ศักดิ์สยามแจงยิบ ไฮสปีดอีอีซีไม่เอื้อเอกชน ผลประโยชน์ชาติและประชาชนล้วน ๆ

ดูอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาวันก่อน รมว. คมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ตอบคำถามฝ่ายค้านเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ด้วยมาดนิ่ม ๆ ดูน่าเชื่อถือ (คนละลุคกับเมื่อก่อน) เป็น Fact แบบเนื้อล้วน ๆ ไม่มีดราม่า ไม่เวิ่นเว้อ ครั้งนี้จึงเทใจให้เลย ยิ้ม 
 
เริ่มด้วยการชี้แจงข้อมูลพื้นฐานลักษณะโครงการ แล้วจึงตอบคำถาม ตบท้ายด้วยการเล่าถึงบทสนทนาสวย ๆ กับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ฟังแล้วซึ้งไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ (555) มีรายละเอียดเนื้อหาการอภิปรายตามนี้ 
 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
 
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นการเชื่อมเส้นทางคมนาคมทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ กับ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี โดยเป็นการสร้างประตูในการเดินทาง หรือ Gateway ที่สนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร ด้วยระยะทาง 220 ก.ม. ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ราว 147,000 คนต่อวัน ประหยัดเวลาการเดินทางเหลือเพียง 60 นาทีเท่านั้น 
 
-       ตอบคำถามที่ว่า โครงการนี้มีการเอื้อประโยชน์ โดยการใช้ความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับภาคเอกชน 
(สรุปคำตอบได้ว่า : 1. ไม่ได้เอื้อประโยชน์ฝ่ายใด เพราะเป็นการประมูลเปิดกว้างแบบ International Bidding ที่มีทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศยื่นข้อเสนอ 2. ข้อเสนอทางการเงินของกลุ่ม CPH ที่ให้รัฐร่วมลงทุน น้อยกว่าข้อเสนอของกลุ่ม BSR ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณไปกว่า 6 หมื่นล้านบาท)
 
โครงการนี้เป็นการประมูลเปิดกว้างแบบนานาชาติ ที่มีผู้สนใจซื้อเอกสาร 31 ราย แยกตามประเทศได้ว่า จากไทย 14 ราย, จีน 7 ราย, ญี่ปุ่น 4 ราย, ฝรั่งเศส 2 ราย, มาเลเซีย 2 ราย, เกาหลีใต้ 1 ราย และอิตาลี 1 ราย จึงแสดงให้เห็นว่า รัฐไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับใคร เพราะเป็นการเปิดประมูลที่เรียกว่า International Bidding โดยมีการดำเนินการขายเอกสาร RFP (Reference of Proposal) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2561 ซึ่งจาก 31 รายดังกล่าว ปรากฏว่ามี 8 รายไปรวมตัวกันเป็น 2 กลุ่มยื่นข้อเสนอราคา โดยกลุ่ม BSR ประกอบด้วย BTS, ชิโนไทย และบริษัทไฟฟ้าราชบุรี และ กลุ่ม CPH ประกอบด้วย CPG, BEM, CRCC และ Italian-Thai ทั้งสองกลุ่มได้ยื่นซองเอกสารตาม RFP ทั้งหมด 4 ซอง เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2561 โดยมีการพิจารณาตามเงื่อนเวลาที่คณะกรรมการกำหนด 
 
ซองที่ 1 พิจารณาแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2561 ทั้งสองกลุ่มผ่านการประเมิน 
ซองที่ 2 เป็นการพิจารณาด้านเทคนิค พิจารณาแล้วเสร็จในวันที่ 6 ธ.ค. 2561 ผ่านทั้งสองกุล่ม 
ซองที่ 3 ข้อเสนอเรื่องผลตอบแทน ซึ่งทั้งสองกลุ่มยื่นข้อเสนอที่แตกต่างกันมาก โดยกลุ่มบีเอสอาร์ ยื่นข้อเสนอให้รัฐร่วมลงทุนด้วยจำนวนเงิน 238,330 ล้านบาท ขณะที่กลุ่ม CPH ยื่นข้อเสนอให้รัฐร่วมลงทุนเป็นจำนวนเงินเพียงแค่ 149,650 ล้านบาท 
คณะกรรมการพิจารณาแล้วให้กลุ่ม CPH เป็นผู้ได้รับการพิจารณาเข้าดำเนินโครงการ 
 
จากผลการคัดเลือกดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่รัฐต้องดำเนินการ เป็นเรื่องที่รัฐได้ประโยชน์อย่างยิ่ง โดยจากการวิเคราะห์โครงการในเบื้องต้นนั้น ผลตอบแทนการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการเท่ากับ 179,389 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งคือการพัฒนาพื้นที่มักกะสันและศรีราชา มีมูลค่าการลงทุน 45,155 ล้านบาท ทั้งสองโครงการรวมกันมีมูลค่าการลงทุนเท่ากับ 224,544 ล้านบาท แต่ว่ากลุ่ม CPH เสนอเงินให้รัฐร่วมลงทุนเพียง 149,650 ล้านบาท เท่ากับว่ารัฐสามารถประหยัดเงินลงทุนเกือบ 6 หมื่นล้านบาท จึงเป็นที่มาว่าทำไมจึงต้องผูกรวมการพัฒนาพื้นที่และการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไว้ด้วยกัน 
 
มูลค่าการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 179,389 ล้านบาท ถ้าคำนวณมูลค่าปัจจุบัน NPV หรือ Net Present Value จะขาดทุน 170,000 กว่าล้านบาท ซึ่งตรงนี้ไม่มีทางที่จะมีเอกชนรายใดมายื่นข้อเสนอ เพราะขาดทุน ส่วนการพัฒนาพื้นที่มักกะสันและศรีราชามีมูลค่าการลงทุน 45,155 ล้านบาท คำนวณ NPV กำไร 38,700 กว่าล้านบาท ตรงนี้มีคนสนใจลงทุนเยอะ ถ้าแยกออกจากกัน จะมีคนสนใจพัฒนาพื้นที่มาก แต่ไม่มีใครสร้างรถไฟความเร็วสูง ดังนั้น คณะกรรมการอีอีซีจึงต้องรวมโครงการทั้งสองเข้าด้วยกัน แต่แม้รวมแล้ว ก็ยังขาดทุนอยู่ 7 หมื่นกว่าล้านบาท นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมรัฐต้องร่วมลงทุนกับเอกชนอีก 119,000 ล้านบาท โดยเป็นการทยอยจ่ายชำระคืน หลังจากที่โครงการแล้วเสร็จ เป็นเวลา 10 ปี ไม่ใช่จ่ายทีเดียว สุดท้ายผลการประมูลดังกล่าว ทำให้รัฐประหยัดเงินไปอีก 6 หมื่นล้านบาท 
 
-       ทำไมยื่นซองแล้ว การเซ็นสัญญาจึงมีความล่าช้า มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการส่งมอบที่ดิน ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนมากกว่าที่กำหนดในเอกสารคัดเลือกหรือไม่ 
(สรุปคำตอบได้ว่า : เป็นไปตามข้อกำหนด โดยมีคณะทำงานวางกรอบการทำงานอย่างชัดเจน และมีการติดตามผลความคืบหน้าทุกเดือน การทำโครงการร่วมทุนขนาดใหญ่ รัฐต้องช่วยสนับสนุนการทำงานของเอกชน หากละเลย จะบั่นทอนความเชื่อมั่นของเอกชนในการร่วมทุนกับภาครัฐ)

โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะทาง 220 ก.ม. ขนาดพื้นที่ทั้งหมด 4,429 ไร่ มีอุปสรรคในเรื่องของสิ่งที่เป็นสาธารณูปโภค เช่น เสาไฟแรงสูง ท่อส่งน้ำประปา อุโมงค์ระบายน้ำ กีดขวางเส้นทางมากกว่า 300 จุด นอกจากนั้นยังมีผู้บุกรุกเขตรถไฟมากกว่า 900 ราย นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดำเนินการให้สำเร็จ เพราะเป็นผลประโยชน์ที่ประชาชนคนไทยจะได้รับ เมื่อโครงการเสร็จและมีนักลงทุนเข้ามา
 
ในอดีต เมื่อปี 2525 มีโครงการ Eastern Seaboard ซึ่งพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เป็นผู้ริเริ่มโครงการ สร้างแล้วเสร็จในปี 2533 ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี ระหว่างการก่อสร้าง ทุกคนตั้งคำถามว่าทำไปทำไม หลังสร้างเสร็จ พล.อ.เปรมไม่ได้เป็นนายกฯ เพราะไปเป็นรัฐบุรุษ ประเทศได้รับผลประโยชน์จากโครงการ เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโต อีอีซีก็เช่นกัน นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ วางไว้ว่าจะส่งผลดีหลังจากสร้างเสร็จในปี 2568 
 
สิ่งที่ต้องแก้ไขคือปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ นายกฯ จึงตั้งคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบที่ดิน และมีกรอบระยะเวลาการส่งมอบที่ชัดเจนกับหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคที่ต้องรื้อย้าย จึงไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะมีค่าโง่ เพราะสัญญาร่วมทุนระบุชัดเจนว่าจะไม่มีการชดเชยด้วยตัวเงินจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า สำหรับแผนการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภคทำไว้ชัดเจน มีการแบ่งพื้นที่ในการส่งมอบออกเป็น 3 ส่วน

 
1.     แอร์พอร์ตเรลลิงก์ ระยะทาง 28 ก.ม. อาจมีคำถามว่า แอร์พอร์ตเรลลิงก์เป็นโครงการที่รัฐบาลลงทุนไว้ ทำไมยกให้เอกชน เพื่อดำเนินในโครงการรถไฟความเร็วสูง 
 
-    โครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ลงทุนด้วยงบประมาณราว 3 หมื่นล้านบาท เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ขณะนี้ผลประกอบการขาดทุนทุกปี ๆ ละ 380 ล้านบาท มีต้นทุนการดำเนินการประมาณ 700 ล้านบาท การที่กลุ่ม CPH ได้โครงการไป ไม่ใช่ได้ไปฟรี ๆ จะต้องชำระเงิน 10,671 ล้านบาท ภายใน 2 ปี จึงจะได้สิทธิในการบริหารเป็นระยะเวลา 50 ปี ซึ่งกลุ่ม CPH ต้องไปรับความเสี่ยงในการบริหาร จากการที่แอร์พอร์ตเรลลิงก์ขาดทุนจากการบริหารของการรถไฟฯ ทุกปี

2.     ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ระยะทาง 170 ก.ม. ภายใน 2 ปีหลังลงนามในสัญญา ตามแผนการส่งมอบ มีการมอบหมายให้ ร.ฟ.ท., ก.ฟ.ผ., ก.ฟ.ภ. และปตท.ที่มีท่อน้ำมันที่จะต้องดำเนินการ ออกแบบให้หลบไป
 
3.     ช่วงสถานีดอนเมือง บางซื่อ พญาไท ระยะทาง 22 ก.ม. ต้องส่งมอบให้เสร็จภายใน 4 ปีหลังลงนาม โดยคณะกรรมการเร่งรัดการส่งมอบ ได้มอบหมายให้ ก.ฟ.น., บริษัท FPT ซึ่งมีหน้าที่ย้ายท่อน้ำมัน, กทม.ย้ายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแสนแสบ และปตท.ที่ต้องดำเนินการกับท่อก๊าซที่ไม่ได้ใช้งาน ต้องรื้อย้ายออกไป โดยมีการทำ action plan ควบคุมการดำเนินการทุกเดือนว่ามีการปฏิบัติตามแผนงานหรือไม่ 
 
สิ่งเหล่านี้ตอบคำถามเรื่องการเซ็นสัญญาล่าช้า ทำไมต้องปรับเปลี่ยนสัดส่วนการส่งมอบพื้นที่ เพราะโครงการขนาดใหญ่ อะไรช่วยผู้ดำเนินโครงการโดยไม่ผิดกฎหมายก็ต้องทำ จะปล่อยให้เอกชนที่มาลงทุนเป็นแสน ๆ ล้านให้ดำเนินการเอง โดยที่รัฐไม่ควบคุมดูแลหรือช่วยสนับสนุนในสิ่งที่ทำได้ จะเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของเอกชนที่จะมาร่วมทำงานกับภาครัฐ 
 
-       มีการลดค่าปรับ เอื้อสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นในการเปลี่ยนแนวทำ spur line สิทธิ first right นอกเหนือจาก RFP หรือไม่ 

เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการพิจารณาค่าปรับ ต้องปรับให้สอดคล้องกับสัดส่วนงานที่เอกชนรับไปดำเนินการจริง ซึ่งทางอีอีซีได้ส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาเห็นชอบว่า เรื่องนี้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบกลับมาแล้วว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย
 
นอกจากโครงการอีอีซี นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ขณะนี้โครงการอีอีซีสามารถเดินหน้าไปได้ทั้ง 3 ส่วน ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการขยายสนามบินอู่ตะเภา และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง นายกฯ สั่งดำเนินการต่อไปคือ จะต้องดำเนินการศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ เพราะประเทศไทยได้เปรียบด้านที่ตั้งในการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน จึงสั่งการให้สภาพัฒน์ศึกษาเขตเศรษฐกิจภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยทั้ง 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น จะทำให้ประเทศไทยกลับมามีการพัฒนาที่เจริญทั้งประเทศ
 
“ผมเคยเรียนถามท่านนายกฯ ว่า ก่อสร้างใช้เวลาหลายปี เราจะมีโอกาสได้ใช้ไหม ท่านตอบว่า คุณทำไปเถอะ ผมต้องการทำสิ่งเหล่านี้ให้ประเทศไทย พวกเราต้องทำให้คนไทยทุกคน ให้มีความเจริญก้าวหน้าและมีชีวิตที่ดีขึ้น” คุณศักดิ์สยาม กล่าวปิดท้ายสวย ๆ ^^
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่