ฟอสซิลปริศนา

ฟอสซิลสวมรองเท้า Limestone Cowboy


เมืองเกลนโรส บริเวณลุ่มแม่น้ำพาลักซี รัฐเทกซัส ประเทศอเมริกา ถูกเรียกว่าไดโนเสาร์วัลเลย์ เพราะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่พบซากดึกดำบรรพ์รอยเท้าไดโนเสาร์จำนวนมาก แต่ที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่านั้นคือ พบซากดึกดำบรรพ์รอยเท้ามนุษย์ที่บริเวณนั้นด้วย

ปี 1980 เจอร์รี สโตน พนักงานบริษัทคอร์เวตต์ออยล์ พบฟอสซิลเท้ามนุษย์อายุ 40 ล้านปี ในเมืองไอราแอน รัฐเทกซัส ที่แปลกก็คือเท้ามนุษย์นี้สวมรองเท้าบู๊ตที่ยังมีสภาพดี ไม่ได้แข็งเป็นหินเหมือนกับเท้าที่สวมใส่มันอยู่ ฟอสซิลชิ้นนี้ต่อมาถูกเรียกว่า Limestone Cowboy หรือโคบาลหินปูน
 
ต้องใช้เวลาหลายล้านปีที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตกลายสภาพเป็นฟอสซิลได้ หากเท้าที่พบมีอายุ 40 ล้านปี รองเท้าบู๊ตที่สวมใส่ก็คงทำมาจากหนังไดโนเสาร์
แต่เมื่อพิจารณาจากการตัดเย็บที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองก็สามารถสืบพบได้ว่ามันผลิตขึ้นโดยบริษัท เอ็ม. แอล. แลดดี้ ตั้งอยู่ที่เมืองซานแอนเจโล รัฐเทกซัส

บริษัท เอ็ม. แอล. แลดดี้ ไม่ได้มีอายุเก่าแก่ 40 ล้านปีแน่ๆ มันเพิ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 1936 การเย็บลวดลายรองเท้าแบบ 10 ฝีเข็มเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของรองเท้าบู๊ตที่ผลิตในช่วงทศวรรษ 1950  แต่ฟอสซิลเท้าอายุ 40 ล้านปี เข้าไปอยู่ในรองเท้าบู๊ตอายุไม่กี่สิบปีได้อย่างไร 
ไม่มีใครสามารถบอกได้ บางคนพยายามให้คำอธิบายว่าฟอสซิลนี้ถูกพบในหนองน้ำซึ่งมีตะกอนแร่ธาตุบางอย่างทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อทำให้มันกลายสภาพเป็นฟอสซิล
Cr.https://handwork-manman.blogspot.com/2019/09/limestone-cowboy.html

ปรากฏการณ์หินเคลื่อนที่ได้เอง มีมาตั้งแต่ 200 ล้านปีก่อน


(R.S. LULL  ฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์ที่มีแนวของหินเคลื่อนที่เองได้ประทับอยู่ด้วย)

ปรากฏการณ์ประหลาดที่หินทั้งก้อนเล็กก้อนใหญ่สามารถเคลื่อนที่ได้เองบนพื้นทะเลสาบ "ลู่วิ่ง" หรือเรซแทร็ก พลายา (Racetrack Playa) ที่เหือดแห้งไปแล้วในทะเลทรายหุบเขามรณะ (Death Valley) ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้หินเหล่านี้ได้รับฉายาว่า "หินแล่น" (Sailing stone) เพราะเคลื่อนที่เองเหมือนแล่นเรือใบออกไปได้ไกลอย่างเหลือเชื่อ

นักวิทยาศาสตร์เพิ่งพบสาเหตุที่ "หินแล่น" สามารถเคลื่อนที่ได้เองในปี 2014 และล่าสุดยังพบว่าปรากฏการณ์นี้มีความเก่าแก่ เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อยเมื่อ 200 ล้านปีก่อน เนื่องจากซากฟอสซิลชิ้นหนึ่งมีร่องรอยของหินแล่นอยู่ร่วมกับรอยเท้าไดโนเสาร์จากยุคเดียวกัน

ศาสตราจารย์พอล ออลเซน นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียของสหรัฐฯ นำเสนอผลการศึกษาซากฟอสซิลดังกล่าวในที่ประชุมสหภาพธรณีฟิสิกส์อเมริกัน (AGU) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยชี้ว่าร่องรอยที่ปรากฏเป็นทางยาวอยู่ข้างรอยเท้าของบรรพบุรุษไดโนเสาร์จำพวกซอโรพอด (Prosauropod) เป็นร่องรอยของหินแล่นที่ไม่เคยมีผู้สังเกตเห็นมาก่อน แม้ว่าจะมีการค้นพบฟอสซิลชิ้นนี้และนำออกแสดงในพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปี 1896 แล้วก็ตาม

ย้อนไปเมื่อปี 2014 ริชาร์ดและเจมส์ นอร์ริส นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปส์ (SIO) ของสหรัฐฯ ได้ค้นพบกระบวนการทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดหินแล่นอันน่าพิศวงขึ้น โดยพวกเขาติดเครื่องบอกพิกัดจีพีเอสเข้ากับหินดังกล่าว จนทราบว่าหินแล่นไปได้เพราะน้ำฝนที่ตกลงมาในฤดูหนาว จับตัวเป็นผืนน้ำแข็งที่มีความหนาพอเหมาะอยู่ด้านล่างของก้อนหินในเวลากลางคืน

ผืนน้ำแข็งนี้จะแตกออกเป็นแผ่นที่เล็กลงและละลายตัวเล็กน้อยเมื่อต้องแสงแดดยามเช้า ทำให้เมื่อมีลมแรงพัดมา หินจะเคลื่อนที่ไปบนแผ่นน้ำแข็งที่ไถลตัวบนพื้นโคลนเปียกด้วยแรงลมได้ แม้หินบางก้อนจะมีน้ำหนักมากถึง 320 กิโลกรัมก็ตาม โดยจะทิ้งร่องรอยเป็นทางยาวเหมือนลู่วิ่งไว้ให้เห็น เมื่อน้ำระเหยแห้งไปจากพื้นโคลนแล้ว



(GETTY IMAGES  ภาพนักวิทยาศาสตร์พบสาเหตุที่หินก้อนใหญ่หลายก้อนสามารถเคลื่อนที่ได้เองเหมือนแล่นไปบนพื้นดิน ในปี 2014)

ศ. ออลเซนชี้ว่า กระบวนการเกิดหินแล่นในยุคดึกดำบรรพ์นั้นก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน โดยสภาพภูมิอากาศแปรปรวนอาจทำให้แหล่งที่มาของฟอสซิลดังกล่าวในพื้นที่รัฐคอนเนตทิคัต ซึ่งในยุคโบราณน่าจะมีสภาพอากาศอบอุ่นแบบเส้นศูนย์สูตร เกิดหนาวเย็นลงอย่างมากชั่วคราว

" เหตุภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ที่ทำให้บรรยากาศโลกมืดมัวและหนาวเย็นลง จนเกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งมโหฬารในช่วงระหว่างยุค
ไตรแอสสิก-จูราสสิก อาจทิ้งหลักฐานไว้ให้เราได้เห็น ในรูปของร่องรอยหินแล่นในซากฟอสซิลนี้ก็เป็นได้" ศ. ออลเซนกล่าว
Cr.https://www.bbc.com/thai/features-50798923

ฟอสซิลประหลาด


เมื่อปี 2011 นักวิจัยชาวอเมริกันได้ขุดพบซากฟอสซิลขนาดใหญ่ที่รัฐเคนทักกี (บริเวณที่มีการสันนิษฐานว่าเคยเป็นทะเลมาก่อน) ฟอสซิลนั้นมีน้ำหนักรวมถึง 68 กิโลกรัม แถมยังมีอายุมากถึง 450 ล้านปี ที่สำคัญคือ ยังไม่มีใครสามารถระบุได้ว่ามันคือฟอสซิลของอะไร   ลักษณะของฟอสซิลนี้ประกอบด้วยแผ่นกลม ๆ แบน ๆ จำนวนนับร้อยชิ้น เมื่อนำมาเรียงต่อกันตามลายของมัน จะได้เป็นสิ่งที่มีขนาดใหญ่ มีรูปร่างรี ๆ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร

นักชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามันคือสิ่งมีชีวิตประเภทใด อาจจะเป็นพืช หรือสัตว์ หรืออาจจะไม่ใช่ทั้งสองอย่าง แต่ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตเพราะปุ่มปมและร่องที่เรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งน่าจะเป็นคุณลักษณะของสิ่งมีชีวิต เพราะมันดูไม่เหมือนร่องรอยของหินธรรมดา ๆ  จนถึงวันนี้มันก็ยังได้ชื่อว่าเป็นฟอสซิลปริศนาอยู่ 

 แม้นักวิทยาศาสตร์จะพยายามระดมสมองคิดกันเท่าไร ก็ยังไม่มีเหตุผลหรือหลักฐานมากพอที่จะจัดมันเข้ารวมไว้ในสิ่งชีวิตกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  บ้างก็ว่ามันอาจจะเป็นรูปแบบแรก ๆ ของพวกสาหร่ายทะเล หรืออาจจะเป็นเกล็ดของสัตว์โบราณขนาดใหญ่ แต่ซากที่พบไม่มีกระดูกอยู่ด้วย ดังนั้นมันก็ไม่น่าจะใช่ปลา
อีกอย่างบริเวณที่ค้นพบคาดว่าเคยเห็นใต้ทะเลลึก 30-60 เมตร อาจมีหอยโบราณอาจอยู่ แต่ไม่มีปลา หรือบางทีอาจจะเป็นสัตว์คล้าย ๆ กับฟองน้ำก็ได้และเนื่องจากมันมีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับฟอสซิลในยุคเดียวกันชิ้นอื่น ๆ ที่ถูกค้นพบในภูมิภาคนั้น ซึ่งส่วนมากจะมีขนาดประมาณนิ้วหัวแม่มือ พวกเขาจึงตั้งชื่อเล่นให้มันว่า “Godzillus” ตามชื่อของสัตว์ประหลาดกอซซิลล่า
เขียนโดย menmen 
Cr. https://generalmenmen.blogspot.com/2015/11/blog-post.html

วัตถุประหลาด ใต้ผิวน้ำ


(สิ่งมีชีวิตไร้กระดูกสันหลังขนาดจิ๋วจะถูกเรียกว่า ‘Zooid’)

เว็บไซต์ Dailymail ได้รายงานว่า วัตถุประหลาดดังกล่าวปรากฎอยู่ใต้ผิวน้ำแห่งหนึ่งใน Stanley Park เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเจ้าก้อนสมองที่เห็นนี้แท้จริงแล้วมันเรียกว่า ‘bryozoans’ 

Kathleen Stormont ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศวิทยาได้ออกมาชี้แจงว่า ก้อนประหลาดที่เรียกว่า ‘Bryozoans’ นั้น เกิดจากสิ่งมีชีวิตระดับจุลภาคจำนวนมากเกาะกลุ่มกัน และสำหรับฟอสซิลประหลาดชิ้นนี้ก็มีอายุมากถึง 470 ล้านปีเลยทีเดียว (ก่อนการกำเนิดของไดโนเสาร์ในอีก 230 ล้านปีต่อมา)
 
การค้นพบก้อนฟอสซิลประหลาดนี้นับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่ถึงกระนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็ให้ความสนใจในแง่ปัญหาทางระบบนิเวศน์ และทางธรรมชาติมากกว่า  ซึ่งทีมวิทยาศาสตร์ก็ยังชี้ชัดไม่ได้ว่าแท้จริงแล้ว ฟอสซิลก้อนนี้ต้องการจะบอกอะไรเราเกี่ยวกับปัญหาอุณหภูมิที่เพิ่มมากขึ้น หรือมันไม่ได้บอกอะไรเราเลยหากแต่มันแค่ปรากฎขึ้นมาเฉยๆ

“สภาพมันเหมือนแมงกระพรุนอายุได้ 3 วัน เนื้อสัมผัสเฟิร์มๆ หน่อย และก้อนนี้เป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วจำนวนมากเกาะกลุ่มกัน และพวกมันก็มีเชื้อสายที่เก่าแก่มานานนับพันๆ ปี
ส่วนสาเหตุที่สิ่งมีชีวิตระดับเล็กต้องมาเกาะกลุ่มกัน เราขอสันนิษฐานว่าเป็นไปเพื่อการอยู่รอดของ เพราะไม่อย่างนั้นพวกมันก็อาจถูกทำลายลงได้อย่างง่ายดาย” Kathleen Stormont ให้สัมภาษณ์
ที่มา: Dailymail 
Cr.https://www.catdumb.com/brain-eater-420/  By อดีตเหมียว
 

"วัตถุประหลาด” คล้ายฟอสซิลงูยักษ์


สำนักข่าวซินหัวประจำนครคุนหมิงรายงานว่า วันที่ 12 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพวัตถุคล้าย “ฟอสซิลมังกร” ที่ขุดพบบริเวณริมแม่น้ำเล็กๆ ในหมู่บ้านเหลาฉ่าง ตำบลผิงซ่าง อำเภอเจิ้นสยง นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน 
     
จากนั้นได้มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเผยว่า มันไม่ใช่ “ฟอสซิลมังกร” อย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นส่วนลำต้นของซากดึกดำบรรพ์ของไม้ที่กลายเป็นหิน ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งในไฟลัมไลโคไฟตา (Division Lycophyta) ที่มีชีวิตอยู่ในปลายยุคเพอร์เมียน (Permian) เมื่อ 250 ล้านปีก่อน
     
จากภาพเผยให้เห็นชิ้นส่วนที่มีความยาวประมาณ 130 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 17 ซม. มีสีดำและแข็ง ส่วนของ “เกล็ด” มีผิวเรียบและเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ จึงทำให้ชาวบ้านบางคนเดาว่ามันเป็นฟอสซิลของงูหลามยักษ์ บ้างก็บอกว่ามันคือ “ฟอสซิลมังกร”
     
ศ.เฝิงจัว อาจารย์พิเศษห้องปฏิบัติการหลักสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์ศึกษาระดับปริญญาเอกของ ม.ยูนนาน อธิบายว่า สิ่งที่ชาวบ้านขุดพบนั้นเป็นซากดึกดำบรรพ์ของไม้กลายเป็นหินที่พบได้ทั่วไป เป็นพืชชนิดหนึ่งในไฟลัมไลโคไฟตาที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และเคยอยู่ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous) และยุคเพอร์เมียน (permian) จึงนับว่ามีความสำคัญต่อโลกในฐานะซากพืชที่ตกตะกอนและกลายเป็นถ่านหิน
     
โดยซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหินนี้ มีอายุราว 350 – 250 ล้านปีก่อน อยู่ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous) และยุคเพอร์เมียน (permian) สามารถเจริญเติบโตได้จนมีลักษณะสูงใหญ่ อาจสูงได้เกือบ 50 เมตร เมื่อใบร่วงโรยแล้ว ผิวของลำต้นจึงทิ้งรอยตาของต้นไม้เอาไว้ ทำให้มีลักษณะคล้ายกับเกล็ดปลาและงู
ที่มา – China Xinhua News
Cr. https://www.tvpoolonline.com/content/182464 / By  Social News

โรคที่พบในซากฟอสซิลหางไดโนเสาร์


(ภาพจาก : Assaf Ehrenreich, Sackler Faculty of Medicine, Tel Aviv University)
 
การขุดค้นซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (fossil) สิ่งมีชีวิตยุคโบราณหลากหลายชนิด บางครั้งพบซากฟอสซิลแปลกประหลาด เปิดประตูความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับยุคสมัยที่ผ่านมานานนับหลายสิบล้านปี ล่าสุดนักวิจัยจากภาควิชากายวิภาคศาสตร์และมานุษยวิทยา รวมทั้งศูนย์การวิวัฒนาการมนุษย์และประวัติศาสตร์ด้านชีววิทยาแดน เดวิด แห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ในอิสราเอล รายงานการศึกษากระดูกสันหลังส่วนหางของไดโนเสาร์ชนิดกินพืชที่อาศัยอยู่เมื่อ 66-80 ล้านปีก่อน

ทีมวิจัยเผยว่า พบสิ่งผิดปกติในหางของไดโนเสาร์วัยหนุ่ม เมื่อทำการสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ระดับไมโครเมตร (micro-CT) และสร้างเนื้องอกรวมถึงเส้นเลือดด้วยคอมพิวเตอร์แบบ 3 มิติ ระบุได้ว่าสิ่งประหลาดนั้นคือเนื้องอกธรรมดาที่เกิดขึ้นแล้วไม่แพร่กระจายลุกลาม ลักษณะคล้ายคลึงกับโพรงที่เกิดจากเนื้องอก ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคกลุ่มเซลล์ผิดปกติ “แอลซีเอช” (Langerhans cell histiocytosis) เป็นโรคหายากและสร้างความเจ็บปวดให้กับมนุษย์โดยเฉพาะเด็กวัย 2-10 ขวบในยุคปัจจุบัน

ไดโนเสาร์ตัวนี้เคยอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าทางตอนใต้ของรัฐอัลเบอร์ตา ของแคนาดา และการวิจัยนี้บ่งชี้ว่าโรคดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น แต่สามารถอยู่รอดมาได้นานกว่า 60 ล้านปี ซึ่งนักวิจัยกำลังพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมโรคบางโรคถึงอยู่รอดและวิวัฒนาการมาถึงวันนี้.
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
Cr.https://www.thairath.co.th/news/society/1772858

(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่