จาก 'BTS' ถึง 'Parasite' เมื่อความบันเทิง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกาหลีใต้

รู้หรือไม่ว่าการส่งออกทางวัฒนธรรมอย่างวงดนตรี K-POP และภาพยนตร์อย่าง Parasite สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับประเทศเกาหลีใต้จนกลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่แพ้บริษัทยักษ์ใหญ่กันเลยทีเดียว
ชัยชนะของ Parasite ชนชั้นปรสิต บนเวทีออสการ์ประจำปี 2020 ด้วยการกวาดรางวัลใหญ่ของงานไปครองถึง 4 สาขา ไล่มาตั้งแต่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ทำให้สถานะของเกาหลีใต้ในฐานะผู้ส่งออกทางวัฒนธรรมยักษ์ใหญ่ระดับโลก ได้รับการตอกย้ำให้หนักแน่นยิ่งขึ้น
เพราะใครจะเชื่อว่าหนังดาร์กคอเมดี้ที่พูดถึงความแตกต่างทางชนชั้นของครอบครัวมหาเศรษฐีที่รวยล้นฟ้ากับครอบครัวที่จนแสนจน ต้องอาศัยอยู่ในห้องใต้ดินอับ ๆ พับกล่องพิซซาขายเพื่อยังชีพ แถมยังเป็นหนังที่พูดภาษาเกาหลีล้วนๆ สร้าง กำกับ และนำแสดงโดยคนเกาหลีทั้งหมด ใช้ทุนสร้างเพียง 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเอาชนะหนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์ของผู้กำกับชื่อดังระดับโลกที่ใช้ทุนสร้างมากกว่ากันเกือบสิบเท่า จนกลายเป็นหนังภาษาต่างประเทศที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) ไปครองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 92 ปีของออสการ์

"ชัยชนะครั้งนี้ไม่เพียงสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศเท่านั้น แต่ยังสร้างเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำตามมา และทำให้ ‘การส่งออกทางวัฒนธรรม’ กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ไปแล้ว จากที่เคยพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตอย่าง การต่อเรือ 
การผลิตรถยนต์ สร้างชาติให้ฟื้นตัวจากสงครามเกาหลีมาได้"

ข้อมูลล่าสุดระบุว่า Parasite ทำรายได้ทั่วโลกไป 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว และคาดว่าจะพุ่งอีกหลายเท่าตัวหลังจากชัยชนะบนเวทีออสการ์ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการหลายประเทศ รวมถึงในไทยเอง นำหนังเรื่องนี้กลับเข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์กันใหม่กันอีกครั้ง
 
ความบันเทิงขับเคลื่อนประเทศ
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เกาหลีใต้ใช้การส่งออกทางวัฒนธรรมที่เป็น soft power ค่อย ๆ แทรกซึมเข้าไปยึดครองใจคนทั่วเอเชียผ่านซีรีส์เกาหลี และนักร้องเคป๊อป ก่อนจะค่อย ๆ ขยับขยายออกไปบุกตลาดตะวันตกด้วยการสนับสนุนอย่างเป็นระบบของรัฐบาลเกาหลีใต้ และความมุ่งมั่นของคนในประเทศของเขาเอง
 
โดยในฝั่งของอุตสาหกรรมเพลงนั้นมี วง บีทีเอส (BTS) บอยแบนด์ 7 หนุ่มที่ประกอบด้วย คิมนัมจุน, คิมซอกจิน, มินยุนกิ, จองโฮซอก, ปาร์คจีมิน, คิมแทฮยอง, จอนจองกุก เป็นที่เชิดหน้าชูตา ด้วยการนำเพลงขึ้นอันดับ 1 ของชาร์ตเพลงหลักทั้งในสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศทั่วโลกได้สำเร็จ แล้วยังครองสถิติโลกของ ‘กินเนส เวิลด์ เรคคอร์ด’ อยู่อีกหลายต่อหลายสถิติ อาทิ วีดิโอที่มียอดวิวทางยุทูปสูงที่สุดในรอบ 24 ชั่วโมง จากเพลง Boy With Luv ซึ่งมียอดวิวสูงถึง 74.6 ล้านครั้งภายในวันเดียว
นอกจากนี้ 7 หนุ่ม BTS ยังใช้อิทธิพลที่มีต่อคนรุ่นใหม่มาเป็นกระบอกเสียง รณรงค์แคมเปญต่อต้านความรุนแรงที่ชื่อ Love Myself จนได้รับเชิญให้ไปกล่าวคำปราศรัยในที่ประชุมขององค์กรสหประชาชาติ (UN) ในฐานะทูตขององค์กร Unicef

เท่านั้นยังไม่พอ พวกเขายังได้รับเลือกให้ขึ้นปกนิตยสาร TIME ในฐานะหนึ่งในผู้นำรุ่นต่อไป (Next Generation Leaders) แล้วยังติดหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกประจำปี 2019 (Most Influential People of 2019)  อีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่มีชาวเกาหลีและศิลปินเกาหลีรายได้ทำได้มาก่อน

หากพูดถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ วง K-POP ที่ยืนหยัดว่าจะทำเพลงเป็นภาษาเกาหลี ไม่มีความคิดที่จะออกอัลบั้มภาษาอังกฤษเพื่อให้เข้าถึงคนต่างชาติได้ง่ายขึ้น ยังสามารถจัดทัวร์คอนเสิร์ตสเกลใหญ่ระดับ Stadium ได้ในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และเอเชียสำเร็จ จนคว้าตำแหน่งศิลปินกลุ่มที่ทำรายได้จากการทัวร์ในปี 2019 มากที่สุดในโลก จากข้อมูลของ Boxscore ชาร์ต
โดย BTS ฟันรายได้ไปกว่า 196 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 6,100 ล้านบาท) จากการเล่นคอนเสิร์ต 42 รอบ ให้กับคน 1.6 ล้านคนดู เอาชนะวงร็อคระดับตำนานของโลกอย่าง Rolling Stones, Metallica, KISS หรือแม้แต่วงบอยแบนด์ระดับโลกอย่าง Backstreet Boys

"ความสำเร็จดังกล่าวทำให้สถาบันต่าง ๆ ในเกาหลีใต้คำนวนออกมาว่า ‘BTS Effect’ เอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งในแง่ของวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม โดยสถาบันวิจัยฮุนไดรายงานเอาไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2018 ว่า วงบีทีเอสสร้างมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศราว 4 ล้านล้านวอน (ประมาณ 4.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งถ้านำไปเทียบกับผลประกอบการของบริษัทเกาหลีในปี 2018 พบว่าวงบอยแบนด์วงนี้มีส่วนต่อจีดีพีของประเทศราว 0.3% เกือบเท่ากับสายการบิน Korean Air ซึ่งอยู่ที่ 0.7% หรือ 11.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กันเลยทีเดียว"
สำหรับข้อมูลล่าสุดในปี 2019 ระบุว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่วงบีทีเอสสร้างให้กับประเทศนั้นขยับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 5.6 ล้านล้านวอน หรือ 4,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้ว
ในส่วนของภาพยนตร์นั้น หนังเกาหลีใต้ค่อย ๆ สั่งสมชื่อเสียงในเวทีระดับโลกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือหนังซอมบี้เรื่อง Train to Busan หรือ ด่วนนรกซอมบี้คลั่ง เมื่อปี 2016 ซึ่งเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และได้รับกระแสเสียงตอบรับดีมากในตลาดต่างประเทศจนได้เครดิตว่าเป็นหนังที่ทำให้คนตะวันตกเปิดใจรู้จักหนังเกาหลีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ยังทำรายได้ให้ประเทศเกาหลีค่อนข้างน้อย โดยข้อมูลล่าสุดที่ได้จาก Korea Creative Content Agency ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ระบุว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้สร้างรายได้เพียง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018 เท่านั้น
แต่หลายฝ่ายอย่างนายคิมยองโฮ โฆษกสมัชชาภาพยนตร์เกาหลี (Korean Film Council) มองว่าการชนะออสการ์ของ Parasite จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้หนังเกาหลีเติบโตในระดับโลก
ขณะที่นาย Sang-Woung han นักวิเคราะห์จาก Eugene Investment & Securities บอกว่าเรื่องนี้จะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้โลกหันมาสนใจคอนเทนต์เกาหลีมากขึ้น แถมยังขยับขยายขอบเขตเข้าไปยังภาพยนตร์ ไม่เฉพาะแต่ซีรีส์เกาหลี และ K-POP ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายอยู่แล้ว
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการวิเคราะห์ครั้งนี้มีความเป็นไปได้คือการที่หนังเรื่อง Snowpiercer และ Okja ของ บงจุนโฮ ผู้กำกับ Parasite ซึ่งก่อนหน้าที่ทำรายได้ไม่ค่อยดีนักในสหรัฐ แต่พอหลังจากที่ Parasite ชนะออสการ์ ยอดวิวของหนังสองเรื่องนี้ซึ่งฉายอยู่ทาง Netflix ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจนมาอยู่ในลิสต์หนังที่ได้รับความนิยมมากที่สุดทางช่องสตรีมมิงแห่งนี้

"ที่สำคัญ ชัยชนะของ Parasite ไม่ใช่แค่ชัยชนะของหนังเกาหลีเท่านั้น แต่ยังอาจหมายถึงชัยชนะของหนังเอเชีย หรือหนังทางเลือกอื่น ๆ อีกด้วย โดย Wonsuk Chin ผู้กำกับเกาหลีใต้ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้กำกับบงจุนโฮ ให้สัมภาษณ์ CNN เอาไว้หลังชัยชนะของ Parasite ว่า “ประวัติศาสตร์ได้ถูกเขียนขึ้นแล้ว”

“(ฮอลลีวูด) ไม่เคยอ้าแขนรับหนังภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษแล้วยังสร้างนอกฮอลลีวูดแบบนี้มาก่อน นี่มันหมายความว่าฮอลลีวูดพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงแล้วหรือไม่ ถ้าชัยชนะครั้งใหญ่ของ Parasite จะทำให้นักดูหนังที่มีความอยากรู้อยากเห็นบางคนออกไปดูหนังเกาหลีหรือหนังชาติอื่น ๆ กันมากขึ้น ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นแล้ว”

Source:
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่