่างไม่ต้องสงสัย
แต่สิ่งที่ทำให้โฆษณานี้เป็นที่จดจำก็คือต่อมามันเป็นจริงจนน่าขำแต่ขำไม่ออก
การมาของ ff7 นั้นเหมือนเป็นการลากเอาปืนใหญ่มายิง Nintendo จริง ๆ 
 

 
โดยปืนนี้ได้ยิงกระสุนนัดแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม 1997 ที่ญี่ปุ่น ต่อมาถูกดัดแปลง(แปลภาษา)และนำไปติดตั้งใช้งานที่อเมริกาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 1997 และติดตั้งใช้ทั่วโลกในวันที่ 2 ตุลาคมปีเดียวกัน อานุภาพของมันมหาศาลและส่งผลกระทบต่อ Nintendo อย่างมาก ซึ่งสามารถอธิบายได้ตามหลักสามประการ

“กาละฟ้า, ชัยยิ้ม, ประชากรหนุน”
 

 
เรามาดูในส่วนของกาละฟ้ากันก่อน

Ff7 นั้นวางตลาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม 1997 
ส่วน N64 วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 1996 
ดูจากวันที่วางจำหน่ายจะเห็นได้ว่า ff7 วางจำหน่ายหลัง N64 วางจำหน่ายครั้งแรกเพียงราว ๆ  7 เดือน
และเมื่อ ff7 ออกสู่ตลาด ในขณะนั้นทาง N64 เองมีเกมออกมาเพียง 15 เกมเท่านั้นและเกมเหล่านั้นจะต้องมาทำหน้าที่คู่เทียบสู้กับ ff7 เพื่อให้ผู้เล่นทั้งเก่าและใหม่ตัดสินใจซื้อเครื่องของ Nintendo ต่อไปและไม่หันไปซื้อ ps ของ Sony
ซึ่งเกมที่ดูแล้วน่าจะพอสู้ได้ก็มีเพียงแค่ Mario 64 และ Mario Kart 64 เท่านั้น
 
ถ้าเทียบเฉพาะเกมที่เป็นแนว RPG เหมือนกันแล้ว  Nintendo ในขณะนั้นไม่มีเกม RPG อยู่เลยและตลอดปี 1997 ก็ไม่มีเกมแนว RPG มาลงเครื่อง N64 เลยแม้แต่เกมเดียว เกมคู่แข่งที่ทาง Sony และ Square คาดไว้อย่าง Zelda 64 (มีการเขียนไว้ในร่างแผนการตลาด หน้าที่ 1) ก็ติดปัญหาด้านการพัฒนาที่ผูกกับ Add-on ของ N64 มากเกินไปจนลงสนามในปี 1997 ไม่ทันตามที่Nintendo วางแผนไว้เพราะความล่าช้าในการสร้าง Add-on ดังกล่าว

นี่ทำให้คอเกม RPG เลือกที่หันไปซื้อเครื่อง ps ได้อย่างง่ายดาย
 
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือจงใจก็ตาม การวางจำหน่ายของ ff7 นั้นถูกจังหวะอย่างยิ่ง

ช่วง(ชิง)กาละฟ้า
 

 
ต่อมาคือชัยยิ้ม
 
Ff7 เป็นเกมที่ประสบความสำเร็จและมียอดขายที่พุ่งสูงอย่างรวดเร็วอย่างที่เคยกล่าวถึงไปแล้ว 
ที่ญี่ปุ่นขายได้ 2 ล้านชุดใน 3 วันและทำยอดได้ถึง 3.27 ล้านชุดเมื่อสิ้นปี 1997 ส่วนที่อเมริกาเองขายได้ 1 ล้านชุดภายในเวลาไม่ถึง 4 เดือน นี่ทำให้ยอดขายของ ps เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและทำให้ส่วนแบ่งตลาดของ ps เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากจำนวนผู้ครอบครอง ps ที่เพิ่มขึ้น

คำถามคือเพิ่มมากแค่ไหนและมากพอที่จะส่งผลหรือไม่
โชคดีว่า https://web.archive.org/ ยังเก็บข้อมูลยอดส่งออกสะสมของเครื่อง ps ที่ลงใน scei.co.jp ไว้ เลยพอจะตรวจสอบได้
ผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ใน Link ข้างล่าง
https://web.archive.org/web/20110524023857/http:/www.scei.co.jp/corporate/data/bizdataps_e.html

ตัวอย่างการอ่านยอดสะสม
ปีที่ 1: 10เครื่อง
ปีที่ 2: 20เครื่อง
นี่หมายความว่าปีที่2 นั้นขายได้อีก 10 เครื่องรวมทั้งหมดเป็น 20 เครื่อง
 


จากตารางจะเห็นได้ว่า เมื่อสิ้นปี 1995 หรือ 1 ปีกว่า ๆ หลังวางจำหน่ายครั้งแรก เครื่อง ps มีการส่งออกสะสมที่ญี่ปุ่นอยู่ 2 ล้านเครื่อง อเมริกา 8 แสนเครื่องและยุโรป 6แสนเครื่อง
 
เมื่อเข้าปี 1996 ส่งออกสะสมที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 4.2 ล้านเครื่อง อเมริกา 3.45 ล้านเครื่องและยุโรป 2.35 ล้านเครื่อง
 
พอเข้าปี 1997 ยอดส่งออกสะสมพุ่งสูงอย่างโหดมาก ที่ญี่ปุ่นพุ่งสูงถึง 10.05 ล้านเครื่อง ตีกลม ๆ ก็ 200% แต่ยอดที่ประเทศแถบตะวันตกนั้นโหดกว่าโดยที่อเมริกานั้นมียอดสะสมที่ 10.35 ล้านเครื่องและยุโรป 7.8 ล้านเครื่อง ปัดกลม ๆ ก็ 300 %
 
ในปี 1998 ส่งออกสะสมที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 14.71 ล้านเครื่องซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดญี่ปุ่นถ้าไม่เริ่มอิ่มตัวแล้วก็เริ่มมีผลกระทบจากเกมใหม่ ๆ จากฝั่ง Nintendo เช่น Zelda แต่ยอดของทางประเทศตะวันตกยังคงพุ่งต่อเนื่อง อเมริกาอยู่ที่ 19.48 ล้านเครื่องและยุโรป 16.51 ล้านเครื่อง ทำให้ Sony สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดจำนวนมากที่เคยเป็นของ Nintendo อย่างเหนียวแน่นมาได้
 
ทำลายชัยยิ้ม
 

 
สุดท้ายคือประชากรหนุน

จากที่ Keith Boesky ประธานของ Eidos (1997-1999) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเหล่าบริษัทผู้ผลิตเกมนั้นไม่เชื่อมั่นใน ps
และไม่มีใครคิดว่า ps มันจะ work การมาของ ff7 ทำให้ความคิดนี้เปลี่ยนไป
 
ในมุมมองของบริษัทผู้พัฒนาเกม ff7 คือตัวอย่างและกลายเป็น showcase ไปว่า ps มีศักยภาพเท่าไหร่และทำอะไรได้แค่ไหน
ซึ่งนี่ทำให้บริษัทต่าง ๆ ที่ไม่เคยสนใจ ยังลังเลหรือแม้แต่บริษัทอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตรเหนียวแน่นกับ Nintendo เริ่มหันมาสร้างเกมลง ps มากยิ่งขึ้นและสถานการณ์ของ Nintendo ก็ยิ่งแย่เข้าไปอีกเมื่อ Square เองมีส่วนสำคัญอย่างมากในการชักจูงบริษัทเหล่านั้นรวมถึงบริษัทคู่แข่งในเกมแนว RPG อย่าง Enix เองให้ย้ายค่ายมาทำเกมลง ps 
 
น่าเสียดายว่าอดีตประธานของ Square Hisashi Suzuki ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์แก่ polygon.com ในประเด็นนี้
แต่ในหนังสือ Playing to Wiin: Nintendo and the Video Game Industry's Greatest Comeback ได้มีการอ้างถึงบทสัมภาษณ์ของ Nao Suzuki ประธานบริษัท Square ในนิตยสาร nihon keizen shimbum ฉบับเดือนตุลาคม 2001 ที่พูดในประเด็นที่เกี่ยวกับการชักจูงบริษัทเกมอื่น ๆ ของ Square อยู่ 
 
ดังนั้นถ้าใครอ่านภาษาญี่ปุ่นออกและสามารถหาบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมาอ่านได้ นี่เป็นโอกาสที่จะได้เข้าถึงหนึ่งในดราม่าวงการเกมที่มีน้อยคนนักที่จะรู้ถึงรายละเอียด
 

 
ในยุค 80s Hiroshi Yamauchi ประธานบริษัท Nintendo ในปี 1986 มองว่าการให้อิสระแก่ third-party developers มากเกินไปจนทำให้ตลาดเต็มไปด้วย “เกมด้อยคุณภาพ” เป็นสาเหตุให้คนเลิกเล่นเกมคอนโซล จึงทำการควบคุมเหล่าบริษัทผู้พัฒนาเกมภายใต้กฎข้อบังคับที่เคร่งครัดและในบ้างครั้งถึงขั้นเอาเปรียบจนทำให้เกิดความอึดอัดและความแค้นต่อ Nintendo 

แต่เหล่าผู้พัฒนาเกมก็จำเป็นต้องทนเพราะ Nintendo เป็นผู้ครองตลาดมากถึง 80% ในเวลานั้นและยังคงเป็นเจ้าตลาดต่อมาจนถึงยุค 90s
 
แต่ตอนนี้ พวกเค้ามีทางเลือกอื่นแล้ว
 
และนี่คือ ชิงประชากรหนุน
 

 
to be continued in “Dethrone” Part2
 
ปล.ตอนนี้ผมได้เปิด Facebook Page “บทความตามใจฉัน” 
โดยบทความจะหลายหลากคละประเภทกันไปความตามความสนใจนั้นขณะนั้น ถ้าสนใจก็กดติดตามได้ครับ
https://www.facebook.com/uptomejournal/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่