เรื่องเล่าหลังห้องกระจก ผู้ป่วยโควิดระดับวิกฤต รพ.ศิริราช

เรื่องเล่าหลังห้องกระจก ผู้ป่วยโควิดระดับวิกฤต รพ.ศิริราช หมอ พยาบาล ทุกอย่าง ยังไงก็ไม่พอ ถ้าคนยังออกจากบ้านแล้วทำให้เลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ





เรื่องเล่าหลังห้องกระจก ผู้ป่วยโควิดระดับวิกฤต รพ.ศิริราช  หมอ พยาบาล ทุกอย่าง ยังไงก็ไม่พอ ถ้าคนยังออกจากบ้านแล้วทำให้เลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

"ผู้ป่วยโควิด 6 คน 3 ใน 6 อยู่ในภาวะวิกฤต เราต้องมีทีมดูแลประมาณ 20 คน ต่อเวร ... 1 วัน มี 3 เวร เช้า บ่าย ดึก แน่นอนว่าต้องมีบางส่วนที่ต้องควบเวร นี่แค่ 6 คน ลองคิดดูว่าถ้ามีคนติดเชื้อมากขึ้น พวกเราบุคลากรทางการแพทย์จะต้องสลับกันดูแลมากขึ้น เห็นมั๊ย"

ในเคาน์เตอร์ คุณหมอ 5 คน กำลังดูผลเอ็กซ์เรย์ที่ปอดของคนไข้โควิดวิกฤต รายหนึ่ง มีการคุยกันด้วยภาษาหมอจับใจความไม่ถนัดเท่าไร รู้แต่ว่าต้องมีทีมเข้าไปใส่สายสวนหลอดเลือดที่เป็นกระบวนการรักษาของแพทย์

อีกด้าน พยาบาล และผู้ช่วยพยาบาลเกือบ 10 คน สาละวนกับการเตรียมของที่จะเข้าไปในพื้นที่การรักษา และห้องผู้ป่วย , รับโทรศัพท์ จัดยา รับอุปกรณ์การแพทย์มาส่ง เป็นภาพที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ไม่กว้างนัก ประมาณ 3*4 เมตร ของหอผู้ป่วยแยกโรคโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นจุดที่ใช้ดูแลผู้ป่วยโควิดระดับวิกฤต ในประเทศไทย

หลังทีมงานได้รับอนุญาตจากโรงพยาบาล และรศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรสกุล ให้เข้าไปสังเกตการณ์ และดูการทำงานของทีมแพทย์ เป็นทีมแรก .. ทีมงานถูกจัดให้อยู่ในจุดปลอดภัยกับบุคคลภายนอก แม้คุณหมอจะบอกว่า จุดที่เราอยู่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ หรือชุดในการป้องกัน แต่พวกเราป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ฉีดแอลกอฮอล์ที่เตรียมไป เมื่อต้องสัมผัสอะไรก็ล้างมือ และใช้หลัก social distancing

"ผมอยากให้เห็นว่า หมอทำงานกันอย่างไร ทุกคนที่นี่ทำงานอย่างไร เพื่ออย่างน้อยจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยได้บ้าง อย่างวันหยุดคนทั่วไปอาจได้หยุด แต่ทีมแพทย์ที่รักษาโควิดหยุดไม่ได้...ถ้าหยุด นั่นหมายถึงชีวิต..."

"คุณหมอคะ ตอนนี้มันไม่พอค่ะ"

พยาบาล และผู้ช่วยพยาบาลคนหนึ่ง รีบเดินมาหาคุณหมอ นิธิพัฒน์ ทันที เมื่อเห็นคุณหมอเข้ามา เพื่อไม่เป็นการรบกวน ทีมงานหลบในมุมที่ให้คุณหมอและทีมทำงานได้สะดวก ช่างภาพใช้ระยะเลนส์กล้องเป็นตัวช่วยบันทึกภาพ สิ่งที่พอจับใจความจากเรื่องที่ผู้ช่วยพยาบาลพูด "มันไม่พอ" คือเรื่องอุปกรณ์ที่ต้องใช้เพื่อการรักษาบางอย่าง

"คนไข้วิกฤต 1 คน เราต้องใช้อุปกรณ์หลายอย่างมาก ทีมงานที่เข้าไป 4 - 5 คน ก็ต้องสวมชุดป้องกัน ไม่ต่างจากเครื่องมือที่ต้องคลุม ต้องป้องกันเชื้อ และใช้ได้ครั้งเดียวก็ต้องทิ้ง หากภายในหนึ่งวัน เข้าไปตรวจ 3 ครั้ง ก็ต้องใช้ชุดมากกว่า 12 ชุด" คุณหมออธิบายเสริม เมื่อเห็นเราทำหน้าสงสัย

กล้องวงจรปิดในห้องรักษา ถูกส่งภาพต่อมาที่จอมอนิเตอร์ด้านนอก พวกเราตัดสินใจไม่บันทึกภาพในกล้อง เพราะเป็นสิทธิของผู้ป่วย แต่เราเลือกที่จะบันทึกภาพนี้ด้วยความทรงจำ .. ทำให้รู้ว่า การจะเข้าไปในพื้นที่รักษาในแต่ละครั้ง ทีมรักษาจะต้องวางแผนและเตรียมอุปกรณ์ให้ครบถ้วนมากที่สุด เพราะเมื่อเข้าไป แพทย์ และทีมงาน ไม่สามารถพูดคุยกันได้มากเท่าไร บางครั้งต้องใช้ภาษามือ ซึ่งหากสิ่งใดสิ่งหนึ่งขาด เมื่อออกมาแล้ว ก็ต้องถอดชุดเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ส่วนพื้นที่ที่เดินผ่าน ต้องทำความสะอาดทิ้งระยะเวลา 2 ชม.จึงจะเดินผ่านได้

เกือบ 2 ชั่วโมง ที่สังเกตการณ์ แม้จะเห็นแต่การทำงานในส่วนของการเตรียมตัว เพื่อเข้าไปพื้นที่การรักษาที่ห่างออกไป เข้าใจที่สุดว่า ทำไมอุปกรณ์ถึงไม่พอ เพราะการรักษาครั้งนี้ไม่เหมือนผู้ป่วยทั่วไป ต้องเพิ่มจำนวนมากกว่า 3-4 เท่า ... หรือทำไมหมออาจไม่พอ หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น

ลองนึกภาพตาม เวลาเราป่วยไปรพ. หมอ 1 คน สามารถรักษาคนไข้ได้เป็น 100 คน แต่กับโควิด ต้องใช้ทีมงานเฉพาะ เพราะหมอ และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย จะไม่สามารถสลับไปดูแลผู้ป่วยทั่วไปได้ ต้องแยกเฉพาะ อย่างที่หมอนิธิพัฒน์บอกว่า ผู้ป่วยวิกฤต 1 คน ต้องใช้ทีมงานดูแลมากกว่า 10 คน ทีมงานจะวนกันเข้าเวร .. ส่วนหมอด้านอื่นๆที่มี อย่าลืมว่า แค่ปกติผู้ป่วยทั่วไปก็เยอะพอสมควร

ก่อนกลับ เราได้พูดคุยกับหลายๆคน (ยึดหลัก social distancing ฉีดแอลกอฮอล์ อุปกรณ์ทุกอย่าง รวมถึงสวมหน้ากากอนามัย)

" จากที่เคยไปรับลูกกลับจากโรงเรียน ก็ต้องวานให้คนอื่น กลับถึงบ้านดึกลูกก็เข้านอน เราก็ต้องป้องกันตัวเองเต็มที่ มันคือหน้าที่ " คือคำบอกเล่าของผู้ช่วยพยาบาลในหวอดคนหนึ่ง

"พี่เพิ่งถูกปฏิเสธประกันโควิด เขาไม่รับอาชีพนี้ .. โชคดีที่โรงพยาบาลทำให้ทุกคน" ผู้ช่วยพยาบาลอีกคนเสริม

"น้องเห็นมั้ยว่าพวกเราทำงานกันประมาณไหน บ่ายสี่พวกพี่ยังไม่ได้ทานข้าวเที่ยง ส่วนของอุปกรณ์ที่ขาด ก็ประดิษฐ์ประยุกต์กันหน้างานไปก่อน รอของมาส่ง บางอย่างทางหน่วยงานก็พยายามหา แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา .. ถ้าทุกคนมีความรับผิดชอบ บางคนไม่ต้องมาโรงพยาบาล แค่กักตัวเองในบ้าน จะสามารถลดการทำงานของพวกเราได้" พยาบาลอีกคนยิ้ม ทิ้งท้ายพร้อมสายตาอิดโรย

"ชีวิตเปลี่ยนค่ะ ตอนนี้ไม่ได้กลับบ้าน ไปพักที่คอนโดแทน ให้ที่บ้านสบายใจ พวกเราทำกันเต็มที่ แต่ถ้าอยากช่วยพวกเรา ลดการเคลื่อนตัวออกจากบ้านไม่ให้ผู้ติดเชื้อเพิ่ม" คุณหมอหญิงคนหนึ่ง ฝากข้อความสื่อสารผ่านทีมงาน

"สิ่งที่คุณช่วยเราได้ตอนนี้ คือการไม่ทำให้โรคแพร่ออกไป ไม่ต้องรอว่ารัฐจะต้องประกาศปิดสถานที่ ปิดเมือง ปิดประเทศ .. หรือโรคตอนนี้จะเข้าเฟส 3 หรือไม่ ไม่ต้องสนใจ สนใจแค่คุณ social lockdown ด้วยตัวคุณเอง ไม่ไปไหน ไม่ต้องเดินทาง เลี่ยงการออกจากบ้านให้มากที่สุด คุณก็ช่วยพวกเราได้" หมอนิธิพัฒน์ ฝากสะท้อนก่อนทีมงานขอลากลับ

ติดตามเรื่องเล่าจากทีมงาน รักษาผู้ป่วยโควิด ระดับวิกฤต ในรายการรู้สู้ภัย และในรายการข่าวทางไทยพีบีเอส เร็วๆนี้

#COVID_19
#stayathome
#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ
#รู้สู้ภัย
#ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ
#ThaiPBS
++++++++++++++++++++++++

รายละเอียดรับบริจาค

ธนาคาร ไทยพาณิชย์ สาขา ศิริราช

ชื่อบัญชี "ศิริราชมูลนิธิ"

เลขที่บัญชี 016-300049-4

รหัสทุน D3510 (โครงการต่อลมหายใจ)

ศิริราช มูลนิธิ
เบอร์ติดต่อ 02-4197658-60 ต่อ101-104
Line@ : sirirajfoundation
E-mail:donate_siriraj@hotmail.com

จขกท.ขอเป็นกำลังใจให้คุณหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทุกๆท่านค่ะ




โอนเงินไปศิริราช มูลนิธิ เรียบร้อยแล้วค่ะ

จขกท.จะบริจาคเงินเข้าศิริราขมูลนิธิในช่วงเดือนเกิด แต่ตอนนี้จะบริจาคทันทีแม้จะไม่มากก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสู้ๆไปกับศิริราชมูลนิธิค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่