●● ข้อโต้แย้งคณาจารย์นิติศาสตร์ มธ. --- ว่าด้วยความเห็นต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่ ...สุรวิชช์ วีรวรรณ ●●

●● ข้อโต้แย้งคณาจารย์นิติศาสตร์ มธ. --- ว่าด้วยความเห็นต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่ ...สุรวิชช์ วีรวรรณ ●●

ผมติดตามรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ต้นจนจบ ในมุมของผมในฐานะคนสนใจ
ข่าวสารบ้านเมืองคนหนึ่ง แม้จะมีความรู้ในเรื่องกฎหมายตามสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญ และเคยเรียนกฎหมายมาบ้าง
พอจะอ่านกฎหมายเข้าใจ ผมคิดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีความกระจ่างชัดเจนในตัวของมัน

แต่ออกตัวก่อนว่า แม้โดยความเห็นของตัวเองเสมอมานั้นมีความเห็นสอดคล้องไปในแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญ
วินิจฉัยออกมาแล้ว ก็หาใช่เป็นเหตุผลที่ผมได้เอาคติในใจตัวไปรับรองคำวินิจฉัยไม่ แต่ได้พยายามฟังว่าเขาใช้
เหตุผลและหลักกฎหมายอย่างไร แน่นอนเมื่อมันสอดคล้องกับความเห็นของตัวเองอยู่แล้วก็อาจจะทำให้ผมเห็นด้วย
ได้โดยง่าย

ในทางกลับกันคนที่ตั้งป้อมไว้แต่แรกแล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินให้ยุบพรรค ก็ต้องมีคติในใจตัวว่าอย่างไร
ฉันก็ไม่เห็นด้วย ดังที่เราเห็นคนมีความรู้จำนวนมากลงชื่อรณรงค์คัดค้าน ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้อ้างอิงกับข้อกฎหมาย
และเรื่องที่เข้าสู่การวินิจฉัยของศาลเลย แต่กลายเป็นเรื่องประเทศไทยปิดกั้นเสรีภาพไปนั่น

และเมื่อได้อ่าน แถลงการณ์ของคณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้ว ก็ยิ่งทำให้ผมแปลกประหลาดใจ
ยิ่งกว่า แต่ท่านเป็นกูรูในด้านกฎหมายจำนวนมากหลายคนที่รวมตัวกัน ดังนี้แล้วคนส่วนใหญ่ก็ต้องเชื่อและคล้อยตามไปตามนั้นว่า สิ่งที่คณาจารย์เสนอความเห็นมานี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ก็เขาเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่ลงชื่อกันมายาวเหยียด
จะไม่ให้รู้ดีได้อย่างไร แม้อีกฝั่งจะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีทั้งนักกฎหมายและไม่ใช่นักกฎหมาย แถมยังมีจำนวนน้อยกว่าเสียด้วย ที่เหนือกว่าก็เพียงอำนาจในการวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรที่กฎหมายมอบให้เท่านั้นเอง

แต่ผมเป็นคนที่เชื่อ หลักกาลามสูตร อย่างน้อยก็ที่บอกว่า อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์ หรือ
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา ซึ่งจริงๆ แล้วยกมาทั้ง 10 ข้อเพื่ออ้างอิงก็ยังได้

ส่วนตัวผมนั้นเคยไปนั่งเรียนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต ที่ธรรมศาสตร์ แค่เทอมเดียวแล้วก็โบกมือลา
แต่ด้วยความเชื่อของผมว่า กฎหมายนั้นเป็นเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผลและความยุติธรรมที่มีบรรทัดฐานเดียว

 ผมก็จะขอใช้หลักนี้ในการโต้แย้งกับแถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ใน 4 ประเด็น

คณาจารย์ท่านบอกว่า ...

1. พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน จึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ
     พร้อมคำอธิบายดังนี้

แถลงการณ์ของคณาจารย์อธิบายว่า ในทางวิชาการ การพิจารณาว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นนิติบุคคลที่ใช้
อำนาจมหาชน (นิติบุคคลมหาชน) หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ 3 ประการ ได้แก่ 

1. พิจารณาจากกฎหมายที่จัดตั้งนิติบุคคลนั้น ว่าจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายมหาชนซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติหรือ
    พระราชกฤษฎีกาหรือไม่

2. พิจารณาจากอำนาจที่องค์กรนั้นใช้ ว่าองค์กรนั้นใช้อำนาจมหาชนในลักษณะที่มีอำนาจเหนือหรืออำนาจฝ่ายเดียว
     หรือไม่ และ

3. พิจารณาจากกิจกรรมที่นิติบุคคลนั้นดำเนินการ ว่ากิจกรรมที่ทำเป็นเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะหรือไม่
    โดยที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะเป็นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชนได้นั้นจะต้องเข้าองค์ประกอบครบถ้วนทั้ง
    สามประการ

โดยสรุปคณาจารย์ท่านบอกว่า พรรคการเมืองนั้นไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ 2 และ 3 ทำให้ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลมหาชน
ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

นอกจากนั้นคณาจารย์นิติศาสตร์เห็นว่าการที่พรรคการเมืองที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล
และมีหน้าที่บางประการภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชน เนื่องจากขาดองค์ประกอบครบถ้วนทั้งสามประการดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ในทำนองเดียวกับสมาคม มูลนิธิ หรือแม้แต่บริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทรัฐวิสาหกิจที่แม้รัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดหรือ
ถือหุ้นข้างมาก แต่ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชน

คือท่านยกเอาสมาคม มูลนิธิ และบริษัทมหาชนมาเปรียบเทียบกับพรรคการเมือง พร้อมกับบอกว่า การกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองในฐานะนิติบุคคลนั้นจึงสามารถทำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจดังเช่นนิติบุคคลที่ใช้
อำนาจมหาชนแต่อย่างใด

 การกู้ยืมเงินจึงเป็นการใช้สิทธิในฐานะนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองสภาพบุคคลภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นิติบุคคลนี้ย่อมมีความสามารถและมีเสรีภาพในการเข้าทำสัญญาได้ตามใจสมัคร

ภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของพรรคการเมือง ดังนั้นคณาจารย์นิติศาสตร์จึงไม่เห็นด้วยกับความเห็น
ของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า เมื่อไม่มีกฎหมายอนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ เงินกู้นั้นจึงเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

สำหรับความเห็นของผม ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่า พรรคการเมืองนั้นเกิดขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ ในพระราชบัญญัติกำหนดไว้ในหมวดการจัดตั้งพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองนั้นต้องประกอบด้วยองค์กรประกอบอะไรบ้าง ต้องดำเนินการอย่างไร ต้องมีรายรับและรายจ่ายอย่างไร และกำหนดให้มีข้อบังคับที่ต้อง
จัดทำไว้อย่างน้อย 16 รายการ เช่น 

(14) วิธีการบริหารการเงินและทรัพย์สิน และการจัดทําบัญชีของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมืองและตัวแทน
พรรคการเมืองประจําจังหวัด ซึ่งต้องกําหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและให้สมาชิกตรวจสอบได้โดยสะดวก หรือ

 (15) รายได้ของพรรคการเมือง และอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองซึ่งต้องเรียกเก็บจากสมาชิก
ไม่น้อยกว่าปีละหนึ่งร้อยบาท

นั่นสะท้อนว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้นมีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมการดำเนินการพรรคการเมืองอย่างเคร่งครัด
ภายใต้ พ.ร.ป.ฉบับนี้ พรรคการเมืองจึงจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายมหาชน ไม่ใช่การจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังเช่น บริษัท ห้างร้านที่เป็นนิติบุคคลเอกชน หรือ บริษัทมหาชน ที่จัดตั้งภายใต้ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งคณาจารย์ได้อ้าง คำว่าบริษัทมหาชนมาเปรียบเทียบว่า พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนไม่ได้ให้อำนาจมหาชน
หรืออำนาจรัฐแก่บริษัทมหาชนแต่อย่างใด ซึ่งผมว่า เป็นคำเปรียบเทียบที่ฉาบฉวยมาก เพราะความหมายของ
 “บริษัทมหาชน” กับ “กฎหมายมหาชน” นั้นเป็นคำ “มหาชน” ที่แตกต่างกัน

บริษัทมหาชนจำกัด คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยประสงค์ที่จะเสนอขายหุ้นต่อประชาชน ส่วนกฎหมายมหาชน
หมายถึง กฎหมายที่กำหนดระเบียบความเกี่ยวพันระหว่างรัฐกับเอกชนในฐานะที่รัฐมีอำนาจปกครองเอกชนที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐนั้น เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ

การเอาคำว่า “มหาชน” ในกฎหมายมหาชน กับ คำว่า “มหาชน” ในบริษัทมหาชน มาเปรียบกันจึงเหมือนการเอา
มีชัย ฤชุพันธ์ มาเปรียบเทียบกับมีชัย วีระไวทยะ

ยิ่งอ้างว่า สมาคม มูลนิธิ หรือแม้แต่บริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทรัฐวิสาหกิจที่แม้รัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดหรือถือหุ้น
ข้างมาก แต่ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชน ก็ยิ่งไม่เข้าการจัดตั้งพรรคการเมือง เพราะที่อ้างมานั้นล้วนแล้วไม่ได้
จัดตั้งภายใต้กฎหมายมหาชนเลย แต่ที่มีเหมือนกันของพรรคการเมืองกับสมาคมและมูลนิธิคือ 

มาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติว่า พรรคการเมืองต้องไม่ดําเนินกิจการอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากําไรมาแบ่งปันกัน

ทีนี้ถามว่า พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมได้หรือไม่

ความเห็นผมคิดว่า สามารถกู้ยืมได้ภายใต้มาตรา 62 และมาตรา 66 ของ พร.ป..พรรคการเมือง นั่นคือ วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท เพราะกฎหมายมีเจตนาในการควบคุมรายรับและรายจ่ายของพรรคการเมือง ไม่ให้เป็นองค์กรที่แสวงหากำไร เงินกิจกรรมพรรคมาจากไหนบ้าง ใช้เงินได้แค่ไหนในการทำกิจกรรมพรรคการเมืองซึ่งต้องถูกควบคุมอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองถูกครอบงำด้วยอำนาจเงินของใคร

ข้อ 2 คณาจารย์ท่านบอกว่า การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพในการแสดงเจตนาของคู่สัญญา

โอ้แม่เจ้า ถ้าอย่างนั้นก็มีคนเอาเงินมาให้พรรคการเมืองกู้สักหมื่นล้าน แล้วบอกว่า ไม่ต้องคิดดอกเบี้ย ก็ถือเป็นเสรีภาพ
โดยแท้ของเจ้าหนี้และคู่สัญญา เช่นนั้นหรือ แล้วถามว่า ดอกเบี้ยของเงินจำนวนหมื่นล้านนั้นมีมูลค่าเท่าไหร่ในทางธุรกิจและการค้า

คณาจารย์ท่านบอกว่า การที่เจ้าหนี้ตกลงไม่คิดดอกเบี้ยเลย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ เป็นแต่เพียงการที่เจ้าหนี้
ไม่ประสงค์จะเรียกค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืมหรือค่าเสียโอกาสในการหาประโยชน์จากเงิน แต่ไม่ทำให้เจ้าหนี้
สูญเสียหรือเสียหายในทางทรัพย์สิน การไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติทางการค้า
แต่อย่างใด ผมถามว่า ปกติการค้าที่ไหนในโลกนี้ครับ ถ้าจะให้กู้ยืมกันแบบนี้มันไม่เป็นเรื่องปกติทางการค้าต่างหากครับ เป็นเรื่องที่ยืมกันในหมู่เพื่อนฝูงเครือญาติที่รักใคร่และต้องการจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

แล้วข้ออ้างการให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ยที่ว่า เป็นปกติทางการค้านั้นอ้างอิงกับอะไรกฎหมายหรือธรรมเนียมประเพณีที่ไหน หรือการอ้างว่าเป็นเรื่องปกติทางการค้าซึ่งเป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชนมาใช้กับเอกชนกับพรรคการเมืองได้หรือ ถ้าเช่นนั้น พ.ร.ป.พรรคการเมืองจะกำหนดกรอบที่มาของรายได้ไว้ทำไม

ถามว่า ถ้าพรรคการเมืองกู้เงินมาหมื่นล้านฝากธนาคารไว้สัก 2 ปีแล้วค่อยส่งต้นคืนเพราะเจ้าหนี้ไม่ประสงค์ดอกเบี้ย จะมีรายได้จากดอกเบี้ยเท่าไหร่

เงินก้อนนี้ก็จะเข้าหมวดของรายได้ ตามมาตรา 62 (7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
ของพรรคการเมือง ใช่หรือไม่ เมื่อใช่จะต้องเข้ากับมาตรา 66 เรื่องกำหนดวงเงินหรือไม่

ความเห็นในข้อ 2 ของคณาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์จึงไม่เป็นเหตุเป็นผลเลย แล้วผมถามว่า ถ้าเปลี่ยนเป็น
เจ้าสัวธนินท์ตั้งพรรค แล้วให้พรรคยืมเงิน คณาจารย์จะยังมีความคิดแบบนี้ไหม

( มีต่อ...)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่