ประกาศเพิ่ม!! เลี่ยงไป “สเปน” หลังผู้ป่วยทะยานขึ้นอันดับ 5 แจง 3 ระดับแจ้งเตือนการไป ตปท.

กรมควบคุมโรค เผย "สเปน" มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมาก ขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ของโลก ออกประกาศคำแนะนำเพิ่ม เป็นประเทศมีการระบาดมาก ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไป เช่นเดียวกับไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เยอรมนี และฝรั่งเศส ยันไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 ส่วนระดับการแจ้งเตือนมี 3 ระดับ คือ สังเกตติดตาม หลีกเลี่ยงไป และไม่ควรเดินทางไป

วันนี้ (11 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเว็บไซต์กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการออกคำแนะนำเพิ่มเติม พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่องและควรหลีกเลี่ยงการเดินทาง ซึ่งเดิมมี 5 ประเทศ คือ ไต้หวัน สิงคโปร์ เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น พบว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค. เวลา 22.00 น. ได้มีการเพิ่มประเทศใหม่ คือ สเปน

  
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้เดินทางมาจากเขตติดโรคอันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 มี 4 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน โดยต้องแสดงใบรับรองแพทย์และหลักฐานการมีประกันสุขภาพกับสายการบินก่อนการเช็กอินที่สนามบินต้นทาง เมื่อผู้เดินทางผ่านการคัดกรองเข้ามาในประเทศไทย กำหนดให้ผู้เดินทางทุกคนต้องเฝ้าระวังอาการตัวเองอยู่ในบ้านหรือห้องพักโรงแรม เป็นระยะเวลา 14 วัน และต้องรายงานอาการตัวเองตามความเป็นจริงกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคทุกวัน  ส่วนที่ไม่อยู่ใน 4 ประเทศนี้ ที่มีการประกาศ คือ ไต้หวัน สิงคโปร์ เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ก็ให้หลีกเลี่ยงการเดินทาง โดยล่าสุดได้เพิ่ม ประเทศสเปน

"สเปนเป็นประเทศในยุโรปและอยู่ติดกับประเทศอิตาลี โดยขณะนี้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเร็วมาก คาดว่าสถานการณ์ระบาดต่อเนื่อง และน่าจะไม่หยุดง่ายๆ ถือว่าเข้าเกณฑ์ตามที่ตั้งไว้ คือ มีผู้ป่วยมากกว่า 1,000 ราย มีความต่อเนื่องของการพบผู้ป่วยมากกว่า 2 สัปดาห์ และท่าทีเป็นช่วงขาขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ประกาศเตือนให้ประชาชนคนไทยรับทราบ เรื่องของการหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีระบาด เพื่อจะได้ไม่เสี่ยง หากจำเป็นต้องเดินทางต้องระมัดระวังมากขึ้นเพื่อให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด คำแนะนำเดิม คือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีคนจำนวนมาก ไม่ไป รพ.ของประเทศนั้นโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงคนไอจาม ล้างมือบ่อยๆ เพราะมีกรจับสิ่งสัมผัสสาธารณะ ขณะนี้สเปนมีผู้ป่วยขึ้นมาเป็นอันดับ 5 และแซงประเทศเยอรมนี และฝรั่งเศส ที่เราเคยแนะนำไปก่อนหน้านั้นแล้ว จึงเป็นที่มาของการเพิ่มรายชื่อประเทศสเปนที่หนึ่งในประเทศที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากกลับมาแนะนำให้แยกตัวอยู่ในห้องหรือที่พักที่ไม่ปนกับคนอื่น แยกสิ่งของเครื่องใช้สำรับอาหาร สังเกตอาการ วัดไข้ทุกวัน หากมีอาการให้รีบแจ้งหรือมา รพ." นพ.โสภณ กล่าว

เมื่อถามว่าการตรวจแล็บยืนยันจะตรวจให้เฉพาะ 10 ประเทศนี้ที่มีกประกาศหรือควรแจ้งประวัติการเดินทางมาจากประเทศอื่นที่ไม่ได้มีการแจ้งแต่อยู่ในยุโรปด้วย  นพ.โสภณ กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับรายงานทางการอาจไม่ได้ขึ้นทันที เพราะมีการรายงานไปยังองค์กการอนามัยโลก (WHO) และกว่าจะแสดงข้อมูล ดังนั้น หากชื่อประเทศไม่เข้าที่ประกาศ ทางแพทย์และทีมงานก็จะพิจารณาเป็นกรณีไป บางประเทศเพิ่งมีสถานการณ์เพิ่มเติม ก็มีการอนุญาตให้ตรวจ การดูแลรักษาผู้ป่วยก็มีเกณฑ์ เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุถึงไม่ระบุประเทศก็ตรวจได้ หรือเกี่ยวข้องกับประเทศที่มีการรายงานผู้ป่วย ดังนั้น คนที่มาจากต่างประเทศก็ควรแจ้งประวัติการเดินทาง เพราะช่วยในการประเมินความเสีย่ง ทำให้แพทย์และผู้ป่วยรู้ว่าความเสีย่งอยู่ในระดับใดจะได้บริหารจัดการได้เหมาะสม เช่น ตรวจวินิจฉัย ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
 
 
เมื่อถามถึงระดับการแจ้งเตือนกรณีโควิด-19 ที่ทำให้เกิดความสับสนกับระยะการแพร่ของโรค  นพ.โสภณ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงสถานการณ์ก็มี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 คือ เป็นผู้ป่วยนำเข้าจากต่างประเทศ  ระยะที่ 2 คือ มีการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยนำเข้าต่างประเทศมายังคนในประเทศไทยแบบในวงจำกัด และระยะที่ 3 คือ มีการติดจากเคสต่างประเทศมายังคนไทยแล้วก็ยังติดต่ออีกหลายรุ่นหรือหลายระลอก ซึ่งประเทศทยยังไม่มีเช่นนี้ ส่วนการแจ้งเตือนการเดินทางไปต่างประเทศมีหลายระดับ คือ ระดับ 1 ให้สังเกตสถานการณ์ในต่างประเทศเป็นเช่นไร  ระดับ 2 เลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น และระดับ 3 คือแนะนำว่าไม่ให้ไป อย่างกรณี 4 ประเทศเขตติดโรคติดต่อก็แนะนำในระดับ 3 นี้ คือ ควรงดไป ไม่ควรเดินทางไป

ข่าวจาก : MGR Online
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่