ฟอสซิลดอกไม้ดึกดำบรรพ์


ฟอสซิลไม้ดอกเก่าแก่ อายุ 130 ล้านปี


วันที 17 สิงหาคม 2558 เว็บไซต์เดลี่เมล เผยภาพฟอสซิลต้น "Montsechia vidalii" อันเป็นพืชดอกที่อยู่ในน้ำ และได้กลายเป็นพืชดอกที่อายุมากที่สุดของโลกเท่าที่เคยค้นพบในขณะนี้ คาดว่าน่าจะมีอายุราว 125-130 ล้านปี หรือในช่วงต้นยุคครีเทเชียส ร่วมสมัยกับไดโนเสาร์คอยาวแบรคิโอซอรัส และอิกัวโนดอน ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินพืช และคาดว่าน่าจะกินต้น Montsechia vidalii เป็นอาหารด้วย
          
ทั้งนี้ที่จริงแล้วฟอสซิลต้น Montsechia vidalii ซึ่งคาดว่าสมัยก่อนมีขึ้นอยู่มากมายในแหล่งน้ำจืดทางตอนเหนือของสเปน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ภูเขาไปแล้ว ถูกค้นพบมาแล้วกว่า 100 ปี แต่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งได้ค้นพบว่ามันน่าจะมีอายุเก่าแก่มาก หลังจากได้ศึกษาใหม่อย่างละเอียดเมื่อไม่นานมานี้ โดยสกัดส่วนลำต้นและโครงสร้างใบออกจากฟอสซิล ด้วยการหยดกรดไฮโดรคลอริกลงไป แล้วนำไปส่องศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งก่อนหน้านี้เชื่อว่าต้น Archaefructus ซึ่งพบในประเทศจีน เป็นพืชดอกที่อายุมากที่สุด
          
ผลงานวิจัยดังกล่าวถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ศาสตราจารย์เดวิด ดิลเชอร์ ผู้นำการวิจัยจากมหาวิทยาลัยอินดิแอนา ระบุว่า แม้ลักษณะของ Montsechia vidalii จะเป็นอย่างที่เห็น แต่แท้จริงแล้วมันเป็นพืชดอก และคาดว่าการศึกษาที่จะดำเนินต่อไปนับจากนี้จะช่วยนำไปสู่การไขปริศนาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของพืชดอกในช่วงต้นของโลก ตลอดจนถึงบทบาทของมันที่เกี่ยวเนื่องกับพืชและสัตว์ชนิดอื่น ๆ

Montsechia vidalii ไม่มีองค์ประกอบชัดเจนของดอก อย่างกลีบดอกหรือน้ำหวาน และใช้เวลาตลอดช่วงวงจรชีวิตอยู่ใต้น้ำ แต่มันก็มีผล ซึ่งเป็นลักษณะบ่งชี้ของการเป็นพืชดอก โดยในแต่ละผลมีเพียงเมล็ดเดียว  สำหรับต้น Montsechia vidalii มีลักษณะคล้ายกับสาหร่ายพุงชะโดในปัจจุบัน (Ceratophyllum, Coontail, hornwort) อันเป็นไม้น้ำที่คนนิยมนำไปจัดแต่งตู้ปลา

ภาพจาก illinoiswildflowers, sciencemag via David Dilcher

Cr.https://hilight.kapook.com/view/125062




ดอกไม้เกิดในยุคจูราสสิกเมื่อ 174 ล้านปี


ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแองจิโอสเปิร์มส์ (Angiosperms) หรือพืชดอก ที่เป็นพืชมีระบบท่อลำเลียง มีดอกเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ ส่วนของเมล็ดก็มีรังไข่ห่อหุ้ม เกิดขึ้นในโลกไม่เกิน 130 ล้านปีที่ผ่านมา


แต่เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ค้นพบพันธุ์ดอกไม้ชนิดหนึ่งในประเทศจีน ก็ทำให้สั่นคลอนความเชื่อเดิมๆ เพราะดอกไม้ดังกล่าวได้เพิ่มข้อมูลใหม่ด้านทฤษฎีการวิวัฒนาการของพืชดอกเกี่ยวกับช่วงเวลาการกำเนิดขึ้นของพืชดอกบนโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาตัวอย่างของซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (fossil) ดอกไม้ 198 ชิ้นที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในหิน 34 ก้อนจากพื้นที่หมวดหินเซี่ยงซานตอนใต้ ในนครหนานจิงของจีน ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการค้นพบซากฟอสซิลจากต้นยุคจูราสสิก นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิงได้ตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์จนได้ภาพความละเอียดสูงของดอกไม้จากมุมที่ต่างกัน 

และใช้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับรูปร่างและโครงสร้างซากฟอสซิลที่แตกต่างกันมาสร้างลักษณะของดอกไม้ โดยตั้งชื่อว่า “หนานจิงแอนธัส เดนโดรสไตลา” (Nanjinganthus dendrostyla) หลักฐานใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่าจริงๆแล้วพืชดอกน่าจะเกิดขึ้นมาก่อนหน้าของความเชื่อเดิม ราวๆ 50 ล้านปี ซึ่งอยู่ประมาณ 174 ล้านปีที่แล้วและตรงกับต้นยุคจูราสสิก
การค้นพบนี้มีความสำคัญต่อการยืนยันสถานะของซากฟอสซิลหนานจิงแอนธัส เดนโดรสไตลา ว่าเป็นพืชดอกชนิดใหม่ และอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับพืชดอก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการใช้และดูแลทรัพยากรจากพืชในโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
 
Credit : NIGPAS
Nanjinganthus fossil Credit : Fu et al., 2018
Cr.https://www.thairath.co.th/news/foreign/1453505




ดอกไม้ยุคจูราสสิคเก่าแก่ที่สุดกว่า 160 ล้านปี
 



เซาท์ไซน่ามอร์นิงโพสต์ระบุว่า นักวิจัยที่ปฏิบัติงานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนได้พบฟอสซิลดอกไม้ที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดในโลก โดยมีอายุถึง 162 ล้านปี และได้รายงานลงวารฮิสทอริคัลไบโอโลจี (Historical Biology) วารสารวิชาการนานาชาติทางด้านบรรพชีววิทยาของอังกฤษ
ศ.จงเจียน หลู (Liu Zhongjian) จากศูนย์อนุรักษ์กล้วยไม้แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (National Orchid Conservation Centre of China) และ ศ.ซิน ว่าน (Wan Xin) จากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยานานจิง (Nanjing Institute of Geology and Paleontology) ผู้เขียนรายงานการค้นพบระบุในรายงานว่า การค้นพบนี้เผยให้เห็นมุมมองใหม่ที่หายากสำหรับวิวัฒนาการของดอกไม้

ตามที่นักวิจัยอ้างดอกไม้ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "ยูอันธัสพานิอิ" (Euanthus panii) น่าจะเป็นพืชมีดอกพันธุ์แรกที่พบในยุคจูราสิค (Jurassic) ช่วง 199.6-145.5 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นยุคทองของไดโนเสาร์

อ้างตามรายงานของสื่อจีนมีความขัดแย้งเรื่องการแข่งขันเพื่อค้นหาดอกไม้แรกสุดบนโลกมานาน โดยเป็นเวลากว่าร้อยที่คนจำนวนมากอ้างว่าได้ค้นพบดอกไม้ยุคจูราสสิก แต่ตัวอย่างเหล่านั้นต่างสอบตกเมื่อผ่านการทดสอบโดยนักพฤกษศาสตร์
ก่อนหน้ามีตัวอย่างดอกไม้ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในจีนกัน คือดอกไม้สปีชีส์ คาลเลียนธีส ดิเล (Callianthus dilae) ซึ่งสืบอายุย้อนไปถึงยุคครีเตเชียสตอนต้น โดยมีอายุราวๆ 125 ล้านปี




ส่วนยูอันธัสนั้น ผู้รายงานการวิจัยอ้างว่าแตกต่างไปจากดอกไม้ยุคจูราสสิกที่เคยล่าวอ้างกันก่อนหน้านี้ โดยฟอสซิลของดอกยูอันธัสที่พบนี้ยังคงสภาพโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปของดอกไม้ไว้อย่างดี 
ยูอันธัสปรากฏให้เห็นทั้งกลีบเลี้ยงดอกและกลีบดอก และองค์ประกอบอื่นๆ ที่พบได้ทั่วไปในดอกไม้ยุคปัจจุบัน โดยรายงานยังระบุว่าองค์ประกอบเหล่านั้นจัดเรียงเหมือนดอกไม้ของพืชดอกอย่างสมบูรณ์แบบ
Cr.https://mgronline.com/science/detail/9580000035478 /   โดย: MGR Online




 “ดอกไม้” จากยุคไดโนเสาร์ครองโลก


คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเปิดเผยหลักฐานใหม่ของ “ฟอสซิลดอกไม้” ซึ่งขุดพบในนครหนานจิง (นานกิง) มณฑลเจียงซูทางจีนตะวันออก โดยคาดว่าฟอสซิลดังกล่าวอาจเป็นต้นกำเนิดพืชดอก ที่มีอายุย้อนกลับไปในยุคจูราสสิกตอนต้น (Early Jurassic) หรือราว 174 ล้านปีก่อน

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง (Nanjing Institute of Geology and Palaeontology) ได้ทำการตรวจสอบตัวอย่างฟอสซิลที่ขุดพบจำนวน 34 ชิ้น ซึ่งเผยให้เห็นดอกไม้ 198 ดอก แต่ละดอกมี 4-5 กลีบ และดูเหมือน ‘ดอกบ๊วย’ ในยุคปัจจุบัน


การวิจัยครั้งนี้ได้ขยับช่วงเวลาที่พืชดอกถือกำเนิดให้เก่าแก่ขึ้นอีก 50 ล้านปี เมื่อเทียบกับฟอสซิลดอกไม้ที่ขุดพบก่อนหน้านี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าพืชดอกปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อราว 125 ล้านปีก่อนในยุคครีเตเชียส (Cretaceous) อันเป็นยุคที่มีแมลงอย่างผึ้งดำรงชีวิตอยู่ด้วย

นายหวัง ซิน นักวิจัยจากสถาบันฯ กล่าวว่าตัวอย่างฟอสซิลดอกไม้ที่ถูกตั้งชื่อว่า “Nanjinganthus” และมีสภาพรายละเอียดแตกต่างกัน ช่วยให้นักวิจัยจำแนกลักษณะเฉพาะตัวของดอกไม้ที่แท้จริง นั่นคือรังไข่หรือเมล็ดพันธุ์ที่ติดอยู่ข้างในรังไข่

รายงานระบุว่าดอกไม้ในซากฟอสซิลที่ขุดพบนั้นจับตัวอยู่กันเป็นกลุ่ม และแต่ละดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 10 มิลลิเมตร โดยนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถชี้ชัดความสุกแก่ของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งพบอยู่ในรังไข่ราว 1-3 เมล็ดได้

อนึ่ง โครงการวิจัยฟอสซิลดอกไม้นี้มีนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งบิโก (University of Vigo) ของสเปน และพิพิธภัณฑ์พืชควีนสแลนด์ (Queensland Herbarium) ของออสเตรเลียเข้าร่วมด้วย

ที่มา China Xinhua News
Cr.https://th-th.facebook.com/XinhuaNewsAgency.th/posts/2243624009186942




ฟอสซิลดอกไม้สมัยดึกดำบรรพ์ 

 
เมื่อเดือน ก.พ. 2559  วารสาร Nature Plants เผยว่านักวิจัยค้นพบฟอสซิลของดอกไม้ ในสมัยยุคดึกดำบรรพ์เมื่อ 20-30 ล้านปีก่อนในป่าของสาธารณรัฐโดมินิกัน โดยดอกไม้นี้สามารถบอกเราได้ถึงแหล่งที่มาของมันฝรั่ง มะเขือเทศ ยาสูบ พิทูเนีย และกาแฟ
 
ดอกไม้ชนิดนี้เป็นพืชใบเลี้ยงคู่แท้แกนกลางในกลุ่มแอสเทอริด (asterid) โดยศาสตราจารย์ George Poinar จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยออริกอนสเตดกล่าวว่า ฟอสซิลดอกไม้ถูกเก็บรักษาในสภาพที่ดีและสวยงาม 

แต่ก่อนนั้นมันเติบโตขึ้นท่ามกลางป่าไม้เขตร้อนที่เต็มไปด้วยต้นไม้ทั้งต้นใหญ่และต้นเล็ก เถาวัลย์ที่โยงใย ต้นปาล์ม หญ้า และพืชพันธุ์อื่นๆ
ฟอสซิลดอกไม้นี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบชีววิทยาในอดีตอันไกลโพ้น และเป็นหลักฐานว่าพืชกลุ่มแอสเทอริดที่ให้อาหารและผลิตผลอื่นๆกับเราในปัจจุบันนั้นมีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์มาหลายสิบล้านปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกล่าวว่าฟอสซิลดอกไม้นี้เป็นส่วนมืดของพืชกลุ่มแอสเทอริด ซึ่งหากสกัดแล้วจะได้สารสตริกนิน (strychnine) และยางน่อง(Curare) ซึ่งเป็นสารพิษที่เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก
ศาสตราจารย์ Poinar กล่าวว่าพืชแต่ละชนิดมีแอลคาลอยด์เป็นของตัวเอง บางชนิดมีพิษร้ายแรงกว่าชนิดอื่น ซึ่งนับเป็นความสำเร็จเนื่องจากพิษของมันสามารถป้องกันตัวเองจากสัตว์กินเนื้อได้ ในปัจจุบันนี้สารพิษบางชนิดถูกนำไปใช้ทำประโยชน์หรือถูกทำเป็นยาได้
Cr.https://abc-manman.blogspot.com/2016/06/blog-post_83.html / By menmen




ฟอสซิลดอกไม้เบ่งบานเมื่อ 99 ล้านปี



กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง (Nanjing Institute of Geology and Palaeontology -NIGPAS) ของสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ที่ได้ศึกษาพืชดอกชนิด แองจิโอสเปิร์ม (Angiosperm) ซึ่งเป็นพืชดอกที่มีระบบท่อลำเลียง และมีดอกเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ ส่วนเมล็ดก็มีรังไข่ห่อหุ้ม เผยว่า การวิจัยครั้งใหม่อาจให้คำตอบที่ขัดแย้งกับทฤษฎีของดาร์วิน (  สิ่งมีชีวิตทุกชนิดควรจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ )
 
ทีมวิจัยเผยว่าพืชดอกชนิดแองจิโอสเปิร์ม มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมากเมื่อประมาณ 99 ล้านปีที่แล้ว โดยหลักฐานสำคัญคือซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (Fossil) ดอกไม้โบราณชื่อว่า Lijinganthus revoluta ที่ถูกฝังอยู่ในผลึกอำพันสีเหลืองอายุเก่าแก่ราว 99 ล้านปี พบในประเทศพม่า ซึ่งซากฟอสซิลดอกไม้ดังกล่าวมีลักษณะสมบูรณ์ครบถ้วนตามส่วนประกอบของดอกไม้ที่อยู่ในกลุ่มพืชใบเลี้ยงคู่แท้ (Eudicots) 

 Lijinganthus revoluta เป็นดอกไม้จากยุคครีเตเชียส (Cretaceous) ซากที่สมบูรณ์ของดอกไม้นี้แสดงให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันมากกับดอกไม้ของกลุ่มพืชใบเลี้ยงคู่แท้แกนกลาง (Pentapetalae) ที่เป็นกลุ่มแยกย่อยออกมาจากกลุ่มพืชใบเลี้ยงคู่แท้อีกที ซึ่งการค้นพบนี้จะช่วยเพิ่มข้อมูลใหม่ๆด้านประวัติศาสตร์วิวัฒนาการและนำไปสู่การไขความลับของพืชใบเลี้ยงคู่แท้แกนกลางรวมถึงพืชใบเลี้ยงคู่แท้

ภาพ : Lijinganthus revoluta Credit : NIGPAS
Cr.https://www.thairath.co.th/news/foreign/1426121


(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่